การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) สืบทอดภูมิปัญญาการละเล่นชาวกวย จ.ศรีสะเกษ

เรียน รู้ เล่น กอนกวยท่รวยอิก

ชุมชนของเรา ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ การได้ลงมือทำในสิ่งตั้งใจและเห็นผลลัพธ์ความสำเร็จ ได้เปลี่ยนผ่านให้น้องๆ พัฒนาตนเองในเรื่องของการทำงานเป็นทีม และมีความกล้ามากขึ้น เพราะมีจุดเปลี่ยนจากการที่ได้ฝึกฝนอยู่เรื่อยๆ…บรรยากาศการเรียนรู้ผ่านการละเล่น จึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของเด็กๆ ในชุมชนที่กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง หลังจากที่ต่างกระจัดกระจายอยู่ในมุมส่วนตัวของตนเอง ทั้งเสียงหัวเราะของพี่ ป้า น้า อา พ่อแก่ แม่เฒ่าที่รุมกันสอนลูกหลาน เด็กๆ ในกลุ่มเองก็สนิทสนมกันมากขึ้น จากแต่ก่อนที่แค่รู้จักหน้า ตอนนี้รู้ใจกันมากขึ้น


“เชิญทายดูสิ ว่าไก่ตัวนี้เลขที่อะไร

จงขันให้ฉันฟังก่อน แล้วจะตอบสุนทรถูกได้

ไก่เอ๋ยไก่แก้วจงขันเจื้อยแจ้วออกมาไวๆ

ฉันทายไว้ไก่เลขสาม หน้าตางดงาม ฉันอยากจะได้”


+อยากรู้...จุดรวมตัวของทีมงาน

เสียงเอื้อนเอ่ยคำร้องทำนองไพเราะเพราะพริ้ง ชวนให้ใคร่รู้ว่า คืออะไร...

และนี่คือเสียงเพลงจากการเล่น “ท่รวยอิก” ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวกวยบ้านซำ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ในอดีตนิยมเล่นกันในช่วงเย็นๆ หลังจากคนในชุมชนว่างเว้นจากภาระหน้าที่การงานแล้วก็จะมารวมตัวกันเล่นท่รวยอิก เพื่อสร้างความสนุกสนาน และสร้างสัมพันธ์ของคนทุกช่วงวัยในชุมชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

วันนี้การละเล่นท่รวยอิกที่สูญหายไปได้ถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง จากความสนใจของกลุ่มเยาวชนที่ประกอบด้วยนัท-อารีรัตน์ โพธิสาร,  กุหลาบ-พิมพ์วิไล โสภี, ต๋อม-เกศมณี โพธิสาร,  หลิง-เดือนเพ็ญ โพธิ์กระสังข์,  หมู-ศิริพร โพธิสาน,  เปิ้ล-กิตติยา โพธิ์กระสังข์ และโยโย่-ชลดา ระงับภัย

“เห็นการละเล่นแบบนี้ครั้งแรกตอนที่ทีมวิจัยชุมชนมาถ่ายทำหนังสั้นเรื่องกอนกวย รู้สึกว่าน่าสนุกดี จึงอยากรื้อฟื้นการละเล่นนี้กลับมาใหม่อีกครั้ง เมื่อพี่ๆ ชวนทำโครงการจึงเลือกทำเรื่องนี้” นัทเล่าถึงความประทับใจแรกเริ่มต่อการละเล่นพื้นบ้าน

แม้ต้องเรียนหนังสือ ช่วยงานบ้าน ช่วยงานชุมชนตามวาระโอกาสต่างๆ แต่ทุกคนต่างยินดีเพิ่มหน้าที่ให้ตนเองอย่างเต็มใจ เพราะความอยากเรียนรู้เรื่องการละเล่นพื้นบ้านของชาวกวย ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง จึงนำมาสู่การรวมตัวของทีมงานที่มีทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง มีนัทที่เรียนอยู่ชั้น ม.3 รับบทบาทเป็นหัวหน้า เพราะเคยทำวิจัยที่โรงเรียนมาก่อน ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ก็เข้ามาด้วยความสมัครใจ แต่โยโย่เข้ามาทีหลัง เพราะเห็นพี่ทำก็อยากทำบ้าง จึงขอเข้าร่วมทีมด้วย

เมื่อทีมพร้อมจึงมีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยหลินทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกลุ่มกับชุมชน ต๋อมจดบันทึก กุหลาบทำการเงิน ซึ่งยอมรับว่า บางครั้งเงินหาย ใช้เงินไม่ลงตัว เธอต้องรับผิดชอบด้วยการออกเงินเองให้ครบ หรือบางครั้งก็ต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับกิจกรรม

ส่วนหมูกับโยโย่เป็นตากล้อง นัทเป็นหัวหน้าทีม ดูแลเรื่องสรุปข้อมูล ซึ่งวิธีการสรุปข้อมูลก็อาศัยเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต หรือปรับใช้จากวิธีการทำโครงงานในโรงเรียน เมื่อนัทสรุปข้อมูลเสร็จจะส่งให้เพื่อนๆ ช่วยกันดู และส่งให้พี่เลี้ยงในพื้นที่ช่วยตรวจทาน

สำหรับการรวมตัวกันทำงานมักใช้บ้านของโยโย่เป็นศูนย์กลาง เพราะมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งาน จึงสะดวกต่อการค้นคว้า ประกอบกับพี่ติ๊ก-ปราณี ระงับภัย แม่ของโยโย่เป็นเจ้าหน้าที่โครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ จึงสามารถปรึกษาหารือกรณีมีข้อติดขัดได้ทันที



+เรียนรู้...เพื่อสืบทอด

นัทบอกว่า การจะสืบสานการละเล่นท่รวยอิกได้ ทีมต้อง “ได้ใจ” ชุมชน ตามาด้วย “ข้อมูล” ก่อน ดังนั้นการทำโครงการในช่วงแรกๆ จึงเน้นไปที่การจัดประชุมวางแผนการทำงานร่วมกัน การจัดประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการให้คนในชุมชนรับรู้ที่ศาลาของหมู่บ้าน พร้อมทั้งชี้เป้า “ผู้รู้” เพื่อตามไปเก็บข้อมูล

“ทีมจึงแบ่งหน้าที่ไว้ คนหนึ่งถาม คนหนึ่งจดบันทึก คนหนึ่งถ่ายภาพถ่ายวิดีโอ แบ่งกันตามความสมัครใจ โดยถามว่าหัวข้อนี้ใครจะทำ แต่ถ้าไม่มีใครอาสาก็จะมีการบังคับกลายๆ ด้วยการส่งสายตาให้ช่วย ทั้งนี้ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้รู้บางท่านที่ไม่คุ้นเคย ก็จะขอให้พี่เลี้ยงช่วยพาทีมไปแนะนำตัวก่อน”

“งานประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการที่ศาลาหมู่บ้าน เป็นงานใหญ่ที่สุดที่เราเคยจัด ทุกคนพูดได้ไม่สั่น เพราะพูดกับคนที่รู้จัก และไม่ได้ใช้ไมค์ ชาวบ้านเขาก็ถามว่าทำแล้วได้อะไร เราก็บอกว่า ได้เรียนรู้และสืบทอดการเล่นท่รวยอิกที่หายไปให้กลับคืนมา ครั้งนี้พวกเราไม่ได้เตรียมงานมาก เพียงแค่นำโครงการที่เราจะทำไปนำเสนอให้คนในชุมชนรับรู้เท่านั้น ทั้งนี้ก่อนจัดประชุมพวกเราจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายด้วย ลุ้นมากกลัวคนมาน้อย เพราะตอนนั้นเป็นฤดูเกี่ยวข้าว นัดชาวบ้าน 6 โมงเย็น แต่ 1 ทุ่มแล้วก็ยังไม่มีใครมาเลย ไฟศาลาก็ไม่ติด ต้องไปเรียกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาแก้ไข ระหว่างรอมีตาคนหนึ่งเดินมาก่อน แต่เมื่อเห็นว่ายังไม่มีใครมาตาก็เดินกลับไปก่อน เพราะบ้านตาอยู่ใกล้ ตอนเห็นตาเดินกลับบ้านก็ลุ้นว่า ตาจะกลับมาอีกไหม แต่ในที่สุดตาและชาวบ้านก็ทยอยกันมา” ต้อมเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกกับเวทีชุมชน

นัทบอกว่า การประชุมครั้งนี้พวกเขาได้รับคำแนะนำ พร้อมกับชี้เป้าว่าต้องไปสอบถามข้อมูลจากใครบ้าง และเพื่อให้การเก็บข้อมูลถูกต้องครบถ้วน ทีมจึงแบ่งหน้าที่ให้คนหนึ่งถาม คนหนึ่งจดบันทึก คนหนึ่งถ่ายภาพถ่ายวิดีโอแบ่งกันตามความสมัครใจ โดยถามว่าหัวข้อนี้ใครจะทำ แต่ถ้าไม่มีใครอาสาก็จะมีการบังคับกลายๆ ด้วยการส่งสายตาให้ช่วย ทั้งนี้ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้รู้บางท่านที่ไม่คุ้นเคย ก็จะขอให้พี่เลี้ยงช่วยพาทีมไปแนะนำตัวก่อน

การสืบค้นข้อมูล ทำให้ทีมรู้ว่า การละเล่นท่รวยอิก คือ การเล่นทายเสียง (คำว่า “ทร่วย” ภาษากวยแปลว่า ไก่, ส่วนคำว่า “อิก” เป็นเสียงร้องของไก่) การเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆ กันและให้เป่ายิ้งฉุบเพื่อเลือกว่าใครจะได้เล่นก่อน หรือทายก่อน เมื่อเลือกได้แล้วหัวหน้าทีมแต่ละฝ่ายจะนำลูกทีมไปหลบอยู่หลังเสื่อ และกำหนดหมายเลขให้ลูกทีมโดยเขียนลงบนฝ่ามือของแต่ละคน จากนั้นฝ่ายที่เป่ายิ้งฉุบแพ้จะนำลูกทีมที่คลุมผ้าทั้งตัวออกมา ให้ฝ่ายชนะได้ทายก่อนว่าคนที่โดนคลุมผ้าเป็นใครหรือหมายเลขอะไร โดยให้ผู้อยู่ใต้ผ้าคลุมส่งเสียงร้องว่า “อิก” หากทายถูกก็จะได้ลูกทีมคนนั้นไปอยู่ฝ่ายตน ถ้าทายผิดลูกทีมคนนั้นยังคงอยู่ทีมเดิม ทีมใดทายถูกหมดจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งทีมที่ชนะจะลงโทษทีมที่แพ้ด้วยการเขกหัวเข่า

นัทเล่าว่า การสืบค้นข้อมูลของทีมงานทำให้รู้ว่า ท่รวยอิก มีการเล่นในกลุ่มคน 3 รุ่นที่แตกต่างกันออกไปคือ กลุ่มคนอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเล่นทายหมายเลข และมีการร้องเพลงประกอบ ส่วนกลุ่มคนรุ่นอายุ 32-52 ปี จะเล่นโดยการทายหมายเลขแต่ไม่มีการร้องเพลงประกอบ ขณะที่กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 31 ปี เล่นโดยการทายชื่อ และไม่มีการร้องเพลงประกอบ แต่ปัจจุบันคนรุ่นหลังๆ ไม่มีใครเล่นเป็นกันแล้ว ทั้งนี้การสืบค้นข้อมูลยังทำให้พวกเขารู้ว่ายังมีการละเล่นพื้นบ้านอื่นอีก 14 ชนิดที่กำลังจะสูญหายไป

และระหว่างการทำงานที่ผู้รู้บางท่านเสียชีวิตไป ทำให้ทีมงานตระหนักถึงความสำคัญของการสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และมองว่าการทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อบันทึกเรื่องราวการละเล่น โดยใช้ทั้งการบรรยายประวัติ วิธีการเล่นพร้อมวาดภาพประกอบ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยบันทึกและสืบต่อความทรงจำได้เป็นอย่างดี

นัทเล่าอีกว่า หลังจากสืบค้นข้อมูลจนรู้จักและคุ้นเคยกับผู้รู้ในชุมชนแล้ว ทีมขอให้ผู้รู้ช่วยสอนการละเล่นให้ด้วย เพราะถ้ารู้เฉยๆ ก็แค่รู้ เลยคิดพาน้องๆ ในชุมชนเล่น จะได้เรียน รู้ และเล่นไปพร้อมกัน ซึ่งการพาน้องเล่นจะเริ่มจากการเล่าประวัติการละเล่นให้ฟัง แล้วสอนร้องเพลงทีละท่อน

“เวลาชวนน้องๆ เล่น น้องก็จะขี่จักรยานไปทั่วหมู่บ้านเพื่อชวนเพื่อนคนอื่นว่า วันนี้จะมีการเล่นท่รวยอิกนะ เด็กๆ เห็นอะไรแปลกใหม่ก็จะพากันมาเล่น พวกเราก็พากันร้องเพลงบ้าง เล่นอย่างอื่นบ้าง เพราะถ้าเล่นท่รวยอิกอย่างเดียวเดี๋ยวก็เบื่อ ส่วนสถานที่ก็แล้วแต่สะดวก อาจเป็นที่โรงเรียนหรือที่บ้านเพื่อนในหมู่บ้านที่มีที่ว่าง แต่ส่วนใหญ่จะเล่นวันเสาร์อาทิตย์ช่วงเช้า ไม่ได้เล่นทั้งวัน เพราะแต่ละคนต่างมีหน้าที่ต้องทำ เวลาเล่นก็มากันเกือบ 20 คน เพราะเด็กในหมู่บ้านมีไม่มาก ส่วนคนแก่ที่ว่างก็แวะเวียนมาดู หากเราพาน้องทำผิดเขาก็จะช่วยสอน”

บรรยากาศการเรียนรู้ผ่านการละเล่น จึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของเด็กๆ ในชุมชนที่กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง หลังจากที่ต่างกระจัดกระจายอยู่ในมุมส่วนตัวของตนเอง ทั้งเสียงหัวเราะของพี่ ป้า น้า อา พ่อแก่ แม่เฒ่าที่รุมกันสอนลูกหลาน เด็กๆ ในกลุ่มเองก็สนิทสนมกันมากขึ้น จากแต่ก่อนที่แค่รู้จักหน้า ตอนนี้รู้ใจกันมากขึ้น



+เรียนรู้...เพื่อจัดการตนเอง

เห็นน้องๆ ในชุมชนสนุกสนานเช่นนี้ ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่น ด้วยวัยที่ยังมีภาระการเรียน ภาระงานบ้านที่ต้องช่วยพ่อแม่ บางครั้งติดงาน บางครั้งติดสอบ บางคนก็ป่วย บางคนที่บ้านไม่สนับสนุนให้ทำกิจกรรมลักษณะนี้ ทำให้แต่ละคนต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัว

“ทำงานก็มีงอนกันบ้าง นัดแล้วเพื่อนไม่มา คนที่มา 2-3 คนก็ช่วยกัน เราก็ถามเขาว่าทำไมไม่มา เขาบอกเหตุผล ก็ต้องทำใจยอมรับ เพราะเขาไม่ว่างจริงๆ ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน” หลินเล่าถึงปัญหาในกลุ่ม

นัทในฐานะหัวหน้าดูเหมือนจะมีภาระที่หนักกว่าใครเพื่อน เพราะต้องทำงานบ้านแทนแม่ทุกอย่าง ที่สำคัญคือ แม่ไม่อยากให้มาทำงานแบบนี้เพราะห่วงเรื่องการเรียน ทำให้เธอต้องวางแผนชีวิตอย่างเคร่งครัดมากขึ้น

“แต่ก่อนวางแผนชีวิตแต่ไม่เคร่งมาก เมื่อต้องทำโครงการนี้ชีวิตจึงต้องเป๊ะมากขึ้น ตื่นเช้ามาต้องคิดก่อนว่า วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง บางครั้งก็เขียนไว้ การวางแผนทำให้เราสามารถทำงานได้เสร็จ”

ดังนั้น เมื่อนัดหมายกันแล้วมีคนมาช้า มาเร็วไม่เหมือนกัน ทีมจึงต้องสร้างระบบการทำงานเพื่อให้สามารถส่งต่อกันได้ เช่น การทำหนังสือเล่มยักษ์ ถ้านัทมาถึงก่อนก็จะร่างภาพวาดทิ้งไว้ เมื่อเพื่อนๆ มาถึงก็จะช่วยกันลงสี เป็นต้น

เมื่อข้อมูลความรู้พร้อม เป้าหมายที่ทีมอยากทำต่อคือ นำการละเล่นท่รวยอิกไปสอนน้องในโรงเรียนบ้านซำซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการสานต่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะทีมงานทุกคนจบจากโรงเรียนนี้ และยังสนิทสนมกับคุณครูเป็นอย่างดี จึงไม่ยากที่จะเข้าไปพูดคุยขออนุญาต นอกจากนี้สิ่งที่ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนคือ การสืบค้นรวบรวมความรู้เรื่องภูมิปัญญาการละเล่นพื้นถิ่นให้ครบทั้ง 14 ชนิด

“อยากรวบรวมปฏิทินประเพณีวัฒนธรรม 12 เดือน หรือการละเล่นอื่นๆ อีก 14 ชนิดที่หายไป ทำคู่มือแบบนี้ไว้ให้ครบ 14 เล่ม เพราะถ้าผู้สูงอายุในชุมชนเสียชีวิต การละเล่นเหล่านี้ก็จะสูญหายไปด้วย” กุหลาบบอกถึงความตั้งใจของทีม


+เมื่อเติบโตจากภายใน...ความมั่นใจจึงฉายแวว

การก้าวเข้ามาเอาธุระกับเรื่องราวในชุมชน ทีมงานตระหนักได้ว่า “ชุมชนของเรา ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ” การได้ลงมือทำในสิ่งตั้งใจและเห็นผลลัพธ์ความสำเร็จ ได้เปลี่ยนผ่านให้พวกเขาได้พัฒนาตนเองในเรื่องของการทำงานเป็นทีม และมีความกล้ามากขึ้น เพราะมีจุดเปลี่ยนจากการที่ได้ฝึกฝนอยู่เรื่อยๆ กับการอบรมที่ทีมพี่เลี้ยงจัดให้หลายครั้ง ส่งผลให้น้องๆ มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หมูซึ่งเพื่อนๆ สะท้อนว่า เป็นคนจริงจัง เมื่อก่อนเวลาโมโหจะน่ากลัวมาก แต่เมื่อต้องมาทำโครงการนี้ทำให้หมูต้องปรับตัว และจัดการกับอารมณ์ของตนเองมากขึ้น เมื่อรู้ว่าโมโหก็จะเดินออกจากกลุ่มไปทำใจให้สงบก่อนค่อยกลับมาเข้ากลุ่ม

“ส่วนใหญ่ก็จะโมโหเรื่องงาน ทั้งงานกลุ่มและงานส่วนตัว เรื่องที่นัดกันแล้วเพื่อนไม่มาตามนัด ก็ใช้วิธีทำใจ ใช้เวลาสัก 10 นาที แล้วค่อยกลับมาทำงานช่วยเพื่อนเนียนๆ ไป แต่ช่วงหลังรู้สึกว่า ระยะเวลาในการทำใจสั้นลง 5 นาทีก็กลับมาทำงานต่อได้แล้ว และความถี่ในการโมโหก็น้อยลง เพราะทำใจได้มากขึ้น” หมูสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของตนเอง

ส่วนต้อมแม้จะเป็นรุ่นพี่ แต่มักโดนน้องๆ เตือนให้ละวางจากโทรศัพท์มาช่วยกันทำงานอยู่เสมอ ก็ยอมรับว่า ไม่ได้โกรธที่น้องว่า ยอมรับว่าเราเล่นจริงๆ เราต้องมีความรับผิดชอบช่วยน้องทำงานก่อน นอกจากนี้ยังกล้าแสดงออกมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่กล้าจับไมโครโฟน ไม่กล้าพูด แต่ตอนนี้ต้อมกล้าอาสาเป็นประชาสัมพันธ์ของกลุ่ม ใช้เสียงน้ำหวานๆ ประกาศเสียงตามสาย โดยไม่ต้องรบกวนให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้อีกแล้ว

สำหรับโยโย่น้องเล็กสุดท้องในกลุ่ม บอกว่า การทำงานกับพี่ๆ เป็นเรื่องสนุก ทำให้กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น จากเดิมที่เป็นคนขี้อาย ชอบหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ตอนนี้กล้าก้าวออกมาเรียนรู้กับเพื่อนคนอื่นมากขึ้น

“ชอบงานแบบนี้ เพราะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้กล้าคิด กล้าพูดมากขึ้น ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้”

สำหรับความเปลี่ยนแปลงของโยโย่ถูกสะท้อนโดยแม่ติ๊กว่า “ตอนแรกไม่ให้เขามายุ่งกับพี่ๆ เลย แต่ตอนจัดกิจกรรมที่ภูสิงห์น้องมาบอกว่า ขอไปกับพี่ๆ ได้ไหม ความรู้สึกตอนนั้นคือ กลัวเขามากวนเรา ทำให้เราทำงานไม่สะดวก ก็บอกเขาว่า ถ้าไปต้องอย่ามายุ่งแม่นะ เขาก็ไม่ยุ่งเลย เขาทำกิจกรรมอยู่ในกลุ่มกับพี่ๆ โยโย่เรียนอยู่ในเมือง เมื่อกลับถึงบ้านเขาจะรีบทำงานบ้านก่อน หุงข้าว ถูบ้าน ดูแลน้อง แล้วค่อยมาช่วยพี่ๆ ทำงาน”

ส่วนหลินบอกว่า เธอรู้สึกว่ามีความรับผิดชอบมากขึ้น แบ่งเวลาเป็นว่าเวลาไหนต้องทำงานกลุ่ม เวลาไหนต้องทำงานโรงเรียน หรืองานบ้าน แต่ก็ยอมรับว่า แอบให้ความสำคัญกับงานนี้มากกว่า ชอบงานแบบนี้ เพราะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้กล้าคิด กล้าพูดมากขึ้น ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้

ขณะที่กุหลาบบอกว่า เธอมีความรับผิดชอบมากขึ้น และชอบงานนี้มากเช่นกัน เพราะรู้สึกดีที่การละเล่นพื้นบ้านที่เริ่มสูญหายไปได้รับการฟื้นฟู ซึ่งเธอบอกว่า “งานที่โรงเรียนศึกษาเมื่อไรก็ได้ แต่งานนี้ท่านผู้รู้เรามีไม่มาก ถ้าไม่รีบทำท่านอาจไม่อยู่แล้ว”



+รวมพลัง...สร้างสิ่งดีให้ชุมชน

ป้ากุมรี ปรีเปรม หนึ่งในผู้รู้รุ่นอายุ 50 ขึ้นไปของชุมชน สะท้อนว่า ดีใจที่เด็กในชุมชนมาสอบถามเรื่องราวของกอนกวยฯ ด้วยกันจะได้มีคนสืบต่อ เพราะถ้าไม่มีคนมาถาม เชื่อว่าการละเล่นนี้จะต้องหายไปอย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากการละเล่นท่รวยอิกแล้ว ป้ากุมรียังได้ถ่ายทอดเรื่อง การห่อข้าวต้ม การทอผ้าไหม เก็บหม่อนเลี้ยงไหม และการย้อมไหมให้แก่น้องๆ ที่สนใจอีกด้วย

ยายแก้ว เลิศศรี ผู้รู้วัย 83 ปี เล่าว่า รู้สึกดีใจที่ลูกหลานสนใจศึกษาและสืบต่อภูมิปัญญา รู้สึกยินดีมากที่ได้มีส่วนสอนให้เด็กๆ เล่นท่รวยอิกจนเป็น “การละเล่นนี้หายไปจากหมู่บ้านระยะหนึ่งแล้ว คนแต่ละรุ่นจะมีวิธีการเล่นไม่เหมือนกัน คนรุ่นเดียวกับยายที่เล่นเป็นมี 2-3 คน แต่มียายจำได้คนเดียว เด็กๆ มารับไปทำกิจกรรมก็ดี ยายก็เพลิดเพลินไปกับเขาด้วย”

ลำพูน โพธิ์กระสังข์ พี่เลี้ยงชุมชนสะท้อนว่า เธอทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่ดูแลแบบประกบ ถ้าน้องๆ มีอะไรก็ต้องช่วยประสาน แต่พื้นฐานน้องเขามีความรู้อยู่แล้ว พี่เลี้ยงเพียงแค่ช่วยอำนวยความสะดวก ดูแลไม่ให้น้องออกนอกลู่นอกทาง

“การทำโครงการแบบนี้ดีกับน้องๆ มาก จากคนที่ไม่กล้าพูด เขินอาย ก็กล้าแสดงออกมากขึ้น ความคิดความอ่านก็ดีขึ้น และที่ดียิ่งกว่าคือเยาวชนเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่มีแต่คนแก่มาช่วยงาน ตอนนี้เวลามีงานอะไรในชุมชน เยาวชนจะอาสาเข้ามาช่วยงานเต็มไปหมด”

การได้ศึกษาเรียนรู้ชุมชนทำให้เกิดความลึกซึ้งกับความเป็นกวยมากขึ้น พวกเขารู้สึกภูมิใจมากที่มีส่วนช่วยสืบทอดภูมิปัญญาของชาวกวย วันนี้เสียงเพลงจากการละเล่นท่รวยอิก จึงยังคงดังผสานเสียงหัวเราะอันสดใสของผู้คนก้องอยู่ในบ้านซำ แต่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอันเป็นผลจากการทำโครงการคือ กลุ่มเยาวชนได้รวมตัวกันหนาแน่นมากขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มช่วยงานหมู่บ้านในนามกลุ่มเยาวชนกอนกวยท่รวยอิก เป็นภาพที่ผู้ใหญ่ในชุมชนไม่เคยเห็นมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะเด็กเรียนต่างโรงเรียนกัน ความสัมพันธ์จึงเหมือนต่างคนต่างอยู่ การกลับมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน จึงเป็นการรวมพลังครั้งใหม่ของกลุ่มเยาวชนที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามสู่ชุมชนต่อไป

การสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ให้มองเห็นคุณค่าของชุมชน รู้รากของตนเอง ย่อมทำให้เขารักชุมชนถิ่นเกิดและเข้ามามีบทบาทในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไป เหมือนเช่นเยาวชนกลุ่มนี้ที่เข้ามารื้อฟื้นการละเล่นพื้นบ้านที่นอกจากจะทำหน้าที่ “สานสัมพันธ์” ของคนในชุมชนทุกช่วงวัย ได้แก่ เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุแล้ว ยังนำไปสู่การจัดเก็บองค์ความรู้ วิธีการเล่นในรูปแบบหนังสือเล่มยักษ์เป็นภาษากวย และการเรียนรู้ภาษาเขียนพื้นบ้านของกลุ่มชนชาวกวย ที่ช่วยฟื้นบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง




โครงการสารสัมพันธ์กอนกวยท่รวยอิก

แกนนำเยาวชน  

1)  อารีรัตน์ โพธิสาร   2)  พิมพ์วิไล โสภี  3) เกศมณี โพธิสาร   4)  เดือนเพ็ญ โพธิ์กระสังข์  5)  ศิริพร โพธิสาน  6)  กิตติยา โพธิ์กระสังข์  7) ชลดา ระงับภัย 

พี่เลี้ยง :   ลำพูน โพธิ์กระสังข์