"ส่งเสริมอาชีพ" โมเดลแก้ปัญหาเยาวชนนอกระบบ ต.หนองอียอ
"ส่งเสริมอาชีพ" โมเดลแก้ปัญหาเยาวชนนอกระบบ ต.หนองอียอ

เป็นเวลาเกือบ10 ปีแล้วที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาเด็กเยาวชนกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ในโครงการพัฒนาเด็กเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค ) ระยะที่ 1 หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว จนกระทั่งปัจจุบันคือระยะที่ 3โครงการพั4 ภาค) ระยทั้งนี้ตั้งแต่เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน อบต. หนองอียอ ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ปฏิวัติ สระแก้ว รองนายกอบต.หนองอียอ บอกว่า ที่ผ่านมา อบต. ดึงเด็กและเยาวชน มาทำกิจกรรมร่วมกับผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน รวมทั้งโรงเรียนในท้องถิ่น เช่น โรงเรียนหนองอียอวิทยา ส่วนการเข้าร่วม โครงการวิจัยแนวทางและรูปแบบการสร้างอาชีพให้แก่เด็กนอกระบล ตำบลหนองอียอ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ล่าสุดนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีตัวตนให้เด็กและเยาวชนนอกระบบ ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะอาชีพจากการเข้าฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง สร้างรายได้ให้ตัวเองแทนการเดินเข้าหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

สมเกียรติ สาระ หัวหน้าโครงการวิจัย อดีตหัวหน้าสำนักปลัด อบต.หนองอียอ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักปลัด อบต.หนองสนิท ) ผู้เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว อบต.หนองอียอ และเป็นตัวตั้งตัวตีขับเคลื่อนงานมาตั้งแต่ต้น กล่าวยืนยันจากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า อบต. และองค์การปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ สามารถจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดของ อบต. ได้โดยไม่เป็นภาระ

ย้อนกลับไปราวปี พ.ศ. 2553 สมเกียรติ เล่าว่า อบต.หนองอียอ ได้พัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชนรุ่นแรก โดยประสานความร่วมมือกับโรงเรียนในท้องถิ่น เมื่อดำเนินงานมาได้ระยะหนึ่ง นักถักทอชุมชนมองว่านอกจากนักเรียนในระบบการศึกษาแล้ว เด็กและเยาวชนนอกระบบก็เป็นกลุ่มสำคัญที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม กระทั่งทราบจากอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ว่ามีการทำโครงการวิจัยท้องถิ่นร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงสนใจเข้าร่วมโครงการ เพราะมีโจทย์การพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบอยู่ในใจอยู่แล้ว เลยได้เข้ามาเป็นหนึ่งในพื้นที่ทำโครงการวิจัย ต่อยอดและพัฒนาบทบาทตัวเองจากการเป็นนักถักทอที่ทำอยู่แล้ว มาเข้าสู่กระบวนการเป็นนักวิจัยชุมชนท้องถิ่น

สถานการณ์เด็กและเยาวชนในตำบลหนองอียอ กล่าวได้ว่าค่อนข้างมีความเสี่ยง เพราะมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เป็นเหตุโน้มนำไปสู่เส้นทางที่ผิดอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างปัจจัยภายใน เช่น ปัญหาครอบครัวหย่าร้าง ช่องว่างต่างวัยระหว่างเด็กและผู้ปกครองที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งมักเป็นปู่ย่าตายายหรือผู้สูงอายุมากกว่าพ่อแม่ซึ่งต้องออกไปทำงาน หรือปัจจัยภายนอก เช่น การติดเกม อบายมุข สุรา ยาเสพติด หรือการหมดหวังมองไม่เห็นทางเดินชีวิต เพราะขาดคำแนะนำที่ดีจากผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็กหลายคนหยุดเรียนกลางคัน ไม่เรียนต่อ ประสบปัญหาว่างงาน เสี่ยงต่อการตัดสินใจประกอบอาชีพที่ทุจริตจากการชักจูงของผู้ไม่หวังดี

“ตอนไม่ทำโครงการวิจัย เราเห็นแค่ว่าเด็กหลุดจากโรงเรียน เวลาคุยกับผู้ปกครอง เขาบอกว่าเด็กเกเร แต่ผลจากการเก็บข้อมูลวิจัย เมื่อเราเข้าไปพูดคุยกับเด็ก เขาสะท้อนความรู้สึกว่าครอบครัวพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือแม้แต่ตอนเรียนในโรงเรียน หลายคนบอกว่า ไม่ชอบครูเพราะครูเข้มงวด ดุด่า และมีกฎระเบียบมากเกินไป หรือเรียนไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่องจนไม่อยากเรียน ทำให้ไปติดเกม แล้วก็ออกจากระบบไปในที่สุด” สมเกียรติ กล่าว

และผลจากการเก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ตำบลหนองอียอ 11 หมู่บ้าน พบว่า มีเด็กและเยาวชนนอกระบบ จำนวน 41 คน ในจำนวนนี้มี 3 หมู่บ้านที่มีเด็กนอกระบบรวมกันถึง 31 คน ได้แก่ หมู่ 5, 6 และ 8 แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2. กลุ่มที่ไม่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ 3. กลุ่มที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ไม่ได้เรียนต่อ และไม่มีงานทำ

เฟ้นหาทีมเสริม ล้วงลึกข้อมูลชุมชน

สำหรับการคัดกรองเด็กและเยาวชน มาเข้าร่วมเป็นทีมวิจัยและเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำวิจัย สมเกียรติบอกว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เป็นแกนนำเด็กและเยาวชนที่ทำงานร่วมกับ อบต.มาก่อนแล้ว เห็นหน้าค่าตาและรู้จักนิสัยใจคอกันมาระดับหนึ่ง

ทีมนักวิจัย (นักถักทอชุมชนและผู้นำหมู่บ้าน) ใช้วิธีพูดคุยทำความเข้าใจกับเด็กเป็นรายบุคคล เบื้องต้นคัดเลือกเด็กจากความสนใจและความสมัครใจจากหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย*รวมเด็กและเยาวชนนอกระบบในโครงการวิจัยทั้งหมด 15 คน แต่ก็ยอมรับว่าหลายคนเข้ามาเพราะตัดสินใจตามเพื่อน หรือตามคนที่เป็นหัวโจกในกลุ่ม ยกตัวอย่าง หมู่ 5 ที่มี เกม วีรพล หมื่นราม หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายโครงงานวิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม

“ตอนประชาสัมพันธ์รับเด็กเข้ามา เราไม่ได้ประชาสัมพันธ์เอง อบต.ออกหนังสือให้ผู้นำชุมชนแต่ละหมู่บ้านช่วยประชาสัมพันธ์” รอง นายกฯ อบต.หนองอียอ กล่าว

อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่นี่.pdf