จับภาพ “ครูยุพิน อินต๊ะวงศ์” ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโทกหัวช้าง อ.เมือง จ.ลำปาง

จับภาพ “ครูยุพิน อินต๊ะวงศ์” 

ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโทกหัวช้าง 
อ.เมือง จ.ลำปาง

กระบวนการทำ PBL ของครู

                เนื่องจากครูยุพิน อินต๊ะวงศ์ รับหน้าที่ดูแลนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 (จำนวน 12 คน) ซึ่งเป็นเด็กเล็กช่วงวัย 7-8 ขวบ การสร้างการเรียนรู้และกิจกรรมจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ครูกระตุ้นความสนใจเด็กด้วยการถามสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ อยากรู้อะไรก่อน และเริ่มพาเด็กไปเรียนรู้ เมื่อเด็กเรียนรู้จนพอใจแล้วจึงเชื่อมไปสู่สิ่งที่เด็กอยากรู้เพิ่มเติมอื่นๆ เพราะครูเชื่อว่าเด็กวัยนี้ต้องค่อยๆ เติมสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้อย่างใจเย็น  ดังเช่น เด็กอยากรู้เรื่องต้นมะม่วง ครูก็พาไปดูต้นมะม่วงและตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก เช่น เด็กๆ เห็นอะไรบ้าง?  กระตุ้นให้เด็กเกิดการคิดและสงสัยจึงมีคำถามว่า ทำไมใบมะม่วงสี/ขนาดต่างกัน และทำไมลูกมะม่วงมีสีดำ โรคอะไรที่ทำให้มะม่วงเป็นเช่นนี้  ครูก็จะพาเด็กไปค้นคว้าในห้องคอมพิวเตอร์และนำเด็กมาล้อมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  หรือเด็กๆ สนใจเรื่องการทำนา จากการพบเห็นผู้ปกครองไปทำนา ครูยุพินก็พาเด็กไปศึกษาพื้นที่ทำนาของผู้ปกครอง ได้เรียนรู้วิธีทำนา ได้รู้จักหอยเชอร์รี่ เป็นต้น

                 ครูยุพินเปลี่ยนวิชาภาษาไทยซึ่งมีเรียนทุกวันมาเป็นวิชาค้นคว้าที่ห้องคอมพิวเตอร์ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ค้นคว้าในสิ่งที่เขาอยากรู้ โดยไม่แยกส่วนเนื้อหา ครูจะเดินดูและประเมินเด็กอยู่ตลอดเวลา หากเห็นว่าเด็กทำไม่ได้ ครูจะปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็ก  เช่น โจทย์ให้เด็กค้นเรื่องโรคเชื้อราที่เกิดกับต้นมะม่วง เมื่อเด็กเจอเนื้อหาเยอะ ตัวหนังสือมาก ครูจะช่วยพิจารณาข้อมูล เมื่อเห็นว่าดีแล้วครูจะอ่านให้เด็กๆ ฟัง เพื่อให้เด็กทำความเข้าใจเรื่องนั้นด้วยตัวเองและจดคำตอบที่ตัวเองสงสัยลงไป บางคนอ่านไม่ออกครูก็จะให้วาดรูปแทนการค้นหาข้อมูล

 


ภาพ 1 นักเรียนค้นคว้าเรื่องโรคเชื้อรามะม่วงเอง ภาพ 2 เด็กๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการวัด


              หลังจากค้นคว้าเสร็จแล้วก็จะมานั่งล้อมวงคุยกันกับเด็กเกี่ยวกับผลจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้

              ตัวอย่างเช่นวันที่คณะทำงานจากมูลนิธิเดินทางไป (7 ธันวาคม 2555) เป็นวันที่เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการวัด หน่วยวัด ครูสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กกระตือรือร้นในการเรียนรู้ด้วยเรื่องเล่า จากเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง เพื่อฝึกมารยาทการฟังให้กับเด็ก ผู้ฟังจะถามได้ต้องยกมือถามเมื่อผู้เล่าเล่าจบ และเพื่อเป็นการรวบรวมสมาธิเด็กก่อนเรียน (ผู้เขียนแอบคิดเล่นๆ ว่า ครูยุพินทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รู้จักวง ลปรร. หรือ KM ตั้งแต่พวกเขายังอยู่ ป.2 เลยทีเดียว)  เมื่อเสร็จจากวงเรื่องเล่าครูจะตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการคิดของเด็กเกี่ยวกับหน่วยวัด เช่นกระดานดำนี้ยาวเท่าไร? มีหน่วยวัดเป็นอะไร? พร้อมกับถามเพื่อประเมินความเข้าใจของเด็กตลอดเวลา เช่น นักเรียนเข้าใจไหม มีใครไม่เข้าใจหรือตามไม่ทันให้ยกมือขึ้น หากพบเด็กคนไหนไม่เข้าใจครูก็จะพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ จนกว่านักเรียนจะเข้าใจ 

                และหากพบเด็กไม่สนใจฟังหรือทำผิดข้อตกลง จากการสังเกตของคณะทำงานจากมูลนิธิฯ พบว่า ครูจะใช้วิธีให้เด็กพิจารณาโทษด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเด็กรู้ตัวว่าเขาทำผิดแล้ว บางคนก็เสนอที่จะยกเก้าอี้ให้เพื่อนๆ เป็นเวลา 10 วัน บ้างขอปิดหน้าต่างหลังเลิกเรียน 20 วัน เด็กบางคนขอทำการบ้านเพิ่มจากเดิม 2 ข้อเป็น 4 ข้อ เป็นต้น ช่างเป็นวิธีพิจารณาโทษที่น่ารักและเกิดประโยชน์กับเด็กจริงๆ

                 เมื่อครูและนักเรียนทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวัด และหน่วยวัดเบื้องต้นแล้ว ครูยุพินจะแจกสายวัด ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มลงมือปฏิบัติ วัดสิ่งของต่างๆ เช่น ความสูงของโต๊ะครู  ความกว้างของฟุตบาท รอบวงเสาธง รอบเอวนักเรียนเป็นต้น หลังจากที่เด็กๆ เสร็จสิ้นภาระกิจการวัด ครูและนักเรียนก็จะมานั่งล้อมวงหน้าห้องกันอีกครั้ง (คล้ายกันทำ AAR) เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น และผลการวัดของแต่ละคน ถูกผิดอย่างไร เด็กๆ จะช่วยกันพิจารณาและบอกกันเองว่าเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด โดยครูยุพินทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชวนคิดชวนคุยเท่านั้น (Facilitator)

 


ภาพ 3 เด็กๆ เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ เรื่องการวัด หน่วยวัด


                นอกจากนี้ ทุกวันก่อนเด็กๆ กลับบ้านทุกคนจะต้องลอกโจทย์การบ้านหรือทำการบ้านก่อน อย่างน้อย 2 ข้อ ตามความสามารถของเด็ก เช่น เด็กที่เรียนรู้เร็วทำได้ถึงระดับคูณ หาร ก็ทำการบ้านเรื่องการคูณ การหาร  ส่วนเด็กยังรู้แค่เรื่องการบวก ลบ ก็ทำการบ้านเรื่องการบวก ลบ เป็นต้น โดยเด็กจะรู้หน้าที่นี้เอง  และก่อนกลับบ้านสิ่งที่เห็นคือคนที่มีหน้าที่ทำความสะอาดห้องก็จะไปหยิบไม้กวาดมากวาดห้อง คนที่ทำโทษตัวเองด้วยการยกเก้าอี้ก็จะทำหน้าที่ของตนอย่างรับผิดชอบโดยที่ครูยุพินไม่ต้องทักท้วง หรือตักเตือนแต่อย่างใด



ภาพ 4 การบ้านที่เด็กทำเองก่อนกลับบ้าน ภาพ 5 ทำความสะอาดห้องตามหน้าที่ หลังเลิกเรียน


                   แรงบันดาลใจของครูยุพิน ช่วงแรก ครูยุพินเล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจเกิดจากการชมวีดิทัศน์แนะนำวิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กล่าวโดยคุณหมอ 2 ท่าน คือ นพ.วิจารณ์ พานิช และนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (จากเวทีโครงการครูสอนดี จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2555)  ครูยุพิน พูดถึงวีดิทัศน์นี้ว่า “รู้สึกอาย ที่ต้องให้คนอาชีพอื่นเช่นหมอ มาพูดเรื่องการศึกษา เรื่องวิธีการเรียนการสอนเด็ก กับคนที่เป็นครู”  จึงเกิดความสนใจอยากศึกษาเกี่ยวกับการสอนแบบ PBL จึงเริ่มจากการอ่านเรื่องของ “ครูเรฟ” แล้วจึงนำมาทดลองใช้กับนักเรียนในชั้น ป.2 ที่ครูประจำชั้นอยู่

                   ครูเล่าถึงความรู้สึกหลังจากนำมาลองปรับใช้กับนักเรียนว่า “ช่วงอาทิตย์แรกของการทดลองใช้ ต้องต่อสู้กับแรงภายในตัวเองเยอะ เพราะมันไม่เหมือนกับที่ทำทุกวัน ต้องใจเย็น”  หากบางวันทำไม่ได้ ครูยุพินจะบอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร พรุ่งนี้เริ่มใหม่.. และครูยังเชื่อว่าความดีที่เราทำกับเด็กในวันนี้จะส่งผลให้ลูกเราเป็นคนดีเช่นกัน จึงทำให้ครูยุพินยังคงใช้วิธีสร้างการเรียนรู้ในลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด

                 สิ่งที่ครูยุพินอยากทำต่อไป  คือเชิญชวนเพื่อนครูในโรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ศึกษาวิธีทำน้ำหมักด้วยหอยเชอร์รี่  ข้าว  และการจัดการน้ำ  หลังจากที่ได้ชวนครูประจำชั้น ป. 3 พาเด็กไปเรียนรู้เรื่องการทำนาที่ผ่านมา เพราะการเรียนรู้แบบนี้ทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน ได้ทักษะในชีวิต และยังทำให้ครูมีความสุขกับการเป็นครู



ผลลัพธ์จากเด็ก

                การสร้างการเรียนรู้ในแบบของครูยุพินเช่นนี้ ทำให้เห็นภาพที่เด็กๆ ชอบวิ่งเข้ามากอดครูยุพิน  ชอบคลอเคลีย นอนหนุนตักครู มีความสุขกับการเรียนรู้แบบล้อมวงนั่งคุยกัน  เด็กคนไหนไม่สนใจเรียนรู้เพื่อนๆ ก็จะช่วยเตือนกันเอง  และไม่พบเห็นเด็กก้าวร้าวเลย แม้เด็กในโรงเรียนนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา บางคนอยู่ “บ้านเด็ก” (สถานรับเลี้ยงเด็กถูกทอดทิ้ง เด็กกำพร้า) แต่เด็กกลุ่มนี้ก็ยังเป็นเด็กที่มีความสนใจใฝ่เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเพื่อนและครูในทุกเรื่อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน



ภาพ 6 เด็กๆ เรียนรู้ร่วมกันทั้งห้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


             เด็กได้เลือกสิ่งที่เขาสนใจอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแบบล้อมวงหน้าชั้นเรียนก่อนลงมือปฏิบัติ เช่น ครูจะถามเด็กว่าวันนี้อยากเรียนรู้เรื่องอะไร? เด็กอยากเรียนรู้เรื่องต้นมะม่วง ครูก็พาเด็กไปเรียนเรื่องต้นมะม่วงในวันนั้น  ซึ่งครูและเด็กๆ จะช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละกิจกรรม อันเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้และฟังสิ่งที่ครู เพื่อนบอก และเด็กมีการเชื่อมโยงความรู้ได้ด้วยตนเอง เช่นเมื่อพูดถึงมะม่วง ก็จะนึกถึงการค้นคว้าเรื่องเชื้อรามะม่วงในวิชาคอมพิวเตอร์  หรือถ้าพูดถึงความกว้าง ความยาว เขาจะนึกถึงความสูงของโต๊ะครู หรือความกว้างของฟุตบาทที่เขาเคยลงมือวัดด้วยตัวเอง

               โดยสรุป เด็กเกิดทักษะ 21st Century Skills  คือ (1) ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ด้านการสื่อสารและการร่วมมือ  ดูจากการที่เด็กได้ช่วยกันเรียนรู้ ทำงานร่วมกัน และเข้าวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอยู่ตลอด  (2) ทักษะด้านการสื่อสาร สื่อและเทคโนโลยี ด้านความรู้ทางเทคโนโลยีและสื่อ  จากการค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมด้วยคอมพิวเตอร์ (3) ทักษะชีวิตและอาชีพ ด้านความยืดหยุ่นและปรับตัว ด้านทักษะสังคม ด้านภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ ดูจากที่เด็กยอมรับผิดและพิจารณาโทษด้วยตนเอง และไม่พบเห็นความขัดแย้งหรือทะเลากันจากการทำงานร่วมกันเลย 


 แนวทางการบริหารโรงเรียน

                 โรงเรียนบ้านโทกหัวช้าง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1-2 จำนวน 13 คน และระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6  จำนวน 60 คน (ทั้งหมด 77 คน) ครูประจำชั้นสอนทุกวิชา 8 ท่าน ซึ่งอาจจะมีการสลับคาบเรียนบ้างตามความถนัดของครูแต่ละคน ภายใต้การบริหารโรงเรียนโดยผู้อำนวยการคนใหม่ ผอ.ทิมแก้ว ธรรมรักษ์สกุล ยึดหลักการบริหารโรงเรียนตามที่ สพฐ. กำหนด (บริหารงาน 4 ด้าน: ด้านวิชาการ งบประมาณ งานบุคคล และงานทั่วไป)

  นอกจากนี้ ผอ.ทิมแก้ว ธรรมรักษ์สกุล ให้ข้อมูลว่า จะนำหลักการทำงานในแบบ KM มาใช้ในการบริหารงานในโรงเรียนต่อจากนี้ เพราะเชื่อว่าครูทุกคนมีประสบการณ์ในการเรียนการสอนที่ต่างกัน หรือรวมถึงการได้เข้ารับการอบรมต่างๆ ของครู การที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันวงอาหารกลางวันของครู หรือในวงประชุมครูประจำเดือน จะเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มและพัฒนาการเรียนการสอนให้ครูได้  และเนื่องจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมีความเข้มแข็ง จึงมีแนวคิดที่จะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ด้วยการเชิญเป็นปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้ในท้องถิ่น หรือเชิญเข้าร่วมประชุมในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน

                   และเมื่อสัมภาษณ์ลงลึกกับ รอง ผอ.ผ่องพรรณ หอมอบ ผู้ที่อยู่กับโรงเรียนบ้านโทกหัวช้างแห่งนี้มาถึง 25 ปี ทำให้ทราบว่า “โรงเรียนไม่เน้นการฝึกเด็กเพื่อแข่งขันเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่เน้นฝึกเด็กทั้งโรงเรียนให้มีทักษะชีวิต อยู่ร่วมกันแบบพี่น้องได้” และ “เน้นพัฒนาการของเด็กมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เพราะเด็กมีความแตกต่างระหว่างบุคคล”  เด็กทุกคนมีหน้าที่ทำให้โรงเรียนสะอาดในทุกเช้า มีการฝึกความเป็นผู้นำด้วยการพูดภาษาอังกฤษหน้าเสาธงตั้งแต่ระดับ ป.3 ถึง ป.5 และมีนโยบายให้นักเรียนนั่งสมาธิ 10 นาที ก่อนเริ่มเรียนทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย

 


  ภาพ 7 กิจกรรมหน้าเสาธงยามเช้า ภาพ 8 นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเริ่มเรียนเช้า-บ่าย


              ข้อสังเกต: วิธีการสร้างการเรียนรู้ของครูยุพิน อินต๊ะวงศ์ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  โรงเรียนบ้านโทกหัวช้าง จังหวัดลำปาง ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะชีวิต ทักษะด้านการเรียนรู้  และทักษะการสื่อสารและเทคโนโลยี โดยผู้เรียนเป็นเจ้าของเรื่องที่ตนสนใจอยากเรียนรู้เอง นี่อาจเป็นลักษณะของครูในยุคศตวรรษที่ 21 สำหรับสอนเด็กเล็ก



วันที่ 7 ธันวาคม 2555
น.ส.กนกอร แสงทอง
น.ส.รตยา สารพร