­

8 วิถีบำบัดสุขภาพ เขาทำได้อย่างไร?

­

ผู้ป่วยจะลุกขึ้นมารักษาตัวเองได้จริงหรือ?
แล้วถ้าหายจะกลับมาป่วยอีกหรือเปล่า ?

­

5 ผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตนเอง ด้วยองค์ความรู้ซึ่งแตกต่างจากการแพทย์แผนตะวันตก พวกเขามาเป็น “หมอ” ร่วมไขรหัสและแกะปมปัญหาสุขภาพ เพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจและรักสุขภาพได้เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้และนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง

ปัจจุบัน เมนูอาหารทางเลือก การออกกำลังทางเลือก การเรียนทางเลือก ศิลปะทางเลือกหรือเพลงอินดี้ ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด เห็นแล้วว่ามีหลากหลายเคาท์เตอร์ให้เดินชอปปิ้งกันไม่หวาดไม่ไหว หลายครั้งอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การโหยหาอดีต
อย่างสุดขั้ว กับการวิ่งตามโลกสมัยใหม่สุดขีด อย่างไหนจะดีกว่ากัน แล้วจุดไหนถึงจะเรียกว่าพอดี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิระพี – กัลยา สาคริก ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สถาบันอาศรมศิลป์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน ระพีเสวนา : การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งที่ 3 “สุขภาพทางเลือกเพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต” ขึ้น โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 300 คน ณ ห้องประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) งานนี้เขาไม่เลือกข้าง เพราะผู้จัดงานเน้นให้เป็น สุขภาพทางเลือกเพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต คือ เสาะหาวิธีการรักษาอาการป่วยไข้ หรือการดูแลตัวเองจากการผสมผสานระหว่างแพทย์แผนเก่าและใหม่ หลักสำคัญต้องเลือกให้เหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลให้กับตัวเองมากที่สุดซึ่งคงไม่มีใครรู้ดีเท่าตัวเราเอง

ศาตราจารย์ระพี สาคริก ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ โครงการระพีเสวนา กล่าวว่า “ชีวิตคนเราจิตใจบอกได้ ในที่สุดตัวเราเองจะรู้ว่าเราต้องทำอะไร โดยเฉพาะสุขภาพ เวลานี้ผมอายุจะขึ้น 88 ปีแล้ว แต่ผมยังทำงานอย่างมีความสุข ชีวิตคนเราทำได้ทุกอย่างถ้ามีความสุข เพราะผมมีธรรมะอยู่ในใจ ใช้ธรรมะรักษาให้สุขภาพกายใจดี ใช้ธรรมะในทางที่ถูกต้อง เห็นไหมว่า
แม้แต่ธรรมะก็รักษาสุขภาพได้”

­

­

หมอเขียว-ใจเพชร กล้าจน ผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองจาก “วิถีพุทธ” จากการไขรหัสพระไตรปิฎกแล้วนำมาบูรณาการณ์กับการแพทย์ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ผลักเขาหลุดจากการแพทย์แผนใหม่แบบเดิมๆ ว่า แม้ในชีวิตการเรียนเขาจบวิทยาศาสตร์สุขภาพมาถึง 2 ใบ แต่ปัญหาข้องใจ 3 ข้อทำให้เขาต้องหยุดคิดถึงวิถีการแพทย์ที่ใช้รักษาอยู่ในปัจจุบัน

“3 ปีแรกที่ผมทำงานรักษาคนไข้ ผมใช้ความรู้ทั้งหมดที่มี แต่กลับแก้ปัญหาคนไข้ไม่ได้ อย่างแรกที่ผมตั้งคำถามคือ ทำไมคนป่วยมากขึ้นทุกวันๆ โรคที่เคยรักษาได้กลับรักษาไม่ได้ แล้วทำไมบุคลากรทางการแพทย์จึงมีอัตราการป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจและต้องคิด ข้อสองรักษาไป แทนที่ค่าใช้จ่ายจะถูกลง กลับแพงขึ้นเรื่อยๆ จะหายก็ไม่หาย ข้อสาม แล้วทำไมเราก็ป่วยและสังเกตเห็นว่าคนพึ่งตัวเองได้น้อยลง ป่วยนิดหน่อยก็เสียเวลามานั่งรอหมอ ผมว่าถ้าคนนิยมมาหาหมอแล้วทำให้อัตราการเจ็บป่วยน้อยลงก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ตรงข้าม”

­

­

ส่วนอดีตผู้ป่วยโรคต่อมน้ำเหลืองบวมที่คอ และอีโคโนมีคลาส ซินโดรม (Economy Class Syndrome) หมอแดง-วีระชัย วาสิกดิลก ผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองจาก “ธรรมชาติบำบัด”บอกว่า แรกป่วยเขาต้องเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง รักษาตามอาการทั้งกินยา ผ่าตัดมาสารพัดก็ไม่หาย กระทั่งขาบวมจนเดินไปไหนไม่ได้ แต่หมอแดงก็ดั้นด้นพาตัวเองมานวดที่วัดโพธิ์ “ผมแปลกใจว่าทำไมนวดแล้วอาการดีขึ้น เวลาเจ็บป่วยยาที่กินกลับช่วยเราไม่ได้ แต่ไปนวดเท้า 3-4 ครั้ง ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาก ผมเลยหันมาศึกษาเรื่องการนวด การรักษาโรคกับรักษาคนไม่เหมือนกัน ถ้าคุณรักษาโรค คุณเป็นโรคอะไรก็มาตรวจหาโรค หมอจ่ายยาก็จบ แต่การรักษาคนต้องปรับพฤติกรรมคน พฤติกรรมที่ก่อโรค หมอมีหน้าที่แนะนำให้ผู้ป่วยพึ่งตนเอง
ร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เราต้องดูแลตัวเอง”

­

­

รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองจาก “ดุลยภาพบำบัด” อธิบายว่า เมื่อชีวิตขาดสมดุล โรคภัยย่อมมาเยือน ดุลยภาพบำบัดจึงนำการวินิจฉัยแบบแผนปัจจุบันมาผสมผสานกับการนวดไทยและการฝังเข็มแบบจีนโบราณ ซึ่งเน้นวิธีบำบัดแบบองค์รวมให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานสอดคล้องกัน แล้วฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายผู้ป่วยกลับสู่สมดุล “ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตแบบขาดดุลยภาพโดยไม่รู้ตัว เช่น ใช้อวัยวะร่างกายข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ลงน้ำหนักเอียงข้างขวาหรือซ้ายมากเกินไป การเกิดอุบัติเหตุ หรือกระทั่งตอนคลอด นำมาสู่การเป็นโรคต่างๆ ทั้งหมอนรองกระดูกทับเส้น อัมพฤตอัมพาต ส่วนใหญ่เวลาไปหาหมอก็จะรักษาตามอาการ เคยสงสัยไหมว่า ทำไมปวดหลังหาหมอหายแล้วก็เป็นอีก
นั่นเพราะโครงสร้างเสียสมดุล แต่อาการเหล่านี้สามารถบำบัดเบื้องต้นด้วยการบริหารร่างกายแบบง่ายๆ ที่บ้านได้ทุกวัน แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากร่างกายตัวเอง”

­

­

หมอดิน -ตถตา ทองเพียร ผู้เยียวยาร่างกายด้วย “แพทย์แผนทิเบต” เลยเอ่ยถึง วัยเด็กของตัวเองว่า “ผมเริ่มจากเรียนมวยจีน แล้วได้ทำความรู้จักกับร่างกายตัวเอง ก่อนหน้านี้สมัยวัยรุ่นผมไม่สนใจตัวเอง ไม่สนใจว่าจะกินอะไร นอนตรงไหน ทำตามอารมณ์เป็นหลัก
ไม่คิดว่าร่างกายจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง โอกาสดีได้ไปศึกษาการแพทย์ทิเบตเพิ่มเติม
ซึ่งมีส่วนคล้ายการแพทย์แบบจีน เป็นการเชื่อมโยงระหว่างกายกับจิต ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ด้วยอารมณ์ที่สงบ และมีความกลมกลืนกับจิตวิญญาณ สมมุติถ้าวันหนึ่งเราเครียดก็เหมือนพลังชีวิตขาดหายไป แต่ถ้าเราสร้างสมดุลได้ร่างกายจะมีพลัง อารมณ์สดชื่นแจ่มใส สมองปลอดโปร่ง”

­

­

อย่างไรก็ตาม การพึ่งตนเอง ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด “การตรวจรักษาคนไข้สอดคล้องกับวิถีชีวิต การทำเกษตรปลอดสารพิษก็ทำให้คนปลูกคนซื้อได้กินอาหารดีๆ ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร ผมจบปริญญาตรีกลับบ้านมาปลูกพืชสมุนไพร คนอื่นก็สงสัยว่าทำไม่ไม่ปลูกยางซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจขายได้ราคา แต่พืชสมุนไพรก็รักษาโรคได้ ทั้งโรคเก๊าท์ นิ่ว ผื่นแพ้ ดีซ่าน ขับพิษอุจจาระได้หมด ถามผมได้ เราทุกคนมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งเพื่อทำให้ต้นทุนชีวิตกลับมาดีขึ้น” หมอทราย พิชิต กัณฑรัตน์ แพทย์ทางเลือกสู้ชุมชนพึ่งตนเอง กล่าว

­

นอกจากวงเสวนา งานนี้ยังจัดให้มีการสาธิตเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมเวิร์คชอป “สถานีสุขภาพ” แบ่งเป็นวงเสวนากลุ่มย่อย 8 กลุ่ม ได้แก่ 1)ค่ายศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 2)ค่ายสุขภาพโรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ 3)ค่ายโยคะฝึกจิตพิชิตโรค 4) “สมุนไพรการดูแลตนเองแบบไทย” โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 5) “แพทย์วิถีพุทธ”
6) “ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น” 7) “แพทย์วิถีพึ่งตนเอง” และ 8) “ดุลยภาพบำบัด”

ทั้งนี้ ตัวแทนจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 8 ค่าย มีความเห็นร่วมกันว่า “สุขภาพทางเลือกเพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต” เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ช่วยให้ทุกคนหันมาสนใจตัวเองมากขึ้น รู้จักสำรวจร่างกายและจิตใจของตนเอง พร้อมเปิดโลกทัศน์ทางการแพทย์
ในมุมมองใหม่ให้ทุกคนเป็นหมอใหญ่ในการรักษาตนเองได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นกลุ่มคนที่โหยหาอดีตอย่างสุดกู่ หรือล้ำหน้าวิ่งเร็วจี๋ในโลกโลกาภิวัฒน์ วันนี้คงต้องหันมาเลือก “หยุด” เพื่อฟังเสียงร่างกายและหัวใจตัวเอง ว่าแล้ว ‘มาเริ่มฟังเสียงตัวเองกันดีกว่า’

­

­

­

ดาวน์โหลด

­