ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๕๗

ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๕๗

ข้อที่ ๑ ธรรมนูญฉบับนี้ เรียกว่า “ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๕๗”

ข้อที่ ๒ ธรรมนูญฉบับนี้ให้มีผลให้ใช้ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันประกาศนี้ เป็นต้นไป

ข้อที่ ๓ ธรรมนูญฉบับนี้ มีผลให้ใช้กับพลเมืองเยาวชนสงขลา และกลุ่ม องค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมภายในพื้นที่หาดสมิหลา

­

นิยามศัพท์

ข้อที่ ๔ ในธรรมนูญนี้

“หาดสมิหลา” หมายถึง หาดทรายภายในเขตเทศบาลนครสงขลา จากหาดบริเวณแหลมสนอ่อน หาดสมิหลา โขดหินสมิหลา ถึงหาดเก้าเส้ง

“ระบบนิเวศหาดสมิหลา” หมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยริมหาดสมิหลา รวมถึงวิถีชีวิตของคนที่ผูกพัน สิ่งมีชีวิตที่อิงอาศัยกับท้องทะเล หาดทราย และป่าสนเมืองสงขลา

“วิถีชีวิตคนสงขลา” คือ การดำเนินชีวิตของคนสงขลาที่เต็มไปด้วยความสุข ความอบอุ่น ภายใต้ความหลากหลายของวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของเมืองสงขลา

“คุกคาม แทรกแซง” หมายถึง การกระทำของมนุษย์ที่ไม่ควรกระทำต่อหาดสมิหลา โดยการใช้โครงสร้างต่างๆ หรือการรุกล้ำพื้นที่หาดทราย ที่เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน์หาดทรายและสมดุลชายฝั่งทะเล

“พลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง เยาวชนที่มีอายุระหว่าง ๑๔ – ๒๔ ปี อาศัยและศึกษาอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา มีจิตสำนึกในการเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

“การมีส่วนร่วม” หมายถึง การแสดงออกถึงการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำเสนอ และร่วมรับผิดชอบในกิจกรรมต่างๆ เพื่อการปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟู และอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่าง สอดคล้องตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“วิสัยทัศน์” หมายถึง การมองภาพอนาคตหาดสมิหลาของพลเมืองเยาวชนสงขลา และร่วมกันกำหนดจุดหมายที่ต้องการไปด้วยกัน ให้ชัดเจน และมีความเป็นไปได้

“พันธกิจ” หมายถึง งาน ภารกิจ หรือหน้าที่ที่มีผลผูกพันธ์กับพลเมืองเยาวชนสงขลาในการร่วมกันอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

“ยุทธศาสตร์” หมายถึง การกำหนดทิศทางในการอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืนในปัจจุบันและอนาคต

“ภาคีเครือข่าย” หมายถึง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กร กลุ่ม หรืออาสาสมัคร ที่ร่วมกันอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

“สิทธิพลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง สิทธิของเยาวชนสงขลาที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาหาดสมิหลา และป่าสนเมืองสงขลา เพื่อให้มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี

“หน้าที่พลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง เยาวชนสงขลามีหน้าที่อนุรักษ์หาดสมิหลา และป่าสนเมืองสงขลา

“สภาพลเมืองเยาวชนสงขลา” หมายถึง การรวมกลุ่มพลเมืองเยาวชนที่มีอุดมการณ์ แนวคิด ความมุ่งมั่น ในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืนตามธรรมนูญฉบับนี้

“การเข้าถึงข้อมูล” หมายถึง การที่พลเมืองเยาวชนสงขลาหรือบุคคลทั่วไปสามารถรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหาดสมิหลา จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้

“เขตพื้นที่อนุรักษ์” หมายถึง อาณาบริเวณของหาดสมิหลาที่พลเมืองเยาวชนสงขลาร่วมกันกำหนด มิให้รุกล้ำ คุกคาม แทรกแซง ทำลาย หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

“การเฝ้าระวัง” หมายถึง การสอดส่อง ดูแล ติดตาม และประเมินสถานการณ์ของหาดสมิหลา มิให้ผู้ใดกระทำการรุกล้ำ คุกคาม แทรกแซง ทำลาย หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

­

หมวดที่ ๑

ปรัชญาแนวคิดของธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๕ เยาวชนสงขลาทุกคนที่มีจิตสำนึก รัก เห็นคุณค่าและหวงแหนหาดสมิหลา ได้ใช้สิทธิและหน้าที่ที่มีในการเรียนรู้และมีส่วมร่วมอย่างเท่าเทียมในการร่วมกันบำรุงรักษาหาดสมิหลา เพื่อมิให้ถูกคุกคาม แทรกแซง ทำลายหรือให้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และเพื่อธำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความสุขตามวิถีชีวิตคนสงขลา โดยอาศัยสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้มีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล เพื่ออนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติของคนสงขลาที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษให้คงอยู่คู่เมืองสงขลา หาดสมิหลาต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุขและเป็นมรดกทางธรรมชาติของคนสงขลาทุกคนที่ยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

­

หมวดที่ ๒

สภาพลเมืองเยาวชนสงขลา

ข้อที่ ๖ สมาชิกสภาพลเมืองเยาวชนสงขลาตามธรรมนูญฉบับนี้ ให้มีองค์ประกอบดังนี้

๖.๑. ตัวแทนแกนนำเยาวชนจากสถาบันการศึกษาที่ร่วมกันจัดทำธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา, โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา, โรงเรียนแจ้งวิทยา, โรงเรียนวชิรานุกุล, โรงเรียนเทศบาล ๕ (วัดหัวป้อมนอก), มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสงขลา เขต ๙ สถาบันละ ๓-๕ คน โดยมีคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาพลเมืองเยาวชนตามธรรมนูญฉบับนี้

๖.๒. ที่ปรึกษาสภาพลเมืองเยาวชน ได้แก่ ผู้แทนเทศบาลนครสงขลา ๒ คน ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม ๒ คน นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ๒ คน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ๒ คน

ข้อที่ ๗ สภาพลเมืองเยาวชนมี สิทธิ อำนาจ และบทบาทหน้าที่ ดังนี้

๗.๑ ให้สภาพลเมืองเยาวชนเป็นกลไกประสานงานและดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เป็นการขับเคลื่อนธรรมนูญฉบับนี้

๗.๒ ออกระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ เพื่อกำกับดูแล และบริหารจัดการสภาพลเมืองเยาวชน

๗.๓ การบริหารจัดการสภาพลเมืองเยาวชนสงขลา ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภาพลเมืองเยาวชนสงขลา

๗.๔ มีอำนาจปรับปรุงแก้ไขธรรมนูญฉบับนี้ ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ ๕ ของธรรมนูญฉบับนี้

๗.๕. ระดมทุนหรือจัดหางบประมาณสนับสนุน จากองค์กร หน่วยงานภาครัฐ เอกชนองค์ภาคประชาสังคม หรืออื่นๆตามความเหมาะสม เพื่อใช้ในการดำเนินงานภายใต้ธรรมนูญฉบับนี้

ข้อที่ ๘ สมาชิกสภาพลเมืองเยาวชนต้องมีคุณลักษณะไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองเยาวชนที่มีต่อหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาตามหมวด ๓ ของธรรมนูญฉบับนี้

­

หมวดที่ ๓

หน้าที่พลเมืองเยาวชนสงขลาที่มีต่อหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๙ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องเห็นคุณค่า หวงแหน และตระหนักถึงความสำคัญของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๐ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องตื่นตัว มุ่งมั่น และอดทนที่จะมีส่วนร่วมเพื่อแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๑๑ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องร่วมกันศึกษา วิจัย และจัดทำฐานข้อมูลระบบนิเวศน์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๒ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องมีความรู้ ความเข้าใจและสนใจในกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์ของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๓ พลเมืองเยาวชนสงขลาต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการคุกคาม แทรกแซง ทำลายหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๔ พลเมืองเยาวชนสงขลามีหน้าที่ในการแบ่งเขตความรับผิดชอบเพื่อดูแลรักษาทัศนียภาพ ฟื้นฟู ปกป้อง และอนุรักษ์เขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา เช่น การรักษาความสะอาด ควบคุมสิ่งปฏิกูล เพิ่มพื้นที่ป่า ฯลฯ เป็นต้น

­

หมวดที่ ๔

สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อดำรงชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ข้อที่ ๑๕ สิทธิในการมีส่วนร่วมกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๑๕.๑ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันกำหนดและดูแลเขตพื้นที่อนุรักษ์ของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๕.๒ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิร่วมกับรัฐและชุมชนในการยื่นข้อเสนออันเกี่ยวข้องกับระเบียบ ข้อบังคับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้บังคับหรือดำเนินการกับเขตพื้นที่อนุรักษ์สมิหลาและป่าสนในเขตเทศบาลนครสงขลา รวมถึงการประสานและติดตามให้หน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการออกประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนในเขตเทศบาลนครสงขลา และประกาศที่ว่าด้วยระเบียบและข้อบังคับอันเกี่ยวเนื่องกับเขตอนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนในเขตเทศบาลนครสงขลา

ข้อที่ ๑๕.๓ พลเมืองเยาวชนมีสิทธิร่วมกับรัฐและชุมชนในการยื่นข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาประกาศและข้อบังคับต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับเขตพื้นที่อนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖ สิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖.๑ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ รวมถึงร่วมกันดำเนินการเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖.๒ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันแบ่งเขตความรับผิดชอบเพื่อดูแลรักษาทัศนียภาพ ฟื้นฟู ปกป้อง และอนุรักษ์เขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา เช่น การรักษาความสะอาด ควบคุมสิ่งปฏิกูล เพิ่มพื้นที่ป่า ฯลฯ เป็นต้น

ข้อที่ ๑๖.๓ พลเมืองเยาวชนมีสิทธิในการร่วมกันแสดงออกหรือดำเนินการเฝ้าระวัง ยับยั้ง การกระทำใดๆอันเป็นการคุกคาม แทรกแซง ทำลายระบบนิเวศน์ของหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา เช่น เฝ้าระวังการแทรกแซงระบบนิเวศหาดสมิหลาจากโครงสร้างต่างๆที่จะส่งผลเชิงลบต่อระบบนิเวศน์หาดสมิหลาทุกรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น

ข้อที่ ๑๖.๔ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันจัดตั้งชมรม จัดตั้งกลุ่มองค์กร เครือข่ายอาสาสมัคร เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามและฟื้นฟูอนุรักษ์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๑๖.๕ พลเมืองเยาวชนสงขลาสิทธิในการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดำเนินการต่างๆเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศหาดสมิหลาให้สอดคล้องกับหลักวิชาการ เช่น การเติมทราย การรื้อถอนโครงสร้างแข็ง เป็นต้น

ข้อที่ ๑๗ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับบริการข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาจากหน่วยงานของรัฐ

ข้อที่ ๑๘ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันกับภาคีเครือข่ายพลเมืองเยาวชน หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนในการจัดตั้งศูนย์กลางเพื่อการสร้างสื่อ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูอนุรักษ์ระบบนิเวศน์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาสู่สาธารณะ

ข้อที่ ๑๙ พลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิในการร่วมกันจัดกิจกรรมหรือกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทัศนคติ หรือข้อเสนอแนะ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ปลูกจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศ หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลาอย่างยั่งยืน

ข้อที่ ๒๐ พลเมืองเยาวชนมีสิทธิในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์และกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน ในกรณีที่มีการพบเห็นการกระทำใดๆ อันเป็นการละเมิดบทบัญญัติของกฎหมายหรือการกระทำอันเป็นการทุจริตคอรัปชั่น ในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับหาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา

ข้อที่ ๒๑ พลเมืองเยาวชนสงขลาย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อน การอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์หาดสมิหลาและป่าสนเมืองสงขลา และพลเมืองเยาวชนสงขลามีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

­

หมวดที่ ๕

การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญเยาวชนปกป้องหาดสมิหลา

ข้อที่ ๒๒ การแก้ไขธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๗ ให้กระทำโดยขั้นตอนเดียวกันกับกระบวนการจัดทำธรรมนูญ หรือ กระทำโดยผ่านสภาพลเมืองเยาวชน ที่จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญฉบับนี้ โดยต้องเสนอหลักการและเหตุผลประกอบที่ชัดเจน และแจ้งวาระดังกล่าวแก่สาธารณะก่อนจัดกระบวนการแก้ไขธรรมนูญเยาวชนปกป้องหาดสมิหลาฉบับนี้ ไม่น้อยกว่า ๔๐ วัน มติการแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีผู้เห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม