ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน ภาคตะวันตก ปี 2

บทเรียนการหนุนเสริมเยาวชนพลเมืองภาคตะวันตก ปี 2

เส้นทางสู่ปณิธานของทีมงานพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก



     ด้วยปณิธานว่า ชีวิตนี้ขอทำงานเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน จึงปักหลักทำงานสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสร้างคน เตรียมพร้อมไว้รับมือกับอนาคตที่แขวนอยู่บนความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ และความเปลี่ยนแปลงของสังคม การทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกจึงเป็นการเติมเต็มกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่อาจจะขาดหายไปในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ทำอยู่ในฐานะศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ดังนั้นการทำงานต่อเนื่องในปีที่ 2 จึงยังคงปักหมุดการทำงานที่จะนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่เคยตั้งไว้คือ “โครงการเป็นกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นสร้างเยาวชนให้เป็นผู้นำที่มีจิตสาธารณะ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

     โดยเป้าหมายของการทำงานปีนี้ที่คาดหวังอยากเห็นคือ 1.การสร้างเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงจนเห็นคุณค่าของสังคม จนรู้สึกว่าสังคมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และ มีสำนึกพลเมือง 2.การสร้างพี่เลี้ยงทีมโครงการและทีมโคชของพื้นที่(ที่ปรึกษาโครงการ) ที่อยู่กับเด็ก อยากให้พี่เลี้ยงเป็นโคชที่เข้าใจวิธีการโคชน้อง เข้าใจน้อง เข้าใจกระบวนการและเกิดการเรียนรู้ว่า การทำงานกับเยาวชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร และ 3.สร้างกลไกการพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่ 

­

1. กราฟิกภาพเป้าหมาย 3 ระดับ

     ทีมงานซึ่งประกอบด้วยอาธเนศ-ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ พี่พวง-พวงทอง เม็งเกร็ด อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ น้องใหม่รุ่นกลางคือ โด่ง-อรรถชัย ณ บางช้าง นัด-ชนนท์ ภู่ระหงษ์ และน้องใหม่ซิงๆ ที่เพิ่งมาร่วมทีมคือ บาส-สถาพร โพธิไพรศิริ และ วุธ-สราวุธ ปิ่นแก้ว จึงร่วมกันสรุปบทเรียนประจำปี เพื่อทบทวนการทำงาน และได้เห็นมรรคผลของการลงแรง ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงาน อันจะเป็นทุนต่อเติมเสริมแต่งการทำงานปีต่อไป ดังนี้

­

หลากหลายกระบวนหนุนพลังเยาวชน

     จากกลุ่มเป้าหมายเยาวชนที่มีความหลากหลาย ทั้งมาจากชุมชน ซึ่งเป็นเครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นและเครือข่ายงานพัฒนาในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนต่างๆ ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กลุ่มเยาวชนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และกลุ่มเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย บนฐานคิดที่จะเปิดพื้นที่เรียนรู้ ให้โอกาสกับเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยมีข้อค้นพบจากการทำงานในปีแรกว่า การให้โอกาสกับกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาส เด็กหลังห้อง เด็กที่ครอบครัวแตกแยก เป็นการให้โอกาสกับเด็กที่ไม่เคยได้รับโอกาส เมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันตลอด 1 ปี จึงเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตของเยาวชนที่ได้รับโอกาสอย่างเห็นชัดเจน

­

2. อินโฟ แผนที่ 4 จังหวัด และสถานที่ตั้งสถานศึกษา ชุมชนเป้าหมาย

     “ตัวอย่างเช่น กลุ่มแพะโจ๋ ที่ทำโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารและโรงเรือนโดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จากเด็กหลังห้องกลายมาเป็นเด็กที่อาจารย์ดึงตัวไปใช้งานอยู่เสมอ จนเด็กเกิดภาคภูมิใจ หรือกลุ่ม Chip Munk ปี 1 เป็นการรวมตัวของนักเรียนผู้นำนักกิจกรรมจากหลายโรงเรียนที่ได้ทำโครงการเยาวชนเรียนรู้อาชีพแพรกหนามแดง ที่เริ่มแรกไม่เอาอะไรเลย แต่พอผ่านกระบวนการหนุนเสริมจากทีมงาน เด็กรู้สึกตัวว่าสิ่งที่เคยทำมามันผิด และบอกว่าจะไม่กลับไปทำแบบนั้นอีกแล้ว พอเราเห็นแบบนี้ก็รู้สึกว่าต้องให้โอกาส เพราะเขาเป็นพลังของบ้านเกิด ส่วนใหญ่เด็กพวกนี้ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวในบ้านตัวเอง ชีวิตส่วนใหญ่มักพบเจอแต่ปัญหาในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาเพื่อน ชีวิตจึงวนเวียนอยู่กับปัญหา พอเราเปิดโอกาสให้เขาได้มาทำกิจกรรมก็เริ่มรู้สึกสนุก การได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนช่วยเปิดโลกใบใหม่ จนห่างไกลจากปัญหาเดิมๆ กลายเป็นความติดใจอยากทำโครงการต่อ” อาร์ตเล่าเบื้องหลังความคิดของการทำงานต่อยอดกับกลุ่มเยาวชนที่เคยทำโครงการในปีแรกสู่ปีที่ 2

     การทำงานในปีที่ 2 นี้ ยังได้เปิดโอกาสเพิ่มเติมให้กับกลุ่มเยาวชน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ภายใต้การดูแลของนักถักทอชุมชน จากโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฝึกฝนกระบวนการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล เพราะมีเป้าหมายที่จะสร้างกลไกภายในหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยตรง โดยคาดหวังว่า การทำงานกับนักถักทอชุมชนจะช่วยสร้างรูปธรรมที่ทำให้ อบต.เห็นประโยชน์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ต้องดูแล

     “การทำงานที่แม่กลอง โดยพื้นฐานเราไม่ค่อยได้ทำงานกับผู้นำท้องถิ่น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน การเชื่อมนักถักทอชุมชนเข้ามาทำงานด้วย มีฐานคิดสำคัญคือ ถ้าทำให้ท้องถิ่นเข้าใจกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนจะขยายผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มาก” ธเนศเล่า

     ส่วนเยาวชนกลุ่มที่สอง เกิดจากการที่ศูนย์ฯ ได้ขยับไปเชื่อมโยงความร่วมมือ เป็นบันทึกข้อความเข้าใจ หรือ Memorandum of Understanding (MOU) กับมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นความคาดหวังที่จะขยายงานเข้าสู่สถาบันการศึกษา ด้วยหวังว่า มรรคผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้จะส่งแรงเหวี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวอาจารย์และระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงทำ MOU ผูกพันกันไว้ 3-5 ปี

     ด้วยกลุ่มเป้าหมายหลากหลายระดับ ทั้งวัย การศึกษา จึงเป็นที่มาของการออกแบบการทำงานที่หลากหลายให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ จังหวะชีวิตและเวลา ซึ่งแน่นอนว่า กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการทำงานที่ทีมงานต้องปรับสภาพการทำงานตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแล จากช่วงแรกๆ ที่แบ่งสันปันส่วนกันดูแลโดยเลือกจากความสนิทสนมกับน้องเยาวชนแต่ละกลุ่ม แต่ด้วยทีมงานมือใหม่ค่อนข้างมาก อาธเนศจึงซ้อนเงื่อนไขการสร้างการเรียนรู้ให้สมาชิกในทีม โดยพิจารณาจากฐานบ้านเกิด เช่น โด่งดูพื้นที่แม่กลอง นัดดูพื้นที่ราชบุรี อาร์ตดูกลุ่มหาวิทยาลัย ส่วนอ้วนดูกลุ่มเยาวชนที่มาจากโครงการนักถักทอชุมชน

     โดย อ้วนเสริมว่า กลุ่มเด็กที่มาจากนักถักทอชุมชนแม้จะเป็นเด็กเล็ก แต่สามารถต่อยอดงานได้ ซึ่งต่างจากการทำโครงการปี 1 ที่ต้องใช้กระบวนการเข้ามาช่วยเยอะมาก โดยเฉพาะการออกแบบกิจกรรมที่ต้องคิดใหม่เรื่อยๆ เพราะถ้าใช้กิจกรรมเดิมซ้ำ 2-3 ครั้งน้องจะเริ่มจับทางได้ และเริ่มเตรียมคำตอบไม่จริงไว้ อ้วนมองว่าทักษะพื้นฐานสำคัญของการเป็นโคชคือ การทำความเข้าใจตัวเองและเด็ก ดังนั้นเวลาออกแบบกิจกรรมแต่ละครั้งเขาจึงต้องนำเป้าหมายของน้องเป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบกิจกรรมให้น้องสนุก ไม่เบื่อ และที่สำคัญคือต้องได้ความรู้ และฝึกกระบวนการคิด

     นอกจากนี้ทีมงานยังพบปัจจัยที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มเยาวชนว่า ปีแรกจะมีกระบวนการคัดสรรกลุ่มเยาวชนอย่างเข้มข้น ทำให้รู้จักเด็กตั้งแต่ต้น แต่ในปีนี้เยาวชนบางกลุ่มคัดเลือกมาโดยภาคี ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงภายในทีมของกลุ่มเยาวชนแต่ละทีม ส่วนทีมงานเองก็ต้องเปลี่ยนกันดูแลกลุ่มเยาวชน การทำงานจึงต้องมีการสานความสัมพันธ์กับเยาวชนหน้าใหม่ในทีมหลายครั้ง ซึ่งกว่าที่ความสัมพันธ์ของทีมงานกับกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานจะลงตัวก็ผ่านครึ่งโครงการมาแล้ว

­

พัฒนาวิธีคิด...สรรสร้างวิธีทำงาน

     เปลี่ยนการเรียนรู้จากอีเวนต์สู่กระบวนการ เกือบทั้งหมดของกลุ่มเยาวชนที่เริ่มแรกเข้ามาเรียนรู้กับโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ล้วนคิดว่า เป็นการอบรมหรือเข้าค่ายเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนที่ผ่านมา เมื่อต้องมาทำโครงการกิจกรรมที่ออกแบบไว้จึงผิวเผิน ขาดทั้งกระบวนการคิด กระบวนการทำงาน และการใช้ข้อมูลความรู้ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาโครงการที่เน้นให้เยาวชนรู้จักชุมชนของตนเอง ด้วยการให้กลุ่มเยาวชนกลับไปศึกษาชุมชนตนเอง เพื่อค้นหาประเด็นในการทำงาน จึงเป็น “เงื่อนไขที่สร้างการเรียนรู้” ว่า การทำงานไม่ได้จบในครั้งเดียว แต่ต้องมีที่มาที่ไปอย่างสมเหตุสมผล สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง และมีการใช้ข้อมูลความรู้ ในการคิดวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข

­

3. ภาพกลุ่มแอล แพรกหนามแดงที่นำเสนอแผนที่ชุมชน

     ความคิดในการทำงานแบบอีเวนต์ ที่จัดกิจกรรมอย่างเอิกเกริกครั้งเดียวจบ จึงถูกเปลี่ยนให้เป็นการคิดออกแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ ยิ่งเมื่อกำกับด้วยความรู้เรื่องการวางแผนอย่างรัดกุม รู้เป้าหมายของงาน รู้วัตถุประสงค์ของกิจกรรม รู้กลุ่มเป้าหมายที่จะต้องทำงานด้วย “รู้วิธีการที่จะทำ” และ”คาดหวังถึงผลที่จะเกิดได้” จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านความคิดการทำงานของเยาวชนแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

     ประเด็นคือลูกบอล เพราะเป้าหมายของการทำงานคือ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน แต่การเรียนรู้นั้นต้องอยู่ที่ “ภูมินิเวศภาคตะวันตก” ประเด็นการทำงานที่หลากหลายตามสภาพภูมินิเวศ ตั้งแต่ป่าเขา จรดทะเล ที่หลากหลายตามวิถีการผลิตตั้งแต่ไร่ นา สวน ในน้ำ บนบก และหลากหลายตามวิถีชีวิตวัฒนธรรม การเลือกลูกบอลหรือประเด็นการทำงานจึงเป็นเพียงเนื้อหาที่ทำให้ทุกคนในทีมเยาวชนได้มีเรื่องราวในการเล่นร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส้มแก้ว นาเกลือ มะพร้าว น้ำตาล ดนตรี การมัดย้อม การละเล่นฟ้อนรำ การจัดการน้ำ การจัดการขยะ ฯลฯ ล้วนแต่มีกระบวนการที่อยู่บนแก่นเดียวกัน คือ กระบวนการเรียนรู้

­

4.กราฟิกภาพแผนที่ทุนชุมชนใน 4 จังหวัดภาคตะวันตก ให้เห็นแม่น้ำ ทะเล สวน

     ทีมงานค้นพบว่า แกนนำหลักของเยาวชนในแต่ละทีม คือ เงื่อนไขความสำเร็จของการเรียนรู้ เพราะเยาวชนที่เป็นคนหลักที่อยากทำโครงการ แล้วไปชวนเพื่อนๆ มาร่วมทีม จะเป็นคนที่เกิดสำนึกรับผิดชอบเป็นคนแรกๆ ในกลุ่ม และเป็นแรงขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดโครงการ แต่กระนั้นระหว่างทางของการทำงานอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต หากแกนนำหลักถอนตัว พี่เลี้ยงจะต้องสัมผัสใจ และค้นหาทีมงานคนอื่นที่สามารถลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นแกนหลักของกลุ่มให้ได้ วิธีการหนึ่งที่อ้วนใช้ คือ การรู้ภูมิหลัง ความเป็นมา วิถีชีวิตของเยาวชนแต่ละคนทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน

     “โคชต้องรู้ว่าใครจะทำหน้าที่เป็นหลักของทีมได้ เช่น กลุ่มเด็กนักถักทอชุมชนผมจะนั่งไล่ดูหมดเลยว่า ตลอดทั้งสัปดาห์หรือตลอดทั้งวันเขาต้องทำอะไรบ้าง คนที่จะรับผิดชอบหน้าที่นี้ได้คือ 1. ต้องก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง ให้น้องลิสต์ข้อจำกัดมาแล้ว ให้เขาดูว่า ข้อไหนบ้างที่เขาจะข้ามได้ ซึ่งบางคนบอกว่า ปกติหนูต้องเรียนพิเศษ แต่เพื่อให้งานเดินหน้า บางครั้ง หนูไม่ต้องไปเรียนก็ได้ หรือบางคนบอกว่า เดี๋ยวผมพาแม่ไปขายส้มเสร็จ ตอนเย็นเราคุยกันต่อได้ไหมพี่ ซึ่งแสดงว่าเขามีใจอยากทำ เพียงแต่ขอจัดการภารกิจที่มีอยู่ให้เสร็จก่อน แต่เมื่อไรที่โคชต้องคอยบอกว่า น้องต้องทำแล้วนะ ต้องรวมทีมให้ได้ แต่ไม่ได้ดูเบื้องหลังน้องว่า น้องกำลังเจออะไรอยู่ มันจะไปต่อไม่ได้” อ้วน อธิบายวิธีสังเกตความรับผิดชอบของเด็ก

­

­

5. ภาพโคชกับกำลังพูดคุยกับน้อง

ศาสตร์และศิลป์ของการหนุนเสริมและติดตาม

     การสร้างการเรียนรู้ที่เสริมพลัง (Empowerment) เยาวชนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทีมงานต้องฝึกปรือเพื่อหาจังหวะที่พอดีในการหนุนเสริม กระบวนท่า ชี้ ชง ช้อน เชื่อม เชียร์ จึงถูกเลือกมากใช้ในสถานการณ์ต่างๆ กัน

     เพราะการทำงานในระยะเริ่มต้น ที่เยาวชนยังทำงานไม่เป็นระบบ เหมือนกับการคลุกวงในที่ฝุ่นกำลังฟุ้งตลบ ย่อมทำให้กลุ่มเยาวชนมองไม่เห็นจุดที่จะต้องพัฒนา กระบวนท่าในการ “ชี้” ให้เห็นของทีมงานที่เฝ้ามองจากนอกวง จึงเป็นการสะกิดให้เห็นในสิ่งที่กลุ่มเยาวชนละเลยจะใส่ใจ บทเรียนการทำงานในกลุ่มที่มีผู้นำ-ผู้ตาม บางครั้งก็ทำให้คนนำลืมเรียนรู้บทบาทผู้ตาม และคนตามลืมเรียนรู้บทบาทผู้นำ คนเก่งลืมที่จะให้โอกาส คนที่ยังไม่เก่งก็เผลอลืมใช้โอกาสเพื่อพัฒนาตนเอง เป็นบทเรียนที่พี่ๆ ทีมงานชี้ให้เห็นระหว่างทาง

     “นำคนที่เก่งออกมา แล้วให้ดูเพื่อน 4 คนที่พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ชวนเขาคุยต่อว่าเขาเห็นอะไรบ้าง ทำให้เขาเห็นภาพเลยว่า จริงๆ แล้วเพื่อนก็พูดได้ ให้ความเห็นได้ ถ้าเขาเปิดโอกาสให้เพื่อน” อาร์ต เล่า

     อ้วน เสริมว่า เขาใช้วิธีให้ทุกคนทำกิจกรรมเวียน ทำให้เด็กที่พูดเยอะเห็นว่าตัวเองตอบไม่ได้ แต่เพื่อนตอบได้ ซึ่งเป็นเพราะตัวเขาเองที่ไม่ปล่อยให้เพื่อนตอบ และยังไม่ได้เรียนรู้ถึง “การฟัง” ที่ดี การ “ระดมความคิด” ที่เท่าเทียม

     “ผมใช้การสังเกต และจดจำว่าใครเป็นอย่างไร อย่างบางทีม มีคนที่เพื่อนมองว่าเรียนเก่ง ตอบตลอด จนเพื่อนไม่กล้าพูด เพราะกลัวผิด คิดว่าตัวเองไม่มีความรู้เท่า เราต้องดร็อปคนเก่งไว้ แล้วให้คนอื่นพูดก่อน” โด่งเพิ่มเติมเทคนิคของตน

     นอกจากนี้เมื่อเห็นพฤติกรรมบางอย่างที่สำคัญสะท้อนถึงสำนึกพลเมืองที่เกิดขึ้นที่เยาวชนอาจจะมองไม่เห็น ทีมงานจะไม่ทิ้งโอกาสในการชี้ให้เห็น เช่น เด็กวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรีที่ขับรถจักรยานยนต์จากสังขละบุรีมาไกลถึง 200 กิโลเมตร เพื่อมาผสมอาหารสัตว์ร่วมกับชาวบ้าน แล้วก็ขับรถกลับ เด็กมองไม่เห็นว่านี่คือสำนึกพลเมืองที่เกิดขึ้น หน้าที่ของโคชคือ ต้องสะกิดให้เขาเห็นว่า ที่เขาอุตส่าห์ขับรถมาไกลขนาดนี้ เพื่อใคร ครอบครัวก็ไม่ใช่ แต่เขาทำเพื่ออะไร คนในชุมชนก็เช่นกันที่นั่งรอเด็ก 2 ชั่วโมงครึ่ง กลับไม่โกรธ เราก็ชี้ว่า เห็นไหมชาวบ้านก็มีสำนึกว่าเด็กทำเพื่อตนเอง เพราะเห็นเด็กมีสำนึก ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก นี่เป็นมุมที่ต้องสังเกตพฤติกรรมแล้วหยิบขึ้นมาชี้ให้เห็นได้อย่างทันท่วงที

     การเก็บข้อมูลชุมชน เป็นไฟต์บังคับของ “การเรียนรู้ภูมินิเวศของท้องถิ่น” การทำงานอย่างมีกระบวนการจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยให้การทำกิจกรรมต่างๆ เกิดมรรคผลในเชิงการเรียนรู้ ความรู้เรื่องเครื่องมือการศึกษาและทำงานชุมชนอย่างมีส่วนร่วม จึงเป็นคลังความรู้ที่ทีมงานต้องสั่งสมไว้เรื่อยๆ และเฝ้าสังเกตอาการของกลุ่มเยาวชน เพื่อ “ชง” ให้เกิดการใช้เครื่องมือแต่ละอย่างที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะการศึกษาชุมชนโดยทั่วไปคนจะคุ้นชินกับวิธีการสอบถาม สัมภาษณ์ สังเกต สำรวจ ซึ่งมีการทำซ้ำๆ กันอยู่แล้ว แต่วิธีการดังกล่าวเป็นการเรียนรู้ของฝั่งผู้อยากรู้ ส่วนผู้ถูกสอบถาม ถูกสัมภาษณ์ มีบทบาทเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล แต่การทำงานที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ต้องสร้างสภาวะการเรียนรู้ร่วมกันให้เกิดขึ้นทั้งผู้ให้ข้อมูลและผู้เก็บข้อมูล ซึ่งทีมงานเชื่อว่า เครื่องมือการศึกษาชุมชนแบบมีส่วนร่วม เช่น การทำแผนที่เดินดิน การทำเส้นประวัติศาสตร์ชุมชน (Timeline) การทำปฏิทินการผลิต ปฏิทินวัฒนธรรมของชุมชน ฯลฯ จะเป็นสิ่งที่ปลุกการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นได้ 

­

6. แทรกภาพฟลิปชาร์ต ตัวอย่างแผนที่เดินดิน ไทม์ไลน์ ปฏิทินการผลิต แบบที่ชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแลกเลี่ยน

     “เราต้องสังเกตช่วงเวลาที่จะใส่เครื่องมือให้น้อง อย่างเด็กนักถักทอชุมชนจะใส่เครื่องมือไทม์ไลน์หรือแผนที่เดินดินตั้งแต่แรกไม่ได้ เพราะเขายังไม่เข้าใจ ต้องปล่อยให้เขาทำไปก่อน แล้วกลับมาชวนคุย พอใส่เครื่องมือไทม์ไลน์เข้าไป เด็กขึ้นเลย เขาเริ่มสนุกกับการเข้าชุมชน แต่พอจุดหนึ่งกำลังจะตก เพราะเจอแต่สิ่งเดิมๆ เราก็เติมเครื่องมือเข้าไปอีก เขาจะเห็นอย่างอื่นมากขึ้น จนฟูขึ้นมาอีก” อ้วนเล่า พร้อมย้อนทวนว่า สิ่งนี้เป็นบทเรียนจากการทำงาน ที่เคยใช้เครื่องมือดังกล่าวในการทำงานกับเยาวชน

     “ปีนี้เริ่มคิดว่าเครื่องมือไหนจะพาน้องไปได้กว้างกว่าที่เคยเป็นมา เรื่องนี้ผมก็เพิ่งได้เรียนรู้ในปีนี้ เพราะปีที่ผ่านมา พอลงพื้นที่จะเป๊ะมากว่า ครั้งนี้ต้องทำไทม์ไลน์ ครั้งนี้ต้องทำแผนที่ แต่พอลองมาทำกับเด็กเล็ก ก็คิดว่าถ้าเราใช้แบบนั้น เด็กจะไม่อิน พี่เลี้ยงในพื้นที่ก็ไม่เข้าใจ ควรให้เด็กกับพี่เลี้ยงลงชุมชนด้วยกันก่อน พอเขาพร้อมจะเดินลงชุมชนด้วยกันแล้ว ค่อยใส่เครื่องมือ เพื่อให้พี่เลี้ยงอินกับเครื่องมือแล้วนำไปใช้กับเด็ก งานจึงจะขยับต่อได้”

     ตัวอย่าง การเก็บข้อมูลสมุนไพรของทีมไทยรัฐวิทยา จากโครงการสืบสานสมุนไพรในท้องถิ่นตำบลบางแก้ว จ.สมุทรสงคราม ที่ทีมงานยอมปล่อยให้พี่เลี้ยงในพื้นที่กับกลุ่มเยาวชนไปเก็บข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน 3-4 ครั้ง จนได้แต่ข้อมูลซ้ำๆ จึงชวนให้ใช้เครื่องมือไทม์ไลน์ในการศึกษาชุมชน ซึ่งทำให้กลุ่มเยาวชนเห็นข้อมูลมากกว่าเรื่องสมุนไพร เพราะได้รู้จักชุมชนของตนเองในมิติอื่นๆ ที่สำคัญคือ ได้เห็นคุณค่าของคนในครอบครัว คือ ปู่ ย่า ตา ยายที่เป็นคลังความรู้เรื่องสมุนไพร

     “น้องจึงเห็นอะไรมากกว่าสมุนไพร เช่น รู้จักบ้านของตัวเอง เห็นคุณค่าคนในครอบครัวคือปู่ของเขาและ เห็นว่าการลงพื้นที่ของเขาทำให้ผู้สูงอายุยิ้มได้ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เด็กรู้จักใส่ใจ จนคิดต่อได้ ต่อไปเขาต้องทำเรื่องนี้” อ้วน อธิบาย

     เพราะประเด็นการเรียนรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชุมชนซึ่งไม่ได้มีมิติเดียว เหมือนการเรียนวิชาต่างๆ ที่แยกส่วนเป็นเรื่องๆ เยาวชนที่คุ้นชินกับการเรียนในสถานศึกษา มักไม่ได้สนใจถึงบริบทแวดล้อมของเรื่องราวท้องถิ่น บทบาทนายช่างใหญ่ในการ “เชื่อม” จึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกเติมเต็ม เพื่อประกอบร่างข้อมูลความรู้ให้กลุ่มเยาวชนเห็นระบบที่เชื่อมโยงกัน เป็นเหตุเป็นผล พึ่งพาอาศัยกันเกิดขึ้น มีวิธีการเรียนรู้ง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่น การหาคลิปที่เกี่ยวข้องมาให้ดู หรือพาไปศึกษาดูงานจากผู้รู้ในท้องถิ่น เป็นวิธีการที่ทำให้เยาวชนมองเห็นระบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในชุมชนมากขึ้น

     ตัวอย่างการหนุนเสริมกลุ่มเยาวชนที่ทำเรื่องเกี่ยวกับมะพร้าวที่มีอยู่ 3-4 โครงการที่เริ่มจากการให้ดูคลิปวิดีโอรายการเอสเอ็มอีตีแตก เพื่อเปิดโลกทัศน์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปมะพร้าวที่ทำให้เยาวชนตื่นเต้นและตื่นตัวกับช่องทางใหม่ๆ ในอาชีพธรรมดาที่เห็นในชุมชน ก่อนที่จะพากลุ่มเยาวชนไปศึกษาดูงานจากผู้รู้ในท้องถิ่น เป็นการเชื่อมโยงให้เยาวชนได้เห็นทั้งมิติความเป็นมาของปัญหาผ่านประวัติศาสตร์ของชุมชน สาเหตุนานัปการที่กดทับซับซ้อนในวิถีเกษตรกร ตั้งแต่การสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ที่เยาวชนไม่เคยรู้ว่าจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำกร่อยในพื้นที่ปลูกมะพร้าว จนถึงระบบบริหารจัดการที่ทำให้การประกอบอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพอิสระ ไม่เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทนขาดเหมือนในอดีต ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทั้งแง่คุณภาพและรูปแบบที่ทำให้สามารถกำหนดราคาได้เอง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการเปิดโลกใหม่ต่อวงการมะพร้าวในสายตา ความคิด และสำนึกของเยาวชน

­

7. แทรกภาพที่ไปเรียนรู้กับลุงเจี้ยว

     ด้วยวัยที่ยังเด็ก ขาดทั้งวุฒิภาวะ และประสบการณ์จึงเป็นธรรมดาของการทำงานที่มักจะพบว่า เด็กๆ เกิดอาการท้อถอยเมื่อพบปัญหาต่างๆ ที่ไม่ได้ดั่งใจ ทั้งเรื่องไม่มีเวลาว่าง ติดเรียนพิเศษ ติดกิจกรรมในโรงเรียน เพื่อนไม่ช่วย ทำไม่เป็น ผู้ปกครองไม่เข้าใจ เพื่อนไม่รับฟัง ทะเลาะกัน ฯลฯ ทำให้ในปีนี้กลุ่มเยาวชนหลายทีมมีอาการอยากขอเลิกทำโครงการกลางคัน การพากลุ่มเยาวชน “ฝ่าอุปสรรค” ที่พบจนทำโครงการลุล่วง จึงเป็นภารกิจ “ช้อน” ที่ทีมงานต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยการ “ตั้งคำถามกระตุกกระตุ้นให้เห็นถึงคุณค่า” ของงานที่ทำ และการจัดกิจกรรมที่ทำให้ได้ “ทบทวนตนเอง” จนสามารถ “ก้าวข้าม” ข้อจำกัดต่างๆ ได้

     “ต้องตั้งคำถามกับน้องตลอดว่า ทำแล้วเกิดอะไรกับตัวเอง เกิดอะไรกับชุมชนของเขาบ้าง พอถามไปๆ น้องเขาก็จะเกิดความรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องของตัวเขาแล้ว แต่มันคือภาพของชุมชน เขาจะยอมให้เสียชื่อไม่ได้” อ้วน เล่า

     โดยอาร์ต เสริมว่า บางโครงการมีสมาชิกที่แอคทีฟอยู่ และคิดว่าตนเองต้องรับภาระทำงานอยู่คนเดียว ทั้งๆ ที่เพื่อนๆ ในกลุ่มก็อยากทำ เพียงแต่ทุกคนมีภาระในชีวิตต่างกัน จึงพยายามให้กำลังใจ พอน้องมีกำลังใจ เขาก็กลับมาดีกัน นั่งร้องไห้ด้วยกัน เราก็พยายามชูให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่น้องทำ

     นอกจากการ “ช้อน” เพื่อสร้างเสริมกำลังใจแล้ว การช้อนเพื่อต่อยอดความคิด เป็นสิ่งที่ทีมงานต้องหาโอกาสกระตุกกลุ่มเยาวชนอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องหยิบสิ่งที่เยาวชนตอบมาถามต่อ เพื่อสร้างสำนึกพลเมือง แต่การจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ คำพูด เพื่อใช้จุดประกายต่อ

     “เราจะสังเกตว่า หน้าตา อารมณ์ อาการแบบนี้เรียกว่า “ขึ้นแล้ว” เช่น น้องตาเป็นประกาย แล้วอินเนอร์จะออก อยากทำอะไรต่อ ซึ่งพอเห็นอาการแบบนี้ หรือ เห็นว่าคำพูดบางคำลอยมา เราต้องรู้ว่าจะตบอย่างไรให้เข้าไปสู่เรื่องสำนึกพลเมือง” อาธเนศ เล่า

     ดังนั้นบทบาทที่ต้องแสดงออกคือ การสังเกตและคอยประคับประคองการทำงานของกลุ่มเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ทั้งการเรียนรู้เชิงประเด็นเนื้อหา และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยต้องระวังไม่ให้กลุ่มเยาวชนรู้สึก fail ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ พี่เลี้ยงจึงต้องทำหน้าที่ cheer up ให้น้องทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อไป

­

8. ภาพการทำงานกับน้องๆ แสดงให้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างโคชกับน้อง

เครื่องมือสร้างการเรียนรู้

     การวางแผนบริหารจัดการโครงการ (Project Management) เป็นเครื่องมือกำกับการทำงานด้วย”แผน” ทำให้กลุ่มเยาวชนได้คิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่จะทำและ “วางแผน” การทำงานอย่างรอบคอบ สมเหตุสมผล ซึ่งทีมงานได้ใช้เป็นเข็มทิศในการติดตามหนุนเสริมการทำงานแก่กลุ่มเยาวชน คำถามระหว่างการติดตามงานจึงเป็นการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของแผนงาน

     “สังคมไทยไม่ใช้แผนที่เขียน เพราะเราไม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้มา เราทุ่มเทเขียนแผนมาตั้งนาน เราทำ เราคิดเอง แต่เวลาทำงานกลับไม่หยิบมาใช้ ผมลงพื้นที่ทุกครั้งจะถามว่า แผนอยู่ไหน แล้วงานนี้อยู่บนแผนไหน กิจกรรมนี้อยู่ตรงไหนของแผน เพื่อให้น้องรู้ว่าเขาต้องให้ความสำคัญกับแผน หรือถ้าที่ไหนมีสัญญาณการใช้เงินแบบผิดปกติ ไม่เดินตามแผน เราจะจัดการทันที เพราะเราจะไม่ปลูกฝังนิสัยแบบนี้ไว้” อาธเนศ ให้รายละเอียด

­

­

9. ภาพแผนในการดำเนินกิจกรรมเป็นตารางที่วาดลงบนฟลิปชาร์ต

­

     เวทีเรียนรู้นับ 1-5 เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมของเยาวชนที่ร้อยเรียงตามลำดับขั้นตอนของการทำโครงการ โดยทุกครั้งที่จัดเวทีมีการสอดแทรกการฝึก ทักษะการฟัง พูด คิด ถาม เขียน และความกล้าแสดงออกตลอดจนแนวคิดเรื่องสำนึกพลเมือง ให้แก่เยาวชน

  • กิจกรรมนับ 1 สร้างสำนึก ปลุกพลเมือง มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนได้รู้จักโครงการ และได้ทบทวนว่าบ้านของตนเองมีอะไร โดยให้เครื่องมือการศึกษาชุมชน และเชื่อมโยงกับความรู้ภาพใหญ่ในเรื่องระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำภูเขาภาคตะวันตก แม่น้ำแม่กลองไปจนถึงปลายน้ำอ่าว ก.ไก่ การตั้งถิ่นฐานของผู้คน วิถีวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในภูมิภาคตะวันตก
         “เพื่อให้เด็กมีข้อมูลพื้นที่ รู้จักพื้นที่ รู้จักผู้รู้ในชุมชน เพราะปีนี้มีเด็กนอกพื้นที่เยอะ เขาไม่รู้จักชุมชน และบริบทที่เขาจะทำงานเลย นี่จึงเป็นโจทย์ยากของเรา จึงต้องทำให้น้องอินกับพื้นที่ ไปสานสัมพันธ์ เพื่อเดินโครงการต่อให้ได้” อ้วน อธิบายแนวคิดของกิจกรรมนับ 1
  • กิจกรรมนับ 2 ยั่วให้คิด ยุให้ทำ มีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้เครื่องมือการวางแผนทำโครงการ (Project Management) ฝึกคิดวิเคราะห์และวางแผนงานเพื่อเขียนโครงการ (Proposal) แต่เนื่องจากกลุ่มเยาวชนและพี่เลี้ยงพุ่งเป้าไปที่การเขียน Proposal บทเรียนจากเวทีนี้จึงกลายเป็นการลดทอนความเข้มข้นของการสร้างสำนึกพลเมืองจึงไม่ได้ตามเป้าหมาย
  • กิจกรรมนับ 3 รู้สิทธิ รู้หน้าที่ คนต้นเรื่องทำดีเพื่อสังคม มีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มความรู้เรื่องสิทธิพลเมือง และการทำกิจกรรมจิตอาสา พร้อมทั้งทำสัญญาเพื่อกระจายทุน ก่อนที่กลุ่มเยาวชนจะแยกย้ายกันไปทำโครงการของตนเอง โดยมีพี่ๆ ทีมงานคอยติดตามถามไถ่ ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม และเสริมเครื่องมือการทำงานที่จำเป็น

        “สิ่งที่ผมจับหลักได้และคิดว่าจำเป็นมากคือ ช่วงของการตั้งไข่ หรือช่วงแรกที่น้องเริ่มงาน หัวใจคือ เราต้องให้น้องสัมผัสอะไรบางอย่าง เลยจัดกิจกรรมจิตอาสาพาน้องๆ ไปล้างห้องน้ำที่วัด จากนั้นกลับมาถอดบทเรียนว่าเขาได้เรียนรู้อะไรจากส่ิงที่ทำ กระตุกให้เขาเห็นคุณค่าของตนเองและประโยชน์จากการทำงานเพื่อส่วนรวมที่ต้องก้าวข้ามความรู้สึกบางอย่างให้ได้ หลังจากนั้นจึงเริ่มให้น้องทำโครงการ” อาธเนศกล่าว

­

  • กิจกรรมนับ 4 Check Point พลเมือง มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการทำโครงการ และสร้างการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเยาวชน โดยให้คละทีมแล้วทำกิจกรรมร่วมกัน การได้รับรู้ความก้าวหน้าในการทำงานของเพื่อนกลุ่มอื่นๆ การได้ครุ่นคิดทบทวนตนเองกลายเป็นแรงผลักที่กระตุ้นให้กลุ่มเยาวชนที่ดำเนินงานล่าช้าเกิดความกระตือรือร้นในการทำงานของตนมากขึ้น
  • กิจกรรมนับ 5 Citizen’s Network และการมองโลกและสังคมเชิงระบบ (Systems Thinking) มีเป้าหมายเพื่อถอดบทเรียนเติมความรู้จากการลงมือปฏิบัติ และสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมท้าทายความคิดเชื่อมโยงให้ได้ ว่า “ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ส่งผลกระทบอย่างไรต่อผืนป่าภาคตะวันตกและน้ำทะเลอ่าวไทย” เพื่อให้เยาวชนได้คิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงสิ่งสามัญในชีวิตประจำวัน สู่บริบทแวดล้อมที่กว้างใหญ่ 

­

10. แทรกภาพอินโฟ 5 นับ

     การมาเรียนรู้ร่วมกันของเยาวชนต่างพื้นที่ เชื่อมร้อยความสัมพันธ์กลายเป็นเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคตะวันตก กิจกรรมเวทีเรียนรู้ทั้ง 5 ครั้งจึงเป็นกิจกรรมที่ร้อยเรียงเรื่องราวการเรียนรู้คู่ขนานกับการ”ลงมือทำงานจริง”ของกลุ่มเยาวชน เป็นเสมือนการก่ออิฐที่ละขั้นๆ จนเห็นภาพสิ่งก่อสร้างสมบูรณ์ในท้ายสุด

     ตารางวิเคราะห์การเรียนรู้จากการทำโครงการของเยาวชน เป็นเครื่องมือที่ทีมงานแต่ละคนทำการวิเคราะห์เยาวชนเป็นรายบุคคล และบันทึกการเรียนรู้ พัฒนาการที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการของกลุ่มเยาวชนที่ตนดูแล นอกเหนือจากการเล่าสู่กันฟังถึงความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคที่พบระหว่างการทำงาน ต่อที่ประชุมของทีมที่จัดขึ้นเดือนละ 2 ครั้ง

­

ตัวอย่างตารางฯ

ตารางวิเคราะห์การเรียนรู้จากการทำโครงการของเยาวชน

     การเก็บข้อมูลรายโครงการทำให้ทีมงานได้เห็นความก้าวหน้าของการทำงาน การใช้งบประมาณ และคิด วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำของกลุ่มเยาวชน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนแต่ละคน พร้อมทั้งคิดวิธีการหนุนเสริมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละโครงการ

      “ผมจะจดพฤติกรรมเด็กรายคน เพื่อจัดให้ทุกคนได้พูดตอนถอดบทเรียน ให้เด็กทุกคนสามารถเดินไปด้วยกันได้ เพราะมีบทเรียนจากปี 1 ที่ทั้งทีมมีน้องเก่งโดดเด่นขึ้นมาคนเดียว พอปี 2 จึงเห็นว่าให้เก่งคนเดียวไม่ได้ แต่ละมีวิธีอะไรทำให้ทั้งทีมเดินไปด้วยกันได้ แม้คนที่เก่งต้องชะงัก ก็ต้องทำ” อ้วน เล่า โดยยอมรับว่า การศึกษาพฤติกรรมของเยาวชนรายคนทำให้เห็นช่องทางในการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชน ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วว่า พฤติกรรมของเยาวชนเป็นอุปสรรคในการทำงาน และเกินกว่าที่จะจัดการเองได้ ก็จะมีการหารือร่วมกับอาธเนศเพื่อหาทางจัดการร่วมกันต่อไป

      “การวิเคราะห์โครงการให้ทีมงานทำรายงานสะท้อนมา บางทีประชุมทีมเดือนละ 2 ครั้ง ให้เขาเล่า ว่า ทีมนี้ก้าวหน้าอย่างไร หรือเวลานั่งรถไปทำงานก็ให้เล่าให้ฟังว่าทีมนี้ก้าวหน้าไปอย่างไร อย่างบางทีมที่เขาเล่าว่า น้องไม่มีเวลา รถไม่มี เดินทางไม่สะดวก ผมรู้เลยว่าน้องยังไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร ผมจะลงไปคุยเอง ซึ่งไม่ใช่แค่คุยกับเด็ก แต่คุยกับชาวบ้านให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขามีคุณค่าอย่างไร และจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อการทำงานของเด็ก” อาธเนศ บอกเล่าวิธีตามงานทีมงานและวิธีหนุนเสริมกระบวนการทำงานของเด็กเยาวชน

      การถอดบทเรียน คือ หัวใจของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ เพราะเชื่อมั่นว่า การเรียนรู้จากการลงมือทำ จะสร้างประสบการณ์ตรงให้กับเยาวชน การถอดบทเรียนจึงเป็นการ ”กด save” ประสบการณ์ที่เยาวชนได้ทำงานจริงแล้ว สำเร็จหรือไม่สำเร็จ เจอปัญหาแล้วแก้ไขอย่างไร หรือทำอย่างไรจึงจะทำได้ดีขึ้น บันทึกไม่ให้ประสบการณ์นั้นผ่านเลยไปแต่ให้ตกตะกอนกลายเป็นความรู้เชิงกระบวนการทำงานที่จะติดตัวเป็นนิสัย สามารถนำไปปรับการทำงานให้ดีขึ้นต่อไป

      คำถามพื้นฐานในการถอดบทเรียนจากการทำงานจริงเป็นคำถามที่ไม่ซับซ้อน เช่น กิจกรรมวันนี้มีวัตถุประสงค์อย่างไร ทำอะไร ทำอย่างไร ทำแล้วจะได้อะไร ผลที่เกิดตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าไม่ตรงแล้วจะปรับอย่างไรให้การทำงานในครั้งหน้าดีขึ้นกว่าเดิม แต่เคล็ดลับสำคัญคือ “ฟัง” แล้วต้อง “ถามต่อ” จาก สิ่งที่เยาวชนตอบ เพื่อยกระดับความรู้ ซึ่งเป็นเทคนิคของพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วระดับหนึ่ง ต้องเห็นภาพการทำงานจริงและสามารถหยิบทักษะที่น้องเกิดขึ้นมาทบทวนถอดเป็นความรู้

      ดังเช่นอาร์ตเล่าว่า เขาใช้ประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมเวทีล้วนๆ แต่พอได้คุยกับน้อง 2-3 ครั้ง เริ่มเห็นกรอบบางอย่างในการสรุปบทเรียนให้มีทิศทาง โดยไม่สามารถใช้กระบวนการ คำถามแบบเดิมเพราะน่าเบื่อและน้องอาจจะตอบไม่จริง

      เกมการเรียนรู้ คือ เครื่องมือสำคัญที่ใช้คลี่คลายทั้งปัญหาการบริหารจัดการงานและความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเยาวชน เพราะแม้จะเป็นการทำงานโครงการอย่างจริงจัง แต่กระบวนการในการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนคงไม่พ้นเรื่องสนุกๆ ให้ได้เคลื่อนไหว โดยสอดแทรกวิธีคิดที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ อ้วนซึ่งเป็นคนที่ชอบออกแบบเกมสร้างการเรียนรู้ บอกว่า “เกมส่วนใหญ่คิดบนพื้นฐานของปัญหาที่พบจากการทำงานของน้องๆ หรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปัญหาแล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล เพื่อออกแบบเกมให้เข้ากับสถานการณ์”

      ตัวอย่างการออกแบบเกมเศรษฐี เพื่อใช้แก้ปัญหาการทำงานในกลุ่มเยาวชนโครงการรวมพลังสร้างสรรค์มะพร้าวชุมชน ซึ่งในขณะนั้นเยาวชนกำลังเกิดปัญหาขัดแย้งภายในทีม จึงได้จัดทำเกมเป็นช่องตารางให้แกนนำแต่ละคนเดิน ตามสถานการณ์ที่ต้องเผชิญในแต่ละช่องที่มาจากสถานการณ์ปัญหาจริงที่ทีมงานพบเจอจากการทำโครงการและให้แต่ละคนที่เดินมาถึงคิดวิธีแก้ปัญหา กติกาหลักของเกม คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้สมาชิกทุกคนถึงเส้นชัยพร้อมกัน โดยอุปสรรคในตารางบางช่องมีโจทย์ให้ตัดสินใจว่าจะเลือกเดินต่อโดยไม่รอเพื่อน หรือยอมโดนทำโทษ ให้อยู่ในช่องเดิม เพื่อรอเพื่อนมาถึงแล้วเดินเข้าเส้นชัยพร้อมกัน กิจกรรมทำโทษ เช่น กระโดดตบ ปั่นจิ้งหรีด เป็นต้น

      “ระหว่างเล่นเกมแล้วต้องเดินไปเจออุปสรรคแต่ละช่อง อุปสรรคจะช่วยให้น้องได้คิด โจทย์บางช่องฝึกให้เกิดความเสียสละ บางช่องกระตุ้นด้วยการบอกว่าอนุญาตให้พี่เลี้ยงเข้ามาช่วยได้ แต่กิจกรรมที่จะให้พี่เลี้ยงเข้ามาช่วยจะเป็นกิจกรรมที่ยากมากต้องใช้เวลาทำจึงจะสำเร็จ หมายความว่า ณ เวลานั้นพี่เลี้ยงก็คงช่วยอะไรไม่ได้ ผลจากการเล่นเกม เราเห็นเลยว่าน้องทั้งหมดยอมโดนทำโทษเพื่อรอเพื่อน เราเลยได้สรุปบทเรียนกับน้องๆ ว่าในเกมทุกคนยอมเสียสละเพื่อรอให้ทีมไปถึงเส้นชัยพร้อมกัน แล้วในการทำงานจริงเราพร้อมที่จะเสียสละแบบนี้หรือไม่ เกมนี้จะทำให้น้องๆ และพี่เลี้ยงเห็นว่าแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่อย่างไร แล้วจะช่วยกันได้อย่างไร” อ้วน เล่าประเด็นการเรียนรู้จากเกม

      ตัวอย่างคลาสสิกของปัญหาการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ที่สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมีวิธีการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน มีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่ต้องทำให้รู้เท่าๆ กัน เพื่อการทำงานจะได้ราบรื่น อ้วนใช้กิจกรรมเกม 6 เหลี่ยมปัญหา โดยมีเก้าอี้ 6 ตัว หันหลังชนกัน เก้าอี้แต่ละตัวมีคำถามเกี่ยวกับชุมชน และเรื่องที่น้องทำติดอยู่

      “วิธีการเล่นคล้ายเก้าอี้ดนตรี แล้วให้น้องสุ่มตอบคำถาม ซึ่งบางคนรู้ บางคนไม่รู้ คนพูดเก่งพอเจอคำถามยากๆ บางข้อก็ตอบไม่ได้ เพราะพูดอย่างเดียวไม่เคยจด ส่วนคนที่ตอบได้ คือพวกที่ไม่ค่อยพูดแต่จด พอวนรอบแรกเสร็จจะเห็นว่าใครรู้อะไรไม่รู้อะไร แล้วดึงกลับมาถอดบทเรียนกันก่อนว่าเป็นอย่างไร น้องก็สะท้อนว่าตอบไม่ได้ ไม่รู้ จากนั้นให้ลองอีกรอบหนึ่ง คราวนี้เดินเลือกคำถามที่อยากตอบที่สุด ซึ่งจะเป็นข้อที่เขารู้ พอตอบก็จะตอบเยอะ แล้วดึงกลับมาถอดบทเรียนอีกรอบ เราจะชี้ให้เห็นข้อจำกัดว่า แต่ละคนตอบเฉพาะสิ่งที่ตัวเองรู้ จึงตั้งคำถามกับน้องว่า แล้วทำอย่างไร ให้ความรู้ทุกข้อเป็นความรู้ของพวกเรา น้องก็ตอบทันทีว่าต้องมาคุยก่อน ให้ทุกคนได้เขียน พอมีข้อมูลมาก น้องจะเห็นแล้วว่างานสามารถเดินต่อได้อย่างไร” อ้วน ยกตัวอย่างเพิ่มเติม พร้อมเฉลยว่า เกมที่เล่นสนุกจะสร้างการเรียนรู้ได้ต้องมีการถอดบทเรียนจากการเล่น สู่การเรียนรู้ให้เป็น

­

ปลุกความกล้า สร้างเงื่อนไขให้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของโครงการ

      จากบทบาทของเด็กและเยาวชนที่ชีวิตอยู่ในกำมือของผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด หลายๆ เรื่องในชีวิตจึงถูกลิขิตโดยผู้อื่น แม้กระทั่งกิจกรรมการเรียนรู้ที่มักถูกสอน ถูกสั่งอยู่เป็นอาจิณ เมื่อก้าวเข้าสู่การทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เยาวชนทุกคนสัมผัสถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะบรรยากาศการเรียนรู้คือ กระบวนการที่เน้นให้ต้องคิดเอง ทำเอง ที่แรกๆ เยาวชนต่างอึดอัด เพราะไม่ชินเคยอยู่แต่ในกรอบของการทำงานที่คนอื่นคิดแล้วสั่งให้ทำ จึงปราศจากความกล้าใดๆ ทีมงานจึงต้องสร้างเงื่อนไขกระตุ้นต่อมความกล้าให้เยาวชนเริ่มลงมือ

     “คำว่า “สร้างเงื่อนไข” เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้คือ คนที่เป็นพี่เลี้ยงต้องเป็นคนสร้างเงื่อนไขให้เด็กลงชุมชนได้ไปเรียนรู้ แล้วต้องสร้างเงื่อนไขอีกว่า ทำอย่างไรให้เขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เวลาทำงานจึงต้องดูว่า เงื่อนไขแบบนี้ต้องออกแบบอย่างไร ซึ่งบางทีมไม่จำเป็นต้องมากครั้ง พี่เลี้ยงเช็ตระบบ เช็ตกลไก เซ็ตโอกาสแล้วจุดประกายให้เด็กรับผิดชอบลงมือทำ” อาธเนศ เล่า

      โดยมีอ้วน ยกตัวอย่างเสริมว่า การสร้างเงื่อนไขไม่จำเป็นต้องบ่อยครั้ง แต่ช่วงระหว่างรอน้องจัดกิจกรรมต้องมีการคุย มีการติดตามเพื่อให้น้องรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ เช่น ทีมส้มแก้วจากโครงการส้มแก้วต้อง STRONG ซึ่งรวมตัวกันยากมาก จัดกิจกรรมยากมาก ก็ต้องดูว่าในทีมมีน้องเป็นแกนหลัก 2 คน เราต้องเรียกคุยแล้วปล่อยการบ้านให้คิดว่า เดี๋ยวอีกสองเดือนเจอกันนะ พี่อยากรู้ว่าเราจะได้คำตอบไหม หลังจากนั้นคุยไลน์อย่างเดียว ถามว่า ถึงไหนแล้วๆ คุยกับทีม อบต.บ้าง กำนันบ้าง กับน้องบ้าง พอถูกถามบ่อยๆ เขาจะจัดกันเองว่า ช่วงไหนจะทำกิจกรรมอะไร

      อย่างไรก็ตามอ้วนเล่าว่า การติดตามงานจากทีมเด็กใช่ว่าจะราบรื่น เพราะโดยส่วนใหญ่เด็กจะนิ่งๆ ไม่ขยับทำอะไร ก็จะทิ้งระยะห่างสักพัก แล้วจึงเริ่มใส่เงื่อนไขว่า ถ้าไม่ทำจะเจออะไร

      “ถ้าน้องไม่ทำ ไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่จะคุยกับอาธเนศให้ก่อนว่าน้องติดข้อจำกัดอะไร พอบอกแบบนี้ เราต้องการให้เขารู้ว่า เราในฐานะพี่เราต้องเจออะไร แล้วสุดท้ายน้องเขาก็จะรู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ทำ พี่อ้วนจะเดือดร้อน” อ้วน เฉลยท่าไม้ตาย

      “แต่เมื่อผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้ ให้ได้สัมผัสกับผลจากการลงมือทำจึงกลายเป็นความติดอกติดใจ อยากรู้เรื่องราวชุมชนของตนเพิ่มขึ้น น้องบางคนถึงกับบอกว่า เห็นบรรยากาศของชาวบ้านที่มาคุยด้วย รู้สึกดีใจที่ชาวบ้านอยากเล่า น้องก็รู้สึกสนุกกับคำบอกเล่าของชาวบ้าน” อาร์ตเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเยาวชน

­

กระบวนการสร้างพี่เลี้ยง ระหว่างทางการเรียนรู้

      การส่งเสริมเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงศักยภาพในตนเอง ต้องใช้พลังของการหนุนเสริมจากผู้ใหญ่ในหลายระดับ การทำงานในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ก็เช่นกัน ที่โครงสร้างการทำงานต้องมีทั้งพี่เลี้ยงซึ่งเป็นทีมงานของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ และพี่เลี้ยงพื้นที่ของเยาวชนในชุมชน(ที่ปรึกษาโครงการ) ซึ่งต้องมีการสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับกลุ่มเยาวชน 

­

11. แทรกภาพกลไก 4 ระดับ (จากพาราโบลา กลไกการจัดการในองค์กรเพื่อพัฒนาการทำงานของโคช)

­

12. ภาพวงประชุมพี่เลี้ยง

­

กระบวนการสร้างพี่เลี้ยงพื้นที่

      พี่เลี้ยงพื้นที่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับกลุ่มเยาวชนมากที่สุด เพราะมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาโครงการของเยาวชน โดยมีที่มาเช่นเดียวกับฐานที่มาของกลุ่มเยาวชนคือ ชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย/วิทยาลัย อบต. ทีมงานจึงจัดเวทีสำหรับเลี้ยงพื้นที่เป็นการเฉพาะระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมนับ 1 เพื่อชี้แจงเป้าหมายของโครงการและการวางบทบาทการทำงานของพี่เลี้ยงพื้นที่ที่ต้อง “หนุน” การทำงานของกลุ่มเยาวชน และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ “คิดเองทำเอง” ซึ่งก็มีผลลัพธ์ในยามปฏิบัติการจริงในพื้นที่แตกต่างกันไปตามการตีความของพี่เลี้ยงแต่ละราย

     พี่เลี้ยงบางส่วนตีความการหนุน คือ การปล่อยให้กลุ่มเยาวชนทำกิจกรรมกันเอง โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

      พี่เลี้ยงบางส่วนตีความการหนุน คือ การช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง จนเยาวชนแทบไม่ต้องทำอะไรเอง

      พี่เลี้ยงบางส่วนตีความการหนุน คือ การเฝ้ามอง ไถ่ถาม ร่วมกิจกรรม ช่วยเหลือในสิ่งที่เกินกำลังของเยาวชน

      ความเข้าใจหลากหลายทำให้กระบวนท่าในการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนแตกต่างกันออกไปตามความเข้าใจ น้าแมว-นิภา บัวจันทร์ พี่เลี้ยงในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตั้งแต่การทำวิจัยโครงการ Child Watch จนถึงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ได้ถอดบทเรียนการทำหน้าที่พี่เลี้ยงของกลุ่มเยาวชนในชุมชน โดยย้ำความสำคัญของการตั้งคำถาม การเปิดพื้นที่การเรียนรู้

     “ทำงานกับเด็กต้องเน้นว่าเขาต้องได้ดั่งใจเขา ต้องเป็นทั้งคุณอำนวย คุณอวยพร คุณโอกาส ไปพร้อมกัน อวยพรคือ ให้กำลังใจ ชื่นชมในสิ่งที่เยาวชนทำ โอกาส คือ เปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือว่าเขาทำได้แค่ไหน ส่วน อำนวยคือ ต้องการอะไรบ้าง อาหาร สถานที่ อุปกรณ์แม้กระทั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขาอยากได้เพื่อทำนั่นทำนี่ ก็ต้องยกเครื่องไปลงโปรแกรมใหม่ แต่ต้องมีกฎเกณฑ์ว่า ทำได้มากน้อยแค่ไหน ทำเสร็จแล้วต้องเก็บเข้าที่เดิม เด็กพวกนี้ต้องมีวินัย มีขอบเขตให้เขาด้วย เพื่อให้เขาเรียนรู้ได้สุดตัว”

      น้าแมวย้ำว่า การเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนไม่ใช่แค่การดูแล แต่ต้อง “สร้างกระบวนการ” เช่น นำงานที่ผู้ใหญ่ทำ มาล่อเด็ก วันนั้นจัดกิจกรรมมัดย้อม ระหว่างรอเขาก็เห็นว่า ผู้ใหญ่นั่งจักสานซึ่งเขาไม่เคยเห็นมาก่อน เลยไปลองสานดูบ้าง ส่วนผู้สูงอายุเมื่อเห็นเด็กทำผ้ามัดย้อมก็จะเริ่มเผยภูมิปัญญาของตนเอง ว่า พืชอะไร ส่วนไหนให้สีอะไร ซึ่งคือ การบอกเล่าภูมิปัญญาผ่านกิจกรรมที่ตนเองทำอยู่ ปรากฏว่า ผู้ใหญ่สลับมาลองทำมัดย้อม เด็กไปจักสาน เกิดงานไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้

      การทำงานชุมชนในยุคสมัยที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อความคิด บางพื้นที่เป็นชุมชนที่ผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่มีความขัดแย้งกัน แต่การขับเคลื่อนงานก็ยังเป็นไปได้ พี่แมวเล่าประสบการณ์ที่เคยผ่านพบว่า ต้องให้เยาวชนเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยพี่เลี้ยงเป็นตัวช่วยทำหน้าที่แนะนำแต่ไม่ต้องออกหน้าว่า ควรจะทำอะไร ควรเข้าหาใครในลักษณะไหน ซึ่งเมื่อเยาวชนเป็นผู้ดำเนินการเองก็จะสามารถ ”เชื่อมผู้ใหญ่” ได้ทั้งสองฝ่าย

      ในอีกมุมของการทำงานกับคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ อบต.ที่เป็นนักถักทอชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มพี่เลี้ยงกลุ่มใหม่ในปีนี้ ซึ่งมีนักถักทอชุมชนเข้าร่วมเรียนรู้ ทั้งมาด้วยตนเอง และไปชวนครูในพื้นที่มาเป็นพี่เลี้ยงร่วม การทำงานของทีมงานจึงต้องสร้างการเรียนรู้ถึงบทบาทของพี่เลี้ยงให้กับนักถักทอชุมชนและครูในพื้นที่ผ่านการทำงานร่วมกัน

      “ช่วงแรกๆ เขาเข้าใจว่า การเอื้อคือการปล่อย คือนัดเด็กให้เรา พอพี่เลี้ยงในโครงการไปแล้วฉันถอย ฉันไม่ทำแล้ว พอครั้งที่ 2 ที่ 3 เราเริ่มเกิดคำถามแล้วว่า ถ้าเราไม่อยู่เขาจะทำต่อได้ไหม เพราะเราทำแบบหนึ่ง แต่เขาชวนเด็กทำอีกแบบหนึ่ง แยกกันไปแยกกันมาไม่มาบรรจบกันสักที เลยชวนเขามาฟังเด็กสรุปบทเรียนด้วยกันว่า เด็กเห็นอะไรจากกระบวนแบบนี้ หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มทำกับเด็กเอง” อ้วน เล่า

      ทีมงานยอมรับว่า ผลของการทำงานในส่วนของการสร้างพี่เลี้ยงพื้นที่ในปีนี้อาจไม่ได้ดั่งที่คาดหวังไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยเงื่อนไขของการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นครูในโรงเรียน อาจารย์ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ อบต.ที่เป็นนักถักทอชุมชน หากไม่ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในระหว่างการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชน ก็จะไม่เข้าใจว่า การจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้นั้นเป็นอย่างไร นี่จึงกลายเป็นเป้าหมายที่ทีมงานตั้งใจจะสานต่อ เพื่อให้มีผลงานเด่นชัดในปีต่อไป 

­

กระบวนการพัฒนาพี่เลี้ยงทีมงานโครงการ

      ด้วยการบริหารจัดการภายในทีมงานโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ที่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรบ่อย ทำให้ต้องมีการถ่ายทอดความรู้ สร้างทักษะ และประสบการณ์ให้แก่ทีมงานรุ่นใหม่ โจทย์การพัฒนาบุคลากรภายในทีมจึงเป็นโจทย์ซ้อนของการทำงานในปีนี้ เพราะนอกจากเยาวชนแล้ว “พี่เลี้ยง” ที่จะเป็นกลไกการจัดการของหน่วยพัฒนาเยาวชนในจังหวัด คือเป้าหมายการสร้างคนให้กับพื้นที่ภาคตะวันตก การประชุมเดือนละ 2 ครั้งคือ เวทีสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในทีม ควบคู่กับการลงมือเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและการประคับประคองจากรุ่นพี่เป็นวิถีทางในการสั่งสมประสบการณ์ บรรยากาศการทำงานและถ่ายทอดความรู้ จึงเป็นการนำปัญหาที่พบระหว่างการทำงานจริงในพื้นที่มาปรึกษารุ่นพี่

      “การปรึกษาปัญหาการทำงานทั้งก่อนและหลังลงพื้นที่ พอทำแล้วผิด กลับมาปรึกษา แล้วไปลงมือทำจริง ทำให้เข้าใจได้ไวจากการลงมือทำ” อาธเนศเล่า

      ในขณะเดียวกัน “ความใฝ่รู้” ของทีมงานก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น การอ่านหนังสือ สืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางหาความรู้เชิงประเด็น เสริมจากการที่อาธเนศจัดเงื่อนไขให้ได้รับฟังผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ เช่น คุณสุรจิต ชิรเวทย์ คุณเดช พุ่มคชา ป้าทองคำ เจือไทย ที่คอยถ่ายทอดรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่ ภูมินิเวศท้องถิ่น และตั้งคำถามท้าทายความคิดและการทำงานเป็นการหลอมความคิดให้เกิดความตระหนัก รู้สึกรู้สาถึงความเป็นไปของแผ่นดินเกิด

      ทีมงานได้ร่วมกันถอดบทเรียนว่า บทบาทที่ต้องหนุนเสริม เติมพลังให้กับกลุ่มเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้กลเม็ดเคล็ดลับในการทำงาน ทั้งการยอมปล่อยให้กลุ่มเยาวชนเผชิญเหตุการณ์ความไม่สำเร็จเพื่อสร้างบทเรียน บางครั้งก็ต้องสร้างเงื่อนไขให้ประสบเหตุที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่พี่เลี้ยงรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ในงานโคช

      การสร้างเงื่อนไขให้ทีมงานใหม่ได้ลงมือทำแล้วถอดบทเรียน เป็นการสร้างการเรียนรู้ภายในทีมที่จำเป็น เช่นเดียวกับการเรียนรู้ของเยาวชน อ้วน เล่าถึงวิธีสอนงานทีมงานรุ่นใหม่ ซึ่งระหว่างที่รุ่นน้องลงมือทำกระบวนการกับกลุ่มเยาวชน รุ่นพี่ก็ต้องนั่งสังเกตการณ์ เมื่อจับอาการได้ว่า รุ่นน้องทำไม่ได้ จึงจะเข้าไปเติมเต็ม “วิธีการโคชน้อง จะสังเกตว่า ทุกครั้งที่นั่งรถไปทำกิจกรรมร่วมกันจะถามเสมอว่า ครั้งนี้คุณได้เรียนรู้อะไร ซึ่งติดมากจากที่อาถามเราตลอดว่า วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่คุณเห็นคืออะไร เห็นวิธีที่พี่ทำไหม สิ่งที่พี่ทำสื่ออะไร ถ้าคุณต้องทำคุณต้องปรับอะไรอย่างไร เราจะคุยกันแบบนี้ตลอด แล้วน้องเขาก็ refection ออกมา เมื่อถึงเวลาจึงเปิดพื้นที่ให้น้องได้ลองทำ แต่เราต้องมีแผนสำรองไว้ด้วยว่า ถ้าเขาทำไม่ได้เราจะทำอย่างไรต่อ ไม่ใช่อยู่ๆ โยนให้ทำเลย แต่เราจะคุยกันถึงเป้าหมายว่า วันนี้จะทำประมาณไหน เค้าร่างแบบนี้พอจะไปได้ไหม ถ้าเป็นไปได้ลองทำเลย”

      “จุดตัดสินใจว่าต้องเข้าไปช่วยคือ น้องก็มึน เด็กก็มึน เมื่อเห็นน้องเริ่มกระสับกระส่าย ส่งสัญญาณว่าไม่ไหวไปต่อไม่ได้ นั่นคือ นิ่ง ทิ้งเวลาไว้นานจนเด็กเริ่มรู้สึก ช่วงแรกก็จะเดินเข้าไปกระซิบก่อนว่า ทำแบบนี้สิ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็จะหาจังหวะเข้าไปช่วย เพื่อไม่ทำให้เขาเสียกำลังใจ โดยไม่ได้ไปรื้อสิ่งที่เขาทำ แต่เข้าไปเติมให้จบให้ลงเท่านั้น”

      เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น ทีมงานทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ต่างยอมรับว่า ต้องการการเติมเต็มความรู้ ทักษะอย่างสม่ำเสมอ โดยในปีที่ผ่านมา การเติมเต็มความรู้จากการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล และเสมสิกขาลัยด้วยการอบรมหลักสูตรวิทยากรกระบวนการ การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย การออกแบบการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ทักษะการนำกระบวนการเรียนรู้ การฟัง การตั้งคำถาม การสรุปบทเรียน และได้รวบรวมคลังกิจกรรม ทำให้ทีมงานเข้าใจสิ่งที่จะทำไปในทิศทางเดียว

­

13. แทรกภาพอบรมจากเสมฯ

     “กระบวนการฝึกอบรมมันดีมาก มันทำให้ทีมเราคุยกันเข้าใจว่า ถึงตอนนี้ เราหมายถึงอะไร ถ้าเราจะทำกระบวนการแบบนี้มันต้องเติมอะไร ซึ่งช่วยให้ทีมงานพัฒนาขึ้นเยอะ ส่วนเรื่องประสบการณ์ต่างกันมันก็ธรรมดา แต่อาร์ตกับอ้วนเขาก็ไปเทรนน้องต่อ ทำให้น้องมีพัฒนาการดีขึ้น” พี่พวง สะท้อน

     โดย อ้วนเสริมว่า ตอนไปอบรม มีภาพในหัวมาเลยว่า กิจกรรมแบบนี้เราจะเอาไปใช้กับเด็กต่อได้อย่างไร ยิ่งมีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามามากเท่าไรยิ่งมีภาพในหัวเยอะขึ้น เลยรู้สึกสนุก คลิ๊กเลย

     “ตอนแรกๆ เวลาถูกส่งไปอบรมที่ไหนไม่อยากมาเลย คิดว่ารู้แล้ว ยังจะให้เข้าอบรมอีกหรือ พอมาทำงานที่นี่สิ่งที่อาธเนศจะบอกตลอดคือ อายุเท่านี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเราเป็นใครที่จะไปแอนตี้เรื่องนี้ ช่วงหลังพอถูกส่งไปอบรมที่ไหน เปิดรับหมด แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการไปอบรมคือ หัวหน้าเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้ได้ใช้ความรู้นั้นหรือไม่ ซึ่งโชคดีที่อาธเนศเปิดโอกาสให้ผมได้ลองทำทุกครั้ง” อ้วนเสริม โดยเล่าเพิ่มเติมถึงเทคนิคในการปรับใช้ความรู้จากการอบรมวิทยากรกระบวนการว่า ทุกครั้งที่ไปอบรมจะพยายามหาว่า เบื้องหลังของวิธีการที่ได้เรียนรู้คืออะไร เพื่อให้เข้าใจแก่นของเนื้อหา ซึ่งจะง่ายแก่การนำมาประยุกต์ใช้ วิธีการนี้จึงติดตัวกลายเป็นเครื่องมือในการทำงานกับเด็กที่ทำให้สนใจว่า เบื้องหลังของเยาวชนคืออะไร

     อ้วน ย้ำว่า พอเข้าอบรมเรื่องฝึก “การฟัง” ยิ่งทำให้เราต่างจากปี 1 ที่มุ่งแต่จะเอางานของเรา ขณะที่ปี 2 เราจะนิ่งฟังก่อนว่า น้องจะทำอะไรบ้าง แล้วค่อยปรับ คือ เป้าหมายของโครงการก็สำคัญ แต่ต้องอยู่ข้างหลังสิ่งที่เด็กอยากทำ จึงทำให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของเด็กเยอะขึ้น

­

โคชเหนือโคช

     ในชั้นของการทำงานที่เหนือขึ้นไป ทีมงานยังได้รับการหนุนเสริมแนวคิด และมุมมองจากคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการเช่น คุณสุรจิต ชิรเวทย์ คุณเดช พุ่มคชา ป้าทองคำ เจือไทย ที่ทั้งให้ความรู้ กำลังใจ และกระตุ้นด้วยคำถามเพื่อยกระดับการทำงานของทีมงานอย่างสม่ำเสมอ โดยมีอาธเนศ เป็นผู้กุมสภาพการขับเคลื่อนโครงการทั้งหมดไปพร้อมๆ กับการทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพของทีมงานที่วันนี้มีเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกทีมงานรุ่นใหม่ๆ เพียงข้อเดียวคือ ต้องเป็นคนในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี เพราะมีเป้าหมายสร้างคนให้กับพื้นที่ภาคตะวันตก

     โดยอาธเนศ เล่าวิธีการคัดสรรทีมงานว่า คำถามแรกจะถามก่อนเลย อยากกลับมาอยู่บ้านไหม และอยากทำอะไรที่บ้านไหม ส่วนเรื่องอื่นคิดว่าสามารถฝึกกันได้ นอกนั้นก็ดูท่าทีว่าพร้อมจะเรียนรู้ไหม เล่างานให้ฟัง แล้วให้เขากลับไปคิดว่าพร้อมจะทำหรือไม่

     “วิธีการสอนจะสอนผ่านการทำให้ดู พอขึ้นรถจะถามทันทีว่าเห็นอะไรไหม วันนี้ผมทำอะไรให้ดู เห็นสิ่งที่เหมือนหรือสิ่งที่แตกต่างจากที่ตัวเองเคยทำอย่างไร อะไรคือหัวใจที่ลงไปทำ เมื่อเห็นว่าเขาเข้าใจแล้วก็ปล่อยให้ไปทำเอง โดยอาจจะให้เขาไปก่อน ส่วนเราตามไปหรือไม่ก็แล้วแต่ความเหมาะสม เพราะบางทีเราวางแผนแต่ไม่บอกเขา อยากเห็นว่าเขาจะทำอย่างไร เตรียมตัวไปอย่างไร”

     การเตรียมตัวเป็นสิ่งที่อาธเนศจะเน้นย้ำกับทีมงานเสมอ เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วยคือ วัยรุ่นที่มีความสนใจระยะสั้นๆ ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้นทีมงานจะต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่า เป็นอย่างไร พร้อมทั้งออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเยาวชน

     “แก่นหรือหลักการที่เราบอกว่าเวลาไปทำงานไม่ใช่จะเอาแต่เนื้อหาอย่างเดียว ต้องดูบริบทโดยรอบด้วย เพราะจะช่วยสร้างการเรียนรู้และทักษะที่สำคัญ ถ้าทำได้จะเดินไปสู่เป้าหมายอย่างง่ายดาย” อาธเนศ บอก

      เพราะมีภารกิจหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ จึงต้องการเปิดโอกาสให้ทีมงานออกแบบการทำงานอย่างอิสระ โดย Monitor ผ่านการประชุมทีมเดือนละ 2 ครั้ง และข้อตกลงร่วมกันที่ทุกคนจะต้องทำคือ “แผนการทำงานรายสัปดาห์” ส่งทุกอาทิตย์เป็นการฝึกความรับผิดชอบและการวางแผน การหนุนเสริมศักยภาพทีมงานจึงเป็นการเปิดโอกาส ทั้งเปิดโอกาสในการทำงาน และเปิดโอกาสในการเรียนรู้ ในรูปแบบที่เป็นทางการเช่น การไปอบรม และรูปแบบที่ไม่เป็นทางการเช่น การติดสอยห้อยตามไปร่วมเวทีต่างๆ ซึ่งการให้โอกาสนั้นมาพร้อมกับความพยายามในการเข้าใจเบื้องหลังชีวิตของทีมงานแต่ละคนที่มีที่มาที่ไป มีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกัน

      “เราบริหารเป้าหมาย ต้องหาวิธีการให้คนทำงานเติบโต ทุกครั้งที่มีคนเข้ามาทำงานกับเรา เราไม่ได้คาดหวังกับเขาแค่เรื่องงาน แต่เขาต้องเติบโตไปกับเรา”

     ช่องทางการติดตามงานในพื้นที่ จึงมาจาก Feedback ของเครือข่ายที่กระจายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมักจะเป็นสายลับอย่างไม่เป็นทางการที่รายงานผลการทำงานของทีมงานมาถึงอาธเนศอยู่เป็นประจำ ทำให้รับทราบความเป็นไปของทีมงานแต่ละคน ซึ่งบางครั้งด้วยประสบการณ์การทำงานที่ยังน้อย การทำงานจึงอาจไม่เป็นไปอย่างที่เครือข่ายในพื้นที่คุ้นชินอย่างที่หัวหน้าลงมือทำเอง แต่กระนั้นอาธเนศก็บอกว่า ต้องยอมเพราะเป้าหมายคือ การฝึกฝนทีมงานให้ได้ลงมือทำ

     “เจตนารมย์ของเรา เราไม่ได้ฝึกเฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่เราต้องการฝึกคนของเราด้วย ถ้าเราคาดหวังความสำเร็จ ความสมบูรณ์แบบ น้องก็จะไม่ได้รับโอกาส เราก็ต้องท้าทายเขาให้ลงมือทำ เพื่อที่เราจะได้เห็นว่า ใครต้องเติมอะไรอย่างไร ส่วนเรื่องที่ว่าผลอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ คนอื่นมาเห็นแล้วจะเสียภาพ ก็คิดว่าเดี๋ยวค่อยไปเติมเต็มในส่วนอื่นได้ เพราะที่สุดแล้วเราก็ต้องคุมภาพรวมอยู่ดี”

      นอกจากนี้ อาธเนศยังมีบทบาทในการคลี่คลายปมปัญหาบางอย่างในพื้นที่ที่ทีมงานซึ่งอ่อนอาวุโสไม่อาจจะทำเองได้ เช่น การทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่อาร์ตและอ้วนต่างยืนยันว่า ต้องเป็นอาธเนศเท่านั้น

      “ถามว่าผมคุยกับผู้ใหญ่ได้ไหม ก็คุยได้ แต่ไม่ได้ผลแบบนี้ เพราะมันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ความเข้าใจ ถึงต้องมีโคชที่เหนือโคชไว้ เพราะบางทีเราเข้าใจโครงการเด็กกับพี่เลี้ยงแต่เราไม่เข้าใจบริบทที่อยู่รอบๆ ถ้าไม่มีคนที่มองไกลกว่าไปช่วยคุยไปช่วยเคลียร์ให้ มันไม่เกิดแน่ๆ” อ้วนเล่า โดยมีอาร์ตเสริมอย่างแข็งขันว่า “มันเหมือนวงเวียนที่ถูกกางขากว้างขึ้น ที่เรามองแค่คนที่เกี่ยวข้องคือเด็ก พี่เลี้ยง แล้วทำงานตามประเด็นที่เรามอง แต่ถ้าอาธเนศเข้ามาวงมันจะกว้างมากขึ้น คนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ผอ. ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ฟันเฟืองในโครงการขยับต่อไปได้”

      แต่การจะขอให้อาธเนศช่วยแก้ปัญหาที่เป็นจุดติดขัดนั้น ทุกคนในทีมทราบเงื่อนไขดีว่า ต้องมีข้อมูล เรื่องราวเบื้องหลังมาบอกเล่าให้รับรู้ และยอมรับการซักถามที่เข้มข้น เป็นหลักการที่ทีมงานยึดถือเป็นแก่นในการทำงาน

      “เราทำงานหลายประเด็นแต่หัวใจสำคัญคือ ทุกเรื่องทำบนหลักการเดียวกันคือ ทำให้คนเปลี่ยนแปลงด้วยข้อมูลจากลงมือทำจริง” อาธเนศ กล่าวย้ำถึงแก่นในการทำงาน

­

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนของทีมงาน

      ผ่านการทำงานในปีที่ 2 ไปแล้ว ทีมงานได้ทบทวนพัฒนาการของตนเองที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เริ่มจากโด่งซึ่งเป็นคนสมุทรสงคราม สะท้อนบทเรียนการได้รู้จักถิ่นกำเนิดของตนเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้นว่า “เมื่อก่อนรู้จักแค่ชื่อแม่น้ำแม่กลอง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแม่น้ำแม่กลองไหลมาจากไหน ไม่เข้าใจทำไมต้องมีน้ำเค็ม น้ำกร่อย แต่พอได้เข้ามาทำงานที่นี่ เดี๋ยวนี้เริ่มหวงแหนแม่น้ำแม่กลองมากขึ้น พอเห็นคนอื่นเดือดร้อน ก็รู้สึกว่าเป็นความเดือดร้อนของเราด้วย จนเกิดความใส่ใจขึ้นมา”

      ส่วนการเปลี่ยนแปลงในมิติของการทำงานในฐานะพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนนั้น โด่งบอกว่า รู้สึกว่าสามารถเป็นที่พึ่งของน้องๆ ได้มากขึ้น

      ด้าน นัด บอกว่า การเปลี่ยนแปลงของตนเอง คือ เมื่อก่อนเป็นคนพูดโดยไม่ฟังใคร พอได้เห็นคนอื่นพูดโดยไม่ฟังใคร จึงเข้าใจว่า ตนเองเป็นคนแบบนี้เหมือนกันจึงต้องปรับพฤติกรรมของตนเอง

      สำหรับอ้วนแล้ว การทำงานเพื่อชุมชนสังคม ซึ่งตรงกับเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จึงรู้สึกว่าอยู่ถูกที่ถูกทาง โดยในปีนี้อ้วนรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเยาวชนมากขึ้น เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชน ว่า เด็กทำได้ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ทั้งเรื่องพฤติกรรมของเด็กแต่ละช่วงวัย สถานการณ์ของเยาวชนในพื้นที่ เทคนิค เครื่องมือในการทำงาน และการจัดการอารมณ์ตนเอง

      “ได้เรียนรู้พฤติกรรมตัวเองไปพร้อมพฤติกรรมเด็ก จึงมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของตนเอง คือ ตอนปี 1 ใช้การจำ ปีนี้ใช้การจด ทั้งเครื่องมือ วิธีการ และพฤติกรรมเด็ก เพราะเราบอกให้เด็กทำ สำนึกก็บอกตัวเองว่าต้องทำ”

      ฝ่ายอาร์ตสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตนเองว่า “ใจเย็นมากขึ้น และมีทิศทางในการโคชน้อง มีเลนส์ที่สามารถหยิบมามอง (วิเคราะห์) น้องได้หลายมุมมากขึ้น ทำให้เข้าใจทั้งภาพกว้าง และภาพลึก เห็นรายละเอียดของแต่ละโครงการ แล้วสามารถเลือกหยิบเงื่อนไขไปทำให้น้องเกิดการเรียนรู้บางอย่าง”

      ส่วนบาสและวุฒิสารภาพว่า ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะยังอยู่ในช่วงของการค้นหาว่า สิ่งที่ทำนี้คือสิ่งที่ใช่สำหรับตนเองหรือไม่ แต่ยอมรับว่าการได้เรียนรู้แนวคิด และวิธีการทำงานจากอาและรุ่นพี่เป็นการเติมเต็มตนเอง เพราะอย่างน้อยก็ทำให้สามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและสะท้อนมุมมองได้ว่า “น้องที่ทำโครงการโตกว่าวัย ทั้งเรื่องการคิดและแสดงออกในทางที่ดี คิดก่อนพูด มีการเรียบเรียงคำพูด แล้วก็มีความรับผิดชอบ แบ่งเวลาได้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี การที่น้องแบ่งเวลามาทำโครงการได้ แสดงว่า เขารู้จักการจัดการตนเอง ส่วนเรื่องสำนึกพลเมือง ผมว่าน้องๆ เขามีสิ่งนี้อยู่ตั้งแต่เริ่มที่คิดจะมาพัฒนาบ้านของตนเองแล้ว” วุฒิสะท้อน

­

ข้อสังเกตจากการลงมือทำ เพื่อพัฒนาคุณภาพงาน

     เพราะลงมือทำงานอย่างใส่ใจ ทำให้ทีมงานก้าวข้ามจุดที่เป็นอุปสรรคและปัญหา คิดว่าปัญหาอุปสรรคเป็นเพียงจุดติดขัดหรือความไม่สะดวกบางอย่างที่จะต้องหาวิธีคลี่คลาย เช่น เป้าหมายของการทำงานที่มีเป้าทั้งเชิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเยาวชนและเชิงประเด็นเนื้อหา เป็นสิ่งที่ทีมงานจะต้องรักษาสมดุลให้ดี แต่โดยน้ำหนักที่ให้ความสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพของทีมเยาวชนผ่านการลงมือทำ โดยตัดสินใจบนฐานข้อมูลความรู้ ซึ่งอย่างน้อยกลุ่มเยาวชนแต่ละทีมต้องรู้เรื่องราวในประเด็นงานของตนเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เกิดการพัฒนาทักษะเพิ่มมากขึ้น แม้จะยังไม่สามารถขับเคลื่อนหรือสร้างการเปลี่ยนเปลงในเชิงประเด็นก็ตาม

     นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องวิธีทำงานของกลุ่มเยาวชนที่อาจจะไม่สะดวกนักสำหรับทีมงาน “ด้วยความที่เป็นเด็ก น้องจะคิดว่าพี่ว่างเสมอ มักบอกแบบกะทันหัน และไม่บอกรายละเอียดการทำงานให้ครบถ้วน ตัวผมเองก็มีปัญหาเรื่องวันเสาร์ อาทิตย์ เพราะต้องไปเรียน อีกเรื่องคือไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้พี่เลี้ยงชุมชนได้เลย” อ้วนเล่า

      ส่วนจุดติดขัดที่ทีมงานคิดว่า คงคลี่คลายไม่ได้คือ ปฏิทินการศึกษาของเยาวชนแต่ละระดับ เนื่องด้วยทำงานกับกลุ่มเป้าหมายหลายระดับ ตั้งแต่เด็กประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และเด็กๆ ในชุมชน แต่ปฏิทินการเรียนของเยาวชนในแต่ละระดับไม่ตรงกัน จึงส่งผลกระทบการออกแบบกิจกรรมในโครงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      ทั้งนี้อาร์ตได้สะท้อนเพิ่มเติมว่า การทำงานในปีนี้มีจุดที่ขาดหายไปคือ เวทีพูดคุยของทีมงาน ที่จะช่วยกันตรวจทานการทำงานของแต่ละโครงการอย่างละเอียดว่า แต่ละทีมไปถึงไหน ปีนี้ด้วยความที่มีภาระเยอะ พื้นที่ที่จะมานั่งคุยกันอย่างละเอียดมีน้อย คือมีพื้นที่ในการคุยกันว่าจะเดินต่ออย่างไร แต่การคลี่โครงการไม่มีเลย

­

อนาคตที่วาดหวังไว้

      เพราะมองเห็นว่า การทำงานกับพี่เลี้ยงพื้นที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ จึงเป็นสิ่งต้องสานต่อในปีต่อไป อีกทั้งเมื่อทบทวนความก้าวหน้าของการสร้างกลไกในการดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่ก็ยังไม่เกิด แต่บทเรียนในปีนี้ทำให้ทีมงานทุกคนเห็นร่วมกันว่า การสร้างกลไกดังกล่าวควรเริ่มจากจุดเล็กๆ สร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นแล้วจึงเชื่อมเป็นกลไกใหญ่

      “เรื่องกลไกมันต้องเริ่มจากชุมชน พ่อแม่ คือเริ่มจากสิ่งใกล้ๆ ตัวเด็กก่อน เริ่มจากครอบครัวที่ต้องเข้าใจว่า เด็กคิดอะไร อยากทำอะไร กำลังทำอะไร ชุมชนเอื้ออำนวยหรือไม่ และหน่วยงานในพื้นที่ควรเข้ามาหนุนเสริมตรงไหนอย่างไร” น้าแมวสะท้อน โดยมีอาธเนศรับลูกว่า “ปีหน้าเราจะเซ็ตระบบใหม่ ดึงทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และโรงเรียนให้เข้ามาร่วมมือกันทำโครงการ ดูเลยว่าถ้าเราวางระบบแบบนี้จะเกิดกลไกการพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่ได้จริงหรือไม่ สมมุติพื้นที่แพรกหนามแดง เราก็จะเอางานของเด็กไปเล่า จัดให้มีวงแลกเปลี่ยนของผู้ใหญ่ต่างๆในพื้นที่เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน”

      การสร้างรูปธรรม สะสมเป็นต้นทุนดีๆ เพื่อยืนยันต่อสาธารณะเป็นแนวคิดที่จะนำไปสู่การสร้างกลไกในอนาคต ซึ่งอาจจะไม่ใช่การทำงานแบบกระจาย แค่ควรเทน้ำหนักการสร้างพื้นที่รูปธรรมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นจุดเริ่ม ยังเป็นแนวคิดที่ทีมงานต้องใคร่ครวญเพื่อตัดสินใจสำหรับแผนงานในปีต่อไป

      ย่างก้าวการทำงานในปีที่ 2 สู่ปีที่ 3 จึงเป็นย่างก้าวในเส้นทางที่นำทีมงานใกล้เข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ เพราะได้ลงมือทำจริง ศักยภาพจึงถูกพัฒนาให้สามารถทำหน้าที่โคชของเยาวชนได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น วันนี้เยาวชนส่วนหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันตกถูกติดอาวุธทางปัญญา เกิดทักษะการทำงาน และตระหนักในคุณค่าของบ้านเกิดเมืองนอน พร้อมที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของบ้านเมือง คนในพื้นที่ถูกปลุกเร้าให้ตื่นและรับรู้ว่า งานสร้างเด็กคืองานสร้างชาติที่ทุกฝ่ายต้องลงมือประคับประคองร่วมกัน ผลลัพธ์และบทเรียนของการทำงานจึงเป็นพลังส่งให้การย่างก้าวสู่ปีที่ 3 เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นว่าจะพบความสำเร็จที่เส้นชัยอย่างแน่นอน