ชลดา ระงับภัย
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

           พื้นฐานชุมชนจากเดิมการสานไผ่ทำกันในครัวเรือน ทุกบ้านสามารถสานไผ่ ใครถนัดสานอะไรสานนำมาแลกเปลี่ยนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์หาปลา จนปัจจุบันหลือเพียงผู้สูงอายุ 2- 3 ท่านที่สามารถสานได้ซึ่งอายุประมาณ 80 ปี จุดเริ่มต้นของทีมเยาวชน “เด็กไผ่” เริ่มมาจากโยชวนเพื่อนๆ มาทำกิจกรรมและเพื่อนๆ ซึ่งอยู่ในชุมชนเดียวกัน อยากทำกิจกรรม เพราะชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียน อยากมีเพื่อน อยากมีประสบการณ์ อยากทำโครงการแบบโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่โรงเรียนเคยมีให้ทำ แต่ไม่มีแล้ว จึงรวมตัวกันทำโครงการฯ โดยชวนเพื่อนที่อยู่นอกชุมชนเข้าร่วมด้วย 2 คน รวมกันเป็น 10 คน

           ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทีมเยาวชนสังเกตว่า ผู้สูงอายุจะอยู่ส่วนในส่วนผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กก็จะอยู่ส่วนเด็ก ไม่ค่อยคุยกัน พวกเขาเห็นช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุกับคนในยุคพวกเขา จึงเลือกการสานไผ่เป็นตัวเชื่อมกลางให้คนสองวัยได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และสืบสานวิธีการการสาน อย่างมีระบบและขั้นตอนโดยการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุจะใช้ภาษาส่วยเป็นหลัก ทีมเยาวชนสัมภาษณ์ บันทึกวิดีโอและเสียงเพื่อนำมาถอดเทปเป็นภาษาไทย บันทึกขั้นตอนการทำลงในกระดาษฟลิปชาร์ท เพื่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันในทีม เผื่อว่ามีแง่มุมไหนที่ทีมจะช่วยกันเติมให้สมบูรณ์ จากนั้นจะทำเป็นรูปเล่มไว้ให้ทุกคนใชชุมชนได้อ่านโดยจะไปจัดวางไว้ที่ศาลาของชุมชน

           จากกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่ตรงเวลา เรื่อยๆ การทำโครงการฯ ทำให้พวกเขากระตือรือร้น รับผิดชอบตัวเองกันมากขึ้น จัดเวลาและช่วยเหลือกันและกัน โครงการฯ ทำให้พวกเขาใกล้ชิดผู้สูงอายุมากขึ้น และชักชวนน้องๆ ในชุมชนให้ได้ใกล้ชิด เรียนรู้ ลงมือทำการสานไผ่ ทีมเด็กไผ่อยากให้น้องได้รู้จักและทำเป็น พวกเขาจะทำกิจกรรมต่อเนื่องโดยใช้งบประมาณจากวัด ซึ่งวัดสนับสนุนกิจกรรมกีฬาในทุกปี แต่ปีนี้พวกเขาตั้งใจจะเพิ่มกิจกรรมเรียนรู้สานไผ่ด้วย ปัญหาใหญ่ของการทำงานในโครงการคือภาษา ภาษาส่วยที่คุณตาเล่าให้ฟัง บางคำเยาวชนทีมเด็กไผ่ ไม่รู้ความหมายจึงต้องไปถามคนรุ่นพ่อแม่ว่าแปลว่าอะไร และด้วยทีมที่มีคนจำนวนมากและพาหนะในการลงชุมชนมีจำกัด ทำให้ต้องซ้อนมอเตอร์ไซค์เกินจำนวนลงพื้นที่ ซึ่งพวกเขาเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัยนัก

           สีสันของการทำงานที่ใช้ความรัก มิตรภาพนำการเรียนรู้ทำให้เยาวชนเด็กไผ่ เห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือไม่เกี่ยงงาน พวกเขามีพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นบ้านของคนในทีมรวมตัวกันคิด คุย หัวเราะ เล่นร่วมกันโดยมีผู้ปกครองค่อยสนับสนุน ทั้งอาหารและรับส่งในเวลากลางคืน พวกเขายืนยันว่า “หัวใจของการคิดงานออกคือการผ่อนคลาย ไม่เครียดเกินไป” ทีมที่สนับสนุนกัน รับผิดชอบทำหน้าที่ของตัวเอง เผื่อแผ่กัน รักกันทำให้ทุกคนมีมุมมองที่มองตัวเองเติบโตขึ้นแตกต่างกันไป หนึ่งในทีมเด็กไผ่กล่าวว่า “หนูกล้าตัดสินใจมากขึ้น หนูเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ใจเด็ดขาดกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนเป็นคนขี้กลัว แต่ตอนนี้เปลี่ยนความคิดตัวเอง เพราะมัวแต่กลัวแล้วเมื่อไหร่จะโต หนูชอบความตื่นเต้นเพราะความตื่นเต้นเหมือนกำลังพาตัวเองไปในจุดอีกจุดที่ทำให้สูงขึ้นกว่าเดิม” วันนี้การเดินทางของทีมเด็กไผ่ยังก้าวต่อไป พร้อมกับความรักของเพื่อนที่มีให้กันและกัน เพื่อนในชุมชนเดียวกัน ที่อยากให้ชุมชนเปลี่ยนแปลง



ความโดดเด่น

  • ระดับบุคคล ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง จัดการเวลาของตัวเองได้ดี ตรงต่อเวลา
  • ระดับกลุ่ม ทีมเด็กสานไผ่หล่อเลี้ยงด้วยความรักและมิตรภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันทำให้บรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลาย เฮฮา สนุกสนาน พร้อมแก้ไขปัญหาด้วยกัน
  • กระบวนการทำงานมีขั้นตอน ชัดเจน เมื่อไม่แน่ใจในข้อมูลที่ได้มา ก็จะลงไปหาข้อมูลซ้ำๆ เพื่อทำให้เข้าใจความหมายของข้อมูลที่ถูกต้อง
  • การทำงานแบบกระบวนการกลุ่มโดยทุกคนมีส่วนร่วม โดยใช้ระบบประชาธิปไตย หากมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันกลุ่มจะใช้การประชุมและลงมติกันเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน