การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอาจช่วยยกระดับการเติบโตของประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่ใช่หรือไม่ว่า “เทคโนโลยี” ก็ทำให้ระบบความสัมพันธ์ของคนถ่างกว้างขึ้น เด็กขาดการดูแลเอาใจใส่เพราะพ่อแม่มุ่งแต่ทำมาหากิน ทำให้เด็กเยาวชนหันมาจับกลุ่มและเริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น เช่น ติดเกม ติดมือถือ ติดเพื่อน ลักขโมย ยกพวกตีกัน ซิ่งมอเตอร์ไซค์ ท้องในวัยเรียน จนถึงปัญหายาเสพติด สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้นแม้แต่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรชาวไร่ชาวนาก็มีปัญหาดังกล่าวเช่นกัน

­

พฤติกรรมที่น่าห่วงเหล่านี้ ทำให้ผู้ใหญ่ใจดีกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมารวมตัวกันหาวิธีที่จะแก้ไขไม่ให้ปัญหาลุกลามรุนแรงเพิ่มขึ้น ชุมชนหมู่ 4 บ้านห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเด็ก เยาวชน และชุมชน จากการนำรูปแบบ “โครงการโรงเรียนครอบครัว” มาใช้เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชนได้ทำกิจกรรมพัฒนา “ทักษะชีวิต” ให้กับลูกหลานร่วมกัน

“ เมื่อถามว่าเราอยากเห็นลูกหลานเป็นไร คำตอบคือทุกคนก็อยากให้ลูกหลานได้ดี เรียนจบ มีงานทำ และดูแลพ่อแม่ยามแก่ได้ เมื่อเราได้คำตอบเช่นนั้น ความร่วมมือของคนในชุมชนในการพัฒนาเด็กเยาวชนและชุมชนจึงเกิดขึ้น เพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนในชุมชน ขณะที่กระบวนการการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวได้ทั้งหมด โดเฉพาะทักษะชีวิตให้กับเด็กในชุมชน” จ.ส.อ.ชาญ มีดี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย กล่าว

โรงเรียนครอบครัวบ้านห้วยม้าลอย เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข หรือ (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) เข้ามาจุดประกายให้ชุมชนหมู่ 4 บ้านห้วยม้าลอย ปรับเปลี่ยนแนวคิดการจัดกิจกรรมและพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน จากเดิมที่แยกส่วนกันทำ ไม่มีส่วนร่วมของคนในชุมชน ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ขาดการเชื่อมร้อยและต่อยอด ทำให้ที่ผ่านมาจึงเป็นความร่วมมือแบบหลวมๆ ปี 2554 โมเดลดังกล่าวค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในชุมชนหมู่ 4 ทำให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำของคนทุกภาคส่วนทั้งตำบล อาทิ ครู โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายเด็กเยาวชน ผู้นำชุมชน และผู้ใหญ่ใจดีขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนกิจกรรมของคนในชุมชนเอง มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้น โดยมี นายเตียง ชมชื่น ผู้ใหญ่ใจดีอาชีพชาวนาและเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย เข้ามารับหน้าที่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนครอบครัว

นายเตียง กล่าวว่า “ โรงเรียนครอบครัว เป็นกิจกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และการจัดการความรู้ของชุมชนที่เน้นกลไกจัดการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานอย่างบูรณาการและมีระบบ เป็นการออกแบบกิจกรรมที่มีเด็กและผู้ปกครองเป็นตัวตั้ง เน้นการเพิ่มทักษะให้เด็กได้ลงมือทำร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชน โรงเรียนครอบครัวต่างจากโรงเรียนในระบบ โดยเน้นการสอนเด็กในเรื่องวิชาชีพ วิชาชีวิตและวิชาชุมชน มากกว่าวิชาการ ในลักษณะของการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กได้เข้าสังคม รักถิ่น รักชุมชน รักอาชีพพ่อแม่ ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ทำแบบไม่รู้ตัว”

เช่น กิจกรรมการดำนา เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับลูกหลานให้หันกลับมาสนใจและเห็นคุณค่าของอาชีพพ่อแม่ และเมล็ดข้าวที่กิน กิจกรรมนี้จะสอนให้เด็กได้ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีมองแปลงนา และใช้สร้างแรงบันดาลใจให้กล้าคิด กล้าแสดงออก โดยใช้ทุนทางสังคม การนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้ใหญ่ที่มีจิตอาสาทุกภาคส่วน ทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล วัด โรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ และ อบต.หนองสาหร่าย รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหุงข้าวด้วยเตาถ่าน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำเป็นอย่างไร และประโยชน์ของน้ำข้าวซึ่งเปรียบได้กับนมสดของคนในรุ่นปู่ย่าตายาย , กิจกรรมปลูกต้นไม้วันพ่อ เป็นกิจกรรมที่ครู นักเรียน และคนในชุมชนได้มาร่วมกันทำ เพื่อปลูกฝังให้เด็กรักต้นไม้ รักธรรมชาติ , กิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น เป็นกิจกรรมที่ให้พ่อแม่ลูกได้มาเล่นกีฬาและออกกำลังกายร่วมกับคนในชุมชน หรือ กิจกรรมการทำขนมจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น การทำกล้วยฉาบ เป็นนำองค์ความภูมิปัญญาของผู้สูงอายุมาถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นใหม่ กิจกรรมนี้ยังเป็นการลดช่องว่างและเชื่อมความสัมพันธ์ของ 2 รุ่นได้เป็นอย่างดี

ครูเตียง บอกว่า “ ถ้าถามว่าทำแล้วเห็นผลอะไรกับเด็ก สิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลง คือ เด็กมีความกล้าแสดงออก ซึ่งความกล้าแสดงออกนี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะกล้าพูดในที่ชุมชน เรียนรู้วิธีการเข้ากลุ่มในสังคม และเกิดภาวะความเป็นผู้นำ ขณะที่ภาวะแวดล้อมต่างๆ ในชุมชนก็เริ่มดีขึ้น พ่อแม่เริ่มมีความรับผิดชอบหันมาให้ความสนใจกับลูกหลานมากขึ้น”

ด้านนางปราณี ปั้นไว ครูประถมศึกษาโรงเรียนบ้านห้วยม้าลอย กล่าวเสริมว่า “กิจกรรมเหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีโอกาสได้เรียนทักษะชีวิต ได้ฝึกปฏิบัติจริงและรู้ขั้นตอนในการทำจริงๆ ตัวเด็กเองก็ได้ผ่อนลาย ไม่เบื่อ ไม่ง่วงนอน เป็นการเรียนปนเล่นไม่เหมือนในห้องเรียนที่เราสอนแต่วิชาการอย่างเดียว เมื่อไปร่วมทำกิจกรรมกลับมาในห้องเรียนเราก็จะให้เด็กๆ มาสรุปหรือถอดบทเรียนกันว่า เราได้อะไรจากการเรียนรู้ในวันนี้บ้าง ตอนนี้เราก็จะได้รู้ว่าเด็กๆ คิดอย่างไร สนใจไหม มีอะไรที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหรือมีปัญหาอุปสรรคอะไรในแต่ละครั้ง ซึ่งเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมยังทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น เด็กนักเรียน ป.6 บางคนมีภาวะเป็นผู้นำขึ้นจากคนที่พูดน้อย เดี๋ยวนี้สามารถเป็นวิทยากรบรรยาย พาน้องๆทำกิจกรรมได้ หรือบางคนอาจค้นพบตัวเอง นำไปใช้เป็นอาชีพ แต่ผลที่เห็นชัดเจนในห้องเรียน คือ การเรียนของเด็กดีขึ้น

2 ปีผ่านไป หลังจากชุมชนหมู่ 4 บ้านห้วยม้าลอยนำรูปแบบ “โรงเรียนครอบครัว”มาใช้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชนจากการสร้างพื้นที่ให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคม อีกทั้งยังพบว่าเด็กมีความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่เหมาะสมตามวัย ทำให้สภาวะแวดล้อมต่างๆ เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น ทำให้ชุมชนหมู่ 4 เป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็งของตำบลหนองสาหร่ายที่หลายหมู่บ้านสนใจต้องการนำไปใช้กับชุมชนบ้าง

นายสวัสดิ์ กันจรัตน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย กล่าวว่า “ ก่อนนี้แม้ชุมชนจะรู้ปัญหาของชุมชนอยู่แล้ว แต่ยังขาดแนวทางทักษะในการจัดการ ทำให้กิจกรรมที่ชุมชนจัดขึ้นเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องนั้นๆ แต่เมื่อการเข้ามาร่วมกันของทุกภาคส่วนภายใต้รูปแบบโครงการโรงเรียนครอบครัว ทำให้ทุกคนเริ่มรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกิจกรรมร่วมกัน และเกิดพลังในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ”

ล่าสุด อบต.หนองสาหร่าย เตรียมนำรูปแบบกิจกรรม“โครงการโรงเรียนครอบครัว”นี้ ไปขยายผลใช้กับทุกหมู่บ้านในตำบลหนองสาหร่ายที่มีอยู่ 10 หมู่บ้าน โดยเฉพาะที่หมู่ 2 และ หมู่ 8 เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นกำลังหลักและเป็นพลเมืองที่ดีของหนองสาหร่าย ตามนโยบายของจังหวัดสุพรรณบุรีที่ต้องการสร้างพื้นฐานให้เด็กและเยาวชนในตำบลและจังหวัดเป็นที่ยอมรับของสังคมและเป็นเยาวชนที่ดีของประเทศชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เน้นพัฒนาคนเป็นศูนย์กลาง ที่เริ่มต้นจากเด็ก โดยได้เลือกให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการฯ


หากท่านที่สนใจโครงการโรงเรียนครอบครัวสามารถติดตามได้ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล www.scbfoundation.com

­