บทบาท "ครูฝึก" เด็กเก่งไอที

บทบาท “ครูฝึก” เด็กเก่ง IT


            ในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ขณะน้องๆที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ และฝึกการเป็นนักพัฒนามืออาชีพ พร้อมๆ กันนั้นทีมโค้ชเองก็ได้เรียนรู้การทำบทบาท “โค้ช” หรือ “ครูฝึก” เยาวชนที่พัฒนาผลงานไอทีด้วยเช่นกัน ซึ่งทีมโค้ชได้สะท้อนถึงบทบาทของผู้ที่จะเป็นโค้ช ส่งต่อเป็นความรู้ให้เรา ว่าผู้ที่จะเป็นโค้ชเด็กไอทีน่าจะต้องมีลักษณะ ดังนี้


1.สร้างความไว้วางใจ ให้ความเป็นกันเองและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโค้ชและเยาวชน เขาจะสบายใจและกล้าเข้ามาขอรับคำปรึกษาแนะนำ


“พยายามให้เขาพูดว่าเขามีอะไรอยู่ในใจ เช่น เขาอาจกังวลกับความคิดเห็นของคณะกรรมการ เราก็ต้องใช้ลูกล่อลูกชนให้เขาเปิดใจออกมา แล้วจะได้คำตอบว่าเหตุการณ์ที่เป็นอยู่นี้เป็นเพราะเขามีปัญหาอะไร” สุนทรีย์  กริชชัยศักดิ์



2. เปิดใจ รับฟัง ใช้การสื่อสารสองทาง ให้โอกาสเยาวชนได้สื่อสารความต้องการที่แท้จริงออกมาโดยไม่ด่วนสรุป โค้ชต้องทำความเข้าใจ และช่วยจับประเด็นเพื่อพัฒนาโจทย์การทำงานอย่างถูกต้องแม่นยำ เป็นสิ่งที่โค้ชหลายท่านกล่าวตรงกัน


“ช่วงแรกเราจะต้องเปิดใจให้เต็มที่ เรามีความคิดอย่างไร เด็กมีความคิดอย่างไร ต้องคุยกันเพื่อหาจุดโฟกัสให้ได้ว่าข้างหน้าเราจะไปในทิศทางไหน ซึ่งต้องใช้ลูกล่อลูกชน ต้องมีทักษะในการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง เพราะบางทีเราถามเป็นข้อๆ ไม่ได้คำตอบ เราจะได้คำตอบก็ต่อเมื่อปล่อยให้เขาพูด และคำตอบที่เราอยากจะได้จริงๆ มันจะอยู่ในส่วนที่เราไม่ได้ถาม ซึ่งถ้าเราไม่เปิดใจและไม่เปิดโอกาสในให้เขาแสดงออกมา เราจะไม่เห็นคำตอบที่แท้จริงว่าเขาต้องการอะไร ทั้งนี้ต้องอาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”  ชัชวาล  สังคีตตระการ



3.เข้าใจธรรมชาติของเยาวชนเป็นรายบุคคล รู้จักความแตกต่างของเยาวชน ใช้จิตวิทยาเชิงบวกกระตุ้นและหนุนเสริมเยาวชน และสนับสนุนให้ทำงานเป็นทีมเวิร์ค


“เป็นเพราะเด็กต่างกัน บางคนดุแล้วเขาเปลี่ยนหรือมีพลังขึ้นมา แต่บางคนถ้าเราดุแล้วเขาจะหนี เลยรู้สึกว่าชมอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค ดุอย่างเดียวก็ไม่เวิร์ค ต้องแล้วแต่เด็กแต่ละคนด้วย ทั้งนี้ต้องให้เขาเชื่อใจ เขาจึงจะฟังเรา” สรรพฤทธิ์  มฤคทัต


4.มีทักษะการตั้งคำถาม เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ ถามกระตุ้นคิดให้สามารถทำงานตามเป้าหมาย ทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และวางแผนการทำงานต่อไปในอนาคต



5.ให้ความสำคัญกับข้อมูล แนะนำให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการสืบค้นข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และศึกษาตลาดเพื่อโอกาสทางธุรกิจ ติดตามสังเกต ช่วยเยาวชนคัดกรองข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ทำงานต่อไปได้



6.กระตุ้นให้นำผลงานทดลองกับผู้ใช้งานจริง แนะนำให้เยาวชนนำผลงานที่ได้ไปทดลองใช้งานจริงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำผลตอบรับกลับมาพัฒนาจนได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์



7.ให้กำลังใจ และคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ เมื่อเยาวชนพบอุปสรรคหรือปัญหา กระตุ้นให้เยาวชนมุมานะพยายามพัฒนาผลงานให้สำเร็จ โดยการให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญคือการยกตัวอย่างหรือกรณีศึกษาอธิบายเพิ่มเติมให้เยาวชนได้เห็นภาพ จะสร้างความเข้าใจได้ดีกว่า ดังที่โค้ชได้สะท้อนกับเราว่า


“เนื่องจากเส้นทางที่จะไปมันไกลมาก ไม่เราก็เขาที่จะหมดแรง ดังนั้นถ้าจะให้ไปต่อได้ มันต้องเติมพลังซึ่งกันและกัน เวลาที่ไปฟังน้องๆ เรามีพลัง เราถ่ายพลังของเราไปให้เขาก่อน เดี๋ยวพอเขามีอะไรใหม่ๆ เราก็เอาสิ่งเรานั้นมากระตุ้นตัวเรา สร้างพลังกลับมาที่ตัวเรา แล้วก็ไปกระตุ้นเขาอีก ซึ่งมันจะทำให้พลังมันหมดช้า สามารถไปได้ไกลกว่าปกติ ถ้าน้องไม่มีพลังกลับมาให้เรา เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรให้ไป มันคือการเติมพลังซึ่งกันและกัน ถ้าเด็กไม่มีแรง ไม่มีพลังแล้ว เป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะดูว่ามีปัญหาอะไร ต้องแก้ไขอย่างไร ถ้าแก้ให้เขาได้ พลังเขาจะกลับมาเอง ถ้าเราปล่อยปละละเลย 3 เดือนไปเจอครั้งหนึ่ง ไฟก็อาจจะมอดไปแล้ว” ชัชวาล  สังคีตตระการ


“เวลาเราสอนทฤษฎี เด็กจะมองไม่ออก นึกภาพไม่ออกว่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับของเขาอย่างไร เราก็ต้องแตกออกมาให้เห็นว่า คนอื่นเขาเอาไปประยุกต์ใช้อย่างไรบ้าง เด็กก็จะสามารถเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้กับผลงานของตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้การยกตัวอย่างของคนอื่นที่ทำเจ๋งแล้ว มาทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวกับผลงานตัวเอง” สิทธิชัย  ชาติ


8. มองภาพรวมและกำกับทิศทางการทำงานของเยาวชน ช่วยเยาวชนจัดลำดับความสำคัญของงาน และตั้งคำถามเพื่อช่วยวางแผนบริหารจัดการงานอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนย่อยๆ คือ ชวนน้องคิดถึงปัญหา ช่วยจัดลำดับความสำคัญ และช่วยกำกับเส้นทางเดินสู่เป้าหมาย


“การเลือกหรือช่วยเด็กจัดลำดับความสำคัญเป็นหน้าที่ของโค้ช เพราะบางทีระยะเวลาจำกัด เด็กทำไม่ทัน เราก็ต้องช่วยประเมินและจัดลำดับความสำคัญว่าส่วนไหนควรจะต้องเสร็จก่อน และต้องจูงใจให้เด็กเลิกทำส่วนที่เป็นปลีกย่อยบ้าง เพราะบางทีเด็กอยากทำทุกอย่างแต่เวลาไม่ทัน” สรรพฤทธิ์  มฤคทัต


"เป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะต้องรักษาเส้นทางไว้ให้มั่นคงมากที่สุด เพราะตอนที่เราคุยกับเด็กทีแรก เราจะเห็นปลายทางแล้วว่ามันจะเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของโคชที่จะต้องรักษาให้มันเดินตามนั้นไปให้ได้ ความเห็นอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นหน้าที่ของโคชที่จะต้องย่อย และไปคุยกับเด็ก ความเห็นไหนที่สำคัญและทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โคชอาจจะต้องช่วยกลั่นกรอง เพราะถ้าหลุดโฟกัสไปแล้ว มันจะเหนื่อยทั้งเด็กและโคชที่ต้องไปเริ่มคิดกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย” ชัชวาล  สังคีตตระการ


“ต้องกระตุ้นให้น้องคิดถึงปัญหาและอุปสรรคด้วย เพราะตอนแรกๆ น้องมักจะคิดแต่เรื่องงาน ส่วนปัญหาหรืออุปสรรครอบด้านไม่เคยนึกถึง บางครั้งน้องยังไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคเลย แต่ตัดสินใจที่จะเลือกทำบางสิ่งแล้ว จึงต้องกระตุ้นให้น้องคิดทุกอย่างรอบด้าน ไม่ใช่คิดงานอย่างเดียว” ศรินทร์  วัชรบุศราคำ



9.สร้างแรงบันดาลใจ ชี้ให้เห็นเป้าหมายเพื่อพัฒนายกระดับการทำงาน ช่วยมองและดึงคุณค่าที่แฝงอยู่ในการทำงานของเยาวชน ชี้ชวน ท้าทาย สร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาต่อ


“บางทีเด็กหมดไฟแล้ว เพราะเจอปัญหาเยอะมาก เราอาจจะต้องหาแนวทาง หรือวิธีตะล่อมๆ ให้เด็กมีกำลังใจที่จะทำต่อไป” สิทธิชัย  ชาติ

­

10.ประสานและเชื่อมโยงทุนภายนอก หนุนเสริมการทำงานของเยาวชนในด้านที่ตนไม่มีความชำนาญ

­