ร่วมปลูกป่าถวาย “แม่” ของแผ่นดิน
ร่วมปลูกป่าถวาย “แม่” ของแผ่นดิน

­

­

องค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย ร่วมกับ กองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุพรรณบุรี (กอ.รมน.จว.สพ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี (ธกส.) สำนักป่าไม้จังหวัดสุพรรณบุรี และคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านหนองการ้อง หมู่ที่ 11 ต.พลับพลาไชย ได้จัดโครงการ “19 ฝายถวายพ่อ ปลูกป่าถวายแม่ ของแผ่นดิน” ประจำปี 2559 เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 19 ฝาย และปลูกต้นไม้ จำนวน 2 พันต้น บนพื้นที่ 9 ไร่ ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหนองการ้อง หมู่ที่ 11 ต.พลับพลาไชย เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตสร้างรายได้ของประชาชนในชุมชนอีกด้วย

­

­

­

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ นายพีระศักดิ์ มาตรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย เผยว่า “..โครงการนี้เกิดขึ้น เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ทางอบต.จึงร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านหนองการ้อง หมู่ที่ 11 ต.พลับพลาไชย จัดโครงการ “19 ฝายถวายพ่อ ปลูกป่าถวายแม่ ของแผ่นดิน” ประจำปี 2559 ขึ้น เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกป่าจะได้ช่วยเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน ในการรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในชุมชน โดยมีทีมงานนักถักทอชุมชน (เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน รุ่นที่ 2) เป็นผู้ดำเนินโครงการพลับพลาไชยต้นกล้า พิทักษ์ป่าชุมชน ของเยาวชนบ้านหนองการ้อง หมู่ที่ 11 โดยมีกลุ่มแกนนำเยาวชนเข้าร่วมในครั้งนี้ประมาณ 30 คน ถือว่าเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก เยาวชน กับชุมชน และการที่ให้เด็กได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน เมื่อได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากป่า จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้ศึกษาระบบนิเวศน์ป่าชุมชนอย่างแท้จริง จะเป็นการช่วยปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และจะทำให้เยาวชนสานต่องานอนุรักษ์ป่าจากรุ่นสู่รุ่นได้” นายกฯ กล่าวถึงที่มาในครั้งนี้

­

­

นายกฯ กล่าวต่อว่าเพราะปัญหาเด็กและเยาวชนที่รุมเร้า ทั้งเด็กติดเกมส์ ติดการ์ตูน เกิดปัญหาในครอบครัว เมื่อปี 2558 อบต.พลับพลาไชยร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ดำเนินงานกิจกรรมด้านพัฒนาเยาวชน โดยจัดทีมงานดำเนินโครงการนักถักทอชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อเชื่อมโยงชุมชนสร้างความเข้มแข็ง “ผมเห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆ ที่ต้องแก้ไข การพัฒนาเด็กจึงต้องเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกของแก้ปัญหา สิ่งที่สามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนออกจากจุดแห่งปัญหาคือ การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของเด็ก เยาวชนในตำบลให้สามารถมีคุณภาพไม่ว่าด้านกายหรือด้านจิตใจ ผมเชื่อว่ากลุ่มเยาวชนพลับพลาไชยต้นกล้า พิทักษ์ป่าชุมชน กลุ่มนี้ จะ “ร่วมสร้างจิตอาสา สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์วิถีธรรมชาติ ปลูกฝังชีวิตพอเพียง ถ่ายทอดเรียนรู้สู่ชุมชน” ดังคำขวัญของกลุ่มที่จะทำให้ชุมชนบ้านหนองการ้องพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

­

­

นี่คือตัวอย่างของพื้นที่ ที่ผู้บริหารเข้าใจการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต้องทำอย่างไร? โดยเปลี่ยนเยาวชนต้นตอของปัญหาให้เป็นเป็นพลัง โดยการพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี คนเก่ง เนื่องในวันแม่แห่งชาติเยาวชนได้ร่วมทำความดีและตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรในชุมชน นี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคน และความยั่งยืนของชุมชนก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน.

­