ข้อค้นพบในการพัฒนาเยาวชนจังหวัดน่าน ปี 3

ข้อค้นพบในการพัฒนาเยาวชน­

     จากการดำเนินงานภายใต้โครงการ “เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน” 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีความต่างกันด้านกระบวนการที่ได้ใส่เข้าไป เนื่องจาก ปีที่ 1 นั้นเยาวชนที่ถูกพัฒนาผ่านการทำโครงการ และกิจกรรมเยาวชนยังมีความคิดที่ยังไปไม่ถึงคำว่า “สำนึกความเป็นหน้าหมู่” หรือความเป็นพลเมืองน่าน ส่วนปีที่ 2 เน้นกระบวนการในการสร้างจิตสำนึกพลเมือง ได้ทำให้เยาวชนในโครงการเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้มีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สถานการณ์ของเยาวชนเองจึงเห็นภาพความเชื่อมร้อยประเด็นไปกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดน่าน และสามารถเชื่อมร้อยไปกับประเด็นการพัฒนาเมืองน่านของผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่ จาก 2 เวทีที่จัดขึ้นเพื่อเรียกสำนึกความเป็นพลเมืองน่าน คือ “เวทีน่านวันนี้ที่เห็นและเป็นไป” และ “เวทีงอกเงย งดงาม เพื่อน่านบ้านเกิด” ที่ดึงเอาสถานการณ์น่านในมุมมองต่างๆ ของเยาวชนออกมาก ทั้งทุกข์ ทุน ที่มี 2 เวทีนี้ได้เกิดผลกับเยาวชนน่านเป็นอย่างมากเนื่องจากเยาวชนเกิดสำนึกความเป็นพลเมืองน่าน อยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาน่านบ้านเกิด หลังจากที่เยาวชน เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนน่านแล้ว 

      ทีมทำงานได้เกิดการวิเคราะห์ ว่าหากเยาวชนน่านลุกขึ้นมาแล้วไม่ควรจะปล่อยให้สูญหายไป จึงสานต่อด้วยการขยายพื้นที่ในการสร้างสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นให้ครอบคลุมทั้ง 15 อำเภอ ในปีที่ 3 โดยมุ่งเป้าหมายให้มีโครงการเยาวชนในพื้นที่ทั้ง 15 อำเภอ และยังหวังให้เกิดสำนึกพลเมืองให้เกิดกับคนรุ่นใหม่ ที่ก้าวเข้ามาโดยสานต่อความคิดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ไม่เพียงแต่ตัวของเยาวชนเท่านั้น แต่ยังหวังพัฒนาพี่เลี้ยง/ผู้ใหญ่ในพื้นที่ ให้เกิดความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของเยาวชน เพื่อร่วมกันขยับขับเคลื่อนการทำงาน ให้พลเมืองน่านเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีอัตตลักษณ์ มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถตั้งรับปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างเท่าทันและเหมาะสม โดยมีเป้าประสงค์ให้เด็กและเยาวชนสร้างกลุ่มการเรียนรู้ของตนเองในเรื่องที่ตนสนใจกับชุมชนที่อาศัยอยู่ ใช้กระบวนการหากลุ่ม วิเคราะห์พื้นที่ ศักยภาพ ทุน สถานการณ์ปัญหา เพื่อพัฒนาเป็นโจทย์ วางแผนกิจกรรมและดำเนินกิจกรรมของตนเอง ผ่านการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยคนในชุมชน องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภายในและนอกชุมชน คอยเป็นพี่เลี้ยงและเติมเต็มองค์ความรู้และกำลังใจในการดำเนินงาน โดยมีกลไกการทำงานดังนี้

กลไกการพัฒนาเด็กเยาวชนจังหวัดน่าน­

­

กลไกการพัฒนาเด็กเยาวชนจังหวัดน่าน้่

ข้อค้นพบจากการทำงาน

  • การจัดการความขัดแย้ง การเปลี่ยนความคิดทั้งพี่เลี้ยงและเด็กทำได้ยาก เนื่องจากแต่ละคนได้รับการปลูกฝังมาต่างกัน บทบาทของโคชคือการกระตุ้นให้พี่เลี้ยงและเยาวชนเกิดกระบวนการคิดด้วยตนเอง
  • การทำงานเป็นทีม เนื่องจากเป็นการทำงานระยะยาว และเป็นการทำงานกับคนหลายกลุ่ม ทั้งโคช พี่เลี้ยงชุมชน และเยาวชน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นก่อนเริ่มทำโครงการทีมโคชจึงต้องชวนเยาวชน และพี่เลี้ยวชุมชนวางเป้าหมายการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มองเห็นทิศทางการทำงานไปในทางเดียวกัน
  • ข้อควรระวัง โคชต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปคลุกกับสถานการณ์ ไม่ฉะนั้นเราจะเป็นฝ่ายเด็กทันที รู้กว้างแต่ไม่รู้ลึก ต้องรู้จักจังหวะเข้าออก ถ้าห่างเหินเกินก็จะไม่ได้ใจเด็ก แต่ถ้าเราเข้าไปลึกเกินไปก็เป็นจะพวกเดียวกับเด็ก ดังนั้นโคชต้องมีการวางตัวที่ดี ต้องวิเคราะห์ตามสถานการณ์ ต้องดูว่า ณ ตอนนั้นควรเข้าไปโคชหรือไม่ เช่น ถ้าเด็กไม่ไหวจริงๆ ค่อยเข้าไปหนุน แต่ถ้าเห็นว่าเด็กจัดการกันได้ก็ปล่อยให้เขาจัดการกันเองก่อน ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่ดีของเด็กเยาวชน