เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 5 มุ่งสู่ปี 6 บ่มเพาะนักศึกษาใส่ใจสังคม
เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 5 มุ่งสู่ปี 6


เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 5 มุ่งสู่ปี 6

“นักศึกษา” 12 ม. ร่วมพลังสร้าง“สื่อสะท้อนปัญหาสังคม”หวังกระตุ้นสังคมร่วมแก้ปัญหา


นักศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 5 จากมหาวิทยาลัย 12 แห่ง 14 คณะ กว่า 300 คน แสดงพลังการเป็นนักออกแบบเพื่อการสื่อสารรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง สร้างสรรค์สื่อเพื่อร่วมพัฒนาสังคมไทย สะท้อนผลงานผ่านนิทรรศการแสดงผลงาน “UNC The Exhibition 2018” ใน 4 ประเด็นการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ,สิ่งแวดล้อม / กำจัดขยะ ,ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม / ศิลปะรับใช้ชุมชน / การท่องเที่ยวชุมชน และอาหารวันนี้ หวังกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและหาทางร่วมกันแก้ไข ส่วนเครือข่าย UNC จับมือเดินต่อปี 6

วันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2561 ณ บริเวณ Helix Garden ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย องค์กรภาคีภาคประชาสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการผลงานสร้างสรรค์สื่อสะท้อนปัญหาสังคม ใช้ชื่อ “UNC The Exhibition 2018” ภายใต้โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ปี 5 จำนวน 23 ผลงาน ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2.ประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม / กำจัดขยะ 3.ประเด็นปัญหาเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม / ศิลปะรับใช้ชุมชน / การท่องเที่ยวชุมชน และ 4.ประเด็นปัญหาเรื่องของอาหารวันนี้จากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาค ที่มีการเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อการสื่อสาร จำนวน 12 สถาบัน 14 คณะ 15 สาขาวิชา ภายใต้แนวคิดนักออกแบบเพื่อการสื่อสารรุ่นใหม่ที่มีสำนึกความเป็นพลเมือง ใช้ศักยภาพของตัวเองในการร่วมสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสังคมไทย

วันที่ 26 ตุลาคม 2561 เวลา 16.00 น. มีพิธิเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ โดยมีคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานกล่าวว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นจากริเริ่มร่วมกันระหว่าง สสส. สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งประเทศไทย) ภาคประชาสังคม และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อที่จะไปหนุนเสริมการเรียนการสอนของแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยให้มีความหมายมากขึ้น และหวังว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้ประสบการณ์ชีวิต เพราะทราบว่าก่อนที่ทุกคนจะมาถึงการแสดงนิทรรศการในวันนี้ ทุกคนต้องไปเห็นงาน ลงพื้นที่ และไปโดนใจกับอะไรซักอย่าง แล้วผลิตชิ้นงาน พอผลิตออกมาแล้วก็ต้องอดทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์ ซึ่งบางคำวิจารณ์ก็เจ็บจี๊ดในใจ บางคนก็เกือบจะทนไม่ไหว แต่ต้องบอกว่านั่นคือชีวิตจริง ถ้าชีวิตจริงน้องๆ นักศึกษาสามารถทนคำวิจารณ์ของลูกค้าไม่ได้ ก็ต้องอยู่บ้านทำงานศิลปะของตัวเองไป แต่ถ้าเรายอมอดทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์ ของเพื่อนได้และของลูกค้าได้ เราก็จะเติบโตต่อไป งานของเราก็จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ แล้วถ้าเราเติมคำว่า value (คุณค่า) เข้าไป น้องๆทุกคนก็จะมีความหมายมากขึ้น แล้วขณะที่สอน ผลิตคนที่มีความหมาย คิดว่าครูอาจารย์ก็ได้รางวัลชีวิตไป อาจารย์เหนื่อยแทบตายเหนื่อยแล้วได้อะไร ดิฉันว่าเหนื่อยแล้วได้ความชื่นใจ

การที่ UNC ยืนหยัดมา 5 ปี ตอบคำถามของสังคมได้เลยว่า UNC มีความหมาย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถยืนหยัดต่อสังคมได้ คิดว่าต่อไปในวันข้างหน้า UNC ต้องเป็นเครือข่ายที่ใหญ่และเป็นเครือข่ายที่มืออาชีพมากขึ้น หมายความว่าเด็กๆ ได้มีโอกาสมานำเสนอผลงาน เสนอไอเดียและรับฟังความเห็นของครูอาจารย์ข้ามมหาวิทยาลัย เป็นมืออาชีพที่จะให้ความเห็นและเป็นมืออาชีพที่จะรับฟังความเห็น แล้วต่อไปคนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ศิลปิน อยากที่จะเข้ามาดูงาน มาดูว่าแต่ละสถาบันมีฝีมือเป็นอย่างไร ใช่แนวเดียวกับงานเขาไหม ถ้าใช่ก็ติดต่อไปทำงานด้วย คิดว่าในอนาคตนั่นคือสิ่งที่ไม่ห่างไกลจากเครือข่ายเรา"

­

คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ นักบริหารแผนงานชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้กล่าวเปิดงานว่า... “โครงการ UNC เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและมีพลังมากๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สสส.เองมองเห็นว่าการที่เราจะไปเปลี่ยนแปลงสังคม ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการไปพัฒนานักศึกษา สุขภาวะ หมายรวมถึงทุกๆ คนที่มีดิจิตอลแพลตฟอร์มอยู่ในมือ และมีทักษะการสื่อสารอยู่ในมือ และจะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม สสส. เน้นมากที่จะพัฒนาศักยภาพบุคคลเหล่านี้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการจรรโลงสังคม ศิลปะและการออกแบบและการสื่อสารเอง ในมุมมองของเราเองคิดว่านอกเหนือจากการไปแก้ปัญหาสังคมแล้ว หัวใจของศิลปะของเขาคือการพัฒนาตัวผู้สร้างสรรค์เองเกิดการเชื่อมโยงเข้ากับสังคม รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นพลเมืองของสังคม ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา นอกเหนือจากนั้นหัวใจของศิลปะเองคือการที่ศิลปะไปสร้างความสุขและสุดยอดของศิลปะคือการนำตัวตนมาจรรโลงค้ำจุนมนุษยชาติ อันนี้ก็จะเป็นไอเดียของศิลปิน ผลงานสร้างสรรค์ศิลปินระดับที่เป็นตำนานส่วนใหญ่เกิดจากการเชื่อของตัวศิลปิน ละทิ้งตัวตน และสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่และมีจิตสำนึกเพื่อสังคม

­

นอกจากนี้ ภายในงานตลอดทั้งสามวัน ผู้เข้าร่วมงานจะได้ชมนิทรรศการผลงานนักศึกษา นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมบนเวทีดังนี้ วันที่ 26 ตุลาคม ร่วมพูดคุยศิษย์เก่า และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ พบกับอาจารย์ที่ปรึกษาและศิษย์เก่า UNC มาเล่า Inspiration ของตนเองที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ จุดประกายทำให้ศิษย์เก่าบางคนไปเลือกทำงานเพื่อสังคม

เริ่มที่อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.บุญชู บุญลิขิตศิริ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและวิเทศสัมพันธ์และอาจารย์สาขาทัศนศิลป์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมสะท้อนว่า “ผมเข้ามาโครงการนี้ ตั้งแต่ปีที่ 2 ทางสภาคณบดีได้ติดต่อมาให้เพิ่มเครือข่ายเราก็เข้าร่วมยาว เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น แรกๆ ตอนที่เรามาร่วมโครงการ พอรับโจทย์มาแล้ว เราก็เหมือนทำงานแยกออกมาจากการเรียนการสอนเลยในตอนช่วงแรกๆ พอปีหลังๆ เรามาคุยกันว่ามันจะดีไหมถ้าเราสามารถเอาโครงการเข้าไปอยู่ในรายวิชาได้ ก็เลยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการทำงาน ก็ดูเป็นโครงสร้างที่มีระบบ จำได้ว่าช่วงปีแรกเหนื่อยมากเลย อย่างของผมเราไปทำงานที่ภูเก็ตเดินทางกันแบบเหนื่อยมาก แต่ก็ได้อะไรสะท้อนกลับมาเยอะ

ตั้งแต่ปี 2 จนถึงปี 5 สิ่งที่เราเห็นแล้วรู้สึกดีใจก็คือว่า เด็กเถียงกันในห้อง แต่เถียงกันบนฐานของข้อมูล เพื่อเอาข้อมูลมาคุยกัน อย่างปีล่าสุดของเราได้โจทย์เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ทุกคนก็รู้ว่าขยะที่บางแสนมันเยอะมาก ปรากฏว่าจริงๆแล้วที่ UNC ให้โจทย์ไป ไม่ได้ให้โจทย์เรื่องขยะอย่างเดียวแต่ให้ 4 โจทย์ เราก็เริ่มจากการทำประชาวิจารณ์กันก่อนในห้องเรียน ในกลุ่มจะมีนักศึกษาอยู่ 52 คน ทำประชาวิจารณ์กันว่า 4 โจทย์นี้ในพื้นที่เราอะไรสำคัญที่สุด เราก็เลือกกันจนสุดท้ายได้เรื่องขยะมา พอได้โจทย์ขยะมา ทุกคนก็รู้สึกโอเคกับโจทย์ที่จะทำ เป็นการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้กับเด็ก จากนั้นเขาได้โจทย์มา เขาก็ไปเก็บข้อมูล สนุกตรงที่ว่าพอเขาได้ข้อมูลมา เขามาทะเลาะกันในห้อง ทะเลาะกันด้วยข้อมูล ข้อมูลแต่ละคนเก็บมาไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน แล้วเอามาพิสูจน์ สังเคราะห์จนได้ข้อมูลชุดหนึ่ง แล้วเอามาทำงานกัน ซึ่งมีงานหลากหลายรูปแบบ สุดท้ายเราก็ไม่ได้บอกเขาว่า Output ของงานคืออะไร อยู่ที่เขาเลือกว่าเขาจะเลือกอะไร จุดนี้ตั้งแต่ปี 2 ถึง ปี 5 ผมเห็นความแตกต่างขึ้นมากในทุกมหาวิทยาลัย การเลือกมีเดียที่ใช้เข้ากับงาน ทำได้ดีขึ้นในทุกมหาวิทยาลัย นี่คือสิ่งที่เห็นความแตกต่าง 4-5 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรกๆหลายคนอาจจะยาก ต้องทำความเข้าใจ อาจจะทำได้ไม่ดีมากเท่าไหร่ แต่ในหลายครั้งเราสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น ช่วงแรกๆ เหมือนเด็ก เขามีเป้าหมายมาอยู่แล้วว่าจะทำอะไร ช่วงหลังๆ ด้วยกระบวนการที่ UNC สร้างขึ้นมาทำให้เด็กมีการกลั่นกรองวิธีคิดและวิธีการเลือกใช้สื่อมากขึ้น

ความภาคภูมิใจอยากย้อนกลับไปว่าเด็กอาจจะภูมิใจมากกว่าผม เด็กเขามีพลัง บางทีเขาไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยพลัง ไม่มีพื้นที่ให้เขาทำงาน แต่พอวันนี้เขามีพื้นที่ให้เขาได้นำเสนอ นั่นแหละคือความภูมิใจของเขา แล้วเขาเอาไปต่อยอด ผมมองว่า UNC คือ Short cut ชีวิตของเขา สำหรับบางคนที่เขาได้งานทำ ได้ไปต่อยอด ได้รู้จักคนมากขึ้น และหาพื้นที่ชีวิตของเขาได้มากขึ้น

ปี 5 เด็กไปทำเรื่องปัญหาขยะ คุณค่าที่ได้พอขยะน้อยลง การลงทุนเรื่องของการขจัดขยะ ค่าใช้จ่ายก็น้อยลง นี่คือผลตอบแทนที่มันได้กลับมาหมด ส่วนของตัวเด็กเป็นการสร้างจิตสาธารณะให้กับเด็ก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ย้อนกลับไป เราเคยไปตีโจทย์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่พังงา เราไปทำเรื่องที่ดิน ในระหว่างที่เราลงพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นกรมป่าไม้หรือที่ดิน เขาลงมาพูดเกี่ยวกับนักการเมือง ในการถือครองที่ดิน เราแทบไม่เชื่อเลยว่าเด็กที่อยู่ในห้องเราที่ดูเป็นเด็ก แต่มีวิธีคิดพอเขาไปเจอปัญหา เขาคิดแบบผู้ใหญ่หมดเลย บางประเด็นเราคิดไม่ได้ เขายังคิดได้ มันเป็นการสร้างวิธีคิดให้กับเด็กด้วยกระบวนการที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ มันคุ้มมากที่เราลงทุนไป แล้วคุ้มกับความเหนื่อยด้วย”


อ.ธนกิตติ์ ธนะสุข คณะวิทยาการการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตปัตตานี ร่วมสะท้อนว่า “ผมเข้าร่วมตั้งแต่ครั้งที่ 2 ของโครงการ เข้าร่วมมา 4 ครั้งแล้ว ที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตปัตตานี เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ทุกครั้งที่มารู้สึกว่าเด็กเราได้เติมเต็มบางอย่างที่ขาดหายจากที่มหาวิทยาลัยเขา ได้เห็นเพื่อนต่างสถาบัน มหาวิทยาลัยผมค่อนข้างโดดเดี่ยว ในสายการออกแบบ ไม่ค่อยได้ดูงานสักเท่าไหร่ แต่พอมาเข้าร่วมแล้วรู้สึกว่าโครงการนี้ทำให้เด็กๆได้เห็นโลกกว้างมากขึ้น ได้เปิดหูเปิดตามากขึ้น มีเครือข่ายกันเองของนักศึกษา นักศึกษาเรามาดูงานของมหาวิทยาลัยรังสิตและศิลปากร นักศึกษาเองเกิดเครือข่ายของเขาเอง เขาสานต่อความสัมพันธ์ของเขากันเองหลังจากที่จบโครงการไป คิดว่าเป็นโครงการที่ดีมากแล้วเราก็พร้อมที่จะสนับสนุน ถ้าพูดถึงเรื่องปัญหาสังคม เขาอยู่ในพื้นที่ที่พิเศษ ทุกคนก็รู้ว่ามีอะไร มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นนักศึกษาค่อนข้างที่จะละเอียดอ่อนกับปัญหาสังคมได้ง่าย เพราะเขาอยู่ในสังคมแบบนั้นอยู่แล้ว เขาอาจจะมองค่อนข้างได้ชัดกว่าที่อื่นนิดหน่อย เพราะเขาอยู่ในสังคมที่ค่อนข้างเกิดปัญหา ช่วงหลัง UNC ก็มีสื่อเกี่ยวกับวัฒนธรรม เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ทำให้ นักศึกษาได้พัฒนาตัวเอง ได้มองจากเพื่อนที่มหาวิทยาลัยที่มองเข้าไปด้วย

การที่เขาได้โจทย์จริง จากหน่วยงานหรือจากองค์กรที่เป็นองค์กร NGO หรือองค์กรข้างนอก ทำให้ได้ฝึกเขา ถ้าอยู่ในห้องผมอาจจะตั้งโจทย์เกี่ยวกับปัญหาสังคมได้ แต่น้องๆ จะไม่ได้สัมผัสจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่ว่าความเป็นจริงโอกาสที่น้องจะเข้าถึงข้อมูลที่เชิงลึก ข้อมูลที่เป็นข้อมูลจริง ที่ไม่ใช่ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือมันน้อย แต่ว่าโครงการนี้ทำให้นักศึกษาได้รับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ได้ลงพื้นที่จริง ได้ไปคุยกับคนที่ประสบปัญหาจริง ได้คุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาจริงๆ ผมว่าตรงนี้ทำให้งานของเขาดูเหมือนจะยากขึ้น แต่เขาได้ฝึกประสบการณ์จริงมากขึ้น”


อ.วิชัย เมฆเกิดชู หัวหน้าสาขาออกแบบวิชานิเทศศิลป์ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมสะท้อนการเข้าร่วมโครงการว่า “ มหาวิทยาลัยรังสิตได้เข้าร่วมทุกครั้ง เห็นความสำคัญเลยตั้งแต่ครั้งแรก เรามองว่าเป็นโครงการที่ดี ได้เรียนรู้จากปัญหาจริง ทั้งตัวผู้สอนและตัวนักศึกษาเอง โจทย์ก็คือเป็นโจทย์ของจริง ได้ลงไปพื้นที่ ค้นหาข้อมูลพื้นที่

โครงการนี้สามารถปรับใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ ซึ่งเราสามารถเอาไปเป็นโจทย์ อย่างแรกเลยเราก็ลงในรายวิชาก่อน อันไหนที่สัมพันธ์กัน อย่างมหาวิยาลัยรังสิตมองว่าเป็นรายวิชาแคมเปญ สื่อรณรงค์ เราก็เอาลงในรายวิชา สถาบันอื่นก็อาจจะมองตามความเหมาะสม ก็ลดภาระงานที่เกิดขึ้นมาได้ กลายเป็นโจทย์ในการเรียนการสอนก็เรียนรู้ไปพร้อมๆกันทั้งตัวเด็ก แล้วก็อาจารย์เอง ที่ร่วมกันแก้ไขในจุดตรงนั้นด้วย

ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมในปีที่ 6 ผศ.ดร.กษม อมันตกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าร่วมว่า “สนใจเข้าร่วมโครงการ UNC ในปี 6 (ปี 2562) เพราะเห็นว่า concept ของ UNC ดีมาก ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมา มีconcept ทำประโยชน์เพื่อสังคม มีรูปธรรมที่ชัดเจน แล้ว UNC เล็งเห็นถึงทักษะของเด็กๆในด้านของศิลปะและการออกแบบ และผมก็เรียนและสอนด้านนี้มาโดยตรง จึงอยากที่จะนำทักษะด้านนี้ของตัวเราเองและตัวนักศึกษามานำเสนอมาช่วยสังคมมาทำให้ประเทศของเราเกิดความน่าอยู่มากขึ้น ผมมีแนวคิดว่าจะนำเข้าสู่รายวิชาและอาจจะชวนคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมด้วย”

ศิษย์ UNC ปี 5 ได้แก่ นางสาวซัลมา เป็นสุข ตัวแทน ผลงานหิวมานิห์ ประเด็นปัญหาเรื่องของอาหารวันนี้ นักศึกษาจากสาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอแคมเปญรณรงค์ประชาสัมพันธ์อาหารพื้นบ้านที่กำลังจะหายไปและมีการแนะนำแหล่งขาย ร่วมสะท้อนการเข้าร่วมโครงการ “ดีใจมาก เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเราน่าจะไม่เก่ง ทำงานไม่ได้ แต่พอเราได้ลอง เราก็ได้รู้อะไรใหม่ๆ ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ ได้เห็นงานของเพื่อนๆ ได้แลกเปลี่ยนงานกัน ก็คือเราสามารถนำปัญหาของเราออกมาเผยแพร่ให้กับสังคมได้เห็นเหมือนกัน”


นายฐิติวัสส์ ธรรมะ นักศึกษาสาขานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนผลงาน สื่อให้รู้ สู่ที่ทิ้ง(ขยะ) ประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม / การกำจัดขยะ รณรงค์ขยะที่ชายหาดบางแสน ร่วมสะท้อนว่า “โครงการนี้เหมือนทำให้เราได้มีพื้นที่ ได้จัดแสดงงานของเรา ที่เราทำขึ้นมา เราอาจจะคิดว่าเราทำในฐานะนักศึกษา เราคิดว่าเราเจ๋งแล้ว แต่พอเรามาได้มาเปิดพื้นที่ มาดูผลงานของคณะหรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ เราก็รู้สึกว่าผลงานของคนอื่นมันก็เจ๋งกว่าเรา แล้วเราก็ดูเพื่อไปพัฒนาของเรา เอามาปรับปรุงใช้ต่อไป ได้พัฒนาความรู้ใหม่ๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆนักศึกษาจากสถาบันอื่น ก็จะสอบถามมหาวิทยาลัยอื่นๆว่าทำไมถึงใช้คอนเทนท์แบบนี้ ทำไมถึงใช้เรื่องนี้ แล้วก็เอามาปรับปรุงเรื่องของตัวเอง เอามาใช้กับของเราได้บ้าง กลุ่มของเราทำเรื่องเกี่ยวกับขยะ ที่หาดบางแสนมีขยะเยอะมาก นักท่องเที่ยวมาขยะก็จะเยอะตลอด ถังขยะมีเพียงพอแต่ขยะก็เกลื่อนไปหมด เราก็เลยคิดว่าในสายที่เราเรียน เราสามารถทำอะไรที่จะนำไปใช้กับชุมชนได้บ้าง เราก็เลยทำข้อมูลกราฟฟิค เพื่อบอกข้อมูลกับนักท่องเที่ยว

นายเอกวิทย์ สมันเลาะ ศิษย์ UNC ปี 1 คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลงาน PORTFOLIO พอร์ทโฟลิโอข้ามชาติ ร่วมสะท้อนในว่า “เป็นโครงการที่ดีมากๆ ทำให้ผมมีงานทำในอนาคต จริงๆ แล้วเป็นเครดิตให้กับตัวเราว่าเราสามารถทำงานให้กับสังคมได้ และเราเอางานนี้ไปบอกกับที่ทำงานของเรา เขาก็เห็นแววเราตั้งแต่วันนั้น ผมฝึกงานที่บริษัทสารคดี แล้วเขาเห็นผลงานเราว่าเราเคยทำงานให้กับสังคม เขายิ่งเห็นแววเรา ว่าน่าจะรับเข้ามาทำงาน พอดีเรียนจบก็มีโอกาสได้ทำงานที่นั่นเลย”

สำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้มาร่วมเสวนาและได้ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ในโครงการ อาทิ....

นางสาวปาณิศา เสริมสุธีอนุวัฒน์ นักศึกษาสาขาออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ ตัวแทนประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผลงานRecommemt เป็นการออกแบบสื่อเพื่อลดการคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์

กลุ่มเราเห็นว่าปัญหาการคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์เป็นปัญหาที่คนทุกคนเคยพบเจอกันมาแล้ว แต่ทุกคนเพิกเฉย ไม่รู้ถึงผลกระทบว่าเป็นอย่างไร กลุ่มเราจึงทำสื่อเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น มาทำงานในโครงการ UNC ได้เรียนรู้หลายอย่าง เช่น เรื่องการคุกคามทางเพศ เมื่อก่อนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่คิดว่าจะร้ายแรง แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก อยากจะฝากเพื่อนๆ เรื่องการใช้สื่อโซเชียล ในประเด็นการคุกคามทางเพศ สื่อออนไลน์มันเป็นประเด็นที่ทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ มันเกิดผลกระทบร้ายแรงมากๆ และมันไม่ควรเกิดขึ้น เราเลยอยากให้เพื่อนๆลองคิดให้ดีก่อนจะคอมเม้นต์ ให้คิดและไตร่ตรองก่อน ก่อนที่จะคอมเม้นต์อะไรออกไป”

นางสาวสุพิชชา วนาภรณ์ นักศึกษาสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนประเด็นปัญหาเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม / ศิลปะรับใช้ชุมชน / การท่องเที่ยว ชื่อผลงาน พินิจ พิศ ณุโลก หัวข้อการท่องเที่ยวชุมชน แนวคิดการสื่อสารการออกแบบสื่อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งความรู้ด้านวัฒนธรรมในเขตเมือง และจังหวัดพิษณุโลก รูปแบบการผลิตสื่อ product แผนที่ บอร์ดเกม และแผ่นโบชัวร์

"กลุ่มเราต้องการที่จะให้คนมาท่องเที่ยวได้รู้ว่าจังหวัดพิษณุโลกของเรามีสถานที่เที่ยวอะไรบ้างที unseen ที่นักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก เพื่อเป็นการช่วยชุมชนอีกทางหนึ่ง สิ่งที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้และเอาไปใช้ได้จริงคือได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ได้นำความคิดของคนหลายคนมาเป็นไอเดียเดียวกัน เป็นสิ่งที่ยาก คิดว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่นต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย และมีแนวคิดเพิ่มว่านักศึกษาเองมีหน้าที่ที่จะช่วยชุมชน เพราะว่าเราอยู่ในชุมชน เราควรช่วยให้ชุมชนได้มีคนเข้ามาหา ให้เขาได้มีรายได้เพิ่มขึ้น"

นายไตรภพ จิระวุฒิกุล (กอล์ฟ) ปี 2 สาขานฤมิตศิลป์ – เรขศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม / การกำจัดขยะ ผลงาน Break the Box แนวคิดการสื่อสาร สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณท์ เพื่อลดการสร้างขยะประเภทกระดาษที่เกิดจากกล่องของขวัญ

"กลุ่มเราได้มุ่งเน้นไปที่ปัญหาของขยะ ในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ ที่ทำให้ขยะเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การให้ของขวัญ กล่องของขวัญ หรือกระดาษห่อของขวัญ เมื่อเราให้กับผู้รับไปแล้ว ทางผู้รับไม่ได้เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ ทางกลุ่มของเราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้กล่องของขวัญชิ้นนี้นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ สำหรับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการผมคิดว่าสิ่งที่เราทำคิดว่าไม่ได้สอดคล้องร้อยเปอร์เซ็นต์กับการที่เราเรียนมา มีอะไรหลายๆอย่างที่เป็นความรู้ใหม่และนำไปต่อยอดความรู้เดิมได้ ความรู้ใหม่ก็คือเดิมผมไม่ได้เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมมาก แต่พอได้เริ่มมาทำโครงการก็เริ่มเรียนรู้ว่าที่เราทำกันมาเป็นประจำ เราสร้างขยะ เราทำให้สิ่งแวดล้อมไม่ดี สิ่งที่ได้จากการเข้าโครงการคือเราคิดว่าเรารักโลกอย่างเดียวไม่ได้ มันมีอะไรหลายๆอย่างที่ต้องคิดต่อว่าถ้าเราลดทรัพยากรอย่างหนึ่งแล้วเราไปเพิ่มทรัพยากรอีกตรงหนึ่งให้เพิ่มมากขึ้น มันจะเป็นการรักโลกจริงๆหรือเปล่า

อาจารย์ดนุ ภู่มาลี อาจารย์สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “เพื่อให้ผลงานของนักศึกษาที่เข้าร่วมในปี 5 ได้แสดงผลงานของตนเองสู่สาธารณะ และเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้าร่วมโครงการในปี 6 ได้มาดูงานพี่ๆ ด้วย”

อาจารย์ดนุ เผยถึงความสำเร็จของโครงการปี 5 ที่มีตัวชี้วัดคือนักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริงจากสังคม จำนวน 23 กลุ่ม ใน 4 ประเด็น จำนวน 305 คน ที่สำคัญมี 2 มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของโครงการ UNC ในการนำกระบวนการไปสร้างการเรียนรู้จากโจทย์จริงให้แก่นักศึกษา นำโครงการ UNC ไปเชื่อมร้อยเข้าหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชา “ปี 5 นี้มี 2 มหาวิทยาลัยที่นำเข้าสู่รายวิชาในชั้นเรียน คือ 1.สาขานฤมิตศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยอาจารย์ฐิติรัตน์ นิมิตรบรรณสาร และ2.สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะวิทยาลัยการออกแบบมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นวิชาที่ผมสอนเอง ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของเครือข่ายครับ”

สำหรับโครงการ UNC ปีที่ 6 จะเริ่มขึ้นมกราคม ปี 2562 อาจารย์ดนุเผยถึงแนวทางการดำเนินงานว่า “สำหรับปีหน้านั้น มีแนวคิดว่าจะกระจายโครงการไปสู่มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดมากขึ้น และมีมหาวิทยาลัยและคณะที่เข้าร่วมเพิ่ม ตอนนี้มีคณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต ตอบรับเข้ามาและกำลังชักชวนมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มอีก ปีหน้ามีแนวโน้มที่สถาบันการศึกษาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นครับ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่โครงการเราโตขึ้น และจุดแข็งของโครงการเราคือความรู้สึกที่ไม่มีการแข่งขันงานกันเกิดขึ้นครับ”

ท้ายสุด อาจารย์ดนุ ได้ฝากถึงโครงการ UNC ว่า “ไม่อยากให้เป็นงานในอุดมคติมากนัก อยากให้เป็นงานในโลกของความเป็นจริง สิ่งที่เราคิด เราคิดทำเพื่อให้สังคมดีขึ้น ถ้าเรากลับไปสู่โลกของความจริง สังคมก็จะดีขึ้นได้ มันเกิดจากทุกสถาบัน รวมถึงคนให้ทุนด้วย ที่ตั้งใจที่ทำให้สังคมดีขึ้น เราไม่ได้ทำงานเพื่อการแข่งขัน แต่เราทำเพื่อให้สังคมดีขึ้นจริงๆ เด็กมีทุกรูปแบบ มีทั้งเด็กจุฬา หรืออย่างเช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองก็จะชอบพูดว่าเขาเป็นเด็กชายขอบ ทำให้ทุกคนได้ set standard ของวงการ เด็กได้เห็นงานของกลุ่มอื่น ๆ อาจารย์จาก 14 คณะ 12 มหาวิทยาลัย ได้มาเจอกัน เกิดความเข้มแข็งเป็นเครือข่าย และผมคิดว่าเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่เข้มแข็งและปีนี้ได้คุยกันว่าอาจจัดตั้งเป็นสมาคมอาจารย์ ที่มีเครือข่ายงานทำเพื่อสังคม มีสภามหาวิทยาลัยนี้รองรับด้วย อาจจะเป็นงานอีกก้อนที่ไม่ใช่แค่สอนออกแบบ มีอีกหลายๆ สายเข้ามา ที่ไม่ใช่แค่ศิลปะและการออกแบบ อาจจะเป็นในรูปแบบอื่น และมีศิษย์เก่าของ UNC มาร่วมกลุ่มกันด้วย”

นี่คือส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากคณาจารย์และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ที่โครงการนี้ได้สร้างกระบวนการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ได้อย่างแท้จริง รอพบกับ UNC ปี 6 ในปี 2562 จะมีผลงานสื่อสร้างสรรค์ในประเด็นใดบ้างติดตามกันได้ที่ www.scbfoundation.com / https://www.facebook.com/UniversityNetworkforChange/

..........................................................................

ข้อมูลเพิ่มเติม

รายชื่อ 12 สถาบันเข้าร่วมดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยศิลปากร (คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ / คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร/คณะมัณฑนศิลป์) 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง 4.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 5.มหาวิทยาลัยบูรพา.6.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 7.มหาวิทยาลัยรังสิต 8.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 10. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 11.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 12.มหาวิทยาลัยนเรศวร

ข้อมูลผลงานสื่อสร้างสรรค์ UNC ปี 5 จำนวน 23 ผลงานมีผลงานดังนี้

·ประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

1.ชื่อผลงาน สังคมผู้สูงอายุ แนวคิดในการออกแบบ ภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ โดยสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต

2.ชื่อผลงาน วิจารณญาณ แนวคิดในการออกแบบ การเสพสื่อและการใช้สื่อบนความหลากหลายของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวัยใดเพศใด ทุกคนมีโอกาส และสามารถเป็นผู้รับตัวกลาง และผู้ส่งต่อสื่อได้ทั้งสิ้น “หากทุกคนคือสื่อ แล้วสื่อแบบไหนคือความจริง หากต้องใช้หรือเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ?” จึงเป็นประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์ของกลุ่มของเรา โดยเอกการออกแบบภาพยนตร์ คณะมีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

3.ชื่อผลงาน Recommemt แนวคิดในการออกแบบ การออกแบบสื่อเพื่อลดอัตราการคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ โดยสาขาออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

4.ชื่อผลงาน BEHIND THE SCREEN แนวคิดในการออกแบบ ออกแบบรณรงค์สื่อปฏิสัมพันธ์เพื่อตระหนักถึงการใช้สื่อออนไลน์ให้ปลอดภัย โดยสาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

5.ชื่อผลงาน แชร์ร้าว แนวคิดในการออกแบบ การทนต่อสภาวะการโดน Bully และการตระหนักถึงความรอบคอบในการใช้สื่อโซเซียล โดยสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

6.ชื่อผลงาน ไฟเหลือง แนวคิดในการออกแบบ สร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งด้านความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างวัยรุ่น โดยสาขานิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยศิลปากร

7.ชื่อผลงาน INFLUFAILURE แนวคิดในการออกแบบ การใช้สื่อออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณของวัยรุ่นในปัจจุบัน ให้มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยสาขานิเทศศาสตร์ เอกลูกค้าสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสามหาวิทยาลัยศิลปากร

8.ชื่อผลงาน คิด Young แนวคิดในการออกแบบ Cyberbully ไม่ใช่เรื่องตลก โดยสาขานฤมิตศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

9.ชื่อผลงาน check ก่อน Share แนวคิดในการออกแบบ การโพสต์รูปเด็กในสื่อออนไลน์ โดยสาข