กาญจนา ศรีราช
ครู
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยงแกนนำเยาวชน ใน ทต.เมืองแก
ประวัติและผลงาน


Interview : คุณครูกาญจนา ศรีราช

พี่เลี้ยงเยาวชน ต.หนองอียอโรงเรียนเมืองแกพิทยาสรรค์ ทต.เมืองแก จ.สุรินทร์


­

บทบาทหน้าที่ในโครงการนี้

ตัวเองเป็นพี่เลี้ยงโครงการของเด็กๆ ทำร่วมกับ ทต.เมืองแก เด็กๆ ทำเรื่องการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) นี่คือหลักๆ ที่เราคุยกันกับเทศบาลไว้ บทบาทหน้าที่ตอนนี้เป็นผู้แนะนำและช่วยเหลือในเรื่องของวิธีการและรูปแบบการนำ PBL ไปใช้

­

การเข้าร่วมโครงการ

โดยความร่วมมือของ ทต.เมืองแกเชิญชวนให้ร่วมมือ มาทำวิจัยร่วมกัน ท่าน ผอ.ถนอม บุญโต ไปประชุมและให้ครูกาญจนามาทำงานร่วมด้วยกับเทศบาลค่ะ

­

สิ่งที่ทำให้เราอยากเข้าร่วมโครงการ

เริ่มต้นด้วยคำสั่งของท่าน ผอ.ให้เรามาร่วมกับ ทต.เมืองแก อีกอย่างคืออยากจะพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ประสบการณ์จากที่มีแค่ในห้องเรียน เรามาเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้จากคนอื่นๆ หน่วยงานอื่นๆ บ้าง เพื่อให้เขาได้มีประสบการณ์มากมายในการได้มาอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆ องค์กรอื่นๆ มากกว่าแค่ในห้องสี่เหลี่ยมของโรงเรียน

­

ทำไมโรงเรียนจึงเลือกแนวทางเรียนการสอนรูปแบบการบูรณาการ

เราเชื่อว่าบูรณาการ สร้างความสามารถให้นักเรียน เรียนหนึ่งวิชาแต่สามารถใช้หลายๆ เรื่อง เช่น เขาเรียนวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์มันไม่ได้ตอบโจทย์วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เขาต้องใช้วิชาภาษาไทยเพื่ออ่านและเข้าใจในโจทย์ด้วย ขณะที่เขาทดลองเขาก็ต้องไปเรียนรู้วิชาการงานอาชีพด้วย เช่น เรียนเรื่องการแพร่การกระจาย เขาก็ต้องเรียนรู้ว่าในวิชาวิทยาศาสตร์ มันมีการแพร่การกระจาย เราจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่ชีวิตประจำวันของเขาได้ เราจึงเลือกวิธี PBL แบบบูรณาการ

­

ตอนนี้เราได้ดำเนินการอะไรกับนักเรียนไปแล้วบ้าง

ตอนนี้เราเริ่มลงมือ สอนไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว และเริ่มสอน เริ่มมีแผน ตอนนี้ก็พยายามเขียนหลักสูตรขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ในการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ที่ใช้การเรียนแบบบูรณาการ PBL เราได้ทดลองไปเมื่อเทอมที่แล้ว กับชั้น ม.1 - 3 โรงเรียนเราทำ 3 ระดับ แต่ถ้าเป็นรูปแบบโดยหลักการไหม เรายังไม่ทำ เราเพียงแค่ลงมือทำก่อนแล้วค่อยมาเขียนหลักสูตรตามทีหลังว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน

­

ความคาดหวังก่อนเข้าร่วมการอบรม

ไม่ได้คาดหวังอะไร คิดว่าเรามาเพื่อเติมเต็มมากกว่า เรามาเรียนรู้และเก็บเล็กผสมน้อยไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของเรา

­

ทักษะหรือเครื่องมืออะไรที่เราจะนำกลับไปใช้ในโครงการ

การเข้าอบรมในครั้งนี้ สิ่งที่ได้จากการอบรมคือกระบวนการกลุ่ม เราเคยแบ่งกลุ่ม แต่เราแค่นับ 1 2 3 4 แต่มาที่นี่เราเห็นกระบวนการแบ่งกลุ่มอีกแบบ คือสัตว์สี่ทิศมี 4 แบบ เสือ สิงห์ หมี กระทิง เราก็มองว่ารูปแบบนี้นำไปใช้ได้แต่เมื่อก่อนเราไม่รู้ พอมาได้แล้ว เราจะเก็บตรงนี้ไปใช้ที่ห้องเรียนของเรา กับนักเรียนของเรา ถ้าได้ตรงนี้ ได้ความแปลกใหม่ของกระบวนการกลุ่มไปก็เชื่อว่านักเรียนเราจะมีความสุขในการเรียน

อีกเรื่องคือการตั้งคำถามเมื่อก่อนเรารู้เรื่องการตั้งคำถาม แต่การตั้งคำถามเพื่อให้เด็กแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งมันค่อนข้างเข้าใจยาก แต่เมื่อมาเรียนตรงนี้แล้ว เราได้3 F(สรุปบทเรียนสะท้อนการเรียนรู้โดยใช้หลักการ 3 F ได้แก่ Feeling - รู้สึกอย่างไร ชอบไม่ชอบ Finding – สิ่งใหม่ๆที่ค้นพบ Future - จะนำความรู้ใดไปใช้ในอนาคต โดยวิทยากร : สุทัศน์ พรธีระปกรณ์ SCB ACADAMY) คือ ให้นักเรียนได้แสดงความรู้สึก ให้บอกว่าได้เรียนรู้อะไร และให้บอกว่าจะสร้างสรรค์อะไรต่อไปในอนาคต เราก็บอกว่านี่ไงคำถามที่เราบอกว่า Reflection มันเป็นอย่างนี้นี่เอง เราเพิ่งเข้าใจว่านี่คือการใช้คำถาม Reflection เราก็คิดว่าเราจะนำกลับไปใช้ในวิชาของเรา ในกระบวนการของเรา ถ่ายทอดให้เพื่อนครูอีกหลายคนเข้าใจว่านี่คือกระบวนการตั้งคำถามที่เรียกว่า Reflection เมื่อสอนเสร็จแล้ว หรือให้นักเรียนเรียนรู้กระบวนการต่างๆ เสร็จแล้ว นี่คือคำถามสุดท้ายที่จะถามนักเรียน 3 F คืออะไร เขาจะได้แสดงความคิดเห็นของเขาได้ เราจะได้รู้ว่านักเรียนของเราเมื่อเรียนวิชาของเราแล้วเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งเหล่านี้ มันไม่จำเป็นต้องกากบาท ไม่จำเป็นต้องตอบ ก ข ค ง แล้ว 3 อย่างนี้เราก็คิดว่ามันน่าจะประเมินเขาได้ว่า 1 - 2 ชั่วโมงที่เขาเรียนรู้กับเรา เขาได้อะไรมากน้อยแค่ไหน 

อีกเรื่องคือเรื่อง EF เคยได้ยินแต่เพิ่งมาเรียนรู้วันนี้เอง เราก็จะนำเทคนิค วิธีการตรงนี้ไปแก้ไขพฤติกรรมนักเรียน ใช้กิจกรรมแบบนี้นะ เช่น เขียน ระบายสี สรุป ตั้งคำถามว่า ทำอะไร ทำแล้วได้อะไร และสุดท้ายแล้วในกระบวนการที่นักเรียนทำ นักเรียนได้อะไรแล้วเติมเต็มให้นักเรียน ตัวครูเองไม่เคยใช้วิธีการนี้ เพราะเรามีแต่สอนๆๆ แล้วก็สอน เราลืมไปว่าคนเรียนต้องเรียนรู้ด้วย ไม่ใช่สอนเขาอย่างเดียว เราก็ได้เทคนิคเรื่องนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอนเรื่องความยับยั้งชั่งใจ การสอนที่จำแล้วเอาไปใช้ 


ซึ่งเราเองก็เพิ่งเข้าใจว่า Reflection ใช้วิธีการนี่เองและกระบวนการโดยรวมทั้งหมด เราก็คิดว่าขั้นตอนแต่ละขั้นตอนตั้งแต่เมื่อวานและวันนี้เรามีความรู้สึกว่าถ้าเราเอากระบวนการนี้ไปใช้จัดการเรียนการสอน โดยไม่ได้ห่วงเรื่องชั่วโมง ไม่ได้ห่วงเรื่องที่สอน แต่เราตั้งเป้าหมายไว้ เช่นที่วิทยากรท่านตั้งเป้าหมายเรื่องการออม เราไม่จำเป็นต้องขึ้นด้วยการออม เราใช้วิธีการอื่นเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนก็ได้เหมือนที่วิทยากรทำ เราไม่ต้องบอกว่าจุดประสงค์ 1 2 3 แต่เราใช้วิธีการวาดภาพระบายสี เล่าเรื่อง และเข้าสู่บทเรียน แล้วใส่เนื้อหาเข้าไป โดยนักเรียนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเรียนรู้เรื่องนี้อยู่ มันทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย เขารับรู้ได้ง่าย พอวิทยากรใส่ความรู้เข้าไป สุดท้ายแล้วถาม Reflection เขา ได้อะไร เรียนรู้อะไร สร้างสรรค์อะไรเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ได้ใน 2 วันนี้ที่จะนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของเรา และปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน นี่คือสิ่งที่ได้ใน 2 วันนี้

­


Interview : ในเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT สร้างแรงบันดาลใจเพื่อยกระดับสมรรถนะของเยาวชนและพี่เลี้ยง จังหวัดสุรินทร์ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟรส 2

สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 27 - 29 กรกฎาคม 2562 โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ 


­

บทสัมภาษณ์.pdf

ติดตามกิจกรรมขับเคลื่อนเวทีได้ที่นี่