เวทีนักถักทอชุมชน รุ่น 2 ครั้งที่ 3 ณ เทศบาลเมืองปากพูน เติมทักษะแนวทางการพัฒนากลไกเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว

หลักสูตรนักถักทอชุมชน ปี 2 เริ่มทำกระบวนการมาตั้งแต่เดือน 16 มิ.ย 2557 – 16 พ.ค. 2557

และเริ่มการอบรมอย่างเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ล่าสุดเวทีภาคใต้ได้เปิดให้มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มแนวคิดเครื่องมือในการทำงานกับชุมชน โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2: หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวครั้งที่ 3 ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองปากพูนอ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วันที่ 24 – 26 กันยายน 2557

­


กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสรส. วิทยากรได้นำความรู้ อาทิ หัวข้อการถอดบทเรียนกลไกพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว ของแต่ละอบต. ,แนวทางและขั้นตอนในการพัฒนากลไกเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมี 5 อบต.เข้ารับการอบรมได้แก่ เทศบาลเมืองปากพูน องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว องค์การบริหารส่วนตำบอลอินคีรี องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคราม

­

นายแมน พิกุลจร รองนายกเทศมนตรีเมืองปากพูน


นายแมน พิกุลจร รองนายกเทศมนตรีเมืองปากพูน กล่าวเปิดการอบรมว่า “โครงการนักถักทอชุมชนมีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม มีการอบรมเจ้าหน้าที่ข้าราชการซึ่งต้องดูแลพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ขอให้การแก้ไขปัญหาเรื่อง “เยาวชน” อยู่ใน “หัวใจ” ของทุกท่าน ขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดแนวทางในการทำงานเพื่อช่วยกันทำงานของสังคม เพื่อประโยชน์สุขของชุมชน บ้านเมือง และประเทศชาติ”

­

นายชาญชัย อรุณ ปลัดเทศบาลเมืองปากพูน


นายชาญชัย อรุณ ปลัดเทศบาลเมืองปากพูน กล่าวต้อนรับนักถักทอชุมชนว่า “ความคาดหวังของผมกับหลักสูตรนักถักทอชุมชนในครั้งนี้มีมาก เราได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมหลักสูตรหลายคน และมีค่าใช้จ่ายสูง จึงคิดว่าอะไรที่ลงทุนสูง คุ้มค่าน่าทำ เชื่อว่าโครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องต้องใช้เวลาในการมาถักทอให้กับนักถักทอชุมชนมาก จึงคิดว่าน่าจะทำให้นักถักทอฯ ได้ประโยชน์จากการเรียนครั้งนี้มาก ผมชอบคำว่าถักทอเพราะมีความหมายดีให้ชุมชนมีการถักทอเกิดเป็นเครือข่าย ท้ายนี้ขอให้ทุกท่านได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้กับท้องถิ่นของตัวเอง ขอให้ทุกคนตั้งใจกับงานครั้งนี้ครับ”

อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสรส. กล่าวว่า หลักสูตรนักถักทอชุมชนเป็นหลักสูตรการโค้ชชิ่งไม่ใช่หลักสูตรให้ทุกคนจดบันทึก เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าทุกคนจะได้เรียนรู้กันได้อย่างลึกซึ้ง”

สำหรับโจทย์แรก อาจารย์ทรงพล ได้ฝึกให้แต่ละอบต. ถอดบทเรียนกิจกรรมการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว ที่ผ่านมา เพื่อจะได้เป็นการถอดบทเรียนงานของตนด้วย ทีมแรกจากเทศบาลเมืองปากพูน นำเสนอกิจกรรมการพัฒนาเด็ก ได้แก่โครงการปั่นจักรยานกำจัดขยะรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการรวมคนในชุมชนทั้งกลุ่มแกนนำชุมชน เยาวชน ผู้สูงอายุ จำนวน 40คน ได้ทำกิจกรรมร่วมกันในทุกเช้าวันเสาร์ โดยใช้เสียงดนตรีนำขบวนให้ชุมชนรู้ว่าโครงการฯ นี้มาแล้ว เพื่อช่วยทำความสะอาดถนน วัด มัสยิด สิ่งที่พบทำให้เยาวชนที่เกิดปัญหา เป็นโอกาสที่ทำให้เทศบาลได้ทำงานกับเด็กอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญได้มีการสอนให้เด็กว่ายน้ำ สะท้อนจากชุมชน จากโยนขยะลงที่พื้นที่หน้าวัดก็ลดลง การทิ้งขยะไม่เป็นที่ของผู้ใหญ่ทำให้เกิดความละอาย เกิดความสะอาดมากขึ้น เป็นการปลูกฝังนิสัยการรักความสะอาดในชุมชน ซึ่งมีเสียงสะท้อนมาจากเยาวชนว่าทำไมพวกเขาต้องมาเก็บขยะทั้งที่ไม่ใช่คนทิ้ง ทำให้เด็กรู้สึกเกิดความเบื่อหน่าย จึงคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมเสริมเพื่อให้เยาวชนสนุกและเกิดความผ่อนคลายในการทำกิจกรรม จึงเกิดกิจกรรมปั่นจักรยานและว่ายน้ำมาเสริม ซึ่งทำให้เกิดเด็กๆ ชอบกันมากและมาร่วมทำกิจกรรมกัน สำหรับผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นหลังทำกิจกรรมแล้วเห็นได้ผลดี ทำให้ผู้ปกครองยอมส่งลูกหลานมาร่วมมากขึ้น จากผู้ปกครองระยะแรกๆ มีอาชีพรับจ้าง ทำสวนทำนา ต่อมาผู้ปกครองกลุ่มข้าราชการในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญเข้าร่วมกิจกรรมและสนับสนุนให้ลูกๆ เข้ามาร่วมด้วย และได้นำเยาวชนไปร่วมงานสำคัญๆ ของชุมชน และพิเศษคือในวันเกิดของคนในชุมชนจะให้เด็กๆ ได้มีโอกาสร่วมงาน และผู้ใหญ่ก็มีของขวัญให้กับเด็กๆ ทำให้เกิดความผูกพันกันมากขึ้น”

­


อ.ทรงพล จึงเสริมว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่ใช้วันเกิดเป็นตัวเชื่อมผู้ใหญ่กับเด็ก “เวลานำมาร่วมกับผู้ใหญ่ใจดี ทำบุญวันเกิดให้ทำกิจกรรมกับเด็กๆ ให้เด็กร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ให้ เป็นนวัตกรรม เป็นการถักทอของคนต่างอายุ โดยใช้วันเกิดเป็นตัวเชื่อม ถือว่าเป็นความคิดที่ดีมากๆ หลังทำกิจกรรมทุกครั้งควรจะต้องถอดบทเรียนเพื่อให้รู้ผลของกิจกรรมนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น”

สำหรับ “อบต.กลาย” ได้นำเสนอโครงการเยาวชนต้นกล้าอาสาพัฒนาตำบลกลาย ที่มีเยาวชนเข้าร่วมถึง 120 คน ผลที่ได้ทำให้เยาวชนกล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น

และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาคราม ได้จัดค่ายเยาวชนห่างไกลยาเสพติด ใช้เวลา 1 วัน มีเยาวชนเข้าร่วม60 คน ทำให้เยาวชนได้รู้โทษและผลของยาเสพติดมากขึ้น ประเด็นยากทำพยายามสร้างคือการสร้างเครือข่ายต่อต้านยาเสพติดเพื่อจะเป็นแนวร่วมในการป้องกัน

ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลอินคีรี อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราชได้นำเสนอโครงการสำรวจพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่อันตรายต่อความเข้มแข็งของครอบครัวจากปัญญาเยาวชนในพื้นที่จึงเกิดโครงการนี้ ผลสรุปของโครงการทำให้เกิดการแก้ปัญหาขึ้นในครอบครัวมีการพูดคุยกับผู้ปกครองมากขึ้น หลังถอดบทเรียนแม่บอกว่าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร และลูกอยากให้แม่เป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น

­


และองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว อ.ท่าศาลา จัดโครงการสังคมปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว เพื่อให้พ่อ แม่ เยาวชนได้ตระหนักถึงพิษภัยยาเสพติดและสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว เน้นให้เด็กกลุ่มเสี่ยงและผู้ปกครองเข้าใจเรื่องยาเสพติด เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายป้องกันยาเสพติด มีกิจกรรมพาไปดูผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดวัดไม้เสียบเพื่อให้เห็นภาพจริงจะได้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

สุดท้ายเทศบาลตำบลโพธิ์เสด็จ อ.เมือง นำเสนอโครงการชุมชนสะอาดปราศจากโรค

เกิดจากปัญหาขยะล้นตำบล จึงรวบรวมกลุ่มเยาวชนมาร่วมกันเก็บขยะตามสถานที่สาธารณะทำให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญ ขยะลดลง

อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้เติมความรู้ให้กับนักถักทอชุมชนในการทำกิจกรรมกับเยาวชนในพื้นที่ หัวข้อมีสิ่งที่ควรคิดก่อนทำกิจกรรมดังนี้ 1.เป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเยาวชนให้มีความชัดเจน 2.ได้เพิ่มพูนความรู้ให้กับเยาวชนเรื่องใดบ้าง 3.เยาวชนได้ฝึกทักษะอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง 4.กิจกรรมที่ทำได้ช่วยปลูกฝังนิสัยให้เยาวชนเป็นอย่างไร 5.มีการประเมินผล

­


สำหรับโจทย์ข้อที่สอง ที่ให้นักถักทอชุมชนฝึกถอดฝึกเรียนได้แก่ โจทย์ในการถอดบทเรียน “ศูนย์พัฒนาครอบครัว ตำบล” มีรายละเอียดดังนี้1.เป้าหมายของศูนย์พัฒนาครอบครัวคืออะไร 2.การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวที่ผ่านมา บรรลุ หรือไม่บรรลุ เพราะอะไร 3.ปัจจัย เงื่อนไข สำคัญที่ทำให้ศูนย์ครอบครัวไม่บรรลุเป้าหมายคืออะไร 4.ถ้าไม่บรรลุต้องแก้ไขปรับปรุงอะไร ซึ่งแต่ละอบต.ได้เรียนรู้การถอดบทเรียนโดยใช้งานจริงทำให้มองเห็นภาพการทำงานได้ชัดขึ้น

สำหรับการอบรมในวันที่สอง นักถักทอชุมชน จากเทศบาลเมืองปากพูน เจ้าภาพพาเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมอบรมฯ ชมวิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งและชมป่าชายเลนปากพูน ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสรส. ได้ให้โจทย์ในการลงพื้นที่ดูงานครั้งนี้ว่าถ้าเราจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้ทำ จะออกแบบกิจกรรมใดบ้างให้เข้ากับพื้นที่เรา โดยใช้ป่าชายเลนปากพูนเป็นแหล่งเรียนรู้

หลังจากชมวิถีชีวิตชาวประมงและทรัพยากรป่าชายเลนได้ อบต.ทั้ง 6 พื้นที่ ได้นำเสนอความคิดการจัดกิจกรรมจากการเรียนรู้ได้เห็นป่าชายเลนปากพูน ได้แนวคิดในการออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้ คล้ายๆ กันคือ การออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้และปลุกสำนึกรักบ้านเกิดทั้งรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลน และวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน โดยจะออกแบบให้มีทั้งบรรยายให้ความรู้และพาลงพื้นที่โดยมีปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของป่าชายเลน การปลูกป่าชายเลน และการทำประมงพื้นบ้าน โดยมีการพาลงพื้นที่ สร้างเครือข่ายเยาวชน ประสานกับโรงเรียนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสุดท้ายถอดบทเรียนเพื่อจะได้รู้ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นบรรลุเป้าหมายหรือไม่

­


ทำให้เห็นว่าจากการอบรมนักถักทอชุมชน ให้มีทักษะในการออกแบบกิจกรรมให้กับเยาวชนนั้น นักถักทอชุมชนสามารถออกแบบกิจกรรมได้เป็นอย่างดี

อ.ทรงพล ได้เติมว่าให้ตั้งเป้าว่าจะสร้างแกนนำเยาวชนใครบ้าง และให้แกนนำเยาวชนเป็นผู้สืบค้นความรู้เพื่อเป็นมักคุเทศน์ที่จะถ่ายทอดความรู้ต่อได้ เป็นการฝึกเยาวชนให้รู้จักคิด สืบค้น ทำงานเป็นระบบ และให้จัดแสดงผลงานในรูปแบบของโปสเตอร์ ภาพถ่าย จะช่วยให้กิจกรรมสมบูรณ์ขึ้นเพราะเยาวชนได้ทำกิจกรรมในการพัฒนาตนเอง

จากนั้น อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ฝึกทักษะนักถักทอชุมชนต่อโดยให้บัตรคำที่มีความหมายของ 15 นิสัย โดยให้นักถักทอชุมชนให้ความหมายของคำนั้นๆ นิสัยได้แก่ กตัญญูสะอาด มีเหตุผล ขยัน รอบคอบ วางแผน มีภูมิคุ้มกัน ใฝ่รู้ เรียนรู้ รู้จักประมาณตน สามัคคี มีน้ำใจ รอบคอบ ประหยัด สุภาพ ซื่อสัตย์ อดทน ตรงเวลา มีวินัย คิดว่าตรงไหนคือจุดอ่อนต่อความสำเร็จที่ได้วางไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนมากสะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือเรื่องของความประหยัดทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อ.ทรงพล บอกว่าสามารถนำกระบวนการแบบนี้ไปใช้กับแกนนำเยาวชนในพื้นที่ได้ และได้ให้เทคนิคในการสร้างทีมแกนนำเยาวชนในพื้นที่ ให้จัดกิจกรรมไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมข้อมูล และเตรียมกระบวนการให้พร้อมก่อน จากนั้นชี้เป้าหมายให้ชัดแล้วค่อยออกแบบกระบวนการ เขียนแผนให้ชัดเจน โดยให้สมุดบันทึกการเรียนรู้ พลังเยาวชน พลังท้องถิ่น เป็นเครื่องมือนำไปให้กับแกนนำเยาวชนใช้ด้วย

และวันสุดท้าย อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ฉายวิดีทัศน์การพัฒนาแกนนำเยาวชน ที่ ต.หัวไผ่ จ.สุพรรณบุรี เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักถักทอชุมชนภาคใต้ทั้ง 6 พื้นที่นำกระบวนการของต.หัวไผ่นี้ไปปรับใช้กับพื้นที่ตัวเองต่อไป


เพราะ “โครงงาน” เป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่นักถักทอชุมชนไป “พัฒนาเด็กและเยาวชน” ในชุมชนได้ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ จึงได้ขยายความหมายของโครงการเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนดังนี้ โครงงาน (Project Approach) คือ กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ ทำการศึกษาค้านคว้าและฝึกปฏิบัติด้วยตนเองตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือกระบวนการอื่นๆ ไปใช้ในการศึกษาหาคำตอบ (ตั้งคำถาม สังเกต สืบค้น ทดลอง ประเมินผลฯลฯ) โดยมีครูผู้สอน (พี่เลี้ยง) คอยกระตุ้น แนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเลือกหัวข้อที่จะศึกษา ค้นคว้า การจัดทำแผน กำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนการดำเนินงานและการนำเสนอผลงาน

“มองหาเด็กที่มีความเก่งในแต่ละด้าน ให้ชมและเชียร์เด็ก โดยการให้ประกาศนียบัตรเพื่อเป็นกำลังใจเล็กๆ การเริ่มต้นที่เด็กก่อนก็จะทำให้ชุมชนเชื่อมกันได้เร็วขึ้น การทำงานของนักถักทอชุมชนเพื่อให้เป็นผลงานในการเลื่อนตำแหน่งด้วยก็จะทำให้การทำงานมีกำลังใจมากขึ้น” อ.ทรงพลให้ข้อคิด
อ.ทรงพลได้ให้โจทย์กับนักถักทอชุมชน ให้แต่ละอบต.วางแผนการทำโครงการสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อนำเสนอในวันเด็กปี 2558 นี้ โดยตั้งโจทย์เป้าหมายคือวันเด็กแห่งชาติ จัดมหกรรมนำเสนอศักยภาพและผลงานของแกนนำเยาวชน โดยมีการนำเสนอผลการสืบค้นชุมชนในมิติต่าง จัดฐานการเรียนรู้ให้กับน้องๆ และนำเสนอผลงานการทำโครงการพัฒนาชุมชนที่ทำมาก่อนวันเด็ก โดยมีแนวทางและขั้นตอนดังนี้ 1.การสรรหาแกนนำเยาวยน 2.การจัดเวที ค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชน ในการทำงานโครงการ (อย่างน้อย 3 ครั้ง) 3.การสรรหาพี่เลี้ยงของแกนนนำเยาวชน (ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ใจดีในหมู่บ้าน ครู) 4.การจัดเวที ทำความเข้าใจและเสริมศักยภาพของพี่เลี้ยง 5.การสรรหาแต่งตั้ง ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว 6.การพัฒนาความเข้มแข็งของกรรมการฯ (ประชุม 3 ครั้ง)7.การสนับสนุนการดำเนินงานของกลไก (แกนนำเยาวชน พี่เลี้ยง กรรมการฯ)

อ.ทรงพล ให้ข้อเสนอว่า การจัดกิจกรรมให้พูดคุยกับชาวบ้านในลักษณะใช้ความรู้สึกของตัวเอง และการเป็นคนบ้านเดียวกันที่อยากเห็นเยาวชนพัฒนา อย่าให้ชาวบ้านเห็นว่าเป็นโครงการของอบต. พยายามให้เห็นว่านี่คือผลประโยชน์ของชุมชนจะทำให้การจัดกิจกรรมสามารถบรรลุเป้าหมายได้

ข้อคิดสุดท้ายของเวทีครั้งนี้ จากอ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ อาทิ

“การทำโครงการขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือการจัดการความเสี่ยง เป็นการคิดรอบสอง รอบสาม จะทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และนำไปสู่เป้าหมายได้มากขึ้น”

“เราไม่ทำกิจกรรมเพื่อกิจกรรม แต่ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน ให้ได้ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์” อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ.สรส.

“การทำแผนพัฒนาเด็ก ครอบครัว จะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร โดยมีเป้าหมาย ให้เด็กเยาวชนเวลาว่าง ทำกิจกรรที่เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนอย่างต่อเนื่อง”

โดยโจทย์ครั้งนี้เป็นการบ้านให้นักถักทอชุมชนไปคัดเลือกพี่เลี้ยงและแกนนำเยาวชนมานำเสนอในครั้งต่อไป พบกันที่องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กับ HOW TO เรื่องการติดตามประเมินแบบเสริมพลัง

ผู้เข้าร่วมการอบรมมีดังนี้

เทศบาลเมืองปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ นางสาระภี ศรีพร หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข นายชัยรัต บุญเนียม หัวหน้าฝ่ายบริการสาธารณสุข นางศิริพร ทองเกตุ นักพัฒนาชุมชน นางสาววัชรี จันทรมุณี นายฐปกรณ์ ศรีเมือง ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน

องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ นางสำรอง ขุนพิพัฒน์ เจ้าพนักงานธุรการ นางสาวลัดดาวัลย์ ทองขำ ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน

วสันต์ จิตแฉล้ม สระแก้ว


องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ นายวสันต์ จิตแฉล้ม นักพัฒนาชุมชน นายพรพิชัย สกุลหนู นักวิชาการศึกษา นางมลรักษ์ สุทธิรักษ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน

องค์การบริหารส่วนตำบลอินคีรี อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ นายนรา หนูทอง นักพัฒนาชุมชน

เทศบาลตำบลโพธิ์เสด็จ ได้แก่ นายเอกกมล พลับช่วย นิติกร นายวุฒธิศักดิ์ ชัยพัฒน์วงศกร

องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ได้แก่นางสาวฐิติยา จันทรโรทัย นักวิชาการศึกษา นางสาวรัชดา แหลมศักดิ์ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน