“อบต.หนองอียอ” เผยกลยุทธสยบ “เด็กตีกัน” ชี้“วันสงกรานต์” ชื่นมื่น “วัยรุ่นซ่าส์อย่างสร้างสรรค์”

คลิปวัยรุ่นยกพวกตีกัน ว่อนในเนตช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ในสังคมทั่วไทย ที่ “วัยรุ่น” มักจะมีพฤติกรรมทะเลาะวิวาท ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อตนเอง และผู้อื่น อีกทั้งยังก่อให้เกิดบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัวในสังคมอีกด้วย ถึงแม้ทางภาครัฐหรือพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีมาตรการใดๆ มาคอยกำกับดูแล แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางที่จะทำให้ปัญหานี้หมดไปจากสังคมไทยเสียที แต่ที่ อบต.หนองอียอ อ.สนม จ.สุรินทร์ หนึ่งในอบต.นำร่องของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ร่วมกับมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยสามารถหาวิธีจัดการกับปัญหานี้ให้หมดสิ้นไป 5 ปี ที่ผ่านมาชุมชนชื่นมื่นฉลองสงกรานต์อย่างมีความสุขเพราะเด็กๆ ไม่ตีกันแล้ว.

­

­

นายสมเกียรติ สาระหัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ คลุกคลีและดูแลงานด้านเด็กและเยาวชนมายาวนานกว่า 10 ปี ระบุชัดว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กเกเรให้คืนกลับมาเป็นคนดีของชุมชนได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้ง “เวลา” , “ใจ” และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน จึงจะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยทางอบต.หนองอียอ ก็เหมือนกับทุกชุมชนที่มองเห็นพฤติกรรมของลูกหลาน ทั้งยกพวกตีกัน เด็กแว๊น ติดยาเสพติด ติดเหล้า หนีเรียน ฯลฯ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี แต่เมื่อปี 2553 อบต.หนองอียอเริ่มหันมาจับตาดูปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง โดยกำหนดเป็นแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนไว้ในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการได้เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 1: โรงเรียนครอบครัว และระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทำให้ได้แนวคิดและทดลองทำจาก อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ยิ่งทำให้ “สมเกียรติ” มองเห็นหนทางในการแก้ปัญหานี้ได้ชัดเจนขึ้น

­

­

“ที่มองเห็นหนทางชัดขึ้นก็ตอนที่ได้มาเข้าร่วมโครงการระยะที่ 1 โรงเรียนครอบครัว และนำกิจกรรมต่างๆ อาทิ จัดกิจกรรมกีฬา จิตอาสา เก็บขยะ ถวายเพลพระ ทำความสะอาดวัด และมีการรวมกลุ่มทำสันทนาการ เป็นต้น เข้ามาให้เยาวชนได้มาร่วมทำนั้น ในปีแรกก็ยากลำบากต้องให้ผู้นำชุมชนเกณฑ์เด็กของตัวเองมา ผู้ปกครองเกิดความไม่เข้าใจไม่อยากให้มา ตอนนั้น อบต.รับเป็นเจ้าภาพทั้งงบประมาณ บุคลากร และการจัดกิจกรรมเอง พอปีถัดมาเด็กๆ เริ่มสนใจและเข้ามาสมัครเอง ทางพ่อแม่เริ่มเห็นเด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลง เช่น กล้าแสดงออกมากขึ้น ก็เริ่มปล่อยให้ลูกตัวเองมาเข้าร่วม ทางอบต.ก็ถอยออกมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เริ่มให้เด็กๆ ลองคิดกิจกรรมที่อยากจะทำเอง ให้เด็กๆ มาร่วมเป็นแกนนำเยาวชน และหาแกนนำจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นแรก เขียว - บอม - บูม - อี้ จนถึงรุ่นล่าสุด ดอม มาถึงรุ่นที่ 6 มีเยาวชนในชุมชนเข้าร่วมกว่า 200 คนแล้ว”

­

­

สมเกียรติ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้มองเห็นว่าบรรยากาศในชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป พอจัดงานเทศกาลต่างๆ เด็กๆ ที่ตีกันเริ่มน้อยลงจนในที่สุดก็หายไปเอง ล่าสุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาเยาวชนรวมตัวกันรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง สร้างความชื่นมื่นให้กับชุมชนมากทีเดียว...สมเกียรติบอกว่าต่อว่า คิดว่าเพราะการจัดกิจกรรมร่วมกันของเด็กในอบต.ทั้ง 11 หมู่บ้าน ทำให้รู้จักกันหมด ทำให้การตีกันเริ่มคลายตัว ถึงแม้ใครไม่รู้จักกัน พอจะมีเรื่องกันเพื่อนๆ ก็ช่วยกันห้ามปราม หลังๆ น้องๆ ที่ทำโครงการ ก็ไปชวนเพื่อนๆ ที่เกเร และไม่เกเรมาเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และชวนน้องๆ ที่อายุตั้งแต่ 12 ปี เข้ามาด้วยเพื่อเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ“เด็กที่เรามองว่าเกเรและคิดว่าไม่น่าจะทำอะไรได้ แต่พอเราให้เขามีความรับผิดชอบ เขาก็ทำได้ดี พอมีเวทีที่ให้เขาได้แสดงออก เขาก็ลดในเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลงได้ ”คิดว่าอบต.มาถูกทางแล้ว ที่นำกิจกรรมมาให้เด็กๆเขาได้ทำ อบต.ปล่อยให้เด็กๆ เขาคิดเอง ทำกิจกรรมเอง เขาก็สนุก อยากทำอะไรก็ให้เขาทำ เด็กทุกคนจะมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน ไม่มีการบังคับกันแล้วแต่เด็ก มีจิตอาสาอยากมาทำก็มาทำ ไม่อยากมาทำก็ไม่ว่ากัน ทุกคนมีอิสระในด้านความคิดและการทำกิจกรรมที่ถูกใจตัวเองด้วย เราคอยเป็นพี่เลี้ยงดูอยู่ห่าง ให้งบประมาณ ให้คำปรึกษา พอผู้ปกครองเห็นว่าลูกตัวเองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็สนับสนุน โรงเรียนก็เห็นดีด้วย”

­

­

จากที่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน สมเกียรติ ชี้ว่าก็มองเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น พฤติกรรมเด็กในระบบหนีโรงเรียนจับกลุ่มกินเหล้าตามร้านค้า เด็กติดยาเสพติดออกจากกลุ่มมาภาคทัณฑ์ จากนั้นก็ลด ละ และเลิกในที่สุด กลุ่มที่ออกเรียนกลางคั่นขอกลับเข้าเรียนเพิ่ม เด็กแว๊น เด็กตีกัน ลดลงทันที พอมีจัดกิจกรรมอะไรขึ้นในชุมชนก็ไม่มีปัญหาเด็กตีกันแล้ว เมื่อถามว่าปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้อบต.หนองอียอ ทำแล้วประสบความสำเร็จ สมเกียรติ บอกแบบไม่หวงวิชาว่า

­

­

“...ใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป เป็นเพื่อนของเด็ก เราดูแลอยู่ห่างๆ ก็จะเข้ากับจริตของเด็ก ไม่ชอบให้ใครบังคับ พาเด็กทำกิจกรรมสนุกสนานแต่แฝงไปด้วยความรู้ กิจกรรมที่ให้เขาคิดเอง ทำเอง มีความสุขในสิ่งที่เขาทำและเขาก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเอง ถ้าหากพื้นที่ไหนอยากนำวิธีของหนองอียอไปใช้เราสามารถถ่ายทอดได้ แต่คนที่นำไปทำต้องใช้ความอดทน ระยะเวลา เพราะการทำงานกับเด็กๆ ในการเข้ามาแรกๆ เขาไม่ได้ศรัทธาในตัวคนทำ และเรื่องของเวลา ถ้าคิดว่าทำปุ๊บจะให้เปลี่ยนปั๊บเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ที่ทำต่อเนื่องจริงจังถึงจะเริ่มเห็นผล คนที่ทำเรื่องเด็กต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก เด็กมีความเบื่อเร็ว ความหลากหลาย มีความต่อเนื่อง มีความจริงใจ และจิตวิทยาต่างๆ เกี่ยวกับเด็กต้องมี อย่าคาดหวังผลประโยชน์กับเด็กมากเกินไป เช่นเป็นผลงานของอบต. ส่งประกวดแบบนี้ไม่ได้เลย และที่สำคัญต้องมีภาคีในพื้นที่ เช่น ประสานโรงเรียน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องเข้าถึง ถ้าเข้าไม่ถึงปุ๊บจะมีปัญหาเลย เด็กมาทำกิจกรรมแต่ขาดเรียน ครูจะไม่ชอบ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้ครูหรือโรงเรียนเห็นผลประโยชน์ว่านักเรียนมาทำแล้วเป็นผลดีต่อเด็ก”

­

­

สุดท้ายแม้อบต.หนองอียอจะดูว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างได้ผล แต่ สมเกียรติก็บอกว่าอบต.หนองอียอก็ยังหยุดพัฒนาต่อไม่ได้ “เราต้องทำอย่างต่อเนื่องไปในเด็กทุกๆ รุ่น จนวันหนึ่งเยาวชนที่ผ่านโครงการฯ รุ่นแรก ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นพ่อแม่ มีครอบครัว สิ่งที่เขามีอุดมการณ์อยู่ในตัว จะทำให้ชุมชนได้พ่อแม่ที่มีความเข้าใจและความคิดที่จะสนับสนุนเด็กต่อไปได้ น่าจะเป็นสังคมที่มีความสุข และเกิดความยั่งยืนขึ้นในชุมชน” นั่นคือเหตุผลที่อบต.หนองอียอ ทุ่มเทสรรพกำลังบ่มเพาะเยาวชนวันนี้ให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้านั่นเอง. หากอบต.ใดสนใจวิธีการนี้สามารถสอบถามได้ที่อบต.หนองอียอได้เลย



เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

สงกรานต์ใสๆ ที่ หนองอียอ

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2559