“จริงๆ แล้วสำนึกความเป็นพลเมืองมีอยู่ในตัวทุกคน มันมักจะหลับๆ ตื่นๆ อยู่ ไม่ได้หายไปไหน เพราะไม่มีตัวกระตุ้น ถ้าเราปล่อยให้มันหลับ มันก็หลับไปเรื่อยๆด้วยเหตุนี้สำนึกพลเมืองบางช่วงจึงหายไปแต่ถ้าเมื่อไรที่เขาเจอสิ่งเร้าที่ดี สำนึกดีก็จะถูกปลุกขึ้นมา”


ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ



หากดูจากคำกล่าวของ “ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ” ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จังหวัดสมุทรสงคราม จะพบว่าเอาเข้าจริง “สำนึก” เป็นเสมือน “สัญชาติญาณ” ที่ฝังอยู่ในตัวทุกคน หากความต่างอยู่ตรงที่ “สัญชาติญาณ” มักมาในยามคับขัน ต้องการเอาตัวรอด

ส่วนสำนึกที่หลับใหล แม้ในยามคับขัน เขาผู้นั้นก็ไม่ปลุกมันขึ้นมา หากแต่เรียกร้องให้ “คนอื่น” เข้ามาแก้ไขจัดการ

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าพลเมืองประเทศนี้...ต่างมีสำนึกที่อยู่ในอาการหลับใหลเกิดปัญหาไม่ลุกขึ้นมาแก้ไขจัดการ...จะเกิดอะไรขึ้น

­



ปฏิบัติการ “ปลุกสำนึก”

ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันตกซึ่งประกอบด้วยสมุทรสงคราม กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรีที่เห็นปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านของขบวนการพัฒนาท้องถิ่นที่นับวันคนรุ่นเก่าอ่อนแรงลงเรื่อยๆขณะที่ปัญหากลับมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แต่ขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาสานงานต่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องของการแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องเป็นการ “สร้างคนรุ่นใหม่ให้กับสังคม”

แต่ด้วยความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ที่เริ่มต้นโครงการการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็น Active Citizenโดยโครงการดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การสร้าง
“สำนึกพลเมือง”




“ก็เป็นจังหวะที่มีการขยายพื้นที่การดำเนินงาน เราก็มองว่าเป็น “โอกาสดี” เพราะมีแนวคิดและแนวทางในการทำงานสอดคล้องกัน กล่าวคือ การจะสร้างคนรุ่นใหม่นั้นจำเป็นต้อง “เปิดพื้นที่” ให้โอกาส ตลอดจนหนุนเสริมทุกด้าน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเกิดสำนึกรับผิดชอบ และเรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดีผ่านการลงมือทำ และท้ายที่สุดคือทำให้เด็กและเยาวชนจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกอย่างเท่าทัน สามารถวิเคราะห์แยกแยะปัญหา โดยใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อร่วมแก้ปัญหาของชุมชนได้”

ในฐานะผู้ประสานงานระดับจังหวัด “ชิษนุวัฒน์” ร่วมโครงการภายใต้โครงการ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก

“ฐานคิดของโครงการคือ ต้องทำให้เด็กรู้จักบ้านตนเอง เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจบ้านตัวเอง เขาก็จะไม่รัก แต่ถ้าเขารู้จักบ้านตัวเอง เขาจะเห็นคุณค่าและหวงแหน ดูแลท้องถิ่นของเขา ทั้งนี้เป้าหมายลึกๆ ที่ต้องการคือ การสร้างเครือข่ายให้มีคนทำงานแทน”




ชิษนุวัฒน์บอกต่อว่า การสร้างสำนึกพลเมืองไม่ใช่เรื่องที่ทำครั้งเดียวจบ แต่ต้องทำต่อเนื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และต้องมี “กระบวนการ” ยิ่งถ้าหวังผลเรื่องความยั่งยืนก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งแกนนำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงสถานศึกษาในพื้นที่ที่จะต้องกลับมาเห็นประโยชน์เรื่องนี้ร่วมกัน คิดออกแบบเสริมหนุนกันเพื่อให้เรื่องการสร้างสำนึกพลเมืองนี้เดินต่อไปได้เป็นการเชื่อมให้แต่ละฝ่ายหันกลับมามองเรื่องเดียวกัน ที่สำคัญคือมีกระบวนการและมีต้นแบบให้ทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน

“หัวใจ” คือ “ให้โอกาส”

การสร้างสำนึกพลเมืองจะเกิดขึ้นได้มาจาก 3 ปัจจัยคือ กระบวนการที่ดี พี่เลี้ยงดี และการหนุนเสริมติดตามที่ดี ในส่วนของการออกแบบนั้น “หัวใจ” สำคัญคือ “เปิดพื้นที่ เปิดโอกาส” ให้เด็กได้แสดงออกได้ลงมือทำ และต้องมีคนตั้งคำถามในสิ่งที่เขาทำ และต้องสรุปบทเรียนเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นการออกแบบกิจกรรมทีมทำงานต้องให้เด็กได้สัมผัสจากการปฏิบัติ มีการสรุปบทเรียนที่สำคัญคือต้องมีการเติมความรู้เป็นระยะๆ โดยต้องคอยดูว่าระยะไหนต้องเติมอะไร ไม่ใช่นึกจะเติมอะไรก็เติม และที่สำคัญคือต้องรู้จักวางกระบวนการและวิเคราะห์ด้วยว่า เด็กอยู่จุดไหนแล้ว และต้องเติมอะไร เพราะแต่ละพื้นที่อาจะมีเงื่อนไข เบื้องลึก เบื้องหลัง สถานการณ์ เวลา และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ฉะนั้นคนที่จะติดตามเรื่องนี้หรือทำเรื่องนี้ต้องเข้าใจเด็กพอสมควร

­



สำหรับคนในชุมชนในช่วงแรกเราต้องให้เขาได้สัมผัสว่า “คุณค่าจากการลงมือทำ” คือเด็กเปลี่ยนแปลง เมื่อคนในชุมชนเห็นเด็กเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้ว เขาก็ต้องเข้ามามีบทบาท อาจเริ่มต้นด้วยการเป็นพี่เลี้ยงเด็กในชุมชนก่อน เพื่อร่วมออกแบบกิจกรรมกับเด็ก ทำงานกับเด็ก เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เพื่อให้เขาสัมผัสว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ และตัวเขาเองก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย ไม่ใช่ส่งเด็กมาให้โครงการพัฒนาอย่างเดียว

­



อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าสิ่งที่เด็กมองไม่เห็นว่า “ทุนชุมชน” ก็คือ บ้าน วัด โรงเรียน และผู้รู้ในชุมชนคืออะไรมีสภาพความเป็นอยู่และสถานการณ์อยู่ในขั้นไหนนั้น เด็ก ๆ เริ่มเข้าใจ และเห็น “สิ่งใกล้ตัว” มากขึ้น

“ที่ผ่านมาเด็กมองเรื่องไกลตัว แต่กลับมองไม่เห็นสิ่งเล็กๆ ที่มีคุณค่าในชุมชนท้องถิ่นเลย เพราะฉะนั้นโจทย์โครงการนี้คือ ทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนรู้ท้องถิ่น รู้จักท้องถิ่น เข้าใจท้องถิ่นว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมันมี “คุณค่า” แค่ไหน ถามว่าแล้วในอนาคตเด็กเหล่านี้จะไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างไร ถ้าเขาไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้”



ดังนั้น”สำนึก” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “พลเมือง” เข้าใจสถานการณ์ของท้องถิ่น เมื่อรู้สถานการณ์ ก็จะรู้ว่าปัญหากำลังเกิดขึ้นตรงไหน...และจะเข้าไปแก้ไข จัดการได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในโครงการนี้จึงมุ่งไปที่เด็กต้องรู้จักเรื่องใกล้ตัว ต้องรู้จักฐานทุนที่จะไปต่อ



เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

ปลุกยักษ์ 'ฝังสำนึกพลเมือง'

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558