เล่าเรื่องเมืองน่าน ว่าด้วย “ศิลปะ”ของเด็ก ช่วย “ป่าต้นน้ำ” ได้อย่างไร ณ ค่ายบ่มเพาะเยาวชนศิลปะรักสิ่งแวดล้อม

เล่าเรื่องเมืองน่าน ว่าด้วย “ศิลปะ”ของเด็ก
ช่วย “ป่าต้นน้ำ” ได้อย่างไร
ณ ค่ายบ่มเพาะเยาวชนศิลปะรักสิ่งแวดล้อม

­

­

เพราะ “น่าน” คือจังหวัดเล็กๆ ที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา ถูกปกคลุมด้วยภูเขาสูงและป่าไม้ จึงทำให้น่านเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย รวมถึง “แม่น้ำน่าน” ที่ไหลผ่านจังหวัดน่านเป็นระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร จากต้นกำเนิดดอยภูแวทางทิศเหนือของจังหวัด สู่เขื่อนสิริกิตติ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำอีกสามสาย กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของประเทศ นั่นคือจุดกำเนิดของ “ป่าต้นน้ำ” นั่นเอง

­

­

­

และ “น่าน” คือจังหวัดที่ “ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” มากที่สุด และมีที่ดินทำเกษตรน้อยที่สุด จึงทำให้มีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าแบบก้าวกระโดดกินพื้นที่นับหมื่นไร่ จนส่งผลกระทบต่อการเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าต้นน้ำ เกิดมลพิษและกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด

­

­

เพราะปัญหาของ “น่าน” ก็คือปัญหาของ “คนปลายน้ำ” ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ คนกลางน้ำ – ปลายน้ำ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ โครงการป่าต้นน้ำ...ศิลปะ และธรรมชาติ เพื่อชีวิตที่งามอุดม ดำเนินการโดยบางกอกฟอรั่ม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ได้ดำเนินการจัดค่ายเพื่อบ่มเพาะเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 29-31 มกราคม 2557 ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมขึ้นเป็นช่วงที่ 2 ที่ชื่อว่าค่ายติดตามผลและสนับสนุนการผลิตสื่อศิลปะของเยาวชน ตอน : ค่ายบ่มเพาะเยาวชนศิลปะรักสิ่งแวดล้อม ขึ้น ณ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

­

­

­

เป้าหมายเพื่อบ่มเพาะเด็กเยาวชนให้เป็นต้นกล้าศิลปินเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Young Artist Changes) เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ ให้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางสังคม ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนะ โดยเน้นการสร้างจิตสำนึกของเยาวชนที่มีต่อป่าต้นน้ำ โดยใช้กระบวนการศิลปะสู่จิตใจเยาวชน สร้างแรงบันดาลใจผ่านผลงานเพลง ภาพวาดสีน้ำ บทกวี อื่นๆ เพื่อสร้างกระแสความตระหนักร่วมของสังคมในพื้นที่ ถึงการร่วมกันสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นประเด็น “ป่าต้นน้ำ” ที่เริ่มต้นจากเยาวชนหวังผลสู่ชุมชนแบบก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต มีต้นกล้าเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน จาก โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน ด้วยรูปแบบค่าย 3 วัน 2 คืน เป็นการเรียนนอกห้องและรับข้อมูลเชิงวิชาการมานำเสนองานศิลปะสู่สาธารณชน

­

โดยมีผู้ใหญ่ใจดีหลายภาคส่วนทั้งเครือข่ายภาคีในพื้นที่ อาทิ อาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์น่านและบ้านพู่กันศิลป์ ศิลปะสีเขียว และเครือข่ายเพื่อนในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่,ครูสุรนันท์ ลิ้มมณีวิทยา วิทยากร,โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน ,อุทยานแห่งชาติศรีน่าน สนับสนุนพื้นที่ในการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน นอกจากนี้ยังมีผู้ใหญ่ใจดีอีกหลายท่าน อาทิ ดร.วรวรรณ นาคบรรพต นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม บอกเล่าสถานการณ์ป่าต้นน้ำและคุณค่าของป่าต้นน้ำ , อาจารย์สิทธิธรรม โรหิตะสุข วิทยาลัยโพธิวิชชา มศว,อาจารย์ธนวัฏ ปรีชาจารย์ ชมรมอาสาพัฒนา มศว.,พี่หยิน-ฆนรส เติมศักดิ์เจริญ นักกิจกรรมศิลปะชุมชน,อาจารย์นภสร ลิ้มไชยาวัฒน์(ครูแอน) จาก Mini me Studio) ,อาจารย์อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ จากคณะศิลปกรรมฯ ม.ราชภัฏราชนครินทร์,อาจารย์สาธิต รักษาศรี - ศิลปินและนักออกแบบอิสระ,อิสระพงษ์ เตชะแก้ว - นักแสดง อิสระ/พิธีกรและแชมป์ ชัชวัฒน์ แสนเวียง จากทีมงานคนหน้าขาว ทุกคนนำกระบวนการเรียนรู้มาบ่มเพาะเยาวชนในแต่ละด้านทั้งวาดภาพ ดนตรี บทกวี ถ่ายภาพ ละคร เพื่อบ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้ไปสร้างสรรค์ผลงานของตนเองต่อไป

­

เสียงสะท้อนจากค่ายบ่มเพาะเยาวชนศิลปะรักสิ่งแวดล้อม จากเยาวชนผู้เข้าร่วมมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เริ่มจาก 2 หนุ่ม “ทาม” และ “เจมส์” ทั้งคู่เลือกเข้ากลุ่มดนตรี

­

­


“ความฝันของเรา ทำให้เรามีความสุข และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง วันหนึ่งถ้าเราสามารถทำได้อย่างที่เราฝัน ตอนนี้ผมอยากให้พ่อแม่ภูมิใจในตัวผมที่ผมเรียนจบ ม.6 และฝันอยากเป็นทหาร ถ้าสอบเข้าได้พ่อแม่จะได้ภูมิใจครับ”

­


“ทาม-พิชิต อรินทร์” อายุ 18 ปี มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน

­

“ทาม” พิชิต อรินทร์ อายุ 18 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (บ้านอยู่ที่บ้านป่าตองดอนทรายทอง อำเภอปัว) หลังจากเข้าค่ายได้รับประสบการณ์ที่ดีมากจากไม่เคยแต่งเพลง ได้แรงบันดาลใจแต่งเพลง ไม่กล้าแสดงออก ได้แสดงออก “ก่อนหน้านี้ผมเล่นดนตรีแต่ไม่เคยแกะเพลงเองส่วนใหญ่ก็เล่นตามหนังสือเพลง แต่พอเข้าค่ายครูสอนให้ลองแกะเนื้อเพลงเองทำให้เรารู้กลุ่มคอร์ส รู้โครงสร้างของดนตรีได้ชัดเจนขึ้น สำหรับเรื่องการแต่งเพลง ก่อนหน้านี้เคยแต่งเพลงรักทั่วๆ ไป แต่พอมาค่ายนี้ได้ให้แรงบันดาลใจทำให้อยากแต่งเพลงเกี่ยวกับป่า ให้เห็นถึงป่าที่เสื่อมโทรมครับ ที่บ้านผมก็ทำไร่ข้าวโพด (อ.ทุ่งช้าง) ก็รู้ว่ามันไม่ดีทำให้ดินเสื่อมจากข่าวที่เคยฟัง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน แต่พอมาเข้าค่ายและพี่ๆ เขาก็บอกวิธีการสื่อสารให้คนได้รับรู้ถึงปัญหา ใช้ดนตรีเป็นสื่อก็ได้เหมือนกัน ก็เลยอยากลองแต่งเพลงดูครับ ในค่ายนี้ผมได้แต่งกเพลง “จะเกิดอะไร” ร่วมกับเพื่อน ผมแต่งทำนอง “เจมส์” ช่วยแต่งเนื้อร้องให้ คือได้มาทำงานกันด้วยความบังเอิญ คืนที่สองที่มาเข้าค่ายผมก็ฮัมทำนองเพลง เจมส์ ได้ยินก็ลองเอาเนื้อร้องใส่ลงไป พอดีว่าไปด้วยกันได้ครับ เนื้อหาที่อยากจะสื่อให้คนฟังได้คิด ร่วมกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ อยากให้เขาฟังและคิดได้

­

สำหรับการเข้าค่ายครั้งนี้ที่ชอบที่สุดคือกระบวนการละคร เป็นอะไรที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ได้ทำในท่าที่แปลกที่สุดไม่เคยทำขนาดนี้ เมื่อก่อนผมเป็นคนขี้อายไม่กล้าแสดงออก พอเห็นเพื่อนเขาทำกันก็เลยคิดว่าเราจะอายไปทำไม ก็เลยทำได้ครับ และดนตรีทำให้ผมได้แสดงความสามารถของตัวเอง หลังจากนี้ผมอยากใช้ความสามารถด้านดนตรีที่เราถนัดและอัดเป็นเพลงสื่อออกไปทางเฟสบุ๊คหรือไม่ก็ยูทูปครับ สุดท้ายผมอยากให้คนปลูกป่ากันเยอะๆ และไม่ทิ้งขยะลงไปในน้ำด้วยครับ และฝากถึงเพื่อนๆในค่ายและค่ายนี้ที่ทำให้ผมได้มาแต่เพลงทำสิ่งที่ผมสนใจออกมาได้สำเร็จครับ”

­

“เจมส์” จตุพร ดีบาง อายุ 16 ปี สะท้อนความรู้สึกว่าได้ “สมาธิ” จากค่ายนี้ไปใช้ “ผมก็ชอบเล่นดนตรีครับ แต่ที่เข้าค่ายนี้และชอบที่สุดคือกระบวนการละคร เพราะว่ามันสนุกดี ได้ทำอะไรเยอะแยะที่ไม่เคยทำมาก่อนทำให้คุ้นเคยกับเพื่อนๆ เพื่อนที่ไม่เคยคุยก็ได้คุยกัน เมื่อก่อนไม่กล้าแสดงออก ก็ทำให้กล้ามากขึ้น การแสดงต้องใช้สมาธิทำให้เราได้ฝึกสมาธิไปในตัว ก็จะเอาไปใช้กับตัวเองต่อไป ความฝันผมอยากทำงานด้านศิลปะ แต่งเพลง แล้วสื่อออกไปให้คนภายนอกได้เห็นปัญหาของป่าที่ถูกทำลายไป อยากจะฝากถึงทุกคนให้ช่วยกันรักษาป่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

กลุ่มงานศิลปะ “น.ส.พัฒนา แซ่วาง” หรือพัฒน์ อายุ 17 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (บ้านอยู่ที่บ้านน้ำตวง อ.แม่จริม) สะท้อนความรูสึกว่า “การเข้าค่ายครั้งนี้ชอบทุกช่วงที่พี่ๆ ได้มาให้ความรู้ เช่น ช่วงบทกวีที่พี่วิทยากรบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมีสัมผัสก็แต่งกลอนได้ ทำให้เรากล้าที่จะแต่งกลอนมากขึ้น แต่ที่ชอบที่สุดช่วงการเรียน ทัศนศิลป์กับพี่โจ (อาจารย์อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ) ที่ให้วาดรูปอยู่กับตัวเอง (กระบวนการวาดภาพที่ไม่ต้องมองกระดาษนึกภาพที่ต้องการวาดนั้นๆแล้วลากเส้นไปจนกว่าจะพึงพอใจ) ทำให้เราได้ฝึกสมาธิ รู้สึกไม่มีอะไรมาวุ่นวาย อยากให้มีค่ายนี้ต่อเนื่องไป เพราะเหมือนเป็นห้องเรียนกว้างๆ ที่ปกติต้องเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ทำให้ไม่ค่อยสนใจเรียนเพราะรู้สึกเบื่อ แต่พอมาเรียนอย่างนี้ได้ลงพื้นที่ ได้ฝึกปฏิบัติ ได้เรียนทฤษฏี ทำให้ชอบเรียนมาก เพราะมีชีวิตชีวา และสิ่งที่ได้จากค่ายคือการวาดรูปที่พี่สอนคือพี่เขาบอกว่าไม่ภาพไม่จำเป็นต้องเหมือนจริงเพราะภาพนั้นสื่อความหมายด้วยตัวมันเอง ตอนแรกก็คิดว่าทำไมภาพฉันไม่สวยพอเข้าค่ายแล้วเปลี่ยนความรูสึกว่าเราก็วาดภาพสวยนี่น่าอยู่ที่คุณค่าของภาพ ทำให้เปลี่ยนมุมมองเรื่องความคิดไปเลยค่ะ

­

สิ่งที่ได้จากค่ายและคิดว่าจะนำไปถ่ายทอดให้คนรู้ว่าป่าของน่านเป็นอย่างไร ก็คือการวาดภาพที่จะสื่อภาพป่าให้คนทั่วไปได้เห็น ถ้าแห้งแล้งก็วาดแห้งแล้ง อุดมสมบูรณ์ก็วาดอุดมสมบูรณ์ ก็อยากจะสื่อออกไปให้คนได้รับรู้ทางภาพวาด ครูโจ(อาจารย์อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ) เป็นแรงผลักดันเป็นแรงบันดาลใจเรื่องงานศิลปะว่าไม่จำเป็นต้องสวยแต่มีสิ่งมีคุณค่าอยู่ในภาพวาด ครูภูมิ (อาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ) เป็นแรงผลักดันให้คิดถึงเรื่องป่าถูกทำลาย ครูแอน (อาจารย์นภสร ลิ้มไชยาวัฒน์) สอนเรื่องการสร้างความเป็นมิตร มีภาพถ่ายที่ลงพื้นที่จริงมาให้ดูหนูก็เลยคิดว่าหนูน่าจะทำได้ อยากทำแบบครูแอน ถ่ายทอดเรื่องราวที่บ้านเกิดออกไป แต่หนูไม่มีอินเตอร์เนต และไม่มีกล้อง”

­

น.ส.ไหม แซ่ม้า อายุ 16 ปี มัธยมศึกษาปีที่ 3 (บ้านอยู่ที่ บ้านสวนทราย ตำบอลป่ากลาง อำเภอปัว) เลือกอยู่กลุ่มงานศิลปะ สะท้อนจากการเข้าค่ายว่า “หนูเข้าค่ายมาได้ความรู้ปัญหาเรื่องการปลูกข้าวโพดค่ะ ที่บ้านหนู แม่หนูก็เป็นชาวไร่ ชาวนา แม่ใช้สารเคมีเยอะ พอหนูรู้ว่าการใช้สารเคมีทำให้เกิดโทษหนูก็ไปบอกแม่ แม่ก็บอกว่าจะทำให้อย่างไง เพราะถ้าไม่ปลูกข้าวโพดก็ไม่มีอะไรกิน หนูก็สงสารแม่เพราะแม่ใช้สารเคมีแล้วแม่ก็เวียนหัว ทำไม่ไหว หนูก็ไปบอกให้ปลูกพืชแบบเศรษฐกิจพอเพียง แม่ก็ไม่ทำนะคะ ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรดีแค่ไปบอกให้แม่รู้ข้อมูลได้อย่างเดียว หนูอยากฝากว่าให้ช่วยกันรักษาต้นไม้ธรรมชาติ เพราะปัจจุบันนี้หายไปเรื่อยๆ อยากให้คนปลูกข้าวโพดหันมาปลูกพืชที่มีประโยชน์สามารถกินได้ เพราะหนูว่าข้าวโพดไม่มีราคาอะไรเลย แม่หนูทำขาดทุนทุกปี ไม่เหมือนเมื่อก่อน ปลูกผลไม้น่าจะดีกว่าเยอะ แม่ก็บอกหนูว่ายจะทำเป็นปีสุดท้ายและหันมาปลูกข้าวแทน หนูก็ดีใจค่ะ

การเข้าค่ายนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้มีชีวิตและอนาคตต่อไปค่ะ สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ไปสอนน้องๆ และบอกพี่ป้าน้าอา หนูว่าพูดคงไม่เข้าใจหนูจะใช้การวาดภาพสื่อดีกว่าค่ะ ชอบที่อาจารย์โจ (อาจารย์อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ) สอนได้ดีมากค่ะ บอกว่าให้กล้าที่จะลงมือทำ เมื่อก่อนไม่กล้ากลัววาดแล้วผิด ช่วยให้เรากล้าทำมากขึ้นแล้วทำให้วาดออกมาได้ดีค่ะ และที่ชอบอีกหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมละครที่พี่หนุ่ม (อิสระพงษ์ เตชะแก้ว) ได้สอนเรื่องการเดิน จะเอาไปใช้กับการเดินของเรา เรื่องบทกวี ที่ครูบอกว่าไม่ต้องแต่ให้คล้องจองกันก็ได้ทำให้กล้าแต่งค่ะ ครูแอน ที่สอนเรื่องการถ่ายภาพกับหนังสั้น มีอธิบายแบบละเอียดทำให้อยากไปลองทำดูบ้าง”

­

เด็กชายอนุรุจณ์ ขัดศิริ หรือ บอส อายุ 13 ปี หนุ่มอายุน้อยที่มีความน่าสนใจตรงภาพวาดบนผืนผ้าใบ บอส สะท้อนว่า “ผมชอบวาดภาพมากเลยครับ วาดแล้วมีความสุข ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ มาเข้าค่ายครูบอกว่าถ้าอยากเป็นศิลปินต้องวาดภาพและร้องเพลงได้ทำให้ผมอยากทำแบบนั้นบ้าง ตอนนี้ก็พยายามฝึกอยู่ ได้พี่ ทาม (พิชิต อรินทร์) ค่อยช่วยแนะนำครับ การทำงานกับพี่ๆคนโตๆก็ไม่มีปัญหาเขาก็ให้ผมวาดรูปด้วยหรือออกความคิดเห็นด้วย มาอยู่ค่ายครูก็สอนให้กล้าวาดรูปไม่ต้องกลัวผิดทำให้ผมกล้าวาดรูปมากขึ้นครับ” เราได้เห็นฝีแปรงของ “บอส” ที่ใช้สีดำทาทับภาพที่ไม่ต้องการอย่างไม่เสียดายเลยสักนิด นี่แหละอนาคตของน่านที่น่าสนับสนุน

­

­


นางสาวจิราพร อัศวนันทกร หรือ ออม อายุ 18 ปี มัธยมศึกาปีที่ 6 (บ้านอยู่ที่บ้านยอด อำเภอสองแคว) เลือกเข้ากลุ่มวรรณกรรม ที่มีคนสนใจน้อยมาก “หนูชอบพรรณาค่ะ ไปที่ไหนก็คิดพรรณาความคิดของเรา เวลาคิดแล้วมีความสุขดี ทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริง ครั้งแรกที่มาเข้าค่ายไม่รู้ว่าป่ามีคุณค่าขนาดนี้ หนูเห็นใบไม้มันหล่นก็คิดว่าธรรมดา แต่พอมาเข้าค่าย ครูบอกว่าต้นไม้เปรียบเสมือนแขนขา ไม่รู้ว่าทำไมอยู่ๆ หนูก็รู้สึกรักต้นไม้มาก การเข้าค่ายทำให้รู้ว่ากวีไม่ต้องมีสัมผัสก็ได้ค่ะ ทำให้หนูสบายใจเวลาเขียน และคิดว่าจะสามารถนำวรรณกรรมไปสื่อเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ อันดับแรกเราต้องให้ความรู้พวกเขาก่อน และให้อ่านบทกวีก ให้เขามีความรู้สึกตามมาก่อนค่ะ”

­

­


อาจารย์สิทธิธรรม โรหิตะสุข หรือ พี่บลูด้า จากวิทยาลัยโพธิวิชชา มศว ถือว่าเป็นพี่เลี้ยงใจดีของค่ายนี้ที่มาจัดกระบวนให้น้องๆ ได้สะท้อนถึงน้องๆ ที่ค่ายนี้ว่า “น้องๆ ให้ความร่วมมือดีมาก สนุกมาเลยครับบรรยากาศของค่ายดี ต่อจากนี้เด็กๆ จะเป็นคนเลือกงานของตัวเอง เราจะเดินไปด้วยกัน ค่ายน้ำมีความหลากหลายมีพื้นที่ให้เด็กได้พูดได้ระบาย ที่เลือกทำกระบวนการพยายามเลือกนำความรู้และให้เห็นภาพชัดเจนเพื่อที่จะไปสร้างแรงผลักดันให้เด็กๆ การบ่มเพาะครั้งนี้เราก็เหมือนเอาอาหารมาให้เขาชิมหลายๆ อย่างว่าเขาจะเลือกอะไร เป็นแค่สร้างแรงบันดาลใจแต่ยังไม่ถึงกับทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงอะไรมากหรอกครับ”

­

­

­

อิสระพงษ์ เตชะแก้ว หรือ หนุ่ม - นักแสดง อิสระ ที่มาร่วมจัดกระบวนการละครให้กับน้องๆ เยาวชนในครั้งนี้ ได้สะท้อนความรู้สึกไว้อย่างน่าฟังว่า “ ค่ายนี้ทำให้ผมได้ก้าวข้ามตัวเอง ก่อนหน้านี้กดดันมากเพราะมีเวลาแค่ 3 ชั่วโมงในการสอน แต่หลักสูตรผมใช้เวลา 3 วันทำให้เครียดมาก”

กระบวนการสอนจาก 3 วัน เหลือ 3 ชั่วโมง “หนุ่ม” ตัดทอนขั้นตอนจาก 7 ช่วง เหลือเพียง 5 ช่วงในแต่ละช่วงย่นเวลาจากการสอนในอดีต แต่ได้ผลลัทธ์ที่ “หนุ่ม” พึงพอใจกับ “การขอกอด”ของเด็กๆ ที่จบหลักสูตรในค่ำคืนที่สองนั่นเอง

­

“การสอนของผมจะสอนแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเรื่องคุณสมบัติของการเป็นนักแสดง อาวุธของนักแสดงมี 5 อย่าง 1.สมาธิ ใช้การมองกระจก/การมองตา 2.การใช้ร่างกาย เป็นตัวละคร ใช้จังหวะเดิน วิ่ง เร็ว ช้า 3.จินตนาการ ใช้การสัมผัสสิ่งของก่อนและสร้างจินตนาการจากไม่มีสิ่งของนั้นๆ ทำให้เสมือนจริง 4. ความเชื่อ ใช้ลูกบอลสร้างความเชื่อเดี่ยวและกลุ่ม 5 ประสาทสัมผัสทั้ง 5 แตะเนื้อตัวเอง ช่วงที่ 2 วัตถุประสงค์เพื่อการสร้างละครอย่างง่าย 1.รู้จักร่างกาย ให้เด็กๆ รวมกลุ่มกันและสร้างภาพเหล่านี้อาทิ ดอกไม้,ช้าง,อนุสาวรีย์แห่งความรัก เพื่อให้พวกเขามีความเชื่อ ได้สัมผัสซึ่งกันและกัน ลดความเขินอาย 2.ทำทีละภาพ สร้างภาพตามลำดับ จุดเริ่มต้น/ภาพเหตุการณ์ไม่คาดฝัน/จุดจบของเรื่อง” การสอนทั้ง 3 ชั่วโมงนี้ เด็กๆ สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้คือได้อาวุธของนักแสดง การสร้างเรื่อง คาแร็คเตอร์ ความต้องการของตัวละคร แต่ยังขาด อินเนอร์ และการใช้เสียง เพราะเวลาไม่พอ

“ผมคิดว่าน้องๆ เขาไปได้แล้วนะครับกับละคร แต่ต้องมีคนช่วยผลักดัน ต้องให้พวกเขาได้มีเวทีที่แสดง จะเห็นผลจากฟีคแบคจากผู้ชม ละครทำให้เด็กกล้าเปิดตัวเองมากขึ้น มีบางคนเดินมาบอกหนูเพิ่งรู้ว่าละครทำให้หนูรู้จักตัวเองมากขึ้น การแสดงเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กมีที่ยืน ผมเซอร์ไพร์สนะ 3 ชั่วโมงเกิดผลอย่างนี้ เพราะ 3 ชั่วโมงนี้เวลาน้อยมันเหนื่อยไปและอัดไป แต่สิ่งที่เด็กๆสะท้อนทำให้รู้ว่าพวกเขาต้องการละคร ละครสื่อเข้าถึงเด็กได้ง่าย ละครคือตัวตนของคน ถ่ายทอดง่ายเป็นศาสตร์ในตัวเรา”

ค่ายบ่มเพาะเยาวชนศิลปะรักสิ่งแวดล้อม คือค่ายที่สร้างความเป็นตัวตนให้กับเยาวชนเมืองน่านต้นกล้าเหล่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะจนเติบใหญ่เป็นกำลังให้กับท้องถิ่นของตนเองเพื่อจะปกป้องธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไป

­