พลังเยาวชนน่าสนใจ “ธรรมนูญเด็ก” เรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องคิด

­

­

การเมืองไทยเข้าสู่โหมดเดินหน้า โดยมีเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยต้องจับตา ซึ่งก็ต้องติดตามรอดูกันต่อไปว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะแบบไหน? อย่างไรบ้าง? ทั้งนี้และทั้งนั้น จากกรณีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ดำเนินการ เมื่อลองหันไปดูที่เด็กและเยาวชน ว่าด้วยเรื่องของ “กระบวนการ” ทำนองเดียวกัน ก็มี “กรณีศึกษา” น่าสนใจในพื้นที่ จ.สงขลา มี “กลุ่มเด็กและเยาวชน” คิดดี-ทำดี ร่วมกันผลักดันเรื่องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจนนำไปสู่การจัดทำธรรมนูญเด็ก ’ธรรมนูญฉบับเยาวชน“ ขึ้น เกิดเป็นกระแสอนุรักษ์ในพื้นที่ และมีผลให้ “ผู้ใหญ่” ต้องสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น

­

“ธรรมนูญเด็ก” นี้ว่าด้วยเรื่องหาดสมิหลา

­

เกิดจาก ’พลังของเยาวชน“ ที่น่าพิจารณา

­

ก็มีมุมที่น่าสนใจ...ไม่แพ้ ’ธรรมนูญผู้ใหญ่“

­

เกี่ยวกับ “ธรรมนูญเด็ก-ธรรมนูญหาด” นี้ ทาง อภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนของกลุ่ม Beach for life ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนผลักดันเรื่องดังกล่าว แจกแจงว่า... ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเนื่องจากเกิดความสนใจเกี่ยวกับปัญหา “การพังทลายของหาดสมิหลา” จึงต้องการค้นหาสาเหตุที่ทำให้หาดสมิหลาเกิดปัญหา และตอบคำถามว่า...ทำไม? ผู้ใหญ่ถึงไม่ค่อยมีใครสนใจต่อการพังทลายของชายหาดสมิหลา ทั้งที่เป็น “สถานที่สำคัญ” ของเมืองสงขลา จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวขึ้นมา โดยกระบวนการตั้งต้น ก่อนนำสู่การจัดทำธรรมนูญหาดนั้น อภิศักดิ์ ระบุว่า... ช่วงปีแรกทางกลุ่มพยายาม “เติมความรู้” ด้วยการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพังทลายของหาด จนสมาชิกในกลุ่มมีความรู้มากขึ้น จากนั้นจึงนำความรู้มาถ่ายทอดแก่นักเรียน-นักศึกษาที่มีสถานศึกษาใกล้กับหาดสมิหลา จนในปี 2555 การทำงานเริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อกลุ่มเข้าร่วม โครงการพลังพลเมืองสงขลา ทำให้กระบวนการความคิด-การทำงานมีความเป็นระบบมากขึ้น จนนำไปสู่การตัดสินใจจัดทำ “ธรรมนูญฉบับเยาวชน” ที่มีเป้าหมายเพื่อ ’ปลุกจิตสำนึกพลเมืองเยาวชน“ ให้ลุกขึ้นร่วมแก้ปัญหา ร่วมกันดูแล และปกป้องชายหาดสำคัญ

­

นี่คือที่มาของ “ธรรมนูญหาด” ฉบับเยาวชนที่เกิดจากเด็กเห็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยสน

­

เมื่อกำหนดทิศทางได้แล้ว กระบวนการต่อมาก่อนที่จะ “ยกร่างธรรมนูญ” คือการจัด “เวทีสาธารณะ” เพื่อรวบรวม “ข้อคิดเห็น” จากเยาวชนในพื้นที่ ผ่านทาง 9 เครือข่ายที่ทำงานร่วมกันในเรื่องนี้มาโดยตลอด ใช้ระยะเวลาหลายเดือน จนรวบรวมข้อคิดเห็นได้มากเกือบ 24,000 ความเห็น...โดยแต่ละเวทีทางกลุ่มได้เปิดโอกาสให้เจ้าของเวทีแต่ละแห่งสามารถ “กำหนดหัวข้อ-ประเด็น-วาระ” ได้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการเปิดกว้างทางความคิด และสร้างความรู้สึกร่วมกันว่า...ธรรมนูญหาดฉบับเยาวชนนี้ มีทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน

­

“ให้สิทธิ-เสรีภาพ” ทุกสิทธิ-ทุกเสียงเต็มที่

­

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวยังไม่จบ เพราะทางกลุ่มและเครือข่ายจะต้องนำ “ข้อคิดเห็น” จำนวนมากมายที่รวบรวมมาได้นั้น มาทำการ “ถอดบทเรียน” เพื่อนำไปสู่ “การหาข้อสรุป” สำหรับใช้ในการกำหนดทิศทางของธรรมนูญกันต่ออีก โดยขั้นตอนนี้ ทาง อลิสา บินดุส๊ะ แกนนำอีกคนของกลุ่ม กล่าวว่า...เยาวชนในกลุ่มต้องเดินทางไป “ขอคำปรึกษา” จากนักวิชาการหลากหลายสาขา ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน อัยการ เพื่อช่วยตรวจสอบ ขัดเกลาเรื่องการใช้ภาษาที่จะบรรจุไว้ในธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นจนเริ่มเข้าสู่กระบวนการเขียนธรรมนูญก็กินระยะเวลาอีกไม่น้อย โดยเบ็ดเสร็จตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการกินเวลากว่า 2 ปี...กว่าจะออกมาเป็นธรรมนูญดังกล่าว

­

อาจไม่รวดเร็วฉับไว...แต่หลักการน่าสนใจ

­

’ภาษาที่ใช้ต้องเข้าใจง่าย กระชับ อ่านแล้วไม่ต้องตีความให้วุ่นวาย เพราะหากต่างคนต่างเข้าใจ ย่อมอาจทำให้เกิดปัญหาจากความที่ไม่เข้าใจนั้นได้“...อลิสา ระบุถึง “เบื้องหลัง” ในการร่างธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างน่าคิด...

­

ทั้งนี้ ธรรมนูญดังกล่าวมีชื่อเต็มว่า...ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2557 โดยภายในธรรมนูญนี้ ประกอบไปด้วย “22 ข้อบัญญัติ” และมีการแบ่งหมวดหมู่ต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด 5 หมวด ซึ่งที่น่าสนใจ และถือเป็น “ข้อบัญญัติ” ที่สะท้อน “อนาคตพลเมืองเยาวชนสงขลา” ไว้นั้น อยู่ในข้อที่ 3 ที่ระบุไว้ว่า...“ธรรมนูญฉบับนี้ ให้มีผลใช้กับพลเมืองเยาวชนสงขลา และกลุ่ม องค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมภายในพื้นที่หาดสมิหลา”

­

’ธรรมนูญนี้จะกำหนดอนาคตพลเมืองเยาวชนสงขลา รวมถึงอนาคตหาดสมิหลาของทุกคนด้วย“...อภิศักดิ์ แกนนำกลุ่มเยาวชน ระบุถึง “หัวใจ” ในธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญ ’ธรรมนูญหาด“ นี้ได้มี “ผู้ใหญ่” อย่างเทศบาลนครสงขลา ให้ความสนใจและให้ความสำคัญในฐานะที่เยาวชนเหล่านี้คือ “พลเมือง” ของพื้นที่ โดยจะมีการนำรายละเอียดจากธรรมนูญดังกล่าวเข้าหารือกับหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อนำเข้าสู่การนำมาประกาศใช้ เป็นระเบียบ-ข้อกำหนดต่อไปในอนาคต...ซึ่งนี่ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าคิด ที่เยาวชนมี “จิตสำนึกพลเมือง” เข้มแข็ง ในขณะที่อีกหลาย ๆ พื้นที่อาจกำลังขาดหายเรื่องนี้

­

“ธรรมนูญเด็ก” จาก “พลเมืองวัยเยาว์”

­

ไม่ง่ายกว่าจะสำเร็จ กระนั้นก็ ’น่าคิด“

­

อาจชวนให้คิดถึง ’ธรรมนูญผู้ใหญ่??“

­

­

อ่านข่าวออนไลน์ : พลังเยาวชนน่าสนใจ “ธรรมนูญเด็ก” เรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องคิด