เปิดพื้นที่คนทำงานเยาวชน สร้าง Active Citizen

­

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเวทีรายงานผลดำเนินงานต่อคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการ พัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมือง เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อให้องค์กรพัฒนาเยาวชนทั้ง 4 แห่งได้มีการรายงานผลการดำเนินงานระยะแรกของโครงการต่อคณะกรรมการกำกับทิศทาง และรับฟ้งข้อเสนอแนะต่อการวางแผนดำเนินงานในระยะต่อไปเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนเรื่องรูปแบบการพัฒนาเยาวชน active citizen ในระดับจังหวัด ขององค์กรทั้ง 4 แห่งได้แก่ 1. เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม: โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก 2. เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ศรีสะเกษ: โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ 3. เจ้าหน้าที่มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ): โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่าย 4.เจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่ม: โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 9.00 – 14.00 น.ณ ห้อง Victory Room โรงแรม VIC 3 Bangkok สนามเป้า

ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล รศ.ดร.วิลาสินี อดลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสสส. คุณนงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษากิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล คุณชญานี ชาติปฏิมาพงษ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คุณเมธ์วดี เลิศผดุงธรรม และคุณพิชญา รัตนพล รักษาการผู้จัดการมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

­

­

­

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวเปิดเวทีครั้งนี้ “...มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นเพื่อนของคนที่ทำงานทางด้านการพัฒนาเยาวชนซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ โดยใช้วิธีคิด วิธีทำงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อเนื่อง และให้องค์กรภาคีร่วมเป็นตัวของตัวเอง โครงการนี้เน้นท้องถิ่นเพราะที่ผ่านมาการเน้นที่ส่วนกลางมากเกินไปจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี ทำให้ท้องถิ่นไม่แข็งแรง แนวโน้ม 20-30 ปีที่ผ่านมาเยาวชนอยู่ในฐานะลำบากเยาวชนถูกกระทำมองว่าเยาวชนจะพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพได้สูงกว่านี้และมีชีวิตที่ดีกว่านี้อีกเยอะ มีเยาวชนที่เพลี้ยงพล้ำมีเยอะซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนี้ เราต้องช่วยกันให้ลดน้อยลงกว่านี้ ช่วยกันทำให้ลูกหลานไม่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เพลี้ยงพล้ำ หลักการหัวใจสำคัญ โจทย์ทำให้เด็กเกเรเป็น SOMEBODY ให้ได้จะทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจพวกเราที่มาร่วมกันในที่นี้ก็น่าจะมีแนวคิดเดียวกันนี้ในการร่วมกันพัฒนาเยาวชน....”


­

คุณอุบลวรรณ เสือเดช ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวถึงเป้าหมายในกระบวนการของการพัฒนาโครงการตลอดระยะเวลา 6 เดือน เพื่อพัฒนาให้เยาวชนได้รู้จักถิ่นเกิดตัวเอง และสามารถเชื่อมสู่สังคม -โลกได้ รู้จักคิด วิเคราะห์ พัฒนาลักษณะนิสัยเช่นความรับผิดชอบ ด้านทักษะการสื่อสารและการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อนำไปสู่การเป็น Active Citizen นั่นเอง”

จากนั้นได้มีการนำเสนอการดำเนินงานของโครงการเริ่มที่....

­

­

­กระบวนการเรียนรู้ภาคตะวันตก โดย ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้จัดการศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม: โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก “....การให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่น เช่นการให้เยาวชนได้ทดลองให้ชิมน้ำในแม่น้ำ แต่พวกเขาไม่กล้าชิมเพราะบอกว่าน้ำไม่สะอาด ทำให้เห็นว่าเพราะเด็กเชื่อมโยงไม่ได้ว่าน้ำประปาที่ตัวเองใช้มาจากไหน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีจิตสำนึกรับต่อการเปลี่ยนแปลงวันข้างหน้า เราต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางสังคม สร้างความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีบทบาทในการดูแลตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นในอนาคต โดยผ่านการเรียนรู้และการเสริมสร้างศักยภาพ ภายใต้การทำกิจกรรม


...หัวใจสำคัญและทำต่อคือการสร้างกลไกให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เรื่องกลไกพี่เลี้ยง ประสบการณ์การทำงานหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้ทีมงานเกิดการเติบโตได้เรียนรู้พลังพลเมืองอย่างแจ่มชัดขึ้น... ทางสยามกัมมาจลมาชวนให้ทำงานเรื่อง Active Citizen จึงอาสามาทำเรื่องนี้ขึ้น จังหวัดเรามี 3 อำเภอ แต่ติดปัญหาอันดับต้นๆ ท้องก่อนวัย เด็กแว๊น ยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก ทั้งทีจังหวัดเล็กๆ ปัญหาเยาวชนลุกลามขึ้นมาเรื่อยๆ จังหวัดสมุทรสงครามมีขนาดเล็ก มีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นเส้นโยงใยในพื้นที่ ภายในโครงการเลือกไม่ทำจังหวัดเดียว เชื่อมโยงจังหวัดข้างเคียงอีก 3 จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี


“...เราเชื่อว่าเด็กเยาวชน พัฒนาได้ เด็กไม่ใช่ต้นเหตุปัญหา การเปลี่ยนสังคมรุกเร้าเข้ามาในพื้นที่ สิบปีที่ผ่านมาเราใช้เครื่องมือวิจัยท้องถิ่นให้ชาวบ้านพัฒนาได้ และห้าปีให้หลังเรานำวิจัยชุดเด็กเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ และเด็กพัฒนาได้ วิเคราะห์ได้”


ข้อค้นพบในเวลาหนึ่งปี ทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงตนเองในกระบวนการเหล่านี้ ให้เด็กในพื้นที่มองเห็นเรื่องระบบนิเวศน์ควบคู่การพัฒนา เด็กไม่มีเป้าหมายชีวิต ขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง โยงกับเรื่องเด็กขาดความเท่าทันกับเรื่องสื่อ การออกแบบสิ่งที่เราอยากเห็นว่าเด็กที่รักท้องถิ่นเขาจะมีสำนึกดี ทำอย่างไรให้เขาเห็นว่าเขามีคุณค่า รักท้องถิ่น และเชื่อมโยงสังคม กับบ้านอย่างไร ทำอย่างไรให้เยาวชนวิเคราะห์แยกแยกตัวเองได้ และมองว่านำศักยภาพเยาวชนมาร่วมแก้ไขปัญหาท้องถิ่นได้อย่างไร..”


การฝึกทีมให้รู้จักคำว่าสำนึกความเป็นพลเมืองโดยวิธีการตั้งคำถาม “ใช้การตั้งคำถามกับพี่เลี้ยง เห็นเรื่องเล็กๆ ที่น้องทำเป็นเรื่องพลเมืองอย่างไรบ้างหลังกลับจากการติดตามโครงการน้องทุกครั้ง”


­

การรายงานโดย คุณรุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ศรีสะเกษ: โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ -ฟื้นเยาวชน สานต่องานผู้ใหญ่


“พื้นที่ของจังหวัดติดประเทศกัมพูชา เป็นเมืองหน้าด่าน มีผลต่อการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ เป็นสิ่งยั่วยุให้เยาวชนได้เยอะ ฐานงานเดิมที่เรามาร่วมงาน ทุนงานวิจัยท้องถิ่นในพื้นที่ สนับสนุนให้ผู้นำชุมชน พี่น้อง สองฝั่ง ฐานงานเดิมที่เราทำในศรีสะเกษ มีฐานงานสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ ปัญหาความรุนแรงเยาวชนในพื้นที่ มองเห็นว่ามีฐานเยาวชนเข้าร่วมในพื้นที่ เดิมไม่ได้ดึงศักยภาพของเยาวชนมาใช้มาสานงานต่อ พัฒนาชุมชนต่อในพื้นที่ให้เกิดความต่อเนื่อง เยาวชนมาร่วมกันทำ คิดเอง ทำเอง วิเคราะห์ปัญหาเอง ลงมือทำด้วย เพื่อพัฒนาตนเอง ท้องถิ่น และสังคมโดยรวม นำไปสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่เราต้องการ จากฐานงานวิจัยเรื่องการศึกษา ความรู้ นำมาใช้กับการพัฒนาเยาวชนอย่างไร ทำให้เยาวชนศรีสะเกษตื่นรู้ กลายเป็นพลเมืองที่มีสำนึกต่อไป


ทางโครงการมีกระบวนการหนุนเสริมพัฒนาเยาวชนในโครงการมี 7 ขั้นตอน ขั้นตอนที่สำคัญเช่นเรื่องการหนุนเสริมทักษะชีวิตกระบวนการเรียนรู้ เรื่องการศึกษาและความรู้ ช่วยสร้างให้เยาวชนเกิดสำนึกเรื่องท้องถิ่นและสำนึกความเป็นพลเมือง ทำให้เกิดผลสำเร็จหลังทำโครงการมา 6 เดือน เยาวชนศรีสะเกษได้กลายเป็นพลังของทั้งโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานราชการ พี่เลี้ยงในชุมชนเริ่มเห็นผลการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ จากการทำโครงการระยะแรกจะทำแทนเด็กเพราะกลัวว่าโครงการทำแล้วไม่สำเร็จ พอมาถึงระยะกลางๆ เริ่มเข้าใจกระบวนการว่าควรให้เด็กลงมือทำเองจึงปล่อยให้เด็กทำเอง เพราะมั่นใจศักยภาพว่าเด็กสามารถทำได้แล้วนั่นเอง ความสำเร็จโครงการเยาวชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของหน่วยงานรัฐ และท้องถิ่น โรงเรียน เช่นโครงการ โซดละเว ผ้าไหมลายลูกแก้ว เป็นต้น “...ข้อควรระวัง การใช้คำว่า “พลเมือง” แบบพร่ำเพื่อไม่เห็นเห็นคุณค่า จะทำให้คำนี้ตายไปในที่สุด”


­

นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม : โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

“..การสร้างพลเมืองคือการสร้างคุณภาพของประชากร คุณภาพที่มองเห็นแผ่นดินเกิดโดยเริ่มจากแผ่นดินเล็กๆ ในบ้านซอยเดียวกัน โรงเรียนเดียวกัน ให้เขาได้มีเส้นทางที่จะทำประโยชน์ให้พื้นที่ชุมชนเหล่านั้นได้บ้าง เขามีเรื่องอะไรที่อยากทำ อยากหนุน ให้มีประโยชน์ขึ้น การค้นพบการทำงานมาสองปีแรก (ปี 2555-2557) ที่ทำงานพบว่ากิจกรรมสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา ทั้งระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีจำนวนมาก แต่ไม่มุ่งเน้นเรื่องจิตสำนึกมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มุ่งเน้นเรื่องจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และการเชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์จริงของบ้านเมือง และไม่มีพื้นที่สาธารณะให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ และมีกลุ่มองค์กรภาคพลเมือง ที่เป็นตัวอย่างให้เยาวชนศึกษาทั้งในเชิงประเด็นและเชิ งพื้นที่


วิสัยทัศน์โครงการ ปลุกหัวใจไปให้ถึง “...โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เป็นกระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชน เพื่อพัฒนาตนเองและกลุ่มให้มีทักษะชีวิตเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีจิตสำนึกพลเมืองรักและปกป้องบ้านเกิด..”

กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนโดยสงขลาฟอรั่ม

1.กระบวนการพัฒนาโครงการเยาวชนด้วยวิธีกลั่นกรองหลายมิติ 2.กระบวนการ Coaching (พี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา) 3.กระบวนการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองจากชุมชนพลเมืองที่มีอยู่จริง-กรณีชุมชนริมน้ำคลองแดน 4.กระบวนการสรุปบทเรียน/สื่อสารสาธารณะ ผลลัทธ์ 3 ปี สงขลาฟอรั่มได้สร้างแกนนำเยาวชนที่เป็น Active Citizen จำนวน 65 กลุ่มกระจายอยู่ทั่วจ.สงขลา เยาวชนเหล่านี้


1.กระบวนการพัฒนาโครงการเยาวชนด้วยวิธีกลั่นกรองหลายมิติ

  • การพิจารณาเบื้องต้นตามแบบฟอร์มข้อเสนอของเยาวชน
  • การพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะจากคณะที่ปรึกษา
  • การลงไปพบและพูดคุยรายละเอียด สัมผัสความมุ่งมั่นตั้งใจ
  • เวทีพัมนาโครงการ/กลุ่มเยาวชนนำเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ต่อคระที่ปรึกษาและนักพัฒนาในสาขาต่างๆ และรับฟังข้อเสนอแนะกันและกัน

­

2.กระบวนการ Coaching (พี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา)

- ปลุกหัวใจไปให้ถึง พูดคุยทบทวนในเป้าหมายงานของน้องและของเขา

การปลูกฝังเรื่องทักษะชีวิต 5 ด้าน ที่ควรใสใจด้วยดี ได้แก่ ทักษะการคิด

  • การรู้เขารู้เรา การจัดการทางอารมณ์
  • การสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการมีจิตใจเพื่อส่วนรวม
  • บันทึกพัฒนาการของสมาชิกกลุ่ม และภาพรวมการทำงานกลุ่ม
  • คุณค่างานที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานเชื่อมโยงกับเรื่องส่วนรวม จิตสำนึกพลเมืองการยกระดับสู่นโยบาย
  • บันทึกภาพกิจกรรม

­

3.กระบวนการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองจากชุมชนพลเมืองที่มีอยู่จริง-กรณีชุมชนริมน้ำคลองแดน

  • ลงพื้นที่จริง ชุมชนริมน้ำคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา
  • สำรวจและเรียนรู้กับครูชาวบ้าน
  • เรียนรู้และมองเห็นคุณค่าความเป็นพลเมืองที่จะนำไปใช้ในโครงการ/ในชีวิต/ในชุมชน

4.กระบวนการสรุปบทเรียน/สื่อสารสาธารณะ


พระครูสุจิณนันทกิจ (พระอาจารย์สมคิด จารณธัมโม) ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ): โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน


­

“ทางมูลนิธิมีฐานทุนเดิมคือเครือข่ายพระสงฆ์ เครือข่ายโรงเรียน ระดับโรงเรียนประถมและมัธยม เครือข่ายงานวิจัยเดิมกับเครือข่ายน่าน งานวิจัยเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนน่านตื่นขึ้นมาให้รู้ว่ามีภัยบางอย่างเข้ามา เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เมืองน่าน”

โครงการที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนมาเรียนรู้ ผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชนที่ทำให้เยาวชนสามารถเชื่อมตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานสืบทอดร่วมดูแล ในฐานะที่เป็นพลเมืองรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเมืองน่านท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างสมดุล...” 


­


นายอภิสิทธิ์ ลัมยศ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้โครงการ กล่าวเสริมว่า...

กระบวนการพัฒนาเยาวชนจังหวัดน่าน คนเหนือเรียกว่ากลุ่มหนุ่มสาวที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบันซึ่งเรียกว่า “เยาวชน” กระบวนการในการพัฒนาเยาวชนน่าน เริ่มตั้งแต่การค้นหาเยาวชนผ่านข้อเสนอโครงการ (Community Project) พัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยใช้หลักงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือพิจารณาโครงการ ให้ความสำคัญในระยะต้นน้ำที่มีการคัดกรองโครงการเป็นพิเศษ....


ปีแรก จาก 18 โครงการ ในสามประเด็นการจัดการทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร ประเพณีวัฒนธรรม ผ่านมาหนึ่งปี เยาวชนแกนนำเห็นผลที่เกิดขึ้นคือการทำงานเป็นทีม ความสัมพันธ์กับชุมชน แต่ที่ยังขาดคือเรื่องการวิเคราะห์ การบันทึกข้อมูล

หนึ่งปีที่ผ่านมาเกิด...


กลุ่มฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง น้องๆ สนใจศิลปะพื้นบ้าน ถือเป็นมรดกล้ำค้าของคนในชุมชน เยาวชนหลงลืมอนุรักษ์ ทำอย่างไรให้สืบทอดและเห็นคุณค่าความสำคัญ และการเปิดโอกาสของคนในชุมชนที่มองเห็นศักยภาพของเยาวชน มีการรวมกลุ่มกันตั้งกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการให้น้องๆ อาทิ เจ็บป่วย เป็นต้น


กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนา โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำบ้านหัวนา เห็นป่าชุมชนเริ่มเสื่อมโทรมลงไปจึงรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยกันฟื้นฟูร่วมกับผู้ใหญ่โดยช่วยสำรวจพื้นที่ป่าเพื่อให้เห็นความสำคัญของป่าบ้านหัวนา


กลุ่มเยาวชนไทลื้อบ้านหนองบัว โครงการเรียนรู้เครือญาติและการสืบเสาะเรื่องราวภาพแห่งอดีตถึงปัจจุบัน ชุมชนไทลื้อในอดีตที่เริ่มเลือนหาย เด็กๆ มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงใช้เครื่องมือผังเครือญาติและภาพเก่าเล่าเรื่องมากระตุ้นให้เยาวชนรู้จักรากเหง้าและเครือญาติของตนเองผลที่เกิดขึ้นเด็กๆ รู้จักอดีตของบ้านหนองบัวมากขึ้นและรู้สึกภาคภูมิใจเกิดความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน

­

­

“มินี” นูรอามีนี สาและ จากสงขลาฟอรั่ม :โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ร่วมสะท้อนบทบาทการเป็นพี่เลี้ยง “พี่ต้องไม่ครอบงำความคิดของน้องต้องจับหัวใจโครงการของน้องให้ได้ ต้องไม่ทำให้ฝันหรือหัวใจสำคัญของโครงการน้องเสียไป...”

­

­

คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่โครงการ จากมูลนิธิสยามกัมมาจลเผยถึงการหนุนงาน 14 เดือนให้กับ 4 องค์กรว่า “ทางเรามีการหนุนการดำเนินงานของ 4 จังหวัดหนุนให้ทำ จัดการความรู้ สื่อสารสังคม และพัฒนาศักยภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ ก่อนลงค้นหาเยาวชน จัดเวทีที่สำคัญ เวทีกำหนดวิสัยทัศน์โครงการมีการแชร์วิสัยทัศน์ร่วมกัน จากนั้นทีมได้ลงไปในพื้นที่เพื่อกำหนดตัวชี้วัดผลลัทธ์ และมีกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน เรียนรู้ข้ามจังหวัด ทำให้เกิดการขยับงานในพื้นที่มากขึ้น เวทีพัฒนาทักษะพี่เลี้ยงในการทำงานกับเยาวชน เกิดเวที 4 ครั้งโดยเษมสิขาลัย อาทิ ออกแบบการเรียนรู้ สรุปบทเรียน เพื่อเรียนรู้การเป็นโค้ช(พี่เลี้ยง)


นอกจากนี้ยังมีเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการทำงาน โครงการพัฒนาเยาวชนระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ที่สำคัญมีการถอดบทเรียน กรอบในการจัดภาพการเรียนรู้การทำโครงการของเด็กในมิติไหนบ้างในรายโครงการ การถอดบทเรียนที่เป็นคนนอกไปต้องคำถามรีเฟคชั่นทำให้เกิดการเรียนรู้อีกมุมหนึ่ง การสื่อสารสังคม หลังจากได้เรื่องราวการเรียนรู้ของน้องๆ ส่งเผยแพร่ออกไปทันที


สรุปผลการดำเนินงาน มีพื้นที่ทำงาน 4 องค์กร 8 จังหวัดมีพลเมืองเยาวชน Active Citizen จำนวน 280 คน

­

­

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวทิ้งท้ายให้แต่ละองค์กรกลับไปคิด “โจทย์ที่ให้น้องทำเป็นโครงการของน้องหรือโครงการของเรา เป็นสิ่งที่พี่เลี้ยงต้องตระหนักอยู่เสมอ”

­

­

รศ.ดร.วิลาสินี อดลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสสส. กล่าวว่า.. “การพัฒนาองค์กรระดับจังหวัด ต้องมีการเชื่อมกับกลไกภาครัฐเพื่อให้กลไกภาคสังคมมีความเป็นไปได้มากและองค์กรพัฒนาเยาวชนให้แข็งแรงขึ้น”

­

­

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อเสนอแนะว่า “สิ่งที่ได้ฟังคือสี่หน่วยงานเรียนรู้เครื่องมือการพัฒนาตนเอง ถ้าพัฒนาดีพอสมควรจะพัฒนาตนเองต่อเนื่องไปได้ ทางสยามกัมมาจล สสส. เป็นแรงข้างนอกเข้าไปหนุนเพื่อสร้างในความสามารถในการพัฒนาตัวเอง เป็นการเดินทางที่ต้องเรียนไปอีก การเรียนไม่มีวันจบ เชื่อว่าปีที่สองไปทำอะไรต่อ น่าจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสี่จังหวัด ที่เป็นเพื่อนกันมีจุดอ่อน จุดแข็ง ที่ช่วยแชร์และช่วยเหลือกันได้ 


ขอเสนอเสนอแนะ หนึ่ง. ให้เยาวชนทำข้อมูลและมี Follow up เพราะเยาวชนต้องการความภูมิใจ ยิ่งได้ฟันฝ่าอุปสรรค มีผลออกมาแล้วเขาจะภูมิใจเป็นตัวหล่อเลี้ยง ตรงนี้คือส่วนของการต่อเนื่องยั่งยืนถ้าเยาวชนทำงานเป็นโปรเจคแล้วจบไม่ต่อเนื่องยั่งยืน แต่ถ้าต้องทำเป็นตัวเลขแล้วเขาต้องหาน้องมาทำให้ต่อเนื่อง สอง. โยงเข้ากับสถาบันการศึกษา อยากเห็นตัวอย่างสถาบันการศึกษามาแคปเจอร์เยาวชนที่เป็นเด็กของตนสามารถนำไปเรียนวิชาที่สอนได้เลย นี่คือการเรียนแบบ PBL (Problem-based learning) นั่นเอง การใช้ยุทธศาสตร์ “ตัวคูณ” หากเข้าโรงเรียนจะมีครูเป็นตัวคูณ จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าที่สามารถโยงงานของตัวเองเข้าสู่วิชาการได้ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการเรียนชีวิตจริงโยงเข้าสู่ห้องเรียน สามเรื่องโค้ช หรือพี่เลี้ยง มองว่าโค้ชเด็กไม่น่ายาก ถ้าหากพี่เลี้ยงหรือโค้ชแม่นกับวิธีการ คือการ BAR (Before Action Review)/ AAR (After Action Review) เพียงแค่เราใช้เป็นหรือชำนาญหรือเปล่า การ BAR (Before Action Review) ว่าตัวเองอยากทำอะไรตรงนี้ให้ชัด หัวโจกแต่ละคนต้องให้ชัด ต้องเปิดช่องว่าเขาเองต้องการทำอะไร ให้ได้แชร์กันทุกคน แต่ละคนจุดเน้นตรงไหน ไม่มีถูกไม่มีผิด พอทำไปอาทิตย์หนึ่งแล้วค่อยกลับมาทำวิชั่น ทบทวน ว่าอะไรที่มากกว่าที่คิดไว้เพระอะไร ได้น้อยเพราะอะไร ถ้าทำต่อไปจะแก้ไขอย่างไร ที่ทำจะทำกิจกรรมอะไรที่ไม่เกี่ยวกับโครงการได้บ้าง นี่คือ Value ที่ตัวเองเห็นเป็นการไดรฟงาน แต่ต้องหมุนอย่างนี้ตลอด พี่เลี้ยงต้องจี้ตลอด ตั้งคำถาม ทำให้เขามุ่งมั่นกับความฝันของเขา และให้เขาบรรลุความฝันเป็นระยะ จุดที่สำคัญพี่เลี้ยงอย่าไปบอกว่าตรงนี้ ต้องทำแบบนี้ แต่ถ้าเห็นว่าเขาไม่รู้แน่แต่อย่าบอกแต่เป็นการแนะนำว่าให้ลองไปอ่านที่โน้นหรือที่นี่ เป็นการชี้ช่องทางนั่นเอง เพราะเยาวชนอยากคิดออกเอง นี่คือการใช้ BAR (Before Action Review)/ AAR (After Action Review) ให้มีพลัง นี่คือการฝึกการเป็น facilitator ที่ดี.



­

เวทีรายงานผลดำเนินงานต่อคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการโครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมือง เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 9.00 – 14.00 น.ณ ห้อง Victory Room โรงแรม VIC 3 Bangkok สนามเป้า ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com