­

อนุพงษ์ วิเศษ หรือ วัต เด็กหนุ่มจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผู้ซึ่งชีวิตในช่วงวัยรุ่นพลัดหลงไปกับกระแสสังคมเมือง ทั้งคบเพื่อนดื่มเหล้า เที่ยวเตร่ไปกับเพื่อนๆ ไม่รับผิดชอบการเรียน จนท้ายที่สุดต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน วัตพยายามแก้ไขความผิดพลาดครั้งนั้นด้วยการ “ออกจากบ้าน” ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับบ้านหากยังเรียนไม่จบ และในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ และกลับมาอยู่บ้าน พร้อมกับความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนของตนเองบนฐานด้านการเกษตร ไปพร้อมๆ กับการทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ใต้ร่มพระพุทธ

ในวัยเด็ก วัต จัดว่าเป็นเด็กดีคนหนึ่ง แม้จะเรียนไม่ค่อยเก่ง แต่เขาก็เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน และช่วยเหลืองานที่บ้านตามที่พ่อแม่จะมอบหมาย เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 6 วัต ได้บวชเป็นสามเณรน้อยพร้อมกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านอีกหลายคน เป็นการบวช ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การมีโอกาสได้เรียนหนังสือโดยไม่ต้องรบกวนครอบครัวมากนัก

­

“...ตอนนั้นเพื่อนมาชวน ก็คิดว่าดีเหมือนกัน เพราะพ่อ แม่ ตอนนั้นก็ต้องส่งพี่ๆ เรียนหนังสือด้วย” วัต บอกเล่าถึงความคิดของเขาในวัยเยาว์

ชีวิตสามเณรน้อย เป็นไปอย่างราบรื่น เขาเรียนหนังสือ ไปพร้อมๆ กับการเรียนธรรมะอย่างตั้งอกตั้งใน จนสามารถสอบได้นักธรรมโทเลยทีเดียว เมื่อเรียนจนจบระดับชั้น ม.3 วัต จึงลาสึก เพื่อออกมาเรียนต่อด้านวิชาชีพในวิทยาลัยเทคนิค ในระดับปวช.

­

เมื่อชีวิตเดินผิดทาง

แต่เมื่อก้าวพ้นจากชีวิตใต้ร่มพระพุทธ วัตกลับไม่สามารถรับมือกับชีวิตในวิถีปกติได้ดีนัก

ชีวิตตอนเป็นสามเณรอยู่ในวัด กับชีวิตข้างนอกมันแตกต่างกันมาก ผมตามเพื่อนไม่ทันในแง่ของการใช้ชีวิต มันทำตัวไม่ค่อยถูก กับเพื่อนผู้หญิง ก็ไม่รู้จะวางตัวยังไง...”

นั่นคือ ความรู้สึกในช่วงแรกๆ ของการออกมาเผชิญวิถีทางโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง อดีตสามเณรน้อยวัต ก็เริ่มกลมกลืนไปกับเพื่อนๆ เขาเริ่มคุ้นชินกับการเที่ยวกลางคืน การดื่มเหล้า และละทิ้งภาระหน้าที่ในการเรียนหนังสือ จนท้ายที่สุดต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะถึงเขาไม่ลาออกโรงเรียนก็คงต้องให้ออกเพราะเกรดของเขาได้เพียงหนึ่งกว่าๆ

­

­

วัตพยายามแก้ไขความผิดพลาดครั้งนั้นด้วยการ “ออกจากบ้าน” ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับบ้านหากยังเรียนไม่จบ โดยจะไม่ขอเงินจากบ้านอีก

“ผมไปรับจ้างทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ พยายามเก็บเงินไว้เป็นค่าเล่าเรียน ได้จำนวนหนึ่ง ก็กลับมาสมัครเรียนใหม่ที่วิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีเชีย จังหวัดเชียงราย สาขาพืชศาสตร์ ผมเลือกเรียนที่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเทอมไม่แพง และวิทยาลัยมีหอพักให้อยู่ มีกิจกรรมให้ทำ ค่าใช้จ่ายไม่มาก พอปิดเทอมก็จะไปรับจ้างทำงานอีก ทำหลายอย่างมาก เป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร ร้านสุกี้ เป็นช่างเชื่อม เป็นดีเจในผับ เปิดเทอมก็กลับมาเรียน ทำอย่างนี้จนจบ”

ตลอดระยะเวลาที่เรียน เขาไม่เพียงแต่ไม่กลับบ้านเท่านั้น หากยังไม่เคยแม้แต่จะส่งข่าวให้พ่อ กับแม่รู้ ยกเว้นพี่สาวซึ่งทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นคนที่คอยส่งข่าวให้ทางบ้านทราบความเคลื่อนไหวของเขาอีกที ทำให้ พ่อ และแม่ พอคลายความห่วงใยไปได้

­

­

กลับบ้านเกิดเพื่อเดินตามรอยพ่อ

กระทั่งเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เขาจึงกลับบ้านพร้อมกับความตั้งใจที่กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนของตนเองบนฐานด้านการเกษตร พัฒนาเยาวชนท้องถิ่นให้กล้าคิด กล้าแสดงออก และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน

“…ถึงอายุไม่เยอะ แต่ผ่านประสบการณ์มาพอสมควร ไปทำงานมามาก มายหลายที่ ถามตัวเองว่า พอหรือยังที่จะร่อนเร่หางานทำ พอหรือยังที่จะกลับมาบ้านเกิด มาทำงานเป็นนายของตัว เองมาทำงานที่เป็นประโยชน์กับชุมชน…” วัต ย้ำถึงความตั้งใจของตัวเอง

­

­

ด้านการดำรงชีวิตตามวิถีเกษตรกร เขามี พ่ออนุรักษ์ วิเศษ คุณพ่อของเขาเองเป็น “ครูภูมิปัญญา” ครอบครัวของวัต มีที่นาอยู่ 4 ไร่ แต่พ่อของวัตไม่เน้นหนักเรื่องการเพาะปลูก ทำนาแต่พอกิน พ้นจากหน้านาก็ให้ญาติพี่น้องใช้พื้นที่ปลูกพืชผักอื่นๆ อาชีพ และรายได้หลักของครอบครัวมาจากการเลี้ยงหมู และเลี้ยงวัว รวมทั้ง โรงสีขนาดเล็กที่ให้บริการสีข้าวให้กับชาวบ้านในชุมชน โดยพ่อรักษ์ จะมี “เคล็ดลับ” ในการเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ที่ทำให้ได้กำไร แม้จะไม่มากกมายนักแต่ก็เป็นรายได้ที่พอเพียงสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวได้

วัตใช้เวลาในการเรียนรู้เคล็ดลับของพ่อผ่านการช่วยงานในครอบครัวอยู่กว่าหนึ่งปี จึงเลือกเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรของตัวเองเมื่อปลายปี 2552 ด้วยการทดลองเลี้ยงหมูพันธุ์เหมยซาน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการจัดการความรู้เยาวชน 4 ภาค เริ่มจากการเลี้ยง 2 ตัว ภายใน 6 เดือน เขาสามารถบริหารจัดการให้มีหมูเพิ่มขึ้นเป็น 8 ตัว ซึ่งทำให้เขามีความมั่นใจในการสืบสานภูมิรู้จากพ่อมากขึ้น ก้าวต่อไปของเขา คือ การฝึกหัดเป็นเกษตรกรเต็มตัว นั่นคือ ต้องเรียนรู้วิธีการทำนา การปลูกผัก การเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ บนฐานคิดของเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ การพึ่งพาตนเองได้

­

­

ขอเป็นอีกหนึ่งแรงในการพัฒนาชุมชน

ด้านแนวคิด และการทำงานเพื่อชุมชนสังคมเขามี ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา เป็น “ต้นแบบ” ปัจจุบัน วัต เป็นอาสาสมัครของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา ทำหน้าที่จัดรายการวิทยุชุมชนคนลุ่มน้ำของ และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชน เช่น ค่ายเยาวชน เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เยาวชนในอำเภอเชียงของ และเขายังเป็นเยาวชนในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

­

นอกจากนี้ วัตยังได้ริเริ่มรวมกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านมาร่วมกันทำกิจกรรมปลูกผักอินทรีย์บริเวณริมฝั่งน้ำสม โดยมีเป้าหมายที่จะให้การรวมกลุ่มนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเยาวชนในหมู่บ้านให้มีทักษะชีวิต และร่วมกันทำกิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเอง และชุมชน ไม่พลัดไหลไปตามกระแสสังคมชักพาไปผิดทาง อย่างที่เขาเคยเป็น….

ถึงวันนี้ แม้ชีวิต และการทำงานกับชุมชน จะมีอุปสรรค ปัญหา บางครั้งอาจจะทำให้วัตท้อบ้าง แต่เขาก็ยืนยันว่าจะไม่ยอมถอย เพราะนี่เป็นเส้นทางชีวิตที่เขาได้ “เลือก” แล้วนั่นเอง

­