ประวัติความเป็นมา

      ผ้าไหมลายลูกแก้ว หรือในภาษาส่วย (กูย) เรียกว่า ฉิกแก๊ปเข้ามาในชุมชนบ้านขี้นาคพร้อมกับการตั้งหมู่บ้านซึ่งมีอายุมาเมื่อ ร้อยกว่าปีมาแล้ว เริ่มจากยายนุย ชัยวิเศษเป็นแม่ของ นางพา ทวีชาติซึ่งยังมีชีวิตอยู่ อายุ ปี และเป็นผู้นำลายลูกแก้วเข้ามาในชุมชน และเป็นคนคิดริเริ่มที่จะทำผ้าลายลูกแก้วและเป็นผู้รู้ทางด้านนี้ด้วย ส่วนผู้รู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนั้นคือ ยายเช็ก(นางพา ทวีชาติ) ยายอุมา(นางสุรินทร์ ศิลาชัย) ยายอัง(นางสาวสำเนียง นาคนวล) ยายโจ๊ก(นางไทยนิมิต ทวีชาติ)ยายพี่ดล(นางวงเดือน นาคนวล) ยายลัก(นางแสงมณี จันทอง) ยายแตง(นางแตง อินตะนัย) แม่พี่ดล(นางจิตใสย์ นาคนวล ) ยายรงค์(นางอัมพร ไชยภา) ยายแชมป์(นางชิด ชัยวิเศษ)

ในสมัยแรกๆของการตั้งหมู่บ้านยังไม่มีตลาด ไม่ผ้าสำเร็จ คนโบราณนุ่งผ้าดิบเป็นเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีลักษณะเหมือนชุดที่ลูกหลานชาวจีนใส่ในพิธีงานศพเป็นผ้าดิบ ซึ่งในสมัยนั้นใครมีชุดนี้ก็ถือได้ว่ามีฐานะพอควรเนื่องจากหาซื้อยาก มีเพียงชาวจีนที่อาศัยอยู่ในแถบอำเภอปรางค์กู่ ซึ่งมีที่บ้านตูม บ้านสนายและบ้านพิมาย ซึ่งในปัจจุบันคือ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่นำเสื้อผ้ามาขายและเสื้อผ้าที่นำมาขายส่วนใหญ่จะเป็นผ้าดิบ เนื่องจากสมัยนั้นการคมนาคมขนส่งลำบากมีเพียงทางเกวียนที่ใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งติดต่อชุมชนข้างเคียงการหาผ้าใช้เองลำบาก จึงมีการผลิตผ้าใช้เอง สมัยนั้นก็มีการปลูกฝ้ายเพื่อผลิตเส้นด้ายในการทอผ้าใช้เองและมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหมทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนสำหรับนุ่งห่มในงานบุญ หรืองานประเพณีต่างๆ และพิธีกรรมต่างๆ เพราะผ้ามีความสวยงามและที่ย้อมเป็นสีดำนั้น เนื่องจากในอดีตนั้นยังไม่มีผงซักฟอก จึงทำให้ใช้สีดำในการย้อมเพราะทำให้ไม่เปื้อนง่ายและยังใช้ได้นาน

ผ้าลายลูกแก้วในโบราณใช้สวมใส่ไปทำบุญที่วัด หรือไม่ว่าจะเป็น งานแต่ง งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ และพิธีกรรมในสมัยโบราณ เช่นพิธี รำแม่มด หรือในภาษา(กูย) เรียกว่า แกล มอ ใช้เป็นผ้าสใบพาดบ่า ส่วนเสื้อนั้นเป็น ผ้าลายลูกแก้วสีดำและนุ่งซิ่นเป็น ฉิกรวี พิธีแต่งงานใช้ผ้าลายลูกแก้วไว้สำหรับห่อสินสอดทองหมั้นที่ฝ่ายเจ้านำมาให้ทางฝ่ายเจ้าสาว และยังใช้เป็นเครื่องแสดงความเคารพต่อญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว เรียกว่า เครื่องขอ ขมาไหว้คาราวะที่เจ้าสาวมอบให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นต้น

ลักษณะของชาวกูยบ้านขี้นาคในยุคโบราณ

ด้านการแต่งกาย ชาวกูยบ้านขี้นาคในอดีตนิยมปลูกต้นฝ้ายทุกครัวเรือน(กะป๊ะ)ในบริเวณพื้นที่หลังบ้าน แล้วนำฝ้ายมาเข็น แล้วปั่นให้เป็นเส้น นำมาทอเป็นผ้า เย็บผ้าฝ้ายด้วยมือเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมนอกจากนั้นยังมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เอาเส้นไหมมาทอผ้าเป็นผืน สวมใส่กัน โดยสตรีชาวกูยบ้านขี้นาคนิยมสวมใส่ผ้าไหมลายลูกแก้วซึ่งเรียกขานเป็นภาษากูยว่า “ฮับแก็บ”นิยมย้อมผ้าสีดำโดยมีกระบวนการย้อมผ้าโดยสีธรรมชาติ ย้อมมะเกลือ และนำสมุนไพรมาอบเสื้อให้มีกลิ่นหอมตามแบบฉบับของสตรีชาวกูยซึ่งเป็นกลิ่นที่หอมเย็นชื่นใจ ในหมู่สตรีผู้สูงอายุนิยมปรุงแต่งกลิ่นสมุนไพรสำหรับอบเสื้อให้หอมอยู่ตลอดเวลา ในด้านผ้านุ่ง นิยมนุ่งผ้าถุงที่เป็นผ้าไหมทอมือที่มีความประณีตสวยงาม เรียกเป็นภาษากูยว่า “ฉิกระวี” สำหรับผู้ชายจะแต่งกายด้วยโสร่ง ซึ่งโสร่งลายเอกลักษณ์ชาวกูยนั้นต้องเป็นโสร่งที่มีสีสันเข้ม นิยมทอด้วยผ้าสีแดง สีน้ำเงิน ลายตัดคล้ายตาหมากรุกและสวมใส่เสื้อผ้าไหมทอมือสีขาว การแต่งกายของชาวกูยในปัจจุบัน มีการแต่งการตามสมัยนิยม เมื่อมีงานจะมีการแต่งกายผ้าไหมหรือผ้าถุง

ด้านวิถีชีวิตในด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นด้านหลัก เนื่องจากทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ในอดีตทำนาโดยการปักดำและใช้แรงงานควายในการไถนา ชาวกูยเคร่งครัดในเรื่องการตอบแทนบุญคุณ เช่น วันสงกรานต์ ลูกหลานต้องหาบน้ำไปให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายายอาบพร้อมทั้งหาเสื้อผ้าใหม่ ๆ ให้ผลัดเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี เชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา ไม่ประพฤตินอกรีดนอกรอย การกินอยู่ของชาวกูยไม่นิยมกินของสุกๆ ดิบๆ กินของปรุงสุกแล้วเป็นความเชื่อต่อๆ กันมา เพราะต้องเดินทางอยู่ในป่านานๆ อาจเป็นอันตรายได้ ส่วนใหญ่กินข้าวสวย ไม่นิยมกินข้าวเหนียว

ด้านลักษณะของบ้านเรือน บ้านเรือนของชาวกูยแบบโบราณ ส่วนใหญ่นิยมปลูกบ้านไม้ทรงสูง ใต้ถุนสูง ใช้ไม้ที่มีคุณภาพดี เนื่องจากไม้ในอดีตมีมากมาย ประกอบขึ้นเป็นบ้านแบบโบราณที่ไม่ต้องใช้ตะปู อาศัยฝีมือในทางช่างประกอบกัน ตัวบ้านเรือน จะแยกเป็นพื้นที่ห้องนอน พื้นที่ประกอบอาหาร ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกระบือไว้บริเวณใต้ถุนเรือน เนื่องจากในอดีตมีโจรผู้ร้าย ชุกชุมจึงต้องเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้ใกล้บ้านเรือน