“ปลุกสำนึกพลเมือง ผ่านการเรียนรู้วิถีชุมชน สู่การสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ”

กว่า 2 ปีของ โครงการ “พลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก” ที่ดำเนินงานโดย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งเน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านเรื่องราวในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเยาวชน อายุ 15- 25 ปี ให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางสังคม สร้างความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะ ให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ (Active Citizen) มีบทบาทในการดูแลตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นในอนาคต โดยการเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชน ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นของตนเองอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนของภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การสร้างสำนึกพลเมืองร่วมกัน

­

­

­

โดยในวันที่ วันที่ 28 และ 29 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน “ก้าวกล้า การศึกษา เพื่อสร้างพลเมือง ตามรอยเท้าพ่อ” โครงการ พลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปี 2 ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ และห้องประชุมกนกรัตน์ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเมืองสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียง ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงาน โดยทั้งสองวันของงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนฯ ครั้งนี้ มีกิจกรรมที่หลากหลาย 

­

­

­

­

­

­

­

­

­

­

ประกอบด้วย กิจกรรมสร้างสำนึกพลเมือง สานปณิธานตามรอยพ่อ เช่น การเขียนเรียงความเรื่อง “สิ่งดีๆที่พ่อทำในความทรงจำของหนู” การถ่ายภาพเพื่อสื่อความหมาย “สำนึกพลเมือง” การวาดภาพระบายสี ในหัวข้อ “เพราะพ่อคือแรงบันดาลใจ” จากนั้นเหล่าเยาวชนกว่าร้อยชีวิตได้ถวายความเคารพและกล่าวสดุดี ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 2 นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขน การขับกล่อมเสภา การรำไทย การแสดงหนังใหญ่ การแสดงละครเงา “เทิดไท้องค์ราชันย์” พร้อมทั้งชมนิทรรศการของเยาวชนทั้ง 24 โครงการในกิจกรรม “World Café” และเวทีการสะท้อนมุม “การเรียนรู้นอกห้องเรียน…เส้นทางสร้างพลเมือง”

­

­

­














นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม


­

นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวเปิดงานใจความตอนหนึ่งว่า …. “การพัฒนาเด็กและเยาวชนถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญที่พวกเราจะต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม ผ่านการสนับสนุนการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนร่วม อันจะนำไปสู่การสร้างสำนึกการเป็นพลเมือง ทั้งนี้ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือสังคม ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตและการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน….





นายชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ 

ผู้บริหารโครงการศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม


­

นายชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า “ สองปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นพัฒนาการของเด็กๆ จากการที่ผู้ใหญ่ “เปิดโอกาส” ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำโครงการเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตนเอง จากวันแรกๆที่พวกเขาไม่เคยสนใจเรื่องใกล้ตัว ไม่เคยคิดแก้ปัญหาและร่วมมือทำงานกับผู้อื่น แต่วันนี้ความคิดเหล่านั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว วันนี้พวกเขาได้พกคำว่า “สำนึกพลเมือง” ที่ปลุกเร้าให้พวกเขาลุกขึ้นมาทำความรู้จักบ้านเกิดตัวเอง แล้วก็นำเอาสิ่งที่มีคุณค่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเชื่อมโยงกับการพัฒนาของบ้านเกิดตัวเอง ขณะเดียวกันเรายังพบอีกว่าการพัฒนาของเด็กเยาวชนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ท้องถิ่นมาทำงานร่วมกับเพื่อน มาทำงานเป็นเครือข่าย ทำให้เขามีทักษะชีวิตในการดำรงชีวิตในสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีขึ้น เช่น เยาวชนที่ทำเรื่องของการฟื้นฟูหรือการยกระดับการทำนาเกลือ เดิมทีเขาก็ไม่อยากที่จะทำนาเกลือ แต่พอน้องเข้ามาร่วมโครงการกับเรา เขากลับเห็นคุณค่าของอาชีพนาเกลือ รู้ที่จะดึงเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปใช้ในการที่จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์จากเกลือ ไปทำเป็นเกลือสปา ไปทำเกลือสำหรับการแปรรูปเกลือที่มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันเขาก็ไปชักชวนเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยและอาจารย์มาเรียนรู้คุณค่าของนาเกลือในพื้นที่ ซึ่งอันนี้เขาคงไม่ได้แค่พัฒนาได้กับตัวเองแต่ว่ามันจะนำไปสู่การยกระดับของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือให้ไปเชื่อมโยงสู่การรักษาอาชีพการทำนาเกลือซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ได้ เป็นต้น นี่เป็นเพียงบางส่วนของเด็กที่เรียนรู้ทักษะชีวิตนอกห้องเรียน โดยผ่านการเรียนรู้วิถีชุมชน ซึ่งปีนี้มีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ กว่า100ชีวิต 24 กลุ่ม แยกออกเป็น 5 ประเด็น****ได้แก่ 1.ประเด็นด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 2.ประเด็นด้านการบริหารจัดการน้ำ 3.ประเด็นด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา 4.ประเด็นด้านการทำสวนมะพร้าวของชาวแม่กลอง และ 5.ประเด็นด้านกลุ่มอาสาสมัคร ที่สอดคล้องเชื่อมโยงของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคตะวันตก ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการ จากปีที่ 2 ย่างก้าว สู่ปีที่ 3 เรามีความตั้งใจที่จะขยายผล เรื่องการพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่ผ่านกลไกและกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นนี้ไปติดตั้งให้กับองค์กรที่เขาทำเรื่องนี้โดยตรง เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา โรงเรียน หรือแกนนำชุมชนที่เขาต้องไปทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การสร้าง Active citizen หรือพลเมืองตื่นรู้ให้มีมากขึ้น”

­

­

­


นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร 

ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

­

­

นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวย้ำถึงการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ว่า “นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สสส.ร่วมมือกัน เข้าไปหนุนกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็น Active Citizen และยิ่งได้มาเห็นศักยภาพของน้องๆในวันนี้ ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า เมื่อเยาวชนได้รับโอกาสให้เขาได้คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเองจากโจทย์ในชุมชนที่เขาเลือก น้องๆ เขาโตขึ้นมาก เป็นผู้นำขึ้น มีวิธีคิด ค้นพบศักยภาพของตัวเอง และหันมาสนใจกับทุกข์ร้อนของชุมชน สังคมมากขึ้น….และเมื่อผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เขาได้คิดเอง ทำเอง หรือมีส่วนร่วมคลี่คลายปัญหาของชุมชน แล้วก็ต้องคอยประคับประคอง คอยตั้งคำถามชวนคิด เติมทักษะต่างๆ ให้เขาด้วย เพราะนี่คือเรื่องจริง สถานการณ์จริงที่เขาต้องเผชิญและแก้ปัญหา…และเมื่อเขาได้มีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้ชุมชน สิ่งนี้จะช่วยทำให้เด็กเยาวชน และคนหนุ่มคนสาวได้ประสบการณ์ชีวิต ที่สำคัญคือ โครงการนี้ยังเป็น “เครื่องมือ” ในการร้อยรัดคนเข้าด้วยกันกับพื้นที่ ซึ่ง “สำนึกความเป็นพลเมือง” จะเกิดขึ้นตรงนี้ และถ้าเขามีโอกาสได้กลับมามองชุมชนในสายตาที่ละเอียดขึ้น และทำงานด้วยการลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง วิธีการนี้จะช่วย “ปลุกสำนึก” ที่มีอยู่ในตัวเขาให้งอกงามยิ่งขึ้น…”

­

­

­

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีที่ 2 ต่างร่วมเล่าประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ได้จากการทำโครงการ เริ่มจาก … ปอย หรือนายปิยวัฒน์ วัชนุชา นักเรียนชั้น มัธยมศึกษา 5 โรงเรียนถาวรานุกูล สมาชิกจาก โครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา กล่าวว่า “ผมเป็นเด็กในชุมชน โตมาในสวน รู้วิธีทำทุกอย่าง แต่ก็รู้แค่ว่านี่คือน้ำตาลมะพร้าวไม่ได้รัก ไม่ได้ผูกพันกับมัน จนมีโอกาสได้ลงพื้นที่เรียนรู้ กระทั่งเข้าใจถึงความเป็นมาและความสำคัญของน้ำตาลมะพร้าวจากคำบอกเล่าของผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ความรักความผูกพันจึงค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในหัวใจ...ทุกวันนี้กลับไปช่วยพ่อทำน้ำตาลมะพร้าว เพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของอาชีพของครอบครัว และตั้งใจว่าต่อไปหากทำอาชีพหลักด้านอื่น ก็จะยังยึดการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพเสริมอย่างแน่นอน”

­

­

­

­

­

­

­

ส่วน นายรณชัย พรหมบุตร (โบ๊ท) นักศึกษาปวส. ปี1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดกาญจนบุรีแกนนำเยาวชนโครงการส่งเสริมอาหารกากมันสำปะหลังหมักยีสต์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เล่าว่า“การเรียนในตำรากับฝึกงานในฟาร์ม มันไม่เพียงพอที่จะให้เราเป็นเกษตรที่ดีและเอาตัวรอดได้ เพราะสิ่งที่เรียนมันเป็นทฤษฎี การลงมือทำจริงแบบนี้ทำให้เราได้ประสบการณ์ในการทำงาน เมื่อจบออกไปก็สามารถทำงานได้เลย”

ด้าน น้ำฝน หรือ นางสาวธารารัตน์ ปานศรี แกนนำเยาวชนโครงการการจัดทำสื่อเรื่องการใช้น้ำ ภายในหมู่บ้านมุสลิม เล่าว่า การทำโครงการ ฝึกให้เราต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะลงพื้นที่วันไหน ประชุมงานตอนไหน ทำอย่างไร ไม่ให้กระทบการเรียน กลายเป็นว่าเราก็ได้วางแผน การอ่านหนังสือสอบ จนเกรดดีขึ้น ตอนนี้เวลาจะทำ อะไรก็ตาม เราจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าเดิม มีการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ จนสามารถจัดการตัวเองได้ดีมากขึ้น ตั้งใจกับทุกสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะงานในโครงการ หรือการเรียน”

­

­

­

­

­

สามารถติดตามข่าวสารของโครงการ “พลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก”ปีที่ 3ได้ที่ www.scbfoundation.com หรือ Facebook:https://www.facebook.com/phalungdek/ (โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก)