­

สำเนียง วงศ์พิมพ์ พระเอกหมอลำ บ้านโคกกลาง ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเยาวชนที่ ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน กลับพากันเรียกเขาว่า “ลุง” ครอบครัวของเขาได้มอบที่ดินประมาณ 4 ไร่ ชายเขื่อนอุบลรัตน์ ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ และทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชนในชุมชนมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ไม่เพียงแต่มอบที่ดินให้เท่านั้น หากแต่เขายังทำหน้าที่เป็นทั้ง “ครูเกษตร” สอนให้เยาวชน ทำนา ปลูกผัก ขุดสระเลี้ยงปลา เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ สร้างบ้านดิน และเป็น “พ่อบ้าน” คอยดูแลข้าวปลาอาหาร ความสะอาดเรียบร้อยของศูนย์เรียนรู้ อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาของเด็กๆ อีกหลายๆ เรื่อง โดยทั้งหมดที่เขาทำนี้เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ ที่เป็นการฝึกฝน พัฒนาตัวเอง ให้เป็นคนดี มีสัมมาอาชีพ เลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้ บนฐานเกษตรกรรม ซึ่งทำหรับเขานี่คือ “ทุน” อันมีค่าของ “ครอบครัว และชุมชน” ที่สำคัญนั่นเอง

­

­


ไปให้พ้น “ชีวิตชาวนา”

นับตั้งแต่วัยเด็ก สำเนียง ถือเป็นเด็กดีคนหนึ่ง เขาคนที่ค่อนข้าง “คิดต่าง” จากเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ในขณะที่เพื่อนส่วนใหญ่คิดถึงวันที่จะเติบโตเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ในภาพของนักเลง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แต่เขาไม่คิดอย่างนั้น เขาไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทำตัวเกกมะเหรกเกเร
ฝันของเขาตั้งแต่เด็ก คือ อยากเป็น “คนดี” และเป็นคนที่ผู้อื่นสามารถพึ่งพาได้

­

­

แต่ด้วยฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย สำเนียงจึงไม่ได้เรียนหนังสือต่อในชั้นสูงๆ กระนั้นเขาก็ไม่หยุดความฝันของตัวเอง พอย่างเข้าวัยรุ่นสำเนียงพยายามหาทางออกจากบ้าน เพื่อเสาะแสวงหาอาชีพอื่นที่ดีกว่า “การทำนา”

­

“…ตอนนั้นผมมีความคิดว่าอยากจะทำอะไรซักอย่างที่ดีกว่าอาชีพทำนา ให้มีอนาคตมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมบอกพ่อ แม่ บอกที่บ้านอย่างนี้ ตอนนั้นปู่ก็ได้เตือนว่า จะไปทำอะไร คนขับเครื่องบินก็ยังต้องกินข้าวอยู่ดี ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก มาทำนานี่แหละ แต่ก็ผมไม่เชื่อ” สำเนียงเล่าถึงความคิดในอดีตด้วยน้ำเสียงปนขำ

­

หลังจากออกจากบ้านมาไม่นานนัก สำเนียงก็เลือกแสวงหาอนาคตด้วยการ “ชกมวย” ทั้งนี้เพราะเขาเห็นว่าการชกมวย เป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวเอง และเป็นอาชีพที่สามารถ “ทำเงิน” ได้ หากเขาสามารถทำได้ดีจนเป็นนักมวยชื่อดัง สำเนียงเริ่มต้นอาชีพนี้ได้อย่างสวยงาม ในปีแรกที่ขึ้นชกเขาไม่เคยแพ้เลยสักครั้ง กระนั้นแม่ของเขาก็ไม่อยากให้ลูกชกมวยอยู่ดี เพราะไม่อยากให้เขาเจ็บตัว เจอกันครั้งใดแม่ก็มักจะร้องขอให้สำเนียงเลิกชกมวยกลับมาอยู่บ้าน

­

ความเชื่อมั่นในตัวเองทำให้สำเนียงกล้าออกปากสัญญากับแม่ว่า ในการชก 14 ครั้ง ถ้าหากเขาชกแพ้เพียง 1 ครั้ง เขาจะยอมกลับบ้านทันที แล้วเหตุการณ์กลับตาลปัตร

­

“ผมชกไป 13 ครั้งชนะรวด มาแพ้ในครั้งที่ 14 พอดี ร้องไห้เลย เพราะยกแรกๆ ยังนำเขาอยู่ แต่มาตอนหลังกลับแพ้อย่างน่าเสียดาย ความรู้สึกในตอนนั้นคือ เสียใจมาก และคิดว่าอนาคตเราจบแค่นี้แน่...”

­

สำเนียง มารู้ตอนหลังว่า แม่ของเขาไปบนไว้ เพื่อให้เขาชกแพ้ เพราะอยากให้เขาเลิกชกมวย ไม่ว่าเขาจะแพ้ด้วยเหตุผลใด สำเนียง ก็ถือคติว่า ลูกผู้ชายพูดคำไหนต้องคำนั้น สำเนียงก็กลับบ้านแต่โดยดี

­

­

กลับมาเป็น “พระเอกหมอลำ”

“แม่อยากให้ผมมาเล่นหมอลำเพราะแม่ก็เคยเป็นหมอลำมาก่อน ความรู้สึกส่วนตัว ผมไม่ชอบหมอลำเลย แต่ก็รู้สึกได้ว่า ตัวเองมีพรสวรรค์ด้านนี้อยู่ เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็เลยคิดว่าจะไปฝึกเป็นหมอลำ เพราะพ่อ แม่ คงจะมีความสุข...” สำเนียงเผยความในใจ

ตำบลหว้าทอง ในอดีต ถือว่า เป็นแหล่งรวมคณะหมอลำชื่อดังอยู่หลายวงทีเดียว สำเนียงได้ไปอยู่กับหมอลำวง “ศิลป์สังข์ทอง” ซึ่งเป็นคณะหมอลำวงใหญ่ระดับแถวหน้าของจังหวัดและต้องนับว่าเขามีพรสวรรค์ด้านหมอลำจริงๆ เพราะเพียงครั้งแรกเขาก็ได้แสดงเป็น “พระเอก” เลย

­

อีกทั้งยังมีใช้เวลาฝึกซ้อมแค่ค่อนวันเท่านั้น แต่เขาก็สามารถทำให้คนดูชื่นชอบประทับใจ เมื่อการเปิดตัวครั้งแรกไปได้สวย ทำให้สำเนียงมีความมั่นใจที่จะเดินในเส้นทางอาชีพนี้อย่างจริงจัง เขาจึงมุ่งมั่นฝึกซ้อมกับวงอย่างตั้งใจ

“สมัยนั้นถือว่าผมเป็นพระเอกหมอลำที่ดังมาก เพราะว่าไม่ค่อยมีพระเอกหมอลำหนุ่มๆ สักเท่าใดนัก วงของเราเคยประกวดหมอลำชิงแชมป์ภาคอีสาน ก็ได้รางวัลที่ 2 มาในช่วงนั้นก็มีงานเยอะมาก ไปแสดงจังหวัดอื่นๆ ด้วย เดินสายตลอดเวลา…”

แต่ถึงกระนั้นสำเนียง ก็ไม่ได้หลงใหลไปกับชื่อเสียง ในช่วงที่ว่างเว้นจากงานหมอลำ เขาก็ยังคงช่วยที่บ้านทำนาตามปกติ สำเนียงเปิดเผยว่า หลังจากที่เขากลับมาอยู่บ้านค่อยๆได้นึกทบทวนถึงคำที่ปู่เคยกล่าวเตือนให้สติไว้ และจึงตระหนักว่านั่น คือ สัจจะธรรมในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าใครก็ต้องกินข้าว ฉะนั้นอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงไม่มีวันตกงาน ต่างจากอาชีพหมอลำ ซึ่งไม่มีความแน่นอน ถ้าหมดยุคของตัวเอง หากไม่มีอาชีพเกษตรรองรับก็อาจจะหมดทุกอย่าง

“ถึงเป็นพระเอกหมอลำ…แต่ก็ทำนาเก่ง” สำเนียงชมตัวเองพร้อมกับยิ้ม

วิถีการทำนาของสำเนียงนั้น ไม่ใช้สารเคมี ใช้แต่ปุ๋ยคอก เพราะเขาไม่ได้คิดว่า ทำนาต้องได้ข้าวจำนวนมาก แต่ขอให้ได้พอกิน เน้นต้นทุนต่ำ หลักคิดในการเป็นชาวนาที่พึ่งตนเองได้ที่สำเนียงยึดถือ คือ การรู้จักตัวเอง พระเอกหมอลำขยายความว่า เมื่อเป็นชาวนา สิ่งสำคัญที่ชาวนาควรต้องรู้ คือ แต่ละปีครอบครัวตัวเองต้องกินข้าวเท่าไหร่ เผื่อพี่น้องเท่าไหร่ ทำได้ก็เก็บไว้ให้พอเพียง ที่เหลือก็ขาย เมื่อมีข้าวแล้ว อย่างอื่นก็หาได้ไม่ยาก สำหรับคนขยันคิด ขยันทำไม่มีทางจะอับจน อดตาย

ด้วยหลักคิดในข้างต้น ประกอบกับความขยัน อดทน ทำให้ครอบครัวของสำเนียงมีรายได้จากการทำเกษตรกรรมที่พอเพียงสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว มีชีวิตที่มั่นคงและมีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายตามสมควร

­

­

­

ครอบครัวอบอุ่น กับนางเอกตัวจริง

ในด้านชีวิตครอบครัว สำเนียงมี ปราณี วงศ์พิมพ์ นางเอกหมอลำ บ้านเดียวกัน แต่เดิมทั้งสองคนเล่นหมอลำอยู่คนละวง ด้วยต่างฝ่ายต่างงานชุก จึงไม่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันมากนัก การแต่งงานของทั้งคู่เป็นไปตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ แต่เมื่อแต่งงานกันแล้วทั้งสองคนก็สามารถครองรัก ครองเรือน กันได้อย่างมีความสุข เหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ ทั้งสองคนมีอุปนิสัย และทัศนคติ ในการดำเนินชีวิตที่พ้องต้องกันปราณีนั้น ในเวลาที่ขึ้นแสดงเป็นนางเอกหมอลำ ก็ทั้งสวย และเสียงดี แต่นอกเวลาแสดง เธอ ก็ทำหน้าที่เป็น ลูกสาวเกษตรกร ที่ลงนา ลุยสวน อย่างเอาจริงเอาจัง

“…เวลาไม่ได้ไปเล่นหมอลำ เราก็ทำตัวเหมือนปกติ หาผัก ขุดแย้ เหมือนชาวบ้านทั่วไป บางทีมีคนมาหาว่าจ้างหมอลำไปเล่น คุยกับเรา คุยไปคุยมาก็จะบอกว่า ไหน พระเอก นางเอกอยู่ไหน ไปเรียกมาให้ดูตัวหน่อยซิ เขาไม่คิดว่าเป็นเราสองคน…” ปราณี เล่าติดตลก

­

­

ทั้งสองคนมีลูกสาวเพียง 1 คน ปัจจุบัน เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดิน สำเนียงให้เหตุผลในการมีลูกเพียงคนเดียวว่า การเลี้ยงลูกให้โตนั้นง่าย แต่การเลี้ยงให้มีอนาคตเป็นเรื่องที่ยาก การที่จะเลี้ยงลูกให้มีอนาคต เป็นคนดีของสังคม พ่อแม่ต้องพร้อมดูแลให้ดีที่สุด ในเรื่องของการเรียน ไม่ได้เน้นว่าต้องเรียนให้เก่งเป็นอันดับที่ 1 แต่จะเขาจะบอกลูกว่า ขอให้ตั้งใจเรียนทำยังไงก็ได้ให้มีความ สุขกับการเรียน ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ

การมีลูกสาวกำลังก้าวสู่วัยรุ่น นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่สำคัญที่ผลักดันให้สำเนียง ให้ความสนใจ และใส่ใจ ในการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาเยาวชนในชุมชนอย่างจริงจัง…

­

สร้างศูนย์เรียนรู้...เพื่ออนาคตของลูกหลาน และชุมชน

“ผมเห็นเด็กรุ่นหลังๆ ค่อนข้างฟุ้งเฟ้อ ใช้เวลาไปทำกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง เล่นเกม กินเหล้า ซิ่งรถ ตีกัน ทำตัวเกเร ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ผมพยายามดึงเด็กวัยรุ่นให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เช่นเล่นฟุตบอล สนับสนุนทุกอย่าง แต่แล้วผมก็พบว่า ท้ายที่สุดเมื่อชนะเขาก็มักจะจบด้วยการกินเหล้าเลี้ยงฉลองอยู่ดี แม้เขาจะไม่ดื่มต่อหน้าผมเพราะเกรงใจ แต่เราก็รู้ว่าพอลับหลังเป็นอย่างไร...ก็คิดอยู่ตลอดมาว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กๆ ก้าวพ้นเรื่องเหล่านี้...”

สำเนียงเท้าความถึงที่มาของความคิดในการสนับสนุนให้เยาวชนทำกิจกรรมร่วมกันในเชิงสร้างสรรค์พร้อมกับให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าหากปล่อยให้เยาวชนในชุมชนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ นั่นย่อมหมายถึงสภาพสังคมของชุมชนในอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

­

­

ในระหว่างที่สำเนียง ครุ่นคิด และพยายามหาทางจะเหนี่ยวรั้ง และนำพาให้เยาวชนคิดดี ทำดี อยู่นั้น เขาได้มีโอกาสร่วมทำงานกับโครงการวิจัยพัฒนากลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบล-อำเภอ และโครงการยุวพุทธิชน ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เยาวชนเห็นคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เห็นคุณค่าธรรมชาติสิ่งแวด ล้อม และสร้างศีลธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจของเยาวชน

จากโครงการดังกล่าวทำให้เด็กในชุมชนมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน สำเนียง จึงยกที่ดิน 4 ไร่ ริมชายเขื่อนอุบลรัตน์ให้เป็นที่ตั้งของ ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน ซึ่งเป็นชื่อที่กลุ่มเยาวชน สำเนียง และพี่เลี้ยงที่ทำงานร่วมกันช่วยกันตั้งขึ้น

­

“ผมเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างศูนย์เรียนรู้ จากการได้ไปเรียนรู้กับเสมสิกขาลัย และต่อมาได้นำกระบวนการเรียนรู้นั้นมาอบรมกับเยาวชน และมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่สวนลุงโชค เขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เขาก็ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ทำให้เยาวชนได้มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องวนเกษตร จึงคิดว่าเราน่าจะทำเพื่อเยาวชนในหมู่บ้าน ได้อ่านหนังสือ ได้อ่านหนังสือ ได้เรียนรู้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง” สำเนียงเผยถึงความตั้งใจของตัวเอง

­

­

แนวทางในการพัฒนาเยาวชนของศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน ได้น้อมนำ และบูรณาการหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวการฟูมฟักเยาวชนโดยให้เหตุผลว่า “ธรรมะจะกลายมาเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนไปโดยปริยาย” รวมถึงขัดเกลาให้เยาวชนทำความรู้จัก เข้าใจตนเอง ปลูกฝังความรักและหวงแหนในศิลป- วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ความมีจิตอาสาเกื้อกูลกัน และหลักการ“เกษตรพอเพียง” มาใช้เป็นแนวทางของการบ่มเพาะ โดยไม่ลืมที่จะจัดการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง เปิดกว้างให้สมาชิกได้คิดและแสดงศักยภาพทำกิจกรรมตามความสนใจอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การมีปัญญาและความเข้าโลก-ชีวิต

­

­

กำลังใจในการก้าวต่อ

ผ่านไป 3 ปี จากจุดเริ่มต้น ของศูนย์เรียนรู้ชาวดิน ซึ่งในวันนั้นมีแต่พื้นที่โล่งๆ วันนี้ที่กลับกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต บ้านดินที่เกิดจากน้ำพัก น้ำแรง และความเอื้อเฟื้อจากผู้มีจิตอาสาทั้งหลาย ทำให้เด็กๆ ได้ใช้ที่นี่เป็น ห้องสมุด เป็นสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกัน รอบๆ มีแปลงทดลองที่เป็นผลมาจากการลงมือปฏิบัติของเด็กๆ ทั้ง ผัก ปลา เห็ด และในปีนี้ เด็กได้ช่วยกันปลูกข้าวเป็นครั้งแรก เพื่อเก็บไว้กินในศูนย์ฯ ทดแทนข้าวที่สำเนียงเอื้อเฟื้อให้พวกเขามาโดยตลอด จนเวลานี้ศูนย์การเรียนรู้ชาวดินมีเยาวชนร่วมทำกิจกรรมต่อเนื่อง

­

สำหรับสำเนียง ผลผลิตที่ได้อาจจะได้มากได้น้อยนั้นไม่สำคัญเท่ากับดอกผลที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เบ่งบานให้เขาเห็นทุกวัน เพราะสิ่งสำคัญคือ “วิธีคิด” ซึ่งจะนำไปสู่วิถีปฏิบัติที่ถูกต้อง

“...ในช่วงที่ผ่านมา ทางเราได้เห็นพัฒนาการของเด็กบ้านดินที่เข้ามาร่วมกระบวนการเรียนรู้ในศูนย์อย่างต่อเนื่อง การเติบโตของเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ที่นี่ค่อนข้างจะแตกต่างกับเยาวชนทั่วไปในหมู่บ้าน เราเห็นพวกเขาเปลี่ยนแปลงโดยการคิดเป็น เวลาจับกลุ่มนั่งคุยกัน เด็กทั่วไปจะพูดเรื่องการไปเที่ยว เรื่องไม่มีสาระ แต่เด็กบ้านดินจะคุยเรื่องงาน หรือกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน อายุ 15 -16 ปี แต่คุยกันเป็นระบบ รู้จักคิดเรื่องอนาคตของตัวเองเป็น เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน ช่วยกันคิดกิจกรรมที่มีประโยชน์ให้กับตัวเอง เพื่อน และน้องๆ เด็กบางคนเรียนดีขึ้น เพราะพี่ๆ ช่วยสอนหนังสือ”

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เขามีความสุข หากแต่เป็นกำลังใจให้เขาได้มีแรงทำงานต่อไปอีกด้วย

“รู้สึกภูมิใจเพราะได้เห็นเด็กที่อยู่กับเราเป็นคนดี อย่างน้อยเด็ก 20 คน และผมเชื่อว่าจะเกิดการขยายผลในวงกว้างต่อไป.ก็จะคิดว่าอย่างน้อยผมก็ทำเพื่อสังคมของลูกผม ถ้าเราสร้างสังคมดีๆ ขึ้นมาได้ เราก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าลูกจะไปในทางที่ไม่ดี และก็ทำเพื่อชุมชนด้วย วันนี้ผลที่เห็นอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตผลตรงนี้จะชัดเจนขึ้น...” พ่อสำเนียง ที่เวลานี้เป็นหนึ่งในผู้ใหญ่ใจดีในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย.

­