ยุพา โพธิ์ทอง
นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยงแกนนำเยาวชน ใน อบต.พลับพลาไชย
ประวัติและผลงาน

อบต.พลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณ ได้ดำเนินการทำโครงการศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลพลับพลาไชยในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย โดยส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมพัฒนางานด้านเด็กและเยาวชน โดยหนึ่งในนั้นคือ "หล้า-ยุพา โพธิ์ทอง" นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ที่เด็ก ๆ หมู่ 7 เลือกจะทำปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่สุดท้ายกิจกรรมกลับขยับไปได้ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อหล้าชวนเด็ก ๆ ถอดบทเรียนก็พบว่า เด็กเลือกโจทย์นี้เพราะถูกปลูกฝังมาตลอดว่าชุมชนของพวกเขาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เด็ก ๆ ยึดติดกับกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง

ด้านหล้ายอมรับว่าการเข้ามาทำงานวิจัยทำให้เธอได้มองย้อนกลับไปประเมินการทำงานที่ผ่านมาของตัวเอง ซึ่งทำให้เธอค้นพบสาเหตุที่การทำงานในตำแหน่งเดินไปได้ไม่ไกลนัก

“เมื่อก่อนเราทำงานในลักษณะอีเวนต์ คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วจบไป ไม่ได้วางแผนพัฒนาให้ยั่งยืน เลยต้องแก้ปัญหาเดิม ๆ วนไปไม่กี่เรื่อง แต่พองานวิจัยเข้ามา เราต้องผ่านการทำงานที่เป็นกระบวนการอย่างจะจัดเวทีในชุมชนก็มาคุยวางแผน แบ่งหน้าที่ สรุปบทเรียน ปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัญหาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ทำซ้ำ ๆ จนรู้ว่าปัญหานี้จะใช้วิธีการไหน ควรไปปรึกษาใคร ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพในทุกเวที ถึงการทำงานแบบอีเวนต์อาจจะง่ายกว่า ไม่ต้องมีกระบวนการคิด แต่แบบนี้ทำให้ชุมชนจัดการตนเองได้ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาได้โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้พวกเราเองเหนื่อยน้อยลงด้วย”


กิจกรรมทบทวนโครงการและถอดบทเรียนนักวิจัย

อบต.พลับพลาไชย จังหวัดสุพรรณบุรี

วันที่ 10 กรกฏาคม 2561


  • บันทึกจากเวที

1.ความใฝ่ฝัน เป้าหมายและแรงบันดาลใจในชีวิต

"เป็นเกษตรกรที่ผลิตอาหารที่ปลอดภัยและครบวงจร และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ทำให้กับเกษตรกรรายอื่น เด็กและเยาวชน เพื่อให้สืบทอดอาชีพเกษตรกรรมให้คงอยู่สืบไป"

2.ความมุ่งหวังต่อเด็ก เยาวชน และชุมชน

"อยากให้เด็กและเยาวชนมีความเป็นพลเมืองที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม มีความเป็นจิตสาธารณะ รู้จักผิดชอบชั่วดี รักบ้านเกิด ต้องปลูกฝังบุตรหลานตั้งแต่ในครอบครัว ให้ความใส่ใจบุตรหลาน ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว"

3.อยากให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้รับการพัฒนาหรือเสริมความรู้ ความสามารถในด้านใด

"อยากให้เด็กและเยาวชนมีความรู้เรื่องใกล้ตัวในชุมชน เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน อาชีพของคนในครอบครัวและชุมชน การช่วยเหลือตนเองและคนอื่นในสังคม"

4.ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนของชุมชน

"ควรมีการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในสังคม ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน และควรมีความต่อเนื่อง ควรมีแกนนำเยาวชนที่จะสามารถสื่อสารและเข้าใจระหว่างเยาวชนด้วยกันและเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ใหญ่"