​“หนังกลางแปลง”ร้อยใจชุมชนกับเยาวชนเมืองศรีสะเกษ

                        

มหกรรมฉายหนังกลางแปลง ชาวบ้านให้ความสนใจมาดูงานเยาวชนจำนวนมาก


เร็วๆ รีบไปดูหนังกลางแปลงกัน เสียงยายเรียกหลาน แม่จูงลูกทยอยเข้ามาภายในบริเวณงาน ท่ามกลางอากาศที่เริ่มหนาวเย็นของจ.ศรีสะเกษ เกือบทุกคนในชุมชนออกมาจากบ้านเพื่อมานั่งดูหนังของ“เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ” ที่นำหนังที่ตัวเองผลิตมาให้พ่อแม่พี่น้องได้ดูกันถึงบ้าน หนังได้บอกเล่าเรื่องราวชุมชนผ่านโครงการที่เด็กๆ ทำ ผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้เฒ่า ผู้แก่ พ่อแม่และคนในชุมชนสะท้อนตรงกันชื่นชมสิ่งที่เยาวชนๆ ได้ทำเพื่อชุมชน

                      

“อภิชาติ วันอุบล หรือ เต๋า ประธานกลุ่มเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3


“อภิชาติ วันอุบล หรือ เต๋า ประธานกลุ่มเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 ได้เป็นตัวแทนบอกถึงเป้าหมายของการฉายหนังกลางแปลงว่า “อยากจะนำเสนอผลงานของพวกเราให้พ่อแม่ พี่น้อง และคนในชุมชนได้ดู เมื่อดูแล้วจะได้เกิดความเข้าใจว่าที่พวกเราเยาวชนลงไปในชุมชนบ่อยๆ ไปทำอะไรกัน สุดท้ายอยากจะขอให้ผู้ใหญ่ที่พวกเราเรียนเชิญมาดูหนังของเรา ทั้งท่านนายอำเภอ ประธานวัฒนธรรม อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน เมื่อได้เห็นงานของเราผ่านหนังที่เราทำกันมา และถ้าเห็นว่างานของเรามีประโยชน์ต่อชุมชน จะได้มีโอกาสนำงานของพวกเราไปเชื่อมกับงานที่ผู้ใหญ่แต่ละท่านได้ทำกันอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของพวกเราเลย” ในเวทีครั้งนี้นอกจากจะมีกิจกรรมหนังกลางแปลง เวทีเสวนา นิทรรศการและการแสดงพื้นบ้านแล้ว เยาวชนยังได้แสดงศักยภาพในการจัดงานด้วยตนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานเชิญผู้ใหญ่มาเป็นประธาน ประสานผู้นำชุมชน ชาวบ้าน เพื่อเชิญชวนมาร่วมดูหนัง อีกทั้งยังแบ่งบทบาทหน้าที่ ตั้งแต่การเป็นพิธีกร การแสดง การร่วมเสวนา การจัดรูปแบบเวที เพื่อให้ชุมชนได้เห็นศักยภาพของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง

                        

เวทีเสวนาโซนที่ 1


มหกรรมหนังกลางแปลงครั้งนี้ ได้มีการแบ่งการจัดงานออกเป็น 3 โซนตามพื้นที่การเรียนรู้ของเยาวชน โซนที่หนึ่ง “งานพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ มูไฮ บองประโอญ โซนขุนหาญ ร่วมสืบสานวิถีวัฒนธรรมชุมชน” จัดขึ้นตรงกับวันลอยกระทงในวันที่ 3 พ.ย. 60 ณ วัดกันทรอมใต้ ต.กันทรอม อ.ขุนหาญ นำเสนอคุณค่า 4 โครงการ 1.โครงการทอรักร่วมกัน Product สร้างสรรค์ แปรรูปผลิตภัณฑ์กอนกวย Sodlaway 2.โครงการเศษผ้าสืบสานเล่าขานตำนานบ้านดู่ 3.โครงการสร้างฐานเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจู เพื่อการจัดการป่าชุมชน 4.โครงการสะเองสืบสานจัดกระบวนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สู่รุ่นน้องนอกห้องเรียน

 

นิทรรศการโซนที่สอง


โซนที่สอง “งานตุ้มโฮมพาแลง เบิ่งแยงหนังสั้น สานพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ” จัดขึ้นวันที่ 4 พ.ย. ณ ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองสะมอน ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน นำเสนอคุณค่า 5 โครงการ 1.โครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้ 2.โครงการมะพร้าววัยใสสร้างเศรษฐกิจชาวทุ่งมน 3.โครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูหนองแสนแสบ 4.โครงการย้อนรอยศึกษาสืบสานภะซากวยโทร๊ะอืมเพิ๊ต 5.โครงการน้ำประปาใสด้วยแรงใจ ฟ้าผ่าสามัคคี

                   

ผู้ใหญ่มาร่วมชื่นชมโซนที่สาม


โซนที่สาม “งานโมเมอพลังกอนกะแนน เล่าขานสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ยลยินปรางค์กู่-ขุขันธ์” จัดขึ้นวันที่ 5 พ.ย. ณ วัดระกา ต.พิมาย อ.ปรางค์กู่ นำเสนอคุณค่า 9 โครงการ 1.โครงการเยาวชนขามใหญ่อนุรักษ์พัฒนาการทอเสื่อกก 2.โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านสานความรู้สู่มือน้อง 3.โครงการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญหาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากทางมะพร้าว 4.โครงการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ของกลุ่มเยาวชนบ้านแสนแก้ว 5.โครงการ Spykids รุ่นใหม่ถักทอใจสู่ผลิตภัณฑ์ 6.โครงการเรียนรู้และทดลองแปรรูปหัวปลาให้เป็นอาหารไก่โดยเยาวชนบ้านดงตาดทอง 7.โครงการเยาวชนร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์ 8.โครงการการจัดการพื้นที่และลำห้วยหนองบัวบานเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 9.โครงการโกนเจาเล่าขานตำนานปราสาทตาเล็ง

ส่วนเยาวชนผู้ทำได้เล่าเรื่องราวงานของตนเองผ่านเวทีเสวนา เกิดความภาคภูมิใจเมื่อโครงการที่พวกตนเองทำได้ส่งผลต่อดีชุมชน ประเด็นที่เยาวชนสนใจและนำมาจัดทำโครงการ ได้แก่ประเด็นวัฒนธรรม ประเด็นสัมมาชีพ และประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เยาวชนร่วมสะท้อน...

                        

ชมการจัดนิทรรศการ


ประเด็นวัฒนธรรม โครงการเยาวชนขามใหญ่ อนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนาการทอเสื่อ เยาวชนมองเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาการทอเสื่อกกของบ้านขามใหญ่ ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ จึงร่วมกันสืบสานไว้ โดยกนกวรรณ พันธมาศ หรือ หมิว เรียนอยู่ปี 4 ราชภัฎศรีสะเกษ เล่าว่า “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเรียนรู้วิธีการทอเสื่อกกและบันทึกข้อมูลไว้เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ภูมิปัญญาการทอเสื่อกก เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการทอเสื่อกกมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน "การทำเสื่อกกเป็นความภาคภูมิใจของพวกเรา เพราะหลายคนยังไม่เห็นความสำคัญแต่เราได้มองเห็นตรงนี้และได้เริ่มทำก่อน เราก็ภูมิใจนะที่เราทำให้เป็นผลิตภัณฑ์จากฝีมือเราเองได้ อยากให้คนดูหนังของเราได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาการทอเสื่อกกและร่วมอนุรักษ์ไว้"

บางชุมชนมีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีตำนานแต่นับวันยิ่งเลือนหาย เยาวชนเห็นความสำคัญมาเริ่มทำโครงการโกนเจา เล่าขาน ตำนานปราสาทตาเล็ง อยู่ที่ ต.ปราสาท อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เยาวชนร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปราสาทตาเล็ง และทำให้ชุมชมทราบถึงขอบเขตที่สามารถช่วยกันพัฒนาปราสาทให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้โดยปรับภูมิทัศน์โดยรอบๆ ปราสาทให้มีความสวยงามน่าเยี่ยมชมไม่ทำให้ไปลุกล้ำในส่วนงานราชการ ซึ่งส่วนของการบูรณะองค์ปราสาททางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็กำลังดำเนินการอยู่ สุภาวดี ยาจิตร หรือหมิว เรียนอยู่ ม.2 โรงเรียนบ้านปราสาท สะท้อนว่า "กลุ่มตนทำงานมีปัญหาผู้ใหญ่ไม่เข้าใจว่าพวกเราทำอะไรกัน ก็พยายามอธิบายเพื่อให้ผู้ใหญ่มาร่วมสนับสนุน และสิ่งที่ทำให้เราต้องทำถึงแม้ผู้ใหญ่จะไม่เห็นเรา เพราะรู้สึกว่าในเมื่อเราเป็นเยาวชนในชุมชนนั้นแล้ว สิ่งดีๆ ที่ควรอยู่คู่ชุมชนเราก็ควรอนุรักษ์และก็ทำต่อไป ถึงแม้บางครั้งเราจะท้อมากๆ เราคิดว่าเราทำมาได้ถึงขนาดนี้ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ

ในประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เยาวชนสนใจเรื่องฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ บ้านหนองสะมอน ต. เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ที่เสื่อมโทรมลงจึงมาช่วยกันปลูกป่าและฟื้นฟูป่า โดยมีพินิทนันท์ สุทธิ์สน หรือนัน เรียนอยู่ม.2 รร.ห้วยทับทันวิทยาคม เล่าถึงโครงการยุวชนอนุรักษ์ป่าหนองแสนแสบ “ได้คุยกับเพื่อนๆ และชาวบ้านว่า ถ้าไม่มีโครงการนี้เราก็จะปลูกป่าต่อไปอีก เพื่อหมู่บ้านของเรา ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญมากขึ้นจากตอนแรกมาร่วมกิจกรรมสิบคนตอนนี้มาร่วมกิจกรรมเกือบร้อยคน ภาคภูมิใจที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับเยาวชน เพราะเห็นว่าสิ่งที่เยาวชนทำได้เห็นผลจริงๆ เกิดประโยชน์กับชุมชนจริงๆ อยากให้ผู้ใหญ่สนับสนุนมาเป็นแกนหลักพาเยาวชนทำงานให้ดียิ่งๆไปอีก เป้าหมายสูงสุดอยากทำให้หมู่บ้านพัฒนามีป่าเพิ่มมากขึ้นอยากให้ชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมกับครบทุกคน”

                                       

จิตรกัญญา จันโสดา หรือการ์ตูน


โครงการน้ำประปาใส ด้วยแรงใจฟ้าผ่าสามัคคี ร่วมแก้ปัญหาระบบน้ำประปาหมู่บ้านบ้านฟ้าผ่า ที่หมู่ที่ 5 ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ หลังพบปัญหาเรื่องน้่ำประปาขุ่น ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ น้ำที่ใช้ในครัวเรือนไม่สะอาดและทำให้คันเป็นผด โดยจิตรกัญญา จันโสดา หรือการ์ตูน เรียน ม.5 โรงเรียนก้าแพง มาร่วมสะท้อนว่า “..คิดว่างานที่ทำสำเร็จแต่ยังไม่ตรงเป้าหมายที่ทำ เพราะเป้าหมายอยากให้น้ำประปาใส แต่ตอนนี้ใสอยู่ได้สองสามอาทิตย์ก็กลับมาขุ่นเหมือนเดิม เกิดจากท่อเป็นเหล็กเป็นสนิททำให้น้ำดำ การทำโครงการนี้ทำให้ทางชุมชนรู้ต้นเหตุและได้มาช่วยกันบ่อน้ำประปาเดือนละหนึ่งครั้ง และมีโครงการเปลี่ยนท่อจากท่อเหล็กเป็นท่อพีวีซี ชุมชนรู้สึกดีใจที่เห็นพวกเรามาช่วยทำ และตื่นตัวช่วยกันล้างท่อน้ำประปาให้สะอาด ช่วยกันออกความคิดเห็น ทำงานเพื่อชุมชนรู้สึกสนุก ดีใจ เราทำให้ชุมชนแผ่นดินเกิดเรา คาดหวังว่าทุกคนเมื่อดูหนังจะเห็นปัญหา สาเหตุ รู้ว่าการที่เราทำโครงการ ถ้าหมู่บ้านไหนมีน้ำประปาที่ขุ่นสามารถนำวิธีการของเราไปปรับใช้ได้”

                        

เยาวชนสืบสานความเป็นไทย


โครงการเยาวชนร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู ป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์ ม.2 ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีชาวบ้านนำขยะไปทิ้งในบริเวณพื้นที่ป่าชุมชน ที่มีพื้นที่ทั้งหมด193ไร่ ทำให้เกิดบ่อขยะขยายกว้างขึ้นเป็นพื้นที่เกือบ 2 ไร่ ตลอดเส้นทางระหว่างหมู่บ้านเข้าตัวอำเภอเกิดกลิ่นเหม็นและมีผลต่อสุขภาพสภาพแวดล้อมชุมชน กลุ่มเยาวชนจึงร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาขยะและร่วมกันฟื้นฟูป่าชุมชน อรุณรัตน์ ตินทอง เรียน ม.3 โรงเรียนตูมพิทยานุสรณ์ เล่าว่า.. “ตอนนี้ปัญหาขยะหมดไป สะอาด ไม่มีขยะเลยค่ะ ไปสำรวจทั้งด้านในและด้านนอกมาแล้วไม่มีขยะไปทิ้งอีกแล้วค่ะ ตอนนี้ป่าที่ตรงนั้นเราปลูกป่าเสริม ปลูกต้นไม้ มะม่วง ยางนา หมาก พะยูง มะละกอ ขยะที่เก็บเราก็เผาเลยแล้วกลบ ก่อนเผาก็แยกขยะขวดและกระจกไว้ก่อนด้วย เผาเฉพาะส่วนที่เผาได้” ร่วมสะท้อนการทำงานของเยาวชนกลุ่มนี้จากพี่เลี้ยง นาวิน สิงขร สมาชิกบริหารส่วนตำบลตูมเล่าถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า..”ตอนเริ่มทำโครงการนี้ ผู้นำชุมชนก็ติงว่าโครงการใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก กลัวทำไม่ไหว แต่ในฐานะพี่เลี้ยงก็ให้คำแนะนำว่าควรทำประชาสัมพันธ์ทางไลน์ เฟสบุ้ค ให้ข้อมูลไว้ถึงปัญหาของการทิ้งขยะที่จะมีผลต่อชุมชนอย่างไร และได้มีการประชุมระดับหมู่บ้าน ตำบล เพื่อให้ทราบว่าเด็กเห็นความสำคัญเรื่องนี้ อยากให้ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างไร และให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เข้ามาช่วยกันทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ แกนนำ เกิดจากการรณรงค์และเห็นความสำคัญจึงทำให้แกนนำทุกคนเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาขยะว่าจะทำได้อย่างไร พอเด็กๆ เริ่มรณรงค์ชุมชนก็เห็นความสำคัญมาช่วยกันอนุรักษ์ป่า พฤติกรรมในชุมชนเปลี่ยนไปเริ่มจากการคัดแยกขยะในบ้านตนเองก่อน เมื่อก่อนมีขยะอะไรก็ไปทิ้งหมด เดี๋ยวนี้ให้ทำว่าขยะมีค่าเอามาขายได้ ดีใจที่น้องๆ ได้ออกความคิดในการทำโครงการ และชุมชนได้สะท้อนมารู้สึกภูมิใจเด็กๆ ของตนเองที่คิดได้ ทำได้”

หลังจากได้ดูหนังของเยาวชนจบในแต่ละโซนแล้ว ได้มีเสียงสะท้อนจากผู้ใหญ่ชื่นชมการทำงานของเยาวชนที่เล่าเรื่องผ่านหนังอย่างท่วมท้น..

ไพบูลย์ สมรัตน์ ประธานวัฒนธรรม ร่วมชื่นชมและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม.. “ผมได้ชมการทำงานของเยาวชนในการวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติด้านสมุนไพร อยากให้น้องๆ เพิ่มในการบอกชื่อสมุนไพรที่รักษาพิษหรือโรคได้ และโครงการของเยาวชน ต.โพธิ์กระสังข์ เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ดีใจนะครับที่ลูกๆ เยาวชนทั้งชายหญิงได้ทำสิ่งดีให้กับชุมชน ถ้าทุกๆ ตำบลเป็นอย่าง 3 ตำบลนี้ ก็จะทำให้ประเทศชาติของเราได้ราบรื่นและเจริญรุ่งเรือง”

                        

ธวัช สุวรรณ นายอำเภอห้วยทับทัน


­

ธวัช สุวรรณ นายอำเภอห้วยทับทัน พูดถึงความคาดหวังเกี่ยวกับเยาวชนว่า...”ผมมองว่าความคิดความอ่านของเด็กสมัยนี้ ผมมองเรื่องเดียวคืออยากให้เขามีจิตที่ยึดโยงกับสังคม ชุมชน ของเขาเอง คือถ้าเขามองว่าตัวเองเป็นพลเมืองของประเทศไทย ของโลก ให้แคบลงมาให้ลงมาสู่พื้นที่ของเขาก็จะเป็นการดี สำหรับโครงการนี้ผมคิดว่าเด็กมีความคิดความอ่านดี แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่รับฟังก็ไม่มีประโยชน์ ก็ต้องพยายามผลักดันในส่วนของการยอมรับของผู้ใหญ่ด้วย เพราะบางทีถ้าผู้ใหญ่หัวคิดแบบเต่าล้านปีก็คิดว่าเด็กอย่างไรก็คิดสู้ตัวเองไม่ได้ อย่างนั้นไม่มีประโยชน์แม้เด็กจะเก่งก็ไม่ได้รับการยอมรับ คือเราต้องมีพื้นที่ให้เด็กคิด ให้เด็กแสดงความคิดเห็น ก็คิดว่าว่าตรงนี้สำคัญคือผู้ใหญ่ต้องใจกว้าง”

ส่วนผู้ใหญ่ใจดีที่หนุนเสริมการทำงานของเยาวชนได้มาร่วมสะท้อน “คาร มนตรีวงษ์” พี่เลี้ยงเยาวชนโซนหนึ่งที่ชุมชนได้เห็นความสำคัญของเยาวชนได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออก เผยว่า “...ในวันนี้ผมคิดว่าเด็กทำได้ดี คนในชุมชนที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ในวันนี้ว่าเด็กเขาทำกิจกรรมอย่างนี้และเขาสามารถทำได้ ทำให้ชุมชนเข้าใจบทบาทของเด็กและเห็นศักยภาพของเด็ก ทำให้เกิดการยอมรับกันมากขึ้นงานของเด็กทั้ง 4 โครงการ(ในโซนหนึ่ง) ทุกโครงการมีประโยชน์ให้เด็กได้ทำ ได้ศึกษาและได้อนุรักษ์ช่วยกันสืบทอด มีประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทำให้เด็กรับผิดชอบงานที่ได้ศึกษามา รับผิดชอบชุมชน และรับผิดชอบครอบครัว”

                           

ครูจิราวรรณ เทาศิริ และลูกสาว


ทางด้านผู้ปกครองที่มาร่วมชมความสามารถของลูกๆ เช่น ครูจิราวรรณ เทาศิริ พี่เลี้ยงโครงการและพาลูกเข้ามาเรียนรู้ ร่วมสะท้อนว่า”โครงการนี้เด็กได้ลงมือทำจริง ทำให้เกิดทักษะเมื่อเด็กลงมือทำจริง เมื่อเขาเจอปัญหาเขาจะเริ่มหาหลากหลายวิธีการเพื่อแก้ปัญหา ที่โรงเรียน บางทีมีปัญหาครูใจร้อน ครูช่วยแก้ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สำหรับดิฉันได้ให้ลูกสองคนคือซัน (น.ส.อภิชญา เทาศิริ อายุ 17 ปี) และแซม (น.ส.นาฎนิชา เทาศิริ อายุ 15 ปี) เข้าร่วมโครงการด้วย จุดประสงค์ก็เพื่อให้เขาฝึกทักษะการเข้าสังคม เมื่อเข้าโครงการลูกทั้งสองเปลี่ยนแปลงตนเองมากขึ้น รับฟังคนอื่นและช่วยเหลือผู้อื้นมากขึ้น ผลจากโครงการนี้ ตอนนี้ชุมชนเปลี่ยนไปมาก เขามาเห็นลูกหลานเขากล้าแสดงออกมากขึ้น เวลาเด็กออกไปนำเสนอกิจกรรมหรือเขาออกไปสำรวจชุมชนเขาสามารถเล่าเป็นเรื่องราวได้ ในเรื่องของทักษะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทักษะแสดงความคิดเห็น เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไป แล้วถ้าเกิดสถานการณ์บางสถานการณ์เขาน่าจะดึงทักษะเหล่านี้ออกมาใช้ได้”

ยายไฮ ศิริเลิศ ยายของพินิทนันท์ สุทธิ์สน หรือนัน จากโครงการยุวชนอนุรักษ์ป่าหนองแสนแสบ บอกว่ามาดูหลานวันนี้ รู้ว่าหลานทำโครงการเกี่ยวกับต้นไม้ ปลูกป่า ตอนหลานไปปลูกป่าได้ไปช่วยปลูกป่าด้วย พอหลานมาบอกว่าจะไปปลูกป่าก็ให้ทำเพราะหลานชอบ และคิดว่าดีกว่าให้หลานไปติดยา ติดเหล้า เมื่อก่อนเป็นคนนอนตื่นสายพอทำโครงการแล้วตื่นเช้า รับผิดชอบ ดูหนังแล้วรู้สึกภูมิใจตรงที่หลานได้ทำงานให้โครงการ ทำให้กับชุมชนและทำเพื่อคนรุ่นหลัง ทำเพื่อให้น้องๆ ได้ทำตาม

แม่ราตรี แสนปาง แม่ของชิณกร มียิ่ง โครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ ร่วมฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ร่วมสะท้อนการทำงานของลูกว่า...”ลูกมาอธิบายการทำโครงการ แม่ก็บอกว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ดีต่อบ้านเมืองก็บอกเขาให้ทำไปไม่ได้คัดค้านอะไร เป็นประโยชน์ต่อไปในวันข้างหน้าก็สนับสนุนให้เขาทำ ไปช่วยปลูกต้นไม้ที่หนองแสนแสบ ปลูกสองวันได้เกือบหมื่นต้น เขาบอกว่าอยากให้มีผืนป่า แต่ตอนนี้ป่าหายไป อยากได้ผืนป่ากลับคืนมาเลยไปช่วยกัน เมื่อก่อนตรงนี้อุดมสมบูรณ์เป็นที่เก็บน้ำ แม่ก็ไม่คิดว่าลูกจะคิดได้ขนาดนี้ในวัยของเขา อายุของเขาเท่านี้ ก็เลยบอกว่าเขารู้จักคิดที่มองการณ์ไกลไปวันข้างหน้า เขาให้ไปช่วยทั้งสองวันแม่ก็ไปช่วย ยายๆ ก็ไปช่วยด้วยกัน ทีแรกแม่ไม่คิดว่าเขาจะมีความรับผิดชอบและมีความสามารถเท่านี้ในวัยของเขาขนาดนี้ รับผิดชอบ ภูมิใจในตัวลูกและยิ่งมาเห็นเขามาเป็นพิธีกรในงาน ไม่คิดว่าเขาจะทำได้ ปลื้มใจว่านี่ลูกเราเหรอเนี่ย..”

การฉายหนังเป็นการเปิดพื้นที่ (space) ให้เด็กและผู้ใหญ่ได้มาสื่อสาร พูดคุยประเด็นปัญหาในชุมชน โดยใช้สารคดีที่เด็กทำเป็นเครื่องมือสื่อสารให้ชุมชนเห็นศักยภาพของเด็ก และเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหาหรือประเด็นที่เด็กทำโครงการนี่คือกุศโลบายอันแยบยลของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปี 3 ดำเนินโครงการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และ สสส. เป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน (Active Citizen) ผ่านการทำโครงการให้เป็นพลเมืองดีสำนึกในการทำประโยชน์เพื่อชุมชนและสังคม และสร้างเครือข่ายเยาวชนและเครือข่ายพี่เลี้ยงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาพลเมืองเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ สู่การพัฒนากลไกในการพัฒนาพลเมืองเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษนั่นเอง

หากชุมชนใดที่มีผู้ใหญ่เปิด “พื้นที่” เปิด “โอกาส” ให้เยาวชนได้แสดงความคิดและได้ลงมือทำงานเพื่อชุมชนแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้ใหญ่ เชื่อมั่นว่าชุมชนนั้นจะพัฒนาก้าวไกลได้อย่างแน่นอน.