“ขับเคลื่อน เชื่อมงานเยาวชน (พลเมืองศรีสะเกษ) สู่ยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด”
“พลเมืองเยาวชนศรีสะเกษ” ตื่นตัวสืบสาน-พัฒนาบ้านเกิด พร้อมลุกขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ใหญ่ …เชื่อมงานชุมชนสู่ยุทธศาสตร์ของจังหวัด

       

       ในวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2560 ณ ลานกิจกรรมโคปุระ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระชนมายุ 80 พรรษา เกาะกลางน้ำ ห้วยน้ำคำ ต.หนองครก อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีการจัด มหกรรมหนังกลางแปลง “พลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิด" โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเปิดโอกาสและสร้างการเรียนรู้เยาวชนพลเมืองศรีสะเกษ ผ่านการทำโครงการชุมชน (Community Project) เพื่อสร้าง สำนึกความเป็นพลเมือง ผ่านการบ่มเพาะความเป็นพลเมือง 3 ปี ก่อให้เกิดกลไกกลุ่มแกนนำพลังพลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่นิ่งดูดายในชุมชนตนเองรวมตัวกันช่วยพัฒนางานสู่ยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด โดยมี นายนพ พงศ์ผลาดิสัย นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนักวิจัยชุมชน ภาคีเครือข่ายจากต่างจังหวัด เครือข่ายเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงาน




นายรุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการฯ



       มหกรรมหนังกลางแปลง “พลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผนดินเกิด” โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 นายรุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงเป้าหมายการจัดงานว่า “เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมของภาคีเครือข่ายในการพัฒนาแนวใหม่ ที่มีเยาวชนเป็นฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืน ในรูปแบบการเรียนรู้ร่วมในบรรยากาศดูหนังกลางแปลง งานวัด “การจัดมหกรรมหนังกลางแปลงครั้งนี้ เยาวชนจะได้นำเสนอผลงานที่เป็นรูปธรรมของการทำโครงการเพื่อชุมชน ในรูปแบบเวทีเสวนา และการฉายหนังกลางแปลงบอกเล่าเรื่องราวคุณค่าของโครงการการจัดนิทรรศการมีชีวิต การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน การนำเสนอทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด อำเภอ ที่เราตั้งใจเชิญมาชมผลงานของเยาวชน ให้ได้รับทราบถึงศักยภาพเยาวชนที่ทำเพื่อชุมชนของตนเอง และเข้ามา หนุนเสริมให้เยาวชนได้ทำประโยชน์มากขึ้นนอกจากจะเป็นชุมชนของตนเองแล้ว ยังเกิดประโยชน์ได้ในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด อีกด้วยและถ้ามีโอกาสเป็นไปได้งานของเยาวชนที่ทำในพื้นที่ สามารถไปใช้ให้เกิดประโยชน์และมีโอกาสตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษที่วางไว้พอดี ตรงนี้คือเป้าหมายสูงสุดที่พวกเราได้จัดงานครั้งนี้เลยทีเดียว”

นายนพ พงศ์ผลาดิสัย นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ




       นายนพ พงศ์ผลาดิสัย นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ กล่าวว่า “โมเดลจากพวกเราตรงนี้ ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องเผยแพร่ และจะต้องดึงหน่วยงานราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ ให้เข้ามาสนใจและสนับสนุนให้เยาวชนของพวกเราได้มีโอกาสได้คิด ได้แสดงออก ได้เสนอถึงความประสงค์ ความต้องการของพวกเขา เพราะบางครั้งที่เด็กคิดนั้นอาจจะเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ต่างจากผู้ใหญ่คิด ดังนั้นคนที่จะทำงานอยู่กับเยาวชนได้จะต้องเปิดกว้างในเรื่องของความคิด เพื่อให้เขาได้แสดงออกมา ไม่ว่ากิจกรรมที่เขาทำจะเป็นกำไรหรือไม่นั้นไม่สำคัญ ผลตอบแทนที่เราได้คือ คนที่คิดเป็น คนที่ทำเป็น สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด …ถึงแม้วันนี้เราจะยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีการเผยแพร่ออกไปกว้างขวางนัก เพียงเราทำจากส่วนเล็กๆ ได้ถึงขนาดนี้นับเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จที่จะช่วยเรื่องการสร้างเยาวชน คนรุ่นใหม่ของพวกเรา อยากเป็นกำลังใจ และอยากได้มีโอกาส ในการสนับสนุนส่งเสริมในส่วนที่ยังขาดไป…ผมเองไม่อยากให้คนทำงานรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น คงเหมือนการทำงานแบบไม่มีส่วนร่วม อาจจะเชิญส่วนราชการ หรือบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาส่งเสริม สนับสนุนกันในเรื่องของงบประมาณ แม้จะไม่อยากให้ยึดในเรื่องของงบฯเป็นหลัก ที่อยากให้ยึดคือกรอบ แนวความคิด รูปแบบของการปฏิบัติเพื่อให้เราเดินต่อไปได้ …และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าใน 3 ปีที่เราได้ทำมา เป็นก้าวที่มาได้ไกลระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปก็จะมีรุ่นเด็กเล็กที่เพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งจะต้องช่วยกันประคับประคองและพัฒนาต่อไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้มาร่วมด้วย ช่วยกัน”

นางกาญจนา ไพรวัลย์ นักวิชาการงานทั่วไป ชำนาญการพิเศษ 

สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดศรีสะเกษ




      ด้านนางกาญจนา ไพรวัลย์ นักวิชาการงานทั่วไป ชำนาญการพิเศษ สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “รู้สึกมีความชื่นชมในความสามารถของเยาวชนรวมถึงการมองเห็นเยาวชนเป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้รักษ์สำนึกรักบ้านเกิด รักในถิ่นเกิด รู้จักอนุรักษ์ในงานหรือสิ่งที่เป็นของบรรพบุรุษไว้…โดยรวมเยาวชนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนของตัวเอง ทำให้ชุมชนตัวเองดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเยาวชนในชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชน ป่าไม้ การทำน้ำประปาให้ใสเพื่อสุขภาพของคนในชุมชนที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือการมุ่งหวังให้แนวความคิดของตนเองไปสู่รุ่นน้องต่อไปด้วย…และหากจะให้เกิดความยั่งยืน ต่อเนื่องกับงานของเยาวชน ในส่วนของสำนักงานวัฒนธรรมนั้นจะเป็นด้านส่งเสริมวัฒนธรรม งานประเพณี ศาสนาและศิลปะ ทุกๆ 12 ปี เรียกว่าทุกบุญ ซึ่งในแต่ละพื้นที่นั้นจะไม่เหมือนกันตามชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มเยาวชนที่ทำตุ๊กตา สำนักงานฯจะจัดประกวดผลิตภัณฑ์ และนำออกมาจำหน่ายในงานต่างๆ ทั้งในจังหวัดและกรุงเทพฯ รวมถึงงานประเพณีทุกงาน หากเด็กกลุ่มนี้มีการเสนอโครงการเข้าไป ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมมือกับเครือข่ายของเราคือ สภาวัฒนธรรม ในด้านการสนับสนุนงบประมาณต่อไป”

นางสาวธิดาวรรณ ปัญญา (กานต์) อายุ 16 ปี 

แกนนำโครงการสร้างฐานเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจู่เพื่อการจัดการป่าชุมชน

       เยาวชนโครงการฯ ปีที่ 3 ต่างร่วมเล่าประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ได้จากการทำโครงการ เริ่มจาก …นางสาวธิดาวรรณ ปัญญา (กานต์) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม แกนนำโครงการสร้างฐานเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจู่เพื่อการจัดการป่าชุมชน กล่าวว่า “หนูมีโอกาสทำโครงการนี้เป็นปีที่ 2 ซึ่งต่อยอดองค์ความรู้จากปีแรก ในการทำเป็นฐานการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชน และรู้สึกดีใจที่คนในชุมชนสนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชนมากขึ้น ทำให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่สูญหายไป อย่างน้อยฐานความรู้ที่พวกหนูได้ทำขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับคนในชุมชนในแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์เช่น รักษา หรือบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บที่เขาสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้น หรือเป็นศูนย์การเรียนรู้ดูงานจากหน่วยงานภายนอก.…การทำโครงการฝึกให้หนูรู้จักแบ่งเวลาในการดำเนินชีวิต ซึ่งพวกหนูจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนมารวมตัวกันที่บ้านพี่เลี้ยง เมื่อเสร็จจากภาระกิจจากการทำโครงการก็กลับบ้านไปทำการบ้านและอ่านหนังสือ รวมถึงฝึกความอดทนและรับฟังเพื่อนจากการทำงานร่วมกัน ซึ่งตอนที่ทำโครงการมีบ้างที่รู้สึกท้อ แต่พอคิดว่าถ้าเราไม่เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาสืบทอดความรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชนแล้วใครจะทำ แล้วถ้าไม่ทำภูมิปัญญาของเราคงหายไปแน่นอน เมื่อนึกถึงตรงนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้เราอยากฟื้นฟู อนุรักษ์ภูมิปัญญาของเราให้คงอยู่ต่อไป”

นางสาวอภิชญา เทาศิริ (ซัน) อายุ 17 ปี 

แกนนำโครงการเศษผ้าสืบสาน เล่าขานตำนานบ้านดู่ 




       ส่วนนางสาวอภิชญา เทาศิริ (ซัน) อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ แกนนำโครงการเศษผ้าสืบสาน เล่าขานตำนานบ้านดู่ เล่าว่า “ที่ทำโครงการนี้ เพราะในชุมชนบ้านดู่มีเศษผ้าไหมเยอะ เศษผ้าไหมที่ว่านี้มาจากการตัดเย็บเสื้อผ้า การแซวผ้า พวกหนูจึงเกิดความคิดว่าเราอยากสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชน จึงนำเศษผ้าไหมที่เหลือจากการแปรรูปมาตัดเย็บเป็นตุ๊กตาเพื่อสื่อสารเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชน ในการสร้างการเรียนรู้ให้คนในชุมชน โดยเฉพาะน้องๆรุ่นหลัง ให้เขาทราบที่มาและภูมิปัญญาล้ำค่าในชุมชน ให้เกิดความรักและหวงแหนชุมชนตนเอง เพราะชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด หากเราดูแลชุมชนของให้ดี จังหวัดของเราก็จะดีด้วยเช่นกัน …การทำโครงการจึงเป็นช่วงเวลาที่หนูได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้เด็กๆในโรงเรียนมาเรียนรู้ร่วมกัน และถือว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนหนังสือ เพราะเราได้เจอน้อง เจอเพื่อน และแกนนำโครงการต่างๆ ทำให้น้องๆได้ซึมซับวิถีวัฒนธรรมของตนเอง รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชุมชนอื่นๆไปด้วย…ที่สำคัญอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีช่วยสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับเยาวชนเยอะๆ เพราะคงมีเยาวชนอีกหลายคนที่มีความสามารถแต่ไม่มีที่จะแสดงออก อีกส่วนนึงอยากให้เด็กรุ่นหลังๆได้กลับไปดูแลชุมชนของตนเองมากขึ้น ได้หาประสบการณ์ และเรียนรู้ เรื่องอื่นๆที่นอกเหนือจากห้องเรียน”

นายอัครเดช คันศร (เดช) อายุ16 ปี 

แกนนำเยาวชนโครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้




    นายอัครเดช คันศร (เดช) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนคูซอดประชาสรรค์ แกนนำเยาวชนโครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้ เล่าว่า “เมื่อก่อนผมเคยเป็นหัวโจก เกเร พอเลิกเรียนก็รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ไปแว้นรถทุกวัน ส่งเสียงรบกวนคนในชุมชน คือเมื่อชาวบ้านได้ยินเสียงรถจะรู้ทันทีว่าคือพวกผม ทำให้โดนคนในชุมชนตำหนิอยู่บ่อยๆ….แต่เมื่อได้เข้ามาทำโครงการทำให้ผมเปลี่ยนเป็นคนใหม่จากที่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านก็เปลี่ยนเป็นคนมีความรับผิดชอบ มีวินัย และตรงต่อเวลามากกว่าเมื่อก่อน นอกจากตัวผมแล้วก็ยังได้ชวนเพื่อนที่อยู่แก๊งส์เดียวกันมาเลี้ยงไก่ไข่ด้วยเช่นกัน… โครงการนี้มีประโยชน์ต่อตัวผมมาก อย่างแรกคือมีรายได้ไว้ใช้ในการเรียน ไม่ต้องขอเงินแม่ อย่างที่สองคือรู้จักบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง รู้ว่าแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้าง ปกติจะต้องมีแม่ที่คอยปลุกทุกวัน เรียกให้มาให้อาหารไก่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วครับ ผมตื่นมาให้อาหารไก่เองอัตโนมัติ ดูแลการเลี้ยงไก่ทุกขั้นตอน ตลอดจนเอาไปส่งลูกค้า…ที่สำคัญคนในชุมชนไม่ต้องออกไปซื้อไข่ที่มีราคาแพง และสามารถบริโภคไข่ที่สดและมีคุณภาพได้ทุกวัน”

       น้องเดชยังกล่าวต่ออีกว่า ในอนาคตหากเรียนจบม.6 แล้ว เขาอยากเรียนเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะในหมู่บ้านไม่มีใครเป็นตำรวจเลย…อยากดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับชุมชนตัวเองด้วย เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นเด็กแว้น ทำตัวไม่ดี สร้างความวุ่ยวายและความน่ารำคาญให้กับคนในชุมชน จึงอยากเปลี่ยนเป็นคนใหม่และสร้างประโยชน์ให้ชุมชนตนเองให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่ต่อไป

      

      ภายในงานมหกรรมฯครั้งที่ 3 นี้ บอกเล่า “พลังคุณค่าเยาวชนพลเมืองศรีสะเกษ” ผ่านกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนาแนวใหม่ที่มีเยาวชนเป็นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. และเวทีเสวนาและแลกเปลี่ยน “พลังเยาวชนรุ่นใหม่ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ โดยกลุ่มแกนนำเยาวชน ,เวทีเสวนาและแลกเปลี่ยน “ผู้ร่วมสร้างเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิด” โดยพี่เลี้ยงโครงการ/ที่ปรึกษา/โคชเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์ที่น่าสนใจได้แก่ นิทรรศการมีชีวิต “เรียนรู้รูปธรรมการปฏิบัติการโครงการเพื่อชุมชนของกลุ่มแกนนำเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 , การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นศรีสะเกษ โดยกลุ่มแกนนำเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3

      



       โจทย์ท้าทายที่โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ได้พยายามทำมาตลอดสามปีคือ จะสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างสำนึกพลเมืองให้กับเด็กเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษได้อย่างไร และพลเมืองดีศรีสะเกษจะเป็นพลังพลเมืองแห่งการตื่นรู้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบนฐานความรู้ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร เวทีครั้งนี้ได้พิสูจน์ผลของกระบวนการเรียนรู้ของโครงการนี้ว่าสัมฤทธิ์ผลตรงตามโจทย์ที่ว่านั้นแล้ว ดูได้จากวิธีคิดและวิธีทำงานแบบมีสำนึกความเป็นพลเมือง ( Active Citizen) ของเยาวชนเหลือแต่ “โอกาส” ที่ “ผู้ใหญ่” จะหยิบยื่นให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพทำงานเพื่อบ้านเมืองตัวเองให้ต่อเนื่องต่อไอย่างไร? นั่นเอง

…………………………………………………………………………..