ต่อกล้าให้เติบใหญ่” เวทีต่อยอดซอฟต์แวร์เด็กไทยสู่การใช้ประโยชน์จริง
ใน Quick Dyeing
ต่อกล้าให้เติบใหญ่” เวทีต่อยอดซอฟต์แวร์เด็กไทยสู่การใช้ประโยชน์จริง

เนคเทคร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล นำเสนอ 13 ผลงานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ฝีมือเยาวชนไทยในโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ถือเป็นแนวทาง “บ่มเพาะ” คนรุ่นใหม่ให้ผลิตงานไอทีที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง ทั้งผู้พิการ คนรักสุขภาพ คนรักเทคโนโลยี ฯลฯ เผยเวทีนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนไทยก้าวสู่เส้นทางการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง 

ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) กล่าวตอนหนึ่งในการนำเสนอผลงานเยาวชนโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่”ประจำปี 2557 ว่าโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจลธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งนักวิจัยจากเนคเทคนักวิจัยจากศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจเอกชนต่างๆที่เข้ามาร่วมเป็น “กลไก” หนุนเสริมเยาวชนเพื่อต่อยอดผลงานไอทีให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง

­

โดยเยาวชนนักพัฒนาที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมการคัดเลือกผลงานและได้รับการเติมเต็มศักยภาพด้านต่างๆ ผ่านกิจกรรมค่ายเสริมทักษะที่โครงการจัดขึ้นจนสามารถพัฒนาผลงานไปทดลองใช้งานจริงกับผู้ใช้งานกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นถึงแม้จะเสร็จสิ้นระยะพัฒนาผลงานในโครงการแล้ว ตนอยากให้น้องๆ ผู้พัฒนาทุกคนยังคงเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ตนเองสนใจเพื่อนำกลับมาปรับปรุงพัฒนาผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติต่อไปในอนาคต

­

ด้านนางปิยาภรณ์มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลเห็นว่าการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NationalSoftware Contest : NSC) มีมานานกว่า 10 ปีจึงได้หารือร่วมกับเนคเทคว่า เราจะพัฒนาโครงการนี้ต่อไปในทิศทางไหนอย่างไรและจะมีเส้นทางใดที่จะสนับสนุนให้เยาวชนที่เก่งเหล่านี้สามารถไปต่อได้ด้วยการช่วยหนุนเสริมให้โครงการที่ทำมาแล้วไปถึงผู้ใช้ได้จริวเพราะมีหลายผลงานที่มีคุณค่ามาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นการออกแบบการต่อยอดโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ในขณะนี้

­

เส้นทางการพัฒนาโปรแกรมไปสู่ผู้ใช้เป็นเหมือนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งจึงมีหลายประเด็นที่เยาวชนน่าจะได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นเราจึงคาดหวังว่า1.ผลงานจะมีการพัฒนาไปสู่ผู้ใช้ 2.เยาวชนไอทีที่มีศักยภาพในบ้านเราควรต้องเรียนรู้วิธีพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานด้วยและนอกจากจะได้เรียนรู้จากชีวิตจริงแล้ว เรายังคาดหวังว่าการพัฒนาเยาวชนในทิศทางนี้จะทำให้เขามีแง่มุมในเรื่องการแบ่งปันศักยภาพตนเองกับสังคมรวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม จึงมีกรรมการของมูลนิธิฯเข้าไปช่วยมองและช่วยให้ความเห็นในแง่มุมเหล่านั้นด้วยเพื่อเกิดผลลัพธ์ทั้งในส่วนของเยาวชนเองและผู้ใช้งาน

­

มูลนิธิสยามกัมมาจลมองว่าเนคเทคสามารถเป็น“กลไก” สนับสนุนและพัฒนาเยาวชนด้านไอทีที่มีมากกว่าระบบของการแข่งขันแต่สามารถเป็นตัวบ่มเพาะ (Incubator) เยาวชน และพัฒนาเยาวชนให้สามารถไปต่อได้ เพราะฉะนั้นทั้งเป้าหมายเชิงองค์กรของเนคเทคเองเป้าหมายตัวเยาวชนเองและเป้าหมายในเชิงผู้ใช้งานคือแนวคิดที่ทำให้เกิดการต่อยอดโครงการนี้ขึ้นมา

­

นางปิยาภรณ์กล่าวต่อว่าการดำเนินงานในรอบ 2ปีที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จพอสมควร เนื่องจากเยาวชนได้เรียนรู้อย่างที่เราตั้งใจว่าเขาจะได้เรียนรู้หลายผลงานสามารถพัฒนาไปสู่ผู้ใช้ได้บางผลงานต้องเชื่อมการเรียนรู้ไปสู่ศาสตร์อื่นๆ นอกจากไอทีด้วย เช่นศาสตร์ทางการแพทย์ สิ่งแวดล้อมหรือเรื่องที่ต้องใช้ความรู้เรื่องการตลาดเข้ามาช่วย เป็นต้นซึ่งในความเป็นจริงจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างมาก แม้ระยะเวลา 3 - 4เดือน เยาวชนอาจยังไม่สามารถพัฒนาผลงานไปสู่ผู้ใช้ได้ แต่ก็จะเห็นภาพว่าผลงานเหล่านั้นสามารถไปต่อได้ แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว และภูมิใจว่าเขามีมุมมองในเรื่องของความรับผิดชอบต่อผู้ใช้งาน ความรับผิดชอบต่อสังคมและมีแง่มุมที่นึกถึงการแบ่งปันศักยภาพหรือผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ในสังคมโดยรวมมากกว่าที่คิดถึงรายได้ของตัวเอง

­

ความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือเนคเทคเองก็เกิดความภาคภูมิใจในกลไกที่เกิดขึ้นและมองเห็นเส้นทางในการจะพัฒนางานต่อ หากเนคเทคสามารถทำอย่างนี้ต่อไปในระยะยาวก็จะช่วยทำให้โครงการแบบนี้เป็นที่พึ่งหรือเป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่ใช่แค่เป็นสนามประลองยุทธ์ แต่เป็นสนามให้ครูและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าผู้ใช้ต้องการอะไร และงานวิชาการจะตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างไรเนื่องจากวิธีการทำงานเพื่อผลักดันงานไปสู่ผู้ใช้นั้นต้องมีการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายซึ่งจะตอบโจทย์ว่า การศึกษาไม่ลอยจากโจทย์ชีวิตจริงและสามารถผลิตคนที่พร้อมใช้และพร้อมเข้าใจถ้าเขาจบมาด้วยความรู้ชุดหนึ่งที่ทำงานได้ ทำงานเป็นทีมได้ เข้าใจความคิดต่างเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทำงานร่วมกับผู้ใช้กับเพื่อนได้นั่นแหละคือคนที่สถานประกอบการหรือตลาดแรงงานต้องการ

“เพราะหนึ่งหัวสองมือจะเก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้เนื่องจากชีวิตจริงคนที่สามารถทำงานได้สำเร็จ ไม่ใช่คนพิเศษแต่เป็นคนธรรมดาที่ต้องปรับตัวให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่เยาวชนจะได้เรียนรู้ซึ่งเยาวชนในโครงการนี้โชคดีที่เมื่อได้พบโจทย์แบบนี้ เขาได้เรียนรู้ก่อนใครและต้องพยายามปรับตัวที่สำคัญมีความอดทนอดกลั้นฟันฝ่าอุปสรรคจนกระทั่งทำงานได้สำเร็จและนี่คือเด็กไทยรุ่นใหม่ที่เราอยากเห็นและเราได้เห็นในเยาวชนกลุ่มนี้”