ถอดความจาก: จับภาพ “ครูสมจิตร”
ครูจิตอาสา แห่งโรงเรียนเขานางสางหัว
อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

จับภาพ “ครูสมจิตร”ครูจิตอาสา แห่งโรงเรียนเขานางสางหัว

 อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

                  ครูสมจิตร หรือ “ครูจิต” ที่เด็กๆ เรียก เป็นคุณครูจิตอาสา มุ่งมั่น ตั้งใจ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปฏิบัติเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ เช่น การทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน ปลูกผักกินเอง เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เป็นต้น จนเกิดเป็นฐานการเรียนรู้ 7 ฐานในปัจจุบัน


1. กระบวนการทำ PBL ของครู
                ครูสมจิตร หรือ “ครูจิต” ที่เด็กๆ เรียก เป็นคุณครูจิตอาสา ในวิชาบูรณาการ ของโรงเรียนเขานางสางหัว (เข้ามาสอนในโรงเรียนวันที่ 14 มิถุนายน 2555) ภายใต้การชักชวนของ ผอ.ภัทรนันท์ หรือคนมักเรียกชื่อเล่นว่า ครูวาส (ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ) ด้วยมีเจตนาเดียวกับ ผอ.วาส ที่อยากจะเปลี่ยนโรงเรียนแห้งแล้งให้มีความสมบูรณ์ขึ้น จึงมุ่งมั่น ตั้งใจ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปฏิบัติเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ เช่น การทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน ปลูกผักกินเอง เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เป็นต้น จนเกิดเป็นฐานการเรียนรู้ 7 ฐานในปัจจุบัน คือ (1) สมุนไพรและการแปรรูปอาหาร  (2) การเลี้ยงปลา  (3) การเลี้ยงไก่ไข่  (4) เตาเผาถ่านน้ำส้มควันไม้  (5) ก๊าซชีวภาพ  (6) เลี้ยงกบ และ (7) เพาะพันธุเห็ด

                วิธีการทำงานของครูจิต  เริ่มต้นจากวิชาบูรณาการของครูจิต ซึ่งได้รับมอบหมายให้สอนทุกวันจันทร์และวันศุกร์  (เวลา 14.00-15.30 น.) เริ่มแรก ครูจิตได้มีการพูดคุย ปรึกษากับครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียนเกี่ยวกับระดับของเด็กที่จะเรียนวิชานี้ กล่าวคือ ในภาคเรียนที่ 1 เสนอให้เป็นการเรียนรู้ของเด็ก ป.4-6 ก่อนเนื่องจากเป็นเด็กโต จะมีสมาธิมากกว่าเด็กเล็ก และปีต่อไปเมื่อรุ่นพี่เก่งแล้วก็จะเป็นพี่สอนน้องเอง

                      ก่อนที่จะมาเป็นฐานการเรียนรู้ทั้ง 7 ฐาน ครูจิตตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่า “อยากเรียนรู้อะไร และอยากจะปลูกอะไร?” ให้เด็กๆ ช่วยกันเสนอ เมื่อได้ข้อเสนอจากเด็กแล้ว ครูจิต ก็นำมาปรึกษากับ ผอ.วาส เพื่อหาวิธีทำงานร่วมกับเด็กๆ จนได้ข้อสรุปมาว่า งานไหนที่เป็นงานใกล้ตัวและไม่หนักเกินไปสำหรับเด็กก็จะให้เด็กลงมือปฏิบัติเอง เช่น การปลูกผัก ขุดดิน ทาสี เป็นต้น แต่งานที่หนักเกินไปสำหรับเด็ก ก็จะชักชวนผู้ใหญ่ให้ชุมชนมาช่วยทำ เช่น การก่ออิฐ สร้างบ้านพอเพียง ฝังโอ่งเพื่อเก็บขี้หมู

                      ในภาคปฏิบัติจริง การลงแปลงปลูกผัก ครูจิตก็จะให้ทฤษฎีเกี่ยวกับดินก่อน เช่น การทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยซากพืชซากสัตว์ แล้วครูจิตจะสอนด้วยการทำให้ดูหนึ่งครั้ง แล้วให้เด็กๆ ลงมือปฏิบัติเอง  เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการเรียนรู้ของเด็กๆ และสร้างเข้าใจให้ง่ายขึ้นสำหรับเด็ก ครูจิตจึงคิด

                     แต่งเป็นเพลง ดังนี้ “มาน มาน มัน มาน มานมัน มันเทศ มันสำปะหลัง มันหัวเล็กจัง เพราะยังไม่ได้ใส่ปุ๋ย มาน มาน มัน มาน มาน มัน ขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้อะไรก็ได้ เพราะมันคือปุ๋ย” 

                     ปัจจุบันในวิชาบูรณาการของเด็กๆ มีหน้าที่คอยช่วยกันดูแลด้วยการรถน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ถอนหญ้า ให้อาหารสัตว์ ในฐานการเรียนรู้ของตัวเองทั้งหมด 7 ฐานด้วยกัน ประกอบไปด้วย


ฐานเรียนรู้ที่ 1 สมุนไพรและการแปรรูอาหารเป็นฐานเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น กระเพรา มะละกอ ข่า ตะไคร มะกรูด พริก ซึ่งนักเรียนมีหน้าที่เปลี่ยนเวรกันมารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ปลูกผัก ตามกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย



ฐานเรียนรู้ที่ 2 การเลี้ยงปลาเด็กๆ ผลัดเวรกันให้อาหารปลา ผลผลิตก็จะนำไปประกอบอาหารกลางวันให้แก่เด็กๆ และบางส่วนนำไปขาย



ฐานเรียนรู้ที่ 3 การเลี้ยงไก่ไข่ฐานนี้ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อเก็บไข่ไว้กินในครัวเรือน เด็กๆ ทำหน้าที่ให้อาหารและคอยเก็บไข่ไก่




ฐานเรียนรู้ที่ 4  เตาเผาถ่านและควันน้ำส้มเป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการเผาถ่านและการได้ผลผลิตพลอยได้จากการเผาถ่านคือ ควันน้ำส้ม  เด็กได้เรียนรู้วิธีการได้ควันน้ำส้มจากการเผาถ่าน และทำหน้าที่ช่วยครูสมจิตรขนไม้มาเผา ปิดเตา และเป็นผู้บรรยายให้ผู้เยี่ยมชมทราบขั้นตอนการผลิตควันน้ำส้ม


  หมายเหตุ: วิธีการได้มาของควันน้ำส้มคือการสร้างเตาให้เป็นระบบปิดและต่อท่อปล่อยให้ควันไหลออกไปตามท่อ โดยปลายท่อจะปิดด้วยภาชนะรองควันน้ำส้มที่จะกลั่นตัว ใช้หลักการควบแน่นของควันไฟแล้วเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวโดยธรรมชาติ  กลายเป็น “ควันน้ำส้ม”  ซึ่งสามารถนำไปใช้รถน้ำต้นไม้ป้องกันแมลง หรือสามารถนำไปล้างห้องน้ำได้ 



ฐานเรียนรู้ที่ 5 ก๊าซชีวภาพฐานนี้เด็กๆ ได้เรียนรู้ขั้นตอนการเลี้ยงหมู ช่วยครูทำความสะอาดเล้าหมู และการนำขึ้หมูใส่รางเชื่อมไปสู่บ่อหมักก๊าซชีวภาพ ทำให้เด็กได้เรียนรู้การนำของเสียมาทำให้เกิดประโยชน์ ด้วยการสร้างถังเก็บขี้หมูระบบปิด จากเล้าหมูที่เด็กๆ เลี้ยง เพื่อให้ก๊าซมีเทน และจึงเชื่อมต่อก๊าซที่ได้นำไปใช้หุงต้มในโรงอาหารต่อไป  เป็นระบบง่ายๆ ที่เด็กสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้ไม่ยาก



ฐานเรียนรู้ที่ 6 การเลี้ยงกบเด็กๆ ทำหน้าที่ให้อาหารกบ โดยมีครูสมจิตรช่วยสร้างบ่อซีเมนต์ให้  เพื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงกบด้วยบ่อซีเมนต์ และการป้องกันสัตว์ร้าย เช่น งู ที่จะมากินกบ ด้วยการขึงตาข่ายสีน้ำเงินอย่างที่เห็นดังภาพ



ฐานเรียนรู้ที่ 7 การเพาะพันธ์เห็ด  เด็กๆ ทำหน้าที่สังเกตการณ์เติบโตของเห็ด เมื่อโตขึ้นเด็กๆ ก็ช่วยกันนำไปขายในตลาด  ฐานนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีเพาะเห็ดนางฟ้า และเห็ดภูฎาน อย่างง่ายและนำไปเพาะที่บ้านได้ เพียงอาศัยพื้นที่อับชื้นและมิดชิดอย่างแท้งน้ำที่ไม่ใช้แล้วของโรงเรียนดังภาพ ปัจจุบันไม่มีการเพาะเห็ดแล้ว



                          และระหว่างการเรียนรู้ร่วมกันในวิชาบูรณาการนี้ ครูจิตจะคอยประเมินเด็กอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อเสร็จจากกิจกรรมปลูกผัก ทำปุ๋ย ทำก๊าซ หรือกิจกรรมต่างๆ ครูจิตก็ตั้งโจทย์ใส่กระดาษว่า “กิจกรรมวันนี้เด็กๆ ได้อะไรบ้าง?” เด็กตอบว่า “ได้ออกกำลังกาย ได้ความสามัคคี ได้ทำปุ๋ยไว้ใช้เองโดยไม่ต้องซื้อ” เป็นต้น  และเมื่อพบว่าเด็กยังไม่ค่อยมีระเบียบ ไม่สนใจเรียนรู้ ติดเล่น พูดคำหยาบ เกเรเพื่อน ครูก็จะค่อยๆ สอดแทรกเรื่องมารยาท คุณธรรม ให้กับเด็กๆ เช่น เมื่อได้ยินเด็กพูดจาหยาบคายครูก็จะสอนว่า “เปลี่ยนใหม่นะเราเป็นนักเรียนไม่น่าพูดคำหยาบ”  หรือเจอเด็กโกงกัน เกเรกัน  ”จะบอกว่าเราน่าจะสามัคคีกันเนอะ” ให้เด็กรู้จักรักกัน ช่วยเหลือกัน  จนพบว่าเวลาผ่านมาหนึ่งภาคเรียน เด็กบางคนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากที่เป็นเด็กเกเร พูดคำหยาบ ก็เปลี่ยนเป็นเด็กพูดน้อยลง ยกมือไหว้ครูเมื่อพบเห็น และตั้งใจทำกิจกรรม  และที่สำคัญซึ่งถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของครูจิตคือ เด็กกลับไปปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ที่บ้านเอง เช่นบ้านของน้องวิว  หรือเด็กบอกให้ผู้ปกครองมาดูวิธีเลี้ยงปลาที่โรงเรียนแล้วนำกลับไปเลี้ยงปลาที่บ้านก็มี เช่น บ้านของลุงจุ้ย

                   แรงบันดาลใจที่ทำให้ครูสมจิตรเข้ามาทำตรงนี้  ด้วยแนวคิดของครูจิตที่อยากจะถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาให้เกิดประโยชน์กับเด็กนักเรียนสูงสุด  หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการประสานพลังปัญญาเกี่ยวกับพลังงานชุมชน (สสส.) เป็นอาสาสมัครพลังงานประจำหมู่บ้าน ฝึกทักษะด้านพลังงานทดแทนจากการทำก๊าซจากมูลสัตว์ และเรียนรู้การทำเกษตรจาก กศน.เลาขวัญ รวมถึงการไปฝึกอบรมหลักเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับมูลนิธิเด็ก (โดยครูป้อม) จึงเกิดเป็นฐานการเรียนรู้ 1-7 ฐานดังที่กล่าวมาในโรงเรียนเขานางสางหัว

                  สิ่งที่ครูสมจิตรอยากทำต่อไป  ครูจิตตั้งใจไว้ว่า ภาคเรียนที่ 2 จะลดบทบาทของตัวเองลงมาเป็นพี่เลี้ยง และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก อย่างเช่น นายบุญรอด (เจ้าหน้าที่ อบต.เขานางสางหัว) อาชีพเลี้ยงหมูในชุมชนก็จะเชิญมาเป็นปราชญ์ชาวบ้านสอนการเลี้ยงหมูให้ชาวบ้านและเด็กนักเรียน เป็นต้น  ส่วนการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนก็จะให้เป็นแบบ “พี่สอนน้อง” คือให้สอนกันเอง เด็กโต (ป.4-6) สอนเด็กเล็ก (ป.1-3)  และอยากเห็นเด็กได้เป็นคนนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองแก่ผู้ที่เข้ามาดูงานในโรงเรียน ผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่เป็นไร และอยากให้คนที่มาดูงานตั้งคำถามกับเด็กเยอะๆ จะได้ฝึกทักษะการสื่อสารของเด็กมากขึ้นด้วย


 2. ผลลัพธ์จากเด็ก

                เมื่อพูดถึงวิชาบูรณาการของครูจิต เด็กๆ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าชอบและสนุกทุกครั้ง เพราะได้เรียนรู้จากการคิดเอง ทำเอง รวมถึงคอยดูแลด้วยการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ถอนหญ้า ให้อาหารสัตว์ ด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นคำพูดที่ว่า“รู้สึกภูมิใจค่ะ เมื่อเห็นมันโตขึ้น และกินได้ ” โดยมีครูจิตคอยช่วยเหลือและแนะนำเกี่ยวกับทักษะอาชีพในการเกษตรซึ่งครอบครัวของเด็กส่วนใหญ่ทำอยู่ 

                 เด็กนักเรียนโรงเรียนเขานางสางหัวนี้ กำลังเข้าสู่การพัฒนากระบวนการทำ PBL โดยให้เด็กได้ร่วมกันตั้งโจทย์ ปัญหาในการเรียนรู้ เช่น เด็กเสนอว่าอยากเลี้ยงปลาดุก อยากปลูกพืชชนิดต่างๆ เป็นต้น  เด็กเกิด (1) ทักษะด้านการสื่อสารและการร่วมมือ  จากการที่เด็กๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ร่วมกันออกแบบการสร้างฐานการเรียนรู้ต่างๆ กับครูและเพื่อนๆ  มีการเชื่อมโยงความรู้และเกิดแรงบันดาลใจจนนำกลับไปทดลองปลูกพืชสวนครัวที่บ้าน บางคนกลับเลี้ยงหมูและไก่ที่บ้านเลยทีเดียว และ (2) ทักษะชีวิตและอาชีพ ด้านความยืดหยุ่นและปรับตัว ทักษะสังคม และด้านภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ  จากการที่เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยแบ่งหน้าที่กันเอง และเป็นสิ่งที่เรียนรู้แล้วนำไปหาเลี้ยงชีพได้จริง  เด็กๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รู้สึกสนุกและชอบที่ได้เรียนรู้แบบลงมือทำจริงแบบนี้”  เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่าการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัตินั้นเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับเด็กๆ สูงสุด


3. ภาพรวมโรงเรียน และสิ่งแวดล้อม

                 ตามแผนการสอนของโรงเรียนเขานางสางหัวจัดให้มีวิชาบูรณาการ  คือฐานการเรียนรู้ทั้ง 7 ฐานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สอนโดยครูจิตอาสา  ในวันจันทร์และวันศุกร์ เวลา 14.00-15.30 น. เป็นประจำ เป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้วยการบูรณาการความรู้ให้กับเด็กๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนสาระวิชาหลักในห้องเรียน และเปลี่ยนการสอนจากครูสอนในรายวิชามาเป็นการสอนประจำชั้นทุกวิชา

                  การเปลี่ยนแปลงจากเด็กถึงผู้ปกครอง บางครอบครัวสามารถรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของบุตรหลาน หลังจากที่ได้เรียนรู้งานด้านการเกษตรทั้ง 7 ฐานที่โรงเรียน  เนื่องจากเมื่อคณะทำงานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงผัก เล้าไก่ เล้าหมู ของน้องนักเรียนทั้ง 4 คน (น้องวิว เก๋ แอน และน้องไอซ์) และสัมภาษณ์ผู้ปกครอง พบว่า นักเรียนบางคนกลับไปชวนยายทำแปลงผักของตัวเอง บางคนมีทักษะในการช่วยพ่อแม่ทำเกษตร  และนักเรียนบางคนกลับไปชวนผู้ปกครองเลี้ยงหมู และไก่ไข่เอาไว้กินในครัวเรือน


 การบริหารโรงเรียน/ครู 

                ภายใต้แนวคิด “รักษ์ท้องถิ่น” ของผอ.วาส ผู้อำนวยการโรงเรียนเขานางสางหัว จึงนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารโรงเรียน บวกกับความตั้งใจที่อยากทำการเกษตรเป็นทุนเดิม  จึงเริ่มพัฒนาจากปัญหาที่มีอยู่ในโรงเรียน ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า แล้ง โรงเรียนมีขนาดเล็กจนเกือบจะโดนยุบ โรงอาหารก็ไม่ได้ใช้งาน (เด็กกินอาหารถุง) ทำให้เด็กขาดโภชนาการ  จึงเริ่มต้นด้วยการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองและนักเรียน ภายใต้โจทย์ที่ว่า “เราจะพัฒนาโรงเรียนได้อย่างไร”  และได้ข้อสรุปคือเราจะทำการเกษตร จึงชวนเด็กๆ ปลูกผักบุ้งเป็นอย่างแรก และพบว่าผักบุ้งงอกงามดีมีจำนวนมาก จึงแบ่งให้เด็กกลับบ้านและนำไปขายได้เงิน จึงเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรอย่างจริงจังในโรงเรียน  ปัจจุบันโรงเรียนมีฐานการเรียนรู้ด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ โดยเกิดจากเด็กๆ และครูจิตอาสา ที่เด็กๆ เรียกว่า “ครูจิต” อยู่ถึง 7 ฐาน

                     นอกจากนั้น ฐานการเรียนรู้ทั้ง 7 ฐานทำให้โรงเรียนสามารถเชื่อมโยงกับชุมชน และวัดให้เข้ามาใกล้ชิดกันได้อย่างน่าสนใจ ด้วย “โครงการ 1 แสน 1 ไร่” ซึ่งมีจุดเริมต้นจากแปลงผักเล็กๆ ของเด็กนักเรียนที่ทำกันหลังโรงเรียนและการไปดูงานโครงการ 1 นา 1 แสน จังหวัดปทุมธานี  จึงเกิดแรงกระตุ้นให้เด็กๆ และชาวบ้าน คิดอยากจะพัฒนาชุมชนของตัวเองบ้าง จึงช่วยกันปลูกไร่มันสัมปหลัง ในพื้นที่ของวัด (เนื่องด้วยมันสัมปหลังเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จึงเลือกปลูกมันสัมปหลัง)  โดยชาวบ้านมีการร่วมหุ้นเป็นเงินกองทุนสหกรณ์เพื่อใช้จ่ายในการดูแล ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย (หุ้นละ 1,000 บาท)  ซึ่งผลผลิตสุดท้ายคือนำไปขายและปันผลในรูปแบบของสหกรณ์  และกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง 

                    สิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนอยากทำต่อไปคือ การพัฒนางานด้าน ICT การสื่อสาร อุปกรณ์การเรียนรู้ที่มากขึ้นให้กับเด็กๆ  รวมถึงบุคลากรครูยังขาดแคลนไม่เพียงพอ และที่สำคัญยังมีแนวคิดที่จะพัฒนางานด้านความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนให้มากขึ้นไปอีกในทุกทางที่สามารถทำได้

                   สรุป  วิธีการสร้างการเรียนรู้ของครูสมจิตร ครูจิตอาสา  โรงเรียนเขานางสางหัว จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในขั้นกำลังพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้ทักษะและได้เนื้อหาความรู้ พร้อมกับมีการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชน และยังต้องพัฒนาให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ต่างๆ ที่มากขึ้น ช่วยกันคิดริเริ่มมากขึ้น วางแผนมากขึ้น เพื่อการฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา



 20 พฤศจิกายน 2555
น.ส.กนกอร แสงทอง
น.ส. รตยา  สารพร