Innovation
ใน Quick Dyeing
เสริมศักยภาพเด็กเก่งในค่าย

เนคเทคจับมือมูลนิธิสยามกัมมาจลเปิดตัว 13 ผลงานของเยาวชนคนเก่ง ICT ในโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี2 หวังต่อยอดผลงานจากการประกวดสู่แนวคิด “จากหิ้งสู่ห้าง” พร้อมจัดค่ายเสริมศักยภาพรอบด้าน ทั้งการบริหารจัดการ การวางแผนธุรกิจ และการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนนำผลงานไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นแล้วกลับมาพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น

เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนคนเก่ง ICT จำนวน 13 ทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนในโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปี 2 โครงการในความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มีเป้าหมายหนุนเสริมให้เยาวชนคนเก่ง ICT ได้ใช้ความรู้ความสามารถต่อยอดพัฒนาผลงานจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) และโครงการของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ให้เกิดผลสำเร็จสามารถใช้งานได้จริงทั้งในด้านการค้าและการรับใช้สังคม ด้วยเหตุนี้ "ค่ายพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการโครงการสู่การนำไปใช้งานจริง" จึงเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากเนคเทคอบรมให้ความรู้ต่อยอดผลงานสู่การใช้จริง

ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ในปีที่ 2 ของโครงการ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2557 คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงาน 13 โครงการจากผลงานที่ส่งสมัครทั้งหมด 67 โครงการให้ได้รับทุนสนับสนุนการต่อยอด พร้อมจัดค่ายเสริมศักยภาพเยาวชนขึ้น โดยหวังว่าตลอด 3 วันของการอบรมเยาวชนทุกทีมจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และคำแนะนำจากทีมวิทยากร ทั้งในด้านการบริหารจัดการโครงการ การวางแผนทางธุรกิจสำหรับผู้เริ่มต้น และการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับโครงการไอที ไปปรับใช้กับการทำงานจริงในระยะต่อไปซึ่งเยาวชนจะต้องนำผลงานไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลกลับมาพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่หาได้ยากยิ่งในห้องเรียน

“ในค่ายครั้งนี้ พวกเราจะได้มาเรียนรู้เรื่องความต้องการของผู้ใช้ว่าเขาอยากเห็นผลงานของเราเป็นอย่างไร เราอาจภูมิใจในผลงานของเราว่าผ่านการแข่งขันมามากมาย หรือเคยได้รางวัลชนะเลิศมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจไม่มีใครใช้งานผลงานของเราเลย เพราะเราไม่รู้จักผู้ใช้ แม้แต่หน่วยวิจัยอย่างเนคเทคเอง นักวิจัยก็จำเป็นต้องไปสำรวจความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องทำให้ผู้ใช้พอใจในผลงานของเรา” ดร.กว้านกล่าว

สำหรับกระบวนการอบรมครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษและการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาโครงการในด้านที่จำเป็นแก่น้องๆ ได้ขอเข้ารับคำปรึกษา เริ่มตั้งแต่คลินิกด้านการบริหารจัดการโครงการ โดยคุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ, คลินิกด้านการวางแผนทางธุรกิจสำหรับผู้เริ่มต้นโครงการด้านไอทีโดยคุณณัฐพล นุตคำแหง และคุณปฤษฎา หิรัญบูรณะ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ, และคลินิกด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับโครงการไอที โดยคุณชัชวาล สังคีตตระการ ผู้ช่วยวิจัยหน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ

ด้านทีมวิทยากรการอบรม คุณณัฐพล นุตคำแหง และคุณปฤษฎา หิรัญบูรณะ จากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ กล่าวว่า ในค่ายครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้และเสริมมุมมองใหม่แก่น้องๆ เยาวชนถึงกระบวนการการพัฒนาผลงานจากไอเดียถึงผลิตภัณฑ์ว่าควรเป็นอย่างไร ควรจัดสรรทรัพยากรเวลา เงินทุน และกำลังคนอย่างไร และควรมีระบบการทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งด้านการวางแผนธุรกิจซึ่งน้องๆ ต้องปรับมุมมองต่อผลงานที่พัฒนาขึ้นว่าเป็น “นวัตกรรม” ที่นอกจากจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เราคิดค้นขึ้นแล้วยังต้องใช้งานได้จริงและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ การหาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนการทำงานจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องกำหนดให้ชัดว่าเป็นใคร ต้องการฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างไร ไม่ใช่เพียงผู้พัฒนาต้องการพัฒนาอะไร รวมทั้งรู้ด้วยว่ากลุ่มผู้ใช้มีจำนวนเท่าไร ในเชิงธุรกิจจะมีความคุ้มทุนและทำกำไรได้หรือไม่ ขณะที่บางทีมเน้นพัฒนาผลงานเพื่อรับใช้สังคมจะต้องไม่ลืมว่าผลิตภัณฑ์ต้องเลี้ยงตัวเองและตอบโจทย์ความยั่งยืนได้ การหาข้อมูลอย่างเพียงพออาจช่วยให้เราเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุนเพื่อการทำความดีได้ต่อเนื่องยาวนาน

“เราเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของน้องๆ ที่มาร่วมโครงการเพราะเขาตระหนักถึงคุณค่าที่โครงการได้มอบให้แล้วเขาอยากทำให้เต็มที่ที่สุด การสนับสนุนให้มีโครงการลักษณะนี้จึงควรมีต่อไปเพราะเป็นกระบวนการที่ดี ไปหนุนเสริมเขาในส่วนที่เขายังไม่เคยได้เรียนรู้ เพราะหากเด็กทำโครงการแล้วไม่มีคนแนะนำ เขาก็จะคิดแบบเด็ก และอาจเน้นไปในเรื่องเทคนิคว่ามีความยากง่ายแค่ไหนเพื่อพิสูจน์ความสามารถในเชิงวิชาการ แต่ตอนนี้เรากำลังผลักดันให้เขามีความสามารถทำผลงานออกไปใช้เพื่อทำประโยชน์จริงๆ เรื่องความสามารถทางวิชาการจึงกลายเรื่องรอง” วิทยากรกล่าว

ทางด้านน้องๆ คนเก่ง ICT ที่เข้าร่วมรู้ในค่ายครั้งนี้ น้องว่าน “น.ส.ธัญจิรา สุกกรี” น้องเนย “น.ส.นุชดี เหล่าสุรสุนทร” และน้องนัท “ด.ญ.ณัฐณิชา เดชะเอื้ออารีย์” โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เจ้าของผลงานZombio นายซอมบี้กับเคมีที่รัก โปรแกรมสื่อการเรียนรู้วิชาเคมีเรื่องชีวโมเลกุลในรูปแบบ 2 มิติด้วยภาพแอนิเมชั่น สะท้อนว่ามาค่ายครั้งนี้แล้วได้รับความรู้หลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะด้านการตลาดว่าถึงเราจะมีความสามารถด้านด้านไอทีและพัฒนาผลงานออกมาได้ดีมากมายเพียงใด แต่หากไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดหรือของผู้ใช้ได้จริงๆ อย่างไรแล้วผลงานของเราก็ขายไม่ได้ โดยจะนำความรู้นี้ไปปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่จากแต่เดิมทำงานตามใจตัวเอง อยากเติมหรืออยากใส่อะไรลงไปในโปรแกรมก็ใส่เข้าไปจนรกรุงรังทั้งที่ไม่มีความจำเป็นไปเป็นการมองว่าเราจะทำอะไรเพื่อให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์สูงสุดและเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังได้รับรู้เรื่องการบริหารจัดการโครงการ การจัดสรรเวลาเรียนและเวลาทำงาน การแบ่งหน้าที่ และการวางแผน การวางกรอบเวลาว่างานชิ้นไหนควรใช้เวลาเท่าไร เพราะยิ่งเราวางแผนไว้ละเอียดมากเท่าไหร่การทำงานของเราก็จะมีความชัดเจนและปัญหาน้อยลงมากเท่านั้น

ส่วน น้องอั้ม "นายเกียรติ์อธีติ อนุสรณ์ภักดี" นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เจ้าของผลงาน Personal Health Assistantโปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคลบนอุปกรณ์ Smart Phone ระบบ Android กล่าวว่ารู้สึกประทับใจที่ได้มารับความรู้เรื่องของการวางแผนธุรกิจ เพราะสอนให้เราสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้เอง ซึ่งมีน้อยหรือไม่มีเลยในการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มุ่งสอนให้นักศึกษาจบไปเป็นวิศวกรหรือเป็นแรงงานมากกว่า

“การได้มารับความรู้เรื่อง Business Model ทำให้ผมรู้ว่าคนที่เรียนจบทางด้านวิศวกรรมก็สามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการได้ ไม่ใช่การมองแต่เรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เราจะต้องทำให้เสร็จ แต่มองด้วยว่าเราจะบุกตลาดอย่างไรและใครเป็นกลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์ของเรา หากเด็กไทยได้รับความรู้ตรงนี้ด้วยจะทำให้กำลังคนของเรามีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน” เยาวชนคนเก่ง ICT ปิดท้าย โดยหลังจากนี้ น้องๆ ทั้ง 13 ทีมจะได้นำผลงานของตนไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มผู้ใช้งาน และปรับปรุงพัฒนาผลงาน จากนั้นกลับมานำเสนอต่อคณะกรรมการโครงการอีกครั้งเพื่อให้เกิดการใช้จริงได้ในอนาคต

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่น่าสนใจและน่าจับตามองพร้อมร่วมกันส่งใจเชียร์ให้กับเหล่าคนรุ่นใหม่ทั้ง 13 ทีมได้พัฒนาต่อยอดผลงานจากการประกวด ไม่ให้เป็นแค่ผลงานประกวดที่ทำเสร็จแล้วก็จบไป แต่ยังสามารถต่อยอดสู่การใช้งานจริง และมีผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งในด้านธุรกิจและสังคม

- See more at: http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/590453#sthash.9Ig6uSvg.A0LQVEzn.dpuf