การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

ความเป็นมา

ศูนย์เรียนรู้ชาวดินเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยมีกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้ทั้งที่เกี่ยวกับทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะวิชาการ ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เกิดขึ้นหลังจากทีมวิจัยโครงการวิจัยพัฒนากลไกการจัดการความรู้เพื่อท้องถิ่น สกว. เข้าไปทำงานวิจัยกับชาวบ้านในช่วงปี 2547-2549 และได้มีแกนนำชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้เสริมศักยภาพผู้นำแบบที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)

ผู้นำเหล่านี้ได้ตระหนักถึงความขาดช่วงของผู้นำรุ่นใหม่ อันเนื่องมาจากเยาวชนคนหนุ่มสาวออกไปเรียนหนังสือนอกชุมชน ใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างกับพ่อแม่และชุมชน และคนเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องชุมชนของตนเองเลย ผู้นำกลุ่มนี้จึงได้คิดริเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยได้ประสานกับทีมวิจัยในการจัดกิจกรรมเพื่อเยาวชน และต่อมาได้ประสานกับโครงการยุวโพธิชน ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนสามารถนำธรรมมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน  และมีการฝึกอบรมต่างๆ ให้กับเด็กเรื่อยมา

จนมาถึงปี 2550 โครงการยุวโพธิชน ได้จัดค่ายฤดูร้อนบ่มเพาะคุณธรรม ให้กับเด็กและเยาวชนในภาคอีสานจำนวน 30 คน ระยะเวลา 20 วัน ผู้ประสานงานโครงการฯ และชาวบ้านจึงได้คิดเรื่องการทำศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีศูนย์รวมในการพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านอาชีพ และการศึกษา เช่น มีห้องสมุด คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตที่เยาวชนและชาวบ้านสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ โดยมีชาวบ้านคนหนึ่งได้บริจาคที่ดินจำนวน 3 ไร่ 3 งาน อยู่ใกล้เขื่อนอุบลรัตน์ให้เป็นที่จัดสร้างศูนย์เรียนรู้ของเยาวชน ด้วยทุนที่มีจำกัด และเด็กในชุมชนนี้เองก็เคยทำบ้านดินขึ้นที่วัดหลังหนึ่งเพื่อเป็นที่พบปะของเยาวชน จึงคิดว่าการก่อสร้างสถานที่ด้วยดินพวกเขาน่าจะทำได้ด้วยแรงงานของตนเอง และใช้งบประมาณน้อย ประกอบกับค่ายยุวโพธิชน เป็นค่ายที่เน้นให้เด็กได้ใช้แรงงานเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย “ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน” จึงเกิดขึ้น

ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้ชาวดินมีห้องประชุม 1 หลัง ห้องสมุดหนึ่งหลัง (แต่ยังขาดหนังสือที่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือบริจาคที่มักจะเป็นนิตยสาร) มีบ้านพัก 4 หลัง สามารถพักได้ 40 คน และมีห้องน้ำทั้งหมด 9 ห้อง

  ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและสมดุลทั้งใจ กาย สังคม และปัญญา ให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น เยาวชนมีอิสระที่จะเรียนในสิ่งที่เขาสนใจโดยไม่ละทิ้ง การคิด พูด อ่าน เขียน โดยมีรูปธรรมที่สามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้ในเรื่องปัจจัยสี่ เช่น การผลิตอาหารเอง การสร้างที่พักอาศัยเอง (บ้านดิน) เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค (อาหารเป็นยา) พร้อมกับสร้างเยาวชนต้นแบบในด้านการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ ต้นแบบในด้านการประกอบอาชีพในชุมชน และสามารถอยู่ในชุมชนได้บนวิถีชีวิตแบบพอเพียง เป็นต้นแบบของเยาวชนที่เรียนรู้และมีความสุขจากการสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น (หมอลำ) เป็นต้นแบบของเยาวชนที่เห็นคุณค่าและร่วมรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น เช่น ป่าชุมชนโคกห้วยบง และพวกเขาฝันถึงการเป็นแหล่งอาหารของชุมชนโดยใช้ตลาดชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนในท้องถิ่นหันมาบริโภคอาหารในท้องถิ่นมากขึ้น

  นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าศูนย์การเรียนรู้ชาวดินแห่งนี้จะเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้กับเยาวชน และคนที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนพร้อมๆ ไปกับการสร้างองค์ความรู้ในการทำงานเยาวชนควบคู่ไปด้วย

กิจกรรมที่เด็กและเยาวชนร่วมกันทำอยู่ตอนนี้คือ การเพาะเห็ดขายในชุมชน ซึ่งขายได้ดีมาก ทำให้พวกเด็กๆ มีความรับผิดชอบในการดูแล และมีความกล้าหาญในการเดินขายในชุมชน นอกจากนี้พวกเขาก็ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงปลาดุก ไว้เป็นอาหารของครอบครัวด้วย พร้อมกับแบ่งพื้นที่ในบริเวณศูนย์การเรียนรู้เพื่อช่วยกันรับผิดชอบดูแล และหาความรู้จากต้นไม้ที่ตนเองรับผิดชอบ ทุกสิ้นเดือนจะมีการประชุมกันและเดินเยี่ยมพื้นที่ของเพื่อนพร้อมกับในความชื่นชมและข้อเสนอแนะในสิ่งที่ยังขาด เป็นต้น  เยาวชนกลุ่มนี้ได้จัดค่ายฝึกอบรมการทำงานเป็นทีมให้กับเยาวชนด้วยกันเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในโรงเรียนโคกกลางวิทยา ในทุกบ่ายวันจันทร์ หรือในวันหยุด และร่วมเป็นทีมพี่เลี้ยงในการอบรมค่ายยุวโพธิชน ที่มีผู้เข้าร่วมจากภาคต่างๆ ของประเทศไทย บางคนก็ได้ไปช่วยค่ายอื่นๆ นอกชุมชนด้วย

มีพ่อแม่ของเด็กประมาณ 10 ครอบครัว ที่มาร่วมกิจกรรมกับลูกๆ พึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงของลูก ทั้งในด้านการคิด การพูดคุย และการปฏิบัติจริงหลังจากที่พวกเขามาร่วมกิจกรรมกับทางศูนย์การเรียนรู้ชาวดินอย่างต่อเนื่อง พวกเขาล้วนบอกว่า “หมดห่วงเมื่อลูกมาอยู่ที่นี่” เพราะในชุมชนมีร้านเกมถึง 2 ร้าน และมีโต๊ะสนุกเกอร์ที่ดึงเยาวชนเข้าไปมั่วสุมอย่างได้ผล ซึ่งทางศูนย์การเรียนรู้ชาวดินเองก็พยายามจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัยของเด็กที่จะดึงดูดไม่ให้พวกเขาไปสู่อบายมุข ขณะเดียวกันก็ทำงานด้านความคิดกับพ่อแม่ไปด้วย เพื่อให้ครอบครัวได้เรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน

ปัจจุบัน มีครอบครัวของเยาวชนมาร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการบันทึกค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และร่วมกันผลิตอาหารเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างครัวเรือน และขายในตลาดชุมชน

  สภาพปัญหาของพื้นที่นี้ก็เหมือนกับชนบทโดยทั่วไป ที่เยาวชนหลั่งไหลออกไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม และงานก่อสร้างเกือบทั้งหมด ยกเว้นเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยเรียน และกำลังมุ่งหน้าสู่ถนนสายเดียวกันกับคนอื่นๆ การเรียนหนังสือของเยาวชนจึงไร้เป้าหมาย เพราะพวกเขาคิดว่าเรียนอย่างไรก็ต้องไปเป็นลูกจ้างในโรงงานหรือแรงงานก่อสร้างอยู่ดี ประกอบกับสภาพหนี้สินของพ่อแม่ทั้งที่เกิดจากการส่งลูกเรียน การประกอบอาชีพ และค่านิยมในการบริโภคที่เกินตัว ทำให้เยาวชนเหล่านี้ถูกเร่งเร้าเข้าสู่เมืองเพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว จึงไม่มีเวลาสำหรับการเรียนรู้อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิต รวมถึงค่านิยมของพ่อแม่ในชนบทที่มักไม่ให้ลูกที่เรียนหนังสือได้ทำงานหนัก เพราะคาดหวังว่าเมื่อลูกจบการศึกษาจะได้อาชีพการงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานเหมือนพ่อแม่ พ่อแม่จึงคิดว่าการทำงานเกษตรหรืองานที่ต้องใช้แรงไม่จำเป็นสำหรับลูกหลาน โดยหลงลืมกระบวนการใช้แรงงานที่เป็นเบ้าหลอมในการขัดเกลาและบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ดังเช่นที่ชุมชนในอดีตเคยมีมา

  สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาหนักของการขยายกลุ่มเป้าหมายของที่นี่ เพราะแม้ทุกคนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของเยาวชนในศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน แต่หลายคนก็ยังรู้สึกเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะเข้ามาร่วมกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องใช้เวลานานในการฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่อง

  ดังนั้น กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ชาวดินจึงมุ่งไปที่การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมศักยภาพให้เยาวชนสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างมีคุณค่า และมีศักดิ์ศรี จึงได้เกิดโครงการเล็กๆ 2 โครงการขึ้น ได้แก่ โครงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กในโรงเรียนบ้านโคกกลาง และโครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยมีศักดา กับโอเล่เป็นแกนนำ และมีเยาวชนจากศูนย์เรียนรู้ชาวดินเป็นพี่เลี้ยงร่วมด้วย

  ศูนย์เรียนรู้ชาวดินได้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนมาประมาณ 3 ปี มีเยาวชนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่องจำนวน 15 คน และมี 2 คน คือ ศักดา และโอเล่ที่จบการศึกษาและต้องการอยู่ในชุมชนของตนเอง พร้อมกับการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ควบคู่กับการฝึกฝนตนเองในด้านทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ไปด้วย

  โครงงานคิดดีทำดีเพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทั้ง 2 คน และน้องๆ ศูนย์เรียนรู้ชาวดินใช้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเอง และทำกิจกรรมการเรียนรู้กับน้องๆ ในชุมชน

ฐานคิดในการทำโครงการ

จากประสบการณ์การทำงานเด็กและเยาวชนในชนบทของสถาบันยุวโพธิชนและศูนย์เรียนรู้ชาวดินพบว่า เด็กและเยาวชนในชุมชนชนบทปัจจุบันมีวิถีชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างจากเด็กในชุมชนเมืองมากนัก ด้วยกระแสสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ความสนใจของเด็กและเยาวชนในชนบทมุ่งไปที่ความทันสมัยตามกระแสสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร กิจกรรมเมื่อเวลาว่าง เช่น การเล่นเกม อินเทอร์เน็ต รวมถึงเป้าหมายในการศึกษาที่มุ่งการแข่งขันเพื่อให้ได้งานการดีๆ ทำ ซึ่งมักจะหมายถึงงานที่มีรายได้มากและสบายไม่ต้องเหนื่อยมาก

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เด็กและเยาวชนขาดมิติของการเรียนรู้และเข้าใจตนเอง เข้าใจสังคม และเข้าใจโลกตามความเป็นจริง ขาดความมุ่งมั่นอดทน และขาดการรอคอย เด็กและเยาวชนเหล่านี้แม้จะอยู่ในชุมชนท้องถิ่น แต่ความสนใจที่พุ่งออกไปข้างนอกทำให้พวกเขาหลุดจากรากเหง้าที่ดีงามของชุมชน รวมถึงการขาดความสัมพันธ์กับคนและชุมชนรอบข้าง มีความเป็นปัจเจกชนสูง และความเชื่อมั่นในตนเอง เคารพตนเอง จึงมักจะเกิดจากภายนอก เช่น การแต่งกาย การมีข้าวของเครื่องใช้ที่ทันสมัย มีทรัพย์สิน หรือมีอำนาจ บารมีจากภายนอก

สถาบันยุวโพธิชนและศูนย์เรียนรู้ชาวดินตระหนักถึงสภาพปัญหานี้จึงได้ริเริ่มการขยายขอบเขตการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เข้าสู่โรงเรียนตามระบบ โดยเริ่มทำกับโรงเรียนในเขตเทศบาล ทำให้เราค้นพบว่า กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสามารถกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนค้นพบศักยภาพของตนเอง และมีเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเอง ทางสถาบันฯ จึงได้ขยายขอบเขตงานสู่โรงเรียนในชนบท โดยเชื่อมโยงกับโรงเรียนโคกกลางวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับระดับประถมศึกษา และอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์เรียนรู้ชาวดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น การประสานงานกับโรงเรียนโคกกลางวิทยาครั้งนี้มีเป้าหมายในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนรู้จักตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง เคารพตนเอง ขณะเดียวกันก็รู้จักความรักความสัมพันธ์กับผู้อื่น เสริมสร้างทัศนคติของการเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ไม่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง และมีจิตใจรับใช้สังคม โดยใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ

กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ได้เน้นให้เด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านโคกกลางและโรงบ้านโคกกลางวิทยา ได้คิดและทำโครงงานที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือให้เด็กและเยาวชนมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่มีประโยชน์ เกิดความรักและภาคภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาความสามารถในการบริหารโครงการ การคิด ทำ เขียน พูดคุยแลกเปลี่ยน และการนำเสนอผลงานที่เกิดจากการลงมือทำ

แรงบันดาลใจ การก่อเกิด

การก่อเกิดโครงการนี้ เดิมทีเริ่มจาก ศักดา โอเล่ และปู (ครูอาสา) ได้ร่วมกันคิดกิจกรรมที่จะทำกับเด็กและเยาวชนในชุมชนของตนเองอยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายกระบวนการเรียนรู้แบบที่พวกเขาได้ผ่านมา และคิดว่ามันเกิดประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง จึงอยากจะนำกระบวนการนี้สู่คนอื่นๆ ในชุมชนด้วย อีกทั้งอยากฝึกฝนทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ของตนเองด้วย จึงได้คิดและทดลองจัดค่ายให้กับน้องๆ ในโรงเรียนจำนวน 2 วัน จากการจัดค่ายครั้งนั้นทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นว่า ตนเองน่าจะจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องกับน้องๆ ในโรงเรียนได้

และเมื่อมีโครงการคิดดีทำดีเพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน จากมูลนิธิสยามกัมมาจล และสรส. เข้ามา ทำให้พวกเขาคิดเชื่อมโยงกัน คือ ให้น้องๆ ได้คิดและทำโครงงาน และพี่ๆ ช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ให้ ทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้น้องทำโครงงาน และเป็นการถอดบทเรียนการทำโครงงานของเด็กด้วย แกนนำเยาวชนทั้ง 3 คน จึงได้ประสานกับคณะกรรมการศึกษาโรงเรียน และคณะครูเพื่อนำเสนอโครงการ และได้รับความเห็นชอบจากทั้งหมด การทำกิจกรรมจึงได้เริ่มขึ้น

ภาพฝัน หรือการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น

 การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตนเอง แกนนำเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดินที่ร่วมกันทำโครงการบอกว่า สิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตนเองมากที่สุดคือ การมีความสามารถจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชนได้ ทำให้เด็กเรียนรู้และสนุกไปด้วย

  การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับครอบครัว  สิ่งที่แกนนำเยาวชนอยากเห็นมาที่สุดเกี่ยวกับครอบครัว คือ ถึงแม้พ่อแม่จะมีความเข้าใจพวกเขามากขึ้นเกี่ยวกับการทำกิจกรรมกับศูนย์เรียนรู้ชาวดินอยู่แล้ว แต่พวกเขาก็ต้องการให้พ่อแม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา และต้องการทำประโยชน์ให้กับครอบครัวมากขึ้น

  การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับชุมชน แกนนำเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดินได้ร่วมกันกำหนดภาพฝันเกี่ยวกับชุมชนว่า “สิ่งที่อยากเห็นจากโครงการนี้คือ เด็กๆ ในชุมชนมีกิจกรรมดีๆ ทำ แทนที่จะไปเล่นเกม เล่นการพนัน และอยากให้กิจกรรมที่พวกเขาทำนี้ ไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเรียนรู้ของพวกเขา กล่าวคือ ทำให้แด็กๆ รักและมีความสุขกับการอ่าน การคิด การเขียน และการพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมถึงการแสวงหาความรู้ในรูปแบบอื่นๆ นอกจากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้แล้ว ก็ยังอยากให้กิจกรรมเหล่านี้เป็นตัวบ่มเพาะคุณธรรมและฝึกฝนตนเองตั้งแต่วัยเยาว์”

กระบวนการสร้างภาพฝัน

กระบวนการสร้างภาพฝันในการทำโครงการคิดดีทำดีเพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชนนี้เป็นการต่อยอดจากความต้องการเดิม ที่อยากขยายผลการเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้ชาวดินสู่เด็กๆ ในชุมชน กระบวนการทำงานจึงเน้นการมาร้อยประสานกับความต้องการของแกนนำเยาวชน

1)  แกนนำเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดินได้คิดกิจกรรมที่จะร่วมกันทำ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของตนเอง และเป็นการฝึกฝนตนเองด้วย

2)  ทดลองจัดค่ายให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนจำนวน 2 วัน ที่ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของสิ่งที่พวกเขาคิด

3)  ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ได้เยี่ยมพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้ชาวดิน และรับฟังความฝันของเยาวชนที่นี่ จึงได้นำเสนอโครงการคิดดีทำดีเพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชนเข้ามาเพื่อให้เยาวชนที่นี่ได้ฝึกฝนทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ในชุมชน

4)  การร่างโครงการที่จะทำเสนอกับผู้ประสานงานศูนย์เรียนรู้ชาวดิน

5)  ประสานคณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะทำกิจกรรม เมื่อทุกฝ่ายเห็นชอบจึงได้นำเสนอโครงการกับทางโรงเรียนเพื่อเริ่มดำเนินกิจกรรม

ปัจจัย  เงื่อนไขที่จำเป็นที่จะทำให้โครงการสำเร็จ

1)  แกนนำเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดินมีความสนใจ และมีเวลาในการติดตามน้องๆ ให้ทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด

2)  ผู้ปกครองให้การสนับสนุน และร่วมมือในการติดตามให้ลูกหลานทำกิจกรรม

3)  คณะครูเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือในการติดตาม และให้เวลาเด็กได้ทำกิจกรรม

4)  ผู้นำ คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการสถานศึกษา ให้ความร่วมมือในการกระตุ้นเด็กให้ทำกิจกรรม

5)  แกนนำเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดินสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้สนุก น่าสนใจ และมีความต่อเนื่อง

6)  เด็กๆ สมาชิกแต่ละโครงการให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

หลักคิดที่อยู่เบื้องหลัง

การจัดกระบวนการเรียนรู้ในโครงการคิดดีทำดีเพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชนนี้ ตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐานที่ว่า เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ (Humanistic Value) คือทัศนะที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์มีศักยภาพที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง มีความจริง ความดี และความงามอยู่ในตน เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์พืชที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโต เมื่อมีเงื่อนไขต่างๆ พร้อมเมล็ดพันธุ์นั้นก็จะสามารถเติบโตขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธ เรื่องศักยภาพในการตื่นรู้หรือความเป็นพุทธะ ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์  การจัดกระบวนการเรียนรู้จึงมิใช่การ “สอน” แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ศักยภาพภายในที่มีอยู่แล้วสามารถพัฒนาขึ้นได้ เป็นกระบวนการที่มุ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเติบโตขึ้นจากภายใน แ

กระบวนทัศน์องค์รวม (Holistic paradigm) ก็เป็นปรัชญาพื้นฐานหนึ่งที่มองเห็นว่า ความจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่งคือการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ปฏิบัติต่อสรรพสิ่งอย่างไม่แยกส่วนจากชีวิต จึงไม่ยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ทัศนะนี้มีผลต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สมดุลระหว่างการเรียนรู้ภายในและภายนอก เน้นความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงตนเอง และเปลี่ยนแปลงโลก และมองเห็นความเชื่อมโยงของส่วนต่างๆ ที่เป็นฐานการเรียนรู้ของมนุษย์คือ กาย ใจ ความคิด และจิตวิญญาณ

ประสบการณ์เดิม ทุนเดิมที่มี

แกนนำเยาวชน แกนนำเยาวชนทั้งหมดที่ทำกิจกรรมนี้เป็นเยาวชนที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องกับศูนย์เรียนรู้ชาวดิน และเป็นเยาวชนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน พวกเขาเหล่านี้ล้วนผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งในด้านทักษะชีวิต ได้แก่ การทำงานเป็นทีม การพัฒนาภาวะผู้นำ ทั้งประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรู้จักความรัก การรู้จักชุมชนและระบบนิเวศ การรู้จักความงาม การรู้เท่าทันสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้แกนนำเยาวชนกลุ่มนี้ยังได้พัฒนาทักษะอาชีพให้กับตนเอง เช่น การทำเกษตร การทำตลาดชุมชน และการออมทรัพย์ เป็นต้น รวมถึงการทำกิจกรรมจิตอาสาทั้งในชุมชนและนอกชุมชน พวกเขาเหล่านี้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเองอย่างชัดเจน แม้การเปลี่ยนแปลงจะมีระดับที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนับจากจุดเริ่มต้นของแต่ละคน ก็ล้วนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของตนเอง  ยกตัวอย่างแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ได้แก่ 

นายศักดา เหลาเกตุ เดิมศักดาเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ด้วยบุคลิกที่เป็นคนเงียบๆ จึงไม่ค่อยมีเพื่อนมากนัก โดยเฉพาะเพื่อนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันมากกว่า ก่อนเข้าร่วมกระบวนการศักดาบอกว่า ตนเองเป็นคนที่ไม่ค่อยจะแบ่งปันอะไรกับใคร โดยเฉพาะความรู้ มักจะไม่บอกใคร แต่เมื่อเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้แล้ว ศักดามีเพื่อนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนมากขึ้น รู้จักตนเองมากขึ้น เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น และมีความมั่นใจในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น และเกิดการแบ่งปันความรู้กับผู้อื่นมากขึ้น ศักดาเปลี่ยนจากคนที่คิดมากและจับจดมาเป็นคนที่ลงมือทำมากขึ้น เมื่อได้พัฒนาทักษะกระบวนกรก็ทำให้ศักดาสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้อื่นได้มากขึ้น และค้นพบศักยภาพของตนเองในด้านนี้ โดยเฉพาะการนำสันทนาการ และเห็นความต้องการของตนเองที่ชัดเจนมากขึ้นในการที่จะอยู่ในชุมชนของตนเองบนฐานงานเกษตรกรรมที่ครอบครัวปูฐานไว้ให้

 นางสาววรรินทร์ โสภาพ (โอ๋) เดิมโอ๋ก็จะเป็นคนที่ชอบอยู่แต่ในบ้าน จะออกนอกบ้านเมื่อต้องไปโรงเรียน โอ๋เล่าว่า คนในชุมชนแทบจะไม่รู้จักโอ๋เสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ โอ๋ก็มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น เห็นความสัมพันธ์ของตนเองกับคนอื่น รู้จักตนเองมากขึ้น เห็นอารมณ์โกรธ ฉุนเฉียวของตนเองที่เป็นอุปสรรคต่อการสัมพันธ์กับคนอื่น เมื่อโอ๋เห็นตรงนี้ก็พยายามปรับในหลายวิธีการ เช่น เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้กับผู้อื่น รับฟังเสียงสะท้อนจากเพื่อน รวมถึงการสนใจการภาวนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายในให้กับตนเอง โอ๋พยายามที่จะค้นหาความถนัดความชอบของตนเองในหลากหลายรูปแบบ สิ่งหนึ่งที่โอ๋ค้นพบตนเองคือ การค้าขาย ที่ทำได้ดีและมีความสุข โอ๋เลือกที่จะอยู่ในชุมชนเช่นเดียวกับศักดา และเลือกที่จะเรียนมหาวิทยาเปิดอย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ และตนเองก็ได้อยู่ในชุมชนด้วย

 นางสาวเอื้องฟ้า วงษ์พิมพ์ (หน่อง) เป็นลูกสาวของพระเอกและนางเอกหมอลำ พ่อและแม่ของหน่องสนใจการทำงานกับเยาวชน และได้บริจาคที่ดินให้กับเยาวชนเพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ หน่องเองก็สนใจและเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้มาโดยตลอดตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา หน่องเป็นเด็กที่เรียนดี ผลการเรียนอยู่ในอันดับต้นๆ ของโรงเรียนประจำอำเภอ ขณะเดียวกันหน่องก็สนใจเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้โดยตลอด และสนใจการทำงานเพื่อสังคม แม้จะแลดูเป็นคนเงียบๆ แต่หน่องก็กล้าแสดงออก โดยเฉพาะการสืบทอดการร้องหมอลำจากพ่อแม่ และมีความรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์เรียนรู้

สมาชิก สมาชิกของโครงการนี้เดิมทีได้ใช้วิธีการนำนักเรียนที่กำลังเรียนชั้น ป.4-ป.6 โรงเรียนโคกกลางวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชนที่ศูนย์เรียนรู้ชาวดินตั้งอยู่มีสมาชิกทั้งสิ้นจำนวน 55 คน การเลือกเช่นนี้เพื่อความสะดวกในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เนื่องจากทางศูนย์เรียนรู้ฯ ได้ประสานกับทางโรงเรียน ขอจัดกระบวนการเรียนรู้เสริมให้กับเด็กนักเรียนในบ่ายวันจันทร์ของทุกสัปดาห์

แต่เมื่อทำไปสักระยะ มีเด็กที่ไม่ได้สนใจการทำกิจกรรมเท่าใดนัก อีกทั้งครูก็มักจะไม่ให้เวลาตามที่ขอ และมักจะดึงเด็กไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น ทำให้เด็กเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ได้น้อย ทางแกนนำเยาวชนจึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนเป็นการจัดกระบวนการทุกวันอาทิตย์ และเปิดกว้างสำหรับเด็กที่สนใจจริง รวมทั้งเด็กในชุมชนที่ไม่ได้เรียนโรงเรียนนี้ และเด็กที่อยู่ในชั้นอื่นๆ เข้าร่วมด้วย ทำให้กิจกรรมสามารถดำเนินไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น

ผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการสถานศึกษา บุคคลเหล่านี้ค่อนข้างศรัทธาและให้

ความร่วมมือกับการทำงานของศูนย์เรียนรู้ชาวดิน อีกทั้งส่วนหนึ่งเคยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบที่เยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดินมาบ้างแล้ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการรูปแบบนี้ และพร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่มีพลังมากพอที่จะลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีเอง แต่ถ้าชวนทำพวกเขาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ หลังจากที่เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมได้สักระยะ ศูนย์เรียนรู้ชาวดินได้นัดประชุมผู้นำและผู้ปกครองเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์เด็กและเยาวชนในชุมชน พร้อมทั้งได้เล่าการทำโครงงานฯ ให้ฟัง พวกเขาให้ความสนใจ และขอขยายทำทั้งชุมชน โดยเฉพาะกิจกรรมออมวันละบาท พวกเขาได้เสนอตนเองในการทำกระบอกไม้ไผ่ออมสินแจกผู้ที่สนใจเข้าร่วมกระบวนการ โครงงานจึงสมาชิกเพิ่มอีกนับร้อยจากคนในชุมชน

คณะครูและผู้บริหารสถานศึกษา เหตุด้วยโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเล็กๆ นักเรียนส่วนหนึ่งก็ไปเรียนโรงเรียนที่อยู่ในตัวเมือง ทำให้ครูขาดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนปกติ จะให้ความสนใจอยู่บ้างกับการแข่งขันกีฬา แม้ผู้อำนวยการเองจะมีวิสัยทัศน์ แต่ด้วยบุคลิกที่ไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง ทำให้ไม่สามารถดึงความร่วมมือกับครูได้ ประกอบกับครูที่เป็นคนในชุมชนเองก็มีประเด็นความไม่พอใจผู้นำชุมชนในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ญาติของตนเองไม่ได้รับเลือกตั้ง จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมนี้ที่มีผู้นำกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วม และเกิดการหวาดระแวงว่าศูนย์เรียนรู้ฯ ทำไปเพียงเพื่อหวังงบประมาณเท่านั้น โครงการนี้จึงไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากครู

กระบวนการ/วิธีการรวมกลุ่ม และคัดเลือกสมาชิกกลุ่ม

จากความสนใจเดิมของแกนนำเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดิน ที่ต้องการขยายผลการเรียนรู้ของตนเองสู่น้องๆ ในชุมชน และได้นำเสนอเรื่องกับทางคณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา จึงได้เสนอให้ทำเป็นชั้นเรียนเพื่อให้สามารถจัดสรรเวลาได้ง่ายขึ้น และถือเป็นการสอนเสริมในด้านทักษะชีวิตให้กับนักเรียนไปด้วย โครงการของศูนย์เรียนรู้ชาวดินจึงเริ่มด้วยการให้เด็กทุกคนในชั้น ป.4-ป.5 ได้ทำโครงงานคิดดีทำดีเพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน

หลังจากการดำเนินโครงการผ่านไปได้ประมาณเดือนกว่า ที่แกนนำเยาวชนเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กชั้น ป.4-ป.5 ในทุกบ่ายวันจันทร์ ปรากฏว่า ครูไม่ค่อยให้เวลาตามที่ตกลง หรือบางทีก็ไม่ได้รวมกลุ่มเด็กให้ ทำให้เด็กกลับบ้านก่อน ส่วนเด็กเองเมื่อพี่เลี้ยงนัดทำโครงงานในวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ค่อยมา เพราะติดดูโทรทัศน์ แม้พี่เลี้ยงจะไปตามถึงบ้านก็ตาม

จากนั้น แกนนำเยาวชนและพี่เลี้ยงกลุ่มจึงได้ปรึกษาหารือกัน และปรับโครงการโดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ทุกวันอาทิตย์โดยเรียนรู้ในช่วงเช้า และทำกิจกรรมจิตอาสาในช่วงบ่าย และเปิดให้ใครก็ได้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม จึงมีเด็กที่เหลืออยู่ประมาณ 30 คน ที่เข้าร่วมกระบวนการอย่างต่อเนื่อง

วิธีการในการเลือกเรื่องหรือเลือกกิจกรรม

การเลือกเรื่องหรือเลือกกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ชาวดินเลือกใช้วิธีการจัดค่าย ด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ อย่างแรกเป็นเด็กที่ระบุชั้นว่าต้องทำด้วยกันหมด และเป็นเด็กเล็กในระดับประถมศึกษา จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการช่วยให้เด็กได้คิดร่วมกัน และตัดสินใจร่วมกัน

กระบวนการที่ใช้คือ การจัดค่ายโครงงานคิดสร้างสรรค์ ทำดีเพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน จำนวน 2 วัน ในกระบวนการวันแรกได้เน้นที่เรื่องการสร้างความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มก่อน จากนั้นได้ใช้กิจกรรมสมดุลแห่งชีวิต โดยให้เด็กได้พูดถึงความสุขของตนเองก่อนว่า “ความสุขของตนเองคืออะไร” จากนั้นกระบวนกรก็แบ่งความสุขของชีวิตออกเป็น 4 ด้านใหญ่ คือ ความสุขด้านกาย (การมีสุขภาพที่ดี) ความสุขด้านจิตใจ ความสุขด้านสังคม และความสุขด้านปัญญา (การแสวงหาความรู้ในรูปแบบต่างๆ) โดยใช้กราฟเส้นในการแบ่งความสุขออกเป็น 4 ด้าน

 จากนั้นก็เด็กช่วยกันระดมว่า กิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความสุขในแต่ละด้านมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น

กิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพทางกาย ได้แก่ กินอาหารครบ 5 หมู่ / ออกกำลังกาย / พักผ่อนให้เพียงพอ  ไม่นอนดึก / กินอาหารตรงเวลา ครบ 3 มื้อ / ดื่มนมทุกเช้า / ปลูกผักกินเอง / ไม่ดื่มน้ำอัดลม / ลดการกินขนม / ไม่กินของหมักดอง / ไม่กินอาหารที่มีรสเค็ม หรือเผ็ดจัด / อาบน้ำแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง / ไม่กินผงชูรสมากเกินไป / ลดการกินขนมถุง / กินผักและผลไม้

กิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพทางสังคม แบ่งขนมให้เพื่อน / ช่วยเหลือเพื่อน / ทำงานช่วยพ่อแม่ / ให้เพื่อนยืมยางลบ / ไม่หยิบของ ของคนอื่นก่อนได้รับอนุญาต / ช่วยเพื่อน ครูทำงานในห้อง / ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน / ช่วยกันทำงาน / พัฒนาหมู่บ้าน เช่น เก็บขยะ / ทำความสะอาดวัด และศาลากลางบ้าน / ไม่ด่าพ่อแม่ ไม่พูดขึ้นเสียงกับพ่อแม่ / ไม่ขโมยของเพื่อน / ไม่นินทาครู / ขอโทษเพื่อนเมื่อทำผิด / ไม่เยาะเย้ยเพื่อน / ไม่โกหก / ไม่ทะเลาะกับพี่ น้อง / ไม่ตีน้อง / ทำป้ายจราจรในหมู่บ้าน

กิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพทางใจ ใส่บาตรตอนเช้า / ไปทำบุ