3 หนุ่มผู้พัฒนาเกมวางแผน Insectica Kingdoms
การเล่นเกม ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย แต่เกมมีผลดีหลาย ๆ อย่าง ทั้งคลายเครียด ฝึกสมาธิ การตัดสินใจ การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท


                                      

                การเล่นเกม ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย แต่เกมมีผลดีหลาย ๆ อย่าง ทั้งคลายเครียด ฝึกสมาธิ การตัดสินใจ การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเล่นเกมแบบไหน


                แต่เร็ว ๆ นี้จะมีเกมรูปแบบใหม่ชื่อว่า Insectica Kingdoms ที่ช่วยฝึกการคิดวิเคราะห์ ไหวพริบ และการวางแผนให้กับผู้เล่น Insectica Kingdoms เป็นเกมแนว Turn-base RPG 3 มิติ เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) 3 คน ประกอบด้วย น้องแบงค์-นายธนพล กุลจารุสิน, น้องจั่ม-นายฉัตรปรินทร์ หงส์ศิริธรรม ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ น้องชาติ-นายสุทธินันท์ สุคโต ชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี ที่ส่งผลงานเข้าร่วมในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการส่งเสริมเยาวชนที่เป็นฐานกำลังในการพัฒนาประเทศให้มีโอกาสสร้างเสริมทักษะการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์และนำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน และต่อยอดผลงานไปสู่การใช้งานได้จริง

                น้องชาติ-นายสุทธินันท์ ตัวแทนทีมเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำเกมนี้ว่า เริ่มต้นขณะศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้จะเรียนในสายวิทยาศาสตร์ แต่มี 1 คาบเรียนที่ได้เรียนด้านคอมพิวเตอร์ นักเรียนทุกคนจะต้องทำโครงงานคอมพิวเตอร์ส่งประกวดทุกปี โครงการที่ส่งประกวดก็มี โครงการ NSC (การประกวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี) โครงการ AACP (การประกวดสื่อแอนิเมชั่น) การแข่งขันวิชาการต่าง ๆ เป็นต้น ทำให้เป็นเวทีที่น้องชาติใช้พัฒนาความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ น้องชาติเคยพัฒนาผลงานที่มีชื่อว่า Destine Strategy ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 โครงการ NSC รางวัลชนะเลิศโครงการ TICTA และได้ไปประกวดต่อในระดับเอเชียแปซิฟิก โครงการ APICTA ที่ประเทศมาเลเซีย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ทำให้หนุ่มคนนี้เริ่มชอบทางด้านคอมพิวเตอร์ แต่ส่วนใหญ่ที่ส่งประกวดจะเป็นเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งยังไม่มีตลาดซื้อขายที่ชัดเจนและมีการลงทุนสูงในเรื่องการผลิตแผ่น CD ออกวางขาย

                “เมื่อได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พวกเราเริ่มเบนเข็มมาทางด้านการพัฒนาเกมที่เล่นบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตที่มีตลาดการซื้อขายชัดเจนและมีมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก โดยได้เริ่มพัฒนาเกมที่มีชื่อว่า Insectica Kingdoms เป็นเกม 3 มิติแนววางแผนสู้รบของแมลงชนิดต่าง ๆ ไม่เน้นความก้าวร้าวรุนแรง”


                น้องชาติ กล่าวถึงรายละเอียดของเกมที่พัฒนาขึ้นว่า วิธีการเล่นเกมจะเป็นการวางแผนกองทัพแมลง ซึ่งประกอบด้วยเผ่า มด, ด้วง, หนอน, ตั๊กแตน เกมนี้ผู้เล่นจะมีบทบาทในการควบคุมกองทัพแมลงเผ่าต่าง ๆ ตามที่ตนเองเลือก แต่ละเผ่ามีความสามารถพิเศษไม่เหมือนกัน ก่อนเลือกขุนพลทหารเราสามารถรู้ได้ว่าแต่ละตัวนั้นมีความสามารถพิเศษด้านใด เมื่อผู้เล่นเลือกขุนพลทหารเสร็จแล้ว ผู้เล่นก็ต้องเลือกสนามรบที่จะใช้ในการแข่งขัน ซึ่งแต่ละสนามก็จะใช้กลยุทธ์ในการเล่นแตกต่างกันไป


               เริ่มเกมแต่ละฝ่ายจะมีปราสาทหลักที่ต้องป้องกันอยู่ฝ่ายละ 1 หลัง มีป้อมย่อย ๆ อยู่ฝ่ายละ 3 ป้อม และมีหัวหน้ากองทัพแมลงฝ่ายละ 1 ตัว เริ่มแรกผู้เล่นต้องวางกองกำลังทหารก่อน วางทหารเริ่มแรกได้บริเวณปราสาทหลัก สามารถเลือกทหารได้ เท่าที่ตนเองจัดไว้เมื่อตอนก่อนเข้าเกม เมื่อวางทหารแล้วเราสามารถสั่งการทหารได้ ไม่ว่าจะเป็นเดิน โจมตี ตั้งรับ ยึดปราสาทหากปราสาทของฝ่ายใดถูกทำลายก่อนถือว่าฝ่ายนั้นแพ้


                ทั้งสามหนุ่มใช้เวลาในการพัฒนาเกมนี้ 6 เดือน ไม่รวมเวลาในการฝึกฝนและศึกษาการใช้โปรแกรมพัฒนาเกม หลังจากนั้นก็ได้นำเกมที่พัฒนาขึ้นไปให้หลาย ๆ คนได้ทดสอบ ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก น้องทั้งสามคนยอมรับว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นแรก จึงยังไม่ค่อยเป็นไปตามที่คาดหวังไว้เรื่องคุณภาพ เพราะเนื่องจากโปรแกรมที่ใช้พัฒนานั้น เป็นโปรแกรมที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่นักพัฒนาเกม ที่เลือกใช้โปรแกรมนี้เพราะราคาถูกกว่าโปรแกรมอื่น แต่คุณภาพที่ออกมาก็อยู่ในขั้นดี


              สำหรับเกม Insectica Kingdoms ขณะนี้ได้ถูกพัฒนาเพื่อนำไปต่อยอดให้ใช้งานให้ดีและท้าทายขึ้น ด้วยการเพิ่มตัวละครและฉากในการเล่น พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการขายเกมโดยการเพิ่มระดับความยาก ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้ผู้เล่นซื้อเกมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบเกมให้สามารถแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย


              เกมนี้ยังได้รับการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นแล้ว และผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ผ่านระบบ IOS แล้วเช่นกัน.


นภาพร พานิชชาติ

napapornp@dailynews.co.th


ขอขอบคุณ เดลินิวส์ วันที่ 22 ธันวาคม 2556

ข่าวตีพิมพ์