“ยุทธศาสตร์การทำแผนงานเยาวชน” อบต.เขาครามลองจัดครั้งแรก เพื่อนๆสังเกตุกระบวนการทำจริงในเวทีครั้งที่ 5

“ภาพที่เราอยากจะเห็น เด็กเยาวชนทุกหมู่บ้านสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม โดยการใช้กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง”

เดินทางมาครึ่งทางแล้วสำหรับการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน รุ่น 2 เริ่มการอบรมครั้งที่ 5 อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ให้โจทย์เรียนรู้ “ยุทธศาสตร์การทำแผนงานเยาวชน” โดยให้อบต.เขาคราม เป็นตัวอย่างในการจัดทำแผนให้เพื่อนๆ นักถักทอฯ ได้เกิดความเข้าใจ ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2557 ณ ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานกระบี่ ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่

นายบัณฑูร ภูมิภมร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่กล่าวเปิดเวทีในวันแรก

“....เมื่อครอบครัวไม่เข้มแข็ง สังคมก็ไม่แข็งแรง เราทำอย่างไรจะให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องนี้ คาดหวังว่าจะอาศัยนักถักทอชุมชนให้ไปสร้างการเรียนรู้ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ และจะนำความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแนะนำของอาจารย์ในการอบรมนำไปปรับใช้จริงเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนต่อไป”


เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มแนวคิดเครื่องมือในการทำงานกับชุมชน โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2: หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวครั้งที่ 5 นี้ มี ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมี 6 อบต. 2 จังหวัดเข้าร่วมคือ จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ เทศบาลเมืองปากพูน อ.เมือง องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อ.ท่าศาลา องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว อ.ท่าศาลาองค์การบริหารส่วนตำบลอินคีรี อ.พรหมคีรีเทศบาลตำบลโพธิ์เสด็จ และ จ.กระบี่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคราม

อ.ทรงพลเจตนาวณิชย์ ผอ.สรส. ให้ย้ำข้อคิดกับนักถักทอชุมชนเป็นการเปิดเวทีว่า

“...ทักษะหนึ่งทื่สำคัญสำหรับเด็กคือการสังเกตุจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดการให้เกิดทักษะ เด็กต้องลงมือทำ และถอดบทเรียน”


จากนั้น อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ให้โจทย์ช่วงเช้า “รายงานความก้าวหน้าของกิจกรรมเยาวชนในพื้นที่” ให้อบต.ทั้ง 6 พื้นที่ นำเสนอในประเด็น กิจกรรมที่ทำได้เกิดผลอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นกับแกนนำเยาวชน ผู้ใหญ่ใจดี และกรรมการการเรียนรู้และการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับตัวเราในเรื่องเพิ่มความรู้ ฝึกทักษะ บ่มเพาะนิสัย ปรับทัศนคติ ให้ทบทวนลงบนแผ่นฟลิปชาร์ต

เริ่มนำเสนอทีมแรก นางสาวฐิติมา จันทโรทัย หรือ เมย์ หนึ่งในนักถักทอชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลเขาครามจ.กระบี่นำเสนอการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กในพื้นที่มีเป้าหมายต้องการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นสภาที่เข้มแข็ง หลังจากอบต.ได้ทำมาหลายปีและมีรูปแบบสภาเด็กและเยาวชนที่ชัดเจนแต่ปัญหาที่ผ่านมาคือการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนทำกิจกรรมเป็นกิจกรรม ทำแล้วจบไม่มีการต่อยอด อบต. ตั้งงบประมาณให้เด็กทำเสนอโครงการให้คิดเอง ทำเองทั้งหมด โดยมี อบต.เป็นพี่เลี้ยง หลังจากจัดกิจกรรมคัดสรรแกนนำเยาวชนทำให้รู้จักตัวตนของเด็กมากขึ้นและได้รู้ถึงปัญหาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่จากตัวเด็กเองหลังจากที่ผ่านมารับรู้ผ่านคนอื่น และมีแกนนำที่มีจิตอาสาพร้อมจะทำงานในพื้นที่ต่อไป


เทศบาลเมืองปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชนำเสนอโดยนางอรทัย พิกุลจร (ดาว)

บอกว่าการทำกิจกรรมของเทศบาลนั้นทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเกิดความเข้าใจการทำงานของทีมงานมากขึ้น ทำให้นักถักทอชุมชนเกิดทักษะต่างๆ เช่นช่างสังเกตุ ตั้งคำถาม รับฟัง

องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว อ.ท่าศาลานำเสนอโดยนายวสันต์ จิตแฉล้ม (สัน) กล่าวว่า ได้เปลี่ยนวิธีทำงานจากใช้กิจกรรมเป็นตัวตั้ง มาใช้เป้าหมายเป็นตัวตั้งทำให้เป็นมิติใหม่ของการทำงานอบต.เป็นการทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่ให้มีความชัดเจน ได้เป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในปี 2558 ให้พัฒนาได้ตัวชี้วัดให้ผู้ใหญ่และคนในชุมชนยอมรับแนวทางใหม่ของอบต.และแกนนำเยาวชน 15 คน กำหนดคุณสมบัติ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ มีจิตอาสาช่วยพัฒนาชุมชน สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ มีสัมมาคารวะจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 วันที่ 30 พ.ย.

นางสาวลัดดาวัลย์ ทองขำ (กุ้ง) เป็นตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อ.ท่าศาลานำเสนอกิจกรรมเด็กและเยาวชนที่ผ่านมา “.ผลที่ได้รับผู้ใหญ่ใจดีสนใจเข้าร่วมประชุมและให้ข้อเสนอแนะการคัดสรรแกนนำเยาวชนทั้งเรื่องอายุที่เหมาะสม การจัดกิจกรรมในวันเสาร์ อาทิตย์ และควรจะมีการจัดทำแผนกิจกรรมให้ชัดเจนเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองสามารถเตรียมตัวได้พร้อมสำหรับการร่วมกิจกรรม ผลที่ได้ทำให้เกิดโครงการสานฝันวัยใส ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีการบูรณากการงบประมาณหลายๆ กิจกรรมมารวมเป็นโครงการเดียวกันทำให้เกิดโครงการที่ใหญ่และมีความเข้มแข็ง และกิจกรรมนี้ทำให้มีเยาวชนที่สนใจเป็นแกนนำถึง 44 คน และผู้ใหญ่ใจดี 22 คนด้วยกัน”

นายนรา หนูทอง(นรา) นักถักทอชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลอินคีรี อ.พรหมคีรีนำเสนอ
“...การชวนผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่ในร่วมทำงานต้องใช้เวลาซื้อใจกันหลายๆ ปี มีอะไรที่ช่วยเหลือกันได้จะช่วยทุกอย่างทำให้การทำงานสภาเด็กและเยาวชนวันนี้สามารถขับเคลื่อนไปได้ในพื้นที่อินคิรี...”

อาจารย์ทรงพลได้ให้ข้อมูลว่า “สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองขาดมากที่สุดคืออะไร”1.ความรัก ความห่วงใย 2.ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก/การเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งรอบตัว 3.ความสามารถในการสังเกตุ การฟัง การพูดลูกตัวเองและ 4.เวลา


จากนั้น อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ได้ให้โจทย์ใหม่... ต้องให้เยาวชนฝึกการคิดและเขียนโครงงานเป็นโดยให้แนวในการเขียนโครงงานว่า1.เรื่องที่จะทำคือเรื่องอะไร 2.ทำไมถึงอยากทำเรื่องนี้ (ตั้งคำถามเพื่อเด็กเกิดความคิดวิเคราะห์)เหตุผลและความเป็นมาของการเขียนโครงงาน 3.ภาพหรือเป้าหมายความสำเร็จดูที่ตรงไหน (ตัวชี้วัดความสำเร็จ) 4.ถ้าเราทำเรื่องนี้สำเร็จจะเกิดประโยชน์อะไร กับใครบ้าง 5.ลำดับขั้นตอนในการขับเคลื่อนงาน

วันแรกเป็นการทบทวนความรู้ไปในตัว...

สำหรับวันที่สอง :ยุทธศาสตร์การทำแผนงานเยาวชน

เริ่มที่ช่วงบ่าย อบต.เขาครามได้จัดเวทีการทำยุทธศาสตร์การทำแผนงานเยาวชน โดยมีเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชน ตำบลเขาคราม มาร่วมจัดทำแผนด้วย สำหรับการจัดเวทีครั้งนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างให้กับอบต.อื่นๆ และเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนที่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงด้วย และมีเพื่อนๆ นักถักทอชุมชนอีก 5 พื้นที่ ร่วมกันเป็นพี่เลี้ยง

นายวีระพล ลื่อเท่ง ปลัดอบต.เขาคราม และนักถักทอชุมชน ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเวทีครั้งนี้กับเยาวชน

“การทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องและไม่มีแผนที่ชัดแจนในการวางเป้าหมายว่าจะทำอะไรต่อไป ครั้งนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนครั้งที่ 1 เพื่อให้น้องๆ ได้ร่วมกันจัดทำแผน“ยุทธศาสตร์การทำแผนงานเยาวชน” มีพี่ๆ นักถักทอชุมชนจากนครศรีธรรมราชมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ โดยน้องๆ ต้องทำแผนเอง แต่ถ้าอยากทราบขั้นตอนหรือสงสัยอะไร สามารถพูดคุยกับพี่ๆ เขาได้”

สำหรับน้องๆ ที่เข้าร่วมในครั้งมีด้วยกัน 5 คนนำทีมโดยน้องยูริ 

  • น.ส.เกศจิรา มัสกุล อายุ 23 ปี
    ประธานสภาเด็กและเยาวชน อบต.เขาคราม อยู่ในตำแหน่งมาเป็นปีที่ 4 
  • เมล์ – น.ส.วนิดา มานพ อายุ17 ปี
  • ซอส – นายมนตรี ทำศรี อายุ 18 ปี
  • ซอล – นายธีรภัทร มัสกุน อายุ 15 ปี
  • อิด – นายณัฐพงศ์ เอ็มยุเดิน อายุ 21 ปี
  • และต้อ – น.ส.ปราณี มัสกุล อายุ 36 ปี ประจำอยู่ที่สอบต.

มาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้น้องๆ กลุ่มนี้ด้วยทีมนักถักทอชุมชน ได้เริ่มกระบวนการให้แบ่งน้องออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่ม 1 กบ น.ส.ฉวีรรณ ดวงเกิด และสัน – นายวสันต์ จิตแฉล้ม เป็นพี่เลี้ยงกลุ่ม

และกลุ่ม 2 เมย์ – น.ส.ฐิติมา จันทโรทัย และ หมาน-นายอิศราวุธ หมาดหลี เป็นพี่เลี้ยงกลุ่ม


กระบวนการเริ่มที่โจทย์แรกให้เยาวชนนึกถึง”สภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนที่น้องๆ เคยประสบมามีอะไรบ้าง สาเหตุปัญหา และในฐานะแกนนำเยาวชนอยากให้การแก้ไขปัญหาใด... น้องๆ ก็ร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมระดมความคิดก่อนจะมานำเสนอกันต่อไป


“น้องยูริ” ชี้ปัญหาเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ “ปัญหายาเสพติด- ผู้ปกครองควรให้คำปรึกษากับลูกอย่างใกล้ชิดโดยใช้ความรัก ความเข้าใจ และช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

“ปัญหานิสัยก้าวร้าวสัมมาคารวะ – ควรประสานผู้นำศาสนาให้สอนเรื่องในวัฒนธรรมเสื่อมถอยเพราะเด็กน่าจะเชื่อฟัง ที่สำคัญเด็กควรชมละครพร้อมผู้ปกครองเพราะผู้ปกครองควรแนะนำการชมละคร และแนะนำการคบเพื่อน”

“ปัญหาเด็กแว๊น - ผู้ปกครองซื้อรถให้ลูกขับไปโรงเรียน แต่ลูกๆ ใช้ในทางที่ผิดนำไปแว๊น”

“ปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร – ควรมีหลักสูตรเพศสัมพันธ์ในสถานศึกษาและพ่อแม่ควรเปิดอกคุยกับลูกเพื่อแก้ไขปัญหา” สุดท้ายทุกเรื่องน้องยูริชี้ต้นตอปัญหาหนึ่งมาจากสื่อและเทคโนโลยีที่มีผลต่อทุกเรื่องและปัญหาที่น่าจะต้องถูกแก้ไขเป็นอันดับแรกได้แก่ปัญหายาเสพติด เพราะว่ายาเสพติดระบาดขึ้นเรื่อยๆ น้องๆ บางคนอายุไม่ถึง 15 ติดยาเสพติดแล้ว อยากให้ปัญหานี้เป็นปัญหาหลักที่ชุมชนควรช่วยกันแก้ไขปัญหา


สำหรับกลุ่มที่สองกลุ่มปลาดาว “น้องซอส” ชี้ครอบครัวอบอุ่นแก้ปัญหาทุกอย่าง “ปัญหาที่สำคัญปัญหายาเสพติดเกิดจากครอบครัวขาดการดูแลและการให้เวลากับลูกในการที่จะตักเตือนลูก วิธีการแก้ไขต้องสร้างความอบอุ่นในครอบครัว ชุมชนต้องเข้าถึงพ่อแม่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ให้ผ่านพ้นไป เพราะเด็กๆ ไม่รู้ถึงผลของน้ำทอม เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะส่งผลร้ายผมคิดว่าเพื่อนต้องช่วยกันตักเตือน น่าจะมีการจัดตั้งกลุ่มต้านภัยยาเสพติด ชวนมาร่วมทำกิจกรรมอื่นๆเพื่อหลีกเลี่ยงยาเสพติด และการทำอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้ขึ้นมา เพราะเด็กคิดว่าขายยาแล้วรวยแล้วดี

นางสาระภี ศรีพร เทศบาลปากพูน อ.เมือง เป็นตัวแทนนักถักทอชุมชมสรุปประเด็นปัญหาและการแก้ไขปัญหาซึ่งก็สะท้อนว่าดีใจที่มุมมองของเด็กก็ให้มุมมองที่ตรงกันกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด เด็กแว๊น ค่านิยมสมัยสมัยใหม่ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เด็กปัญหาก้าวร้าวไม่มีสัมมาคารวะ


“...ดีใจที่เห็นเด็กมองในเรื่องของศาสนา ใช้หลักศาสนามาแก้ไขปัญหา เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ได้..”

และโจทย์ที่สองที่ให้เยาวชนได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็น สะท้อนความคิดออกมาในหัวข้อ “อยากเห็นเยาวชนอบต.เขาครามเป็นคนอย่างไร และทำโครงการอะไรเพื่อให้เยาวชนมีคุณสมบัติแบบนั้น”

“น้องซอส” บอกว่าอยากเห็นเยาวชนเขาครามเป็นคนที่ปลอดยาเสพติด กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีการศึกษา มีสัมมาคารวะ ตระหนักน้านศาสนาและวัฒนธรรม สร้างสายใยรักในครอบครัว เล่นกีฬา จึงควรต้องมีกลุ่มต้านภัยยาเสพติดจัดโครงการต้านภัยยาเสพติด แข่งขันกีฬา เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และกระชับมิตรภาพในสังคม เพราะสังคมห่างเหินกันในสังคมปัจจุบัน

ส่วน “น้องยูริ” อยากเห็นเยาวชนเป็นคนที่มีความกล้าคิด มีภาวะการเป็นผู้นำ อยากให้เล็งเห็นปัญหาของสังคมจึงอยากจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพด้านภาวะความเป็นผู้นำ และโครงการสร้างความตระหนักรู้ของเยาวชน

นางสาระภี ศรีพรได้สรุปได้ใจว่า “วันนี้น้องๆ ได้ระดมความคิดและได้โครงการที่อยากจะนำเสนอผู้ใหญ่ให้ช่วยสนับสนุนให้เกิดขึ้นในอนาคต และคิดว่าควรจะให้เยาวชนนำโครงการมาร่วมกันเป็นหัวข้อเดียวกันเพื่อจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงได้ แต่ต้องมีผู้ใหญ่ให้กับสนับสนุนด้วย “ดีที่เด็กมองไปถึงเรื่องสุขภาพและเรื่องห้องสมุดที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กัน”

สิ่งที่เยาวชนได้สะท้อนออกมาทำให้เห็นว่าการฟังความคิดจากเด็กมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานในชุมชนอยู่ที่ผู้ใหญ่ในชุมชนจะให้โอกาส สำหรับการระดมความคิดในวันนี้จะปรากฏผลเป็นรูปธรรมในภายภาคหน้าเพราะผู้ใหญ่ที่อบต.เขาครามเขาหนุนเต็มตัวและมีคนติดตามฟังผลงานอยู่ด้วย

เช้าวันสุดท้าย อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ชวนนักถักทอชุมชน aar (After Action Review) โดยให้มีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดในหัวข้อ “ข้อพึ่งระวังในการทำกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนคืออะไรบ้าง” จากตัวอย่างที่ อบต.เขาครามได้ลองชวนเยาวชนมาจัดเวทีจัดทำแผน“ยุทธศาสตร์การทำแผนงานเยาวชน” เพื่อเป็น HOW TO ในการนำวิธีการนี้กลับไปพัฒนาการทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ของตนเองต่อไป

สิ่งที่ได้จากการถอดบทเรียน “ข้อพึ่งระวังในการทำกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนคืออะไรบ้าง”

> ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารต้องให้เด็กเข้าใจง่าย
> การเตรียมพร้อมก่อนเข้ากระบวนการ ไม่ใช้การกระตุ้นแบบชี้นำ
> การรับฟังเด็กต้องฟังให้ลึกซึ้งและจบก่อนแล้วค่อยสรุป
> ระยะเวลาที่ให้เด็กทำต้องเหมาะสมในแต่ละช่วง
> ไม่ต้องกำหนดกรอบเป้าหมายในการทำเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดและค่อยดูจังหวะที่เหมาะสมในการไปถึงเป้าหมาย
> ไม่มีการเก็บรายละเอียดระหว่างทำกิจกรรมกับเด็ก การสังเกตุพฤติกรรมเด็กในระหว่างทำจะได้ปรับกลยุทธได้
> ทีมพี่เลี้ยงแบ่งงานกันให้ชัดเจน กิจกรรมจะได้ขับเคลื่อนได้อย่างไหลลื่น ดูเป็นมืออาชีพ
> ต้องมีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเด็กแต่ละคนอย่างชัดเจนเพื่อจะได้ประเมินการจัดกระบวนการได้

นี่คือการถอดบทเรียนจากการลงมือทำจริงและนำมาสร้างเป็น How to ในการทำงานต่อไป...อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ สรุปใจความว่า “เรากำลังฝึกฝนเรื่องทำและจับประเด็นให้ได้และจำหลักเอาไปใช้อุปสรรค์การนำความรู้ไปใช้คืออะไรบ้าง สิ่งที่เราพูดกันและนำไปใช้จริงอะไรเป็นอุปสรรคทคนอื่นไม่เข้าใจความหมายที่ต้องการจะทำเหมือนเรา เราต้องอธิบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถึงจะฝ่าฝันอุปสรรค์นี้ไปได้”

จากนั้น อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ให้โจทย์ข้อต่อไปดังนี้ “บทเรียนจากสภาเด็กและเยาวชนในพื้นที่” นักถักทอชุมชนร่วมกันถอดบทเรียนสรุปใจความว่า...

1.ขาดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ขาดความต่อเนื่องในเรื่องของการทำโครงการ

2.การทำงานยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่นกลุ่มเด็กนอกระบบ เด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ที่ยังไม่ถูกนำเข้ามาร่วมกิจกรรม

3.ขาดบุคลากรที่มีความชำนาญและผู้รับผิดชอบในการทำงานกับเด็กและเยาวชน

4.มีการเน้นเป้าหมายเชิงปริมาณไม่เน้นคุณภาพ

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ให้แนวคิดหลังทุกคนช่วยกันระดมความคิดนี้แล้วว่า “พวกเรานักถักทอชุมชนเมื่อเห็นปัญหา 4 หัวนี้แล้ว น่าจะช่วยกันคิดวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไข ในการคัดสรรแกนนำเยาวชน เมื่อรู้ว่าเป็นปัญหาต้องหาทางออกแบบใหม่เพื่อให้ได้แกนนำเยาวชนตามที่พวกเราคาดหวังไว้ได้เพราะบุคลากรที่สำคัญในท้องถิ่นที่จะขับเคลื่อนงานนี้ก็คือพวกเรานั่นเอง”

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้เผยภาพที่อยากเห็นว่า “ภาพที่เราอยากจะเห็น เด็กเยาวชนทุกหมู่บ้านสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม โดยการใช้กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง” กลยุทธที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายภาพที่ต้องการเห็นภาพนั้นได้คือต้องมีการสร้างแกนนำเยาวชน เพราะแกนนำเยาวชนจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ในพื้นที่ ให้เข้าหากันได้


สรุปกระบวนการอบรมในครั้งที่ 5 ที่โซนภาคใต้ครั้งนี้ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ให้นักถักทอชุมชน ได้ทดลองปฏิบัติจริงโดยใช้เวทีและเยาวชนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและสามารถนำกลับไปใช้ได้จริงในพื้นที่ของตนเอง

พบกันครั้งที่ 6 ที่อบต. ในวันที่ 21 – 23 มกราคม