ณ ห้องประชุม เทศบาลเมืองแก ต.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชน (สรส.)

ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ที่ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบ ถือเป็นยุคแห่งการพัฒนาที่อาจทำให้คนรู้สึกว่าต้องแข่งขันเพื่อความก้าวหน้า ในชีวิต ต่างคนก็ต่างพยายามไขว่คว้าสิ่งที่เป็นเหมือน “ความฝัน”และอาจหลงลืมสิ่งที่เป็น “ความจริง” ที่อยู่ตรงหน้า นั่นก็คือ ภาวะของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากคนเราสามารถเรียนรู้หลักการทำหน้าที่ของตนให้ประสบความ สำเร็จและมีความสุขกับงานที่ทำได้





หลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อการพัฒนา เด็ก เยาวชน ครอบครัว ในภาคอีสาน ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ในวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2556 ณ ห้องประชุม เทศบาลเมืองแก ต.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และเติมเต็มแนวคิดเครื่องมือในการทำงานกับชุมชนนั้น ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการคิด วิเคราะห์ เพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น หรือ “นักถักทอชุมชน” ให้ประสบความสำเร็จ และมีประสิทธิภาพ



โดยในการอบรมครั้งนี้ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้ อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชน (สรส.) ได้เน้นหลักการบรรยายให้กับนักถักทอชุมชนในเรื่องหลักคิด หลักปฏิบัติในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และมีความสุขจากงาน พร้อมนำไปสู่หลักการเขียนโครงการหรืองานต่างๆ ต่อไปในอนาคตได้อย่างดี



สำหรับคำถามของอาจารย์ทรงพลต่อนักถักทอฯที่ว่า “คนจะทำงานได้สำเร็จ ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง” ทำให้บรรยากาศการอบรมในครั้งนี้ เต็มไปด้วยกระระดมความคิด เพื่อการพัฒนาแผนการทำงานในด้านต่างๆ ซึ่งหนึ่งในด้านที่สำคัญมากที่สุดนั่นก็คือ “อารมณ์” ที่อาจารย์ทรงพลชี้แนวไว้ว่า “คนสำราญ งานสำเร็จ” ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อคนทำงาน เห็นคุณค่าของงานที่ตนเองทำ โดยเฉพาะไม่ได้มีใครมาสั่งให้ทำ ก็จะยิ่งทำให้คนเหล่านั้น เกิดกระบวนการทำงานที่ดี และสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข



โดยวิธีการสร้างความสุขจากการทำงานของอาจารย์ทรงพล มีหลักคิดง่ายๆ เพื่อการนำไปใช้คือ ขั้นตอนการวางแผนการทำงานทั้ง ก่อน ระหว่าง และหลังทำ ซึ่งหมายถึง ในขั้นตอนก่อนการทำงานควรมีความอยากทำ และมีความตั้งใจ ในส่วนของช่วงระหว่างทำนั้นก็ต้องรู้จักทำงานให้เกิดความอุ่นใจ รวมถึงความมั่นใจ ซึ่งจะส่งผลทำให้คนทำงานเกิดกำลังใจ นำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวิธีการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายพอถึงขั้นตอนที่ผู้ทำงานสามารถตั้งเป้าหมายและทำให้งานบรรลุเป้าหมาย นั้นๆ ได้ก็จะทำให้ผู้ทำงานเกิดความภาคภูมิใจในงานที่ทำ เป็นที่ยอมรับต่อตนเองและสังคม สุดท้ายทักษะที่ได้มากที่สุดก็คือความเก่ง หรือความสามารถในด้านต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น จากประสบการณ์ที่มากขึ้นด้วย



หลักการจัดการความเครียด หรือการจัดการอารมณ์ด้วยการนำความรู้ ความอุ่นใจ และกำลังใจมาใช้ประโยชน์ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อใกล้ตัวที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคนๆ หนึ่ง ได้อย่างมีพลัง เพราะทุกคนล้วนต้องเจอกับปัญหาในการทำงานด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการจัดการกับสภาวะทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไป



นางจินตนา แกล้วกล้า หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองสนิท อีกหนึ่งนักถักทอที่มีแนวคิดการทำงาน รวมถึงการจัดการกับสภาวะอารมณ์ได้อย่างน่าสนใจคือ “เวลาที่รู้สึกเครียดจากการทำงานจะคอยกลับมามองหาสาเหตุของความเครียดให้เจอ เพื่อที่จะได้นำไปแก้ปัญหาตรงนั้น ซึ่งตนเองก็จะเป็นคนตั้งใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก่อน พยายามแก้ปัญหาไปทีละอย่าง แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ก็จะปล่อยไป”



โดยอาจารย์ทรงพล ได้เน้นย้ำหลักการสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่อาจเป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลให้คนทำ งานไม่มีความสุข นั่นก็คือ ปัญหาในด้านการสื่อสาร ซึ่งในที่นี้คือทั้งในตัวบุคคลและในองค์กรการทำงาน ซึ่งการจะทำงานให้ได้ดี ต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม “อย่าเอาเรื่องเล็กมาทำเป็นเรื่องใหญ่ แทนที่จะเอาเรื่องใหญ่มาทำเป็นเรื่องเล็ก”



สุดท้ายกับสิ่งที่อาจสำคัญที่สุดที่อาจารย์ทรงพลกล่าวไว้ก็คือคนทำงานที่มัก จะประสบปัญหาว่าทำงานไม่มีความสุขเพราะยึดติดกับจุดมุ่งหมายมากเกินไป “การเห็นประโยชน์ของความก้าวหน้ารายทาง ไม่ควรไปยึดติดที่ยอดอย่างเดียว” เพราะสิ่งที่ได้จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์รายทาง ไม่ว่างานนั้นๆ จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เราต้องคิดอยู่เสมอว่าเราได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ ซึ่งอย่างน้อยอาจทำให้เราได้เห็นจุดแข็ง หรือจุดอ่อนที่มีอยู่ในตัวเราเอง และสุดท้ายถ้าเราทำงานอะไรแล้วมีก้าวหน้า ก็จะเกิดความสุข ส่งผลให้เราประสบความสำเร็จได้เช่นกัน