ข้อค้นพบในการพัฒนาเยาวชน ภาคตะวันตก ปี 3

ข้อค้นพบในการพัฒนาเยาวชน

­

     การส่งเสริมเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงศักยภาพในตนเอง ต้องใช้พลังของการหนุนเสริมจากผู้ใหญ่ในหลายระดับ การทำงานในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ก็เช่นกัน โครงการทำงานจึงมีการหนุนเสริมความรู้กันหลายระดับ

­

กลไลพัฒนาเด็กเยาวชนภาคตะวันตก


ข้อค้นพบ 3 ปีจากการทำโครงการ

     3 ปีของการทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ทีมโคชค้นพบองค์ความรู้สำคัญเรื่อง “การออกแบบการเรียนรู้” ที่ต้องพัฒนาให้เด็กมีทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เขาพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องการเรียน อาชีพ และการใช้ชีวิต โดยการออกแบบการเรียนรู้จะต้องเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ดังนี้

­

ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

โจทย์: ตื่นเต้น ท้าท้ายความสามารถ ให้เด็กได้ลงไปเรียนรู้ สัมผัส และลงมือทำกิจกรรมจริงร่วมกับคนในชุมชน

เป้าหมายการเรียนรู้: พัฒนาทักษะด้านการพูด การฟัง การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา ทักษะการสื่อการ การใช้เทคโนโลยี ความสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ รู้เท่าทันและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคมโลก

กระบวนการ: สนุกสนาน เกมนำวิชาการ ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ชอบท้าทายหาคำตอบ มีการลงชุมชนต่อเนื่องหลายครั้ง

บทบาทพี่เลี้ยง: คุณอำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ประสานพื้นที่และผู้เกี่ยวข้อง ตั้งคำถาม ลงมือทำกิจกรรรมร่วม

บทบาทโคช: เอื้อให้เด็กได้ใช้ความรู้ความสามารถในการค้นหาความรู้ การออกแบบการเรียนรู้ต้องเป็นกิจกรรมที่สนุก แต่แฝงไว้ด้วยข้อคิด และเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ทดลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ที่สำคัญคือต้องมีความรู้เรื่องพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาการทางสมอง

ระดับอาชีวศึกษา

โจทย์: เชื่อมโยงกับรายวิชาที่เรียน ตอบสนองต่อวิชาชีพเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ

เป้าหมายการเรียนรู้: พัฒนาการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ทักษะการพูด การฟัง การคิดวิเคราะห์ และการตั้งคำถาม เพื่อให้เขาไปหาคำตอบกับสิ่งที่สนใจด้วยตนเอง

กระบวนการ: ใช้โจทย์โครงการเป็น “เครื่องมือ” เชื่อมโยงให้เด็กนำความรู้จากห้องเรียนไปทดลองใช้ในชุมชน เพื่อให้เขามีมุมมองและทัศนคติที่กว้างขึ้น รู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม เน้นปฏิบัตินำเนื้อหาวิชาการ ชอบทดลองและลงมือทำ ต้องชวนคุยเป็นกันเองไม่เคร่งเครียด ได้ลงมือทำจริงกับชุมชนและได้เห็นผลลัพธ์จริงเน้นลงมือทำจริงกับชุมชนไปเรียนรู้ร่วมกัน

บทบาทพี่เลี้ยง: พาไปหาแหล่งความรู้ (ให้ค้นหาความรู้เอง) ตั้งคำถาม เอื้อให้เกิดพื้นที่ปฏิบัติ ชวนวิเคราะห์ผล

บทบาทโคช: ต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของพวกเขา พาเรียนรู้ทีละขั้น ไม่รีบกระโจนไปสู่ทฤษฎี แต่ต้องให้พวกเขาได้เรียนรู้จากการลงมือทำ โดยมีโคชคอยเติมเนื้อหาให้เป็นระยะๆ โคชต้องคอยกระตุ้นเขาให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในห้องเรียน จากการทดลอง และการได้ลงไปสัมผัสจริงในชุมชน รวมถึงกลไกตลาดเพื่อให้เข้าใจและพร้อมรับมือกับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต

­

ระดับอุดมศึกษา

โจทย์: นำทักษะ/ความรู้ไปใช้แก้ปัญหา

เป้าหมายการเรียนรู้: พัฒนาทักษะการทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน

กระบวนการ: ชอบกิจกรรมท้าทายมากกว่าการเล่นเกม นำความรู้ในห้องเรียนลงไปเรียนรู้และหาคำตอบร่วมกับชุมชน และต้องมีระยะเวลาที่นานพอ เพื่อให้เขาได้สัมผัสปัญหาร่วมกับชุมชน การทำกิจกรรมจะไปเน้นการพูดคุย วิเคราะห์ข้อมูล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เน้นการล้อมวงพูดคุย นำความรู้/ทักษะมาใช้จริง ลงไปฝังตัวในชุมชนครั้งละหลายๆวัน ได้ทดลองลงมือทำร่วมกับชาวบ้าน ต้องมีหลักทฤษฎี

บทบาทพี่เลี้ยง: ปล่อยให้ทำ ตั้งคำถามสร้างการเรียนรู้

บทบาทโคช: ต้องให้อิสระเขาได้ลงมือทำเต็มที่ ทั้งออกแบบวางแผนการทำกิจกรรมด้วยตนเอง ใช้โซเชียลมีเดียกระตุ้นการเรียนรู้ เพราะเด็กวัยนี้คุ้นเคยกับการทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ชอบทำอะไรซ้ำ กิจกรรมจึงต้องออกแบบใหม่อยู่เสมอ และชอบกระบวนการที่ตรง ชัดเจน กระชับ ไม่ใช้เวลามาก

­

เด็กนอกสถานศึกษา

โจทย์: เรียนรู้จากการลงมือทำ เพื่อให้เขานำไปใช้ต่อได้ในชีวิตประจำวัน

เป้าหมายการเรียนรู้: พัฒนาทักษะการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ

กระบวนการ: เน้นทำกิจกรรมในชุมชน ที่ตอบสนองวิถีชีวิต สนับสนุนการประกอบอาชีพ ไม่เข้มงวด ได้พบปะผู้รู้ในชุมชนและได้นำความรู้มาทดลองลงมือทำจริง กระบวนการเรียนรู้ต้องไม่เข้มงวด ต้องยืดหยุ่นและปรับได้ตามสถานการณ์ สัมพันธ์กับตารางการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมที่ได้ลงมือทำจริง และสามารถเห็นผลลัพธ์ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

บทบาทพี่เลี้ยง: ลงมือทำร่วม สร้างความเชื่อมั่นกับคนในชุมชน เปิดพื้นที่และให้ความมั่นใจ

บทบาทโคช: ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในอนาคต และต้องเป็นกิจกรรมที่ทำให้เห็นและเข้าใจชุมชน จึงสามารถดึงดูดเด็กและเยาวชนในกลุ่มนี้ได้

      โดยภาพรวมการออกแบบการเรียนรู้ของทั้ง 4 ระดับ จะเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์และจัดเวทีพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ ด้วยรูปแบบการประชุมที่ผ่อนคลาย สนุก และได้สาระ เริ่มต้นจากทำให้ทุกคนมีความพร้อมที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การรับฟังอย่างเปิดใจ พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งโคชต้องเข้าใจเงื่อนไข ข้อจำกัดของการทำงานของทีมเด็กและเยาวชน พี่เลี้ยงชุมชน และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ประเด็นในการพูดคุยมีมุมมองที่หลากหลาย และสามารถนำกลับไปทบทวนและพัฒนาตนเองได้

      สำหรับรูปแบบการจัดเวทีจะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออกเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังเน้นไปที่การทำความรู้จักและสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การทำโครงการบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ที่สำคัญคือ “เวทีเรียนรู้” ซึ่งแต่ละครั้งต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเยาวชนอยากเข้าร่วม และกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เช่น การแบ่งกลุ่มเด็กคละระดับอายุ จะช่วยให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงออก ส่งเสริมภาวะผู้นำทางธรรมชาติที่เด็กสามารถจัดการร่วมกันได้เป็นอย่างดี และยังช่วยเสริมพลังการพูดคุยให้สร้างการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      และเพื่อให้ความสัมพันธ์ของทีมโคช เด็กเยาวชน และพี่เลี้ยงชุมชนใกล้ชิดกัน ทีมโคชใช้ Line group เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของเด็กเยาวชนในโครงการ ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในโครงการเช่นนี้ นอกจากจะช่วยหนุนเสริมการทำงานของเด็กเยาวชนได้ทันท่วงทีแล้ว ยังช่วยดึงศักยภาพของพี่เลี้ยงและผู้รู้ในพื้นที่ให้เข้ามาช่วยสนับสนุนเด็กได้อีกด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือ Line group นี้ไปช่วยสานพลังผู้รู้และพี่เลี้ยงในพื้นที่ให้อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการอย่างต่อเนื่อง และทำให้เด็กเยาวชนหันมาให้ความสำคัญกับการเคารพนับถือเพื่อน และผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ที่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิเปิดใจอยากสอน กระทั่งเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างอิสระ

­

ดึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมพัฒนาเด็กเยาวชน

      อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่เกิดรูปธรรมชัดเจน โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกยังทำหน้าที่ “เชื่อมร้อย” หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่มีบทบาทเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชน เช่น สถาบันการศึกษา องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และคนในชุมชนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและวางแผนขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนร่วมกัน ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า โครงการใดที่พี่เลี้ยงมีการกระตุ้น หนุนเสริม และออกแรงสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็ก จะทำให้กิจกรรมนั้นเกิดเป็นรูปธรรม และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ที่สำคัญคือ บทบาทของพี่เลี้ยงในแต่ละระดับนำไปสู่การสร้างกลไกขับเคลื่อนงานในระดับชุมชน และเชื่อมโยงไปสู่กลไกการขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัดต่อไป