สุนิตรา สาหมีด
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

โครงการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านโคกพยอม

เยาวชนเด่น : เด็กหญิงสุนิตรา สาหมีด – นิ


ชื่อเรื่อง สีสันบนผืนผ้าเมื่อธรรมชาติบอกเล่าเรื่องราวผ่านงานมัดย้อมที่บ้านโคกพยอม


เปลือกต้นแสมให้สีส้ม ขมิ้นให้สีเหลือง สีม่วงและชมพูได้จากผลมะม่วงหาวมะนาวโห่ และสีน้ำตาลจากต้นพังกา ส่วนสีพาสเทลอ่อนๆ อย่างสีฟ้าอมน้ำเงินหรือสีเขียวก็เลือกใช้ดอกอัญชันกับใบเตยได้

บ้านโคกพยอม ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นชุมชนเล็ก ๆ ติดริมชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด การันตีด้วยรางวัลลูกโลกสีเขียว ในปี 2549 และอีกครั้งเมื่อปี 2555 ในแง่ศาสนาที่นี่เป็นหมู่บ้านผสมมุสลิมและพุทธ ลักษณะภูมิประเทศของบ้านโคกพยอมที่แบ่งชุมชนออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรก ชุมชนติงหงี ทางทิศตะวันออก “ติงหงี” เป็นภาษามลายู แปลว่า “สูงชัน” ภูมิประเทศฝั่งนี้ติดกับลำคลองและป่าชายเลนเป็นพื้นที่ที่สูงชันมาก ส่วนทางฝั่งตะวันตกเป็นเนินสูง ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "โคก" และพบต้นพยอมบริเวณนี้มาก ชุมชนฝั่งนี้จึงถูกเรียกว่า ชุมชนบ้านโคกพยอม

หากสืบประวัติชุมชนย้อนหลัง พบว่า ผู้ตั้งรกรากครั้งแรกเป็นชาวจีนสองสามีภรรยาที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ราวปี 2435 เกือบ 130 ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่สร้างที่พักอยู่ริมชายคลองติงหงี ลำคลองน้ำเค็มที่มีความยาว 4 กิโลเมตร ปัจจุบันไหลผ่าน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 7, 8 และหมู่ 18 ก่อนไหลลงสู่ทะเลอันดามันชาวบ้านแต่เดิมยึดอาชีพขายเปลือกไม้แสมและทำฟืนซีกส่งให้กับบริษัทที่ได้รับสัมปทานตัดไม้เผาถ่านส่งไปยังประเทศสิงคโปร์ อายุสัมปทานป่าที่ดำเนินมาอย่างยืดยาวจบลงเมื่อปี 2544 ในวันนั้นทรัพยากรธรรมชาติหลายหลากแห่งบ้านโคกพยอมได้เสื่อมโทรมจนแทบไม่มีชิ้นดี เป็นจุดเริ่มต้นของงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชายเลนเพื่อกำหนดบริบทการใช้ประโยชน์จากป่า มีกิจกรรมปลูกป่าทดแทนทุกปี ป่าจึงฟื้นตัวกลายเป็นแหล่งอาหาร แหล่งยารักษาโรค และมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 นี่เป็นเหตุผลให้คนบ้านโคกพยอมมีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของพวกเขาเป็นอย่างมาก

โครงการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ชุมชนบ้านโคกพยอม เป็นโครงการที่ นิ - สุนิตรา สาหมีด เด็กสาววัย 13 ปีและกลุ่มเพื่อนในชุมชนเลือกทำ เพราะมองเห็นคุณค่าของทุนทรัพยากรที่มีในชุมชน ทางเลือกวิถีธรรมชาติของการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ไม่จำเป็นต้องมีสีสังเคราะห์และสารเคมีเป็นองค์ประกอบ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ฐานทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของชุมชนบนแนวป่าชายเลน และเป็นฐานที่มั่นที่ชาวบ้านอาศัยอยู่กินมาอย่างยาวนาน


สาดสีสันบนผืนผ้า

“ลายต้นไม้” ลายมัดย้อมที่ปรากฏบนผืนผ้า จากความคิดสร้างสรรค์ของนิ ที่ตั้งใจให้ลายนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อสารถึงหมู่มวลต้นไม้ที่ฟื้นคืนชีพและหยั่งรากอย่างแข็งแรงอยู่ในชุมชน หมู่บ้านในละแวกใกล้เคียงทำผ้ามัดย้อมด้วยสารเคมี แต่เธอและเพื่อนๆ อยากให้สีธรรมชาติได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านสีสันบนผืนผ้าดูบ้าง กระบวนการทำงานแต่ละขั้นตอนอาศัยทั้งความชอบและความรู้ที่ต้องค้นคว้า รวบรวม แล้วกลับมาลองคิดลองทำ

กว่าที่เธอจะบอกเล่าสีจากธรรมชาติที่ได้มาจากพันธุ์ไม้แต่ละชนิดได้อย่างคล่องแคล่วแบบนี้ ต้องยอมรับว่าใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควร สีแต่ละสีจากต้นไม้แต่ละต้น นิและเพื่อน ๆ รวมกลุ่มเพื่อวางแผนการทำงาน เพื่อลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านรอบชุมชน

“ใครอยู่บ้าน เราจะเข้าไปแนะนำตัวว่านำโครงการนี้อยู่ ขอเวลาสอบถามข้อมูลสักครู่ รู้ไหมว่าต้นไม้ชนิดไหนในชุมชนให้สีอะไรบ้าง บางบ้านแนะนำยางกล้วย บางบ้านแนะนำดอกดาวเรือง หรือต้นพังกา พวกเราทำหน้าที่จดบันทึกข้อมูล และถ่ายวิดีโอเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วนำข้อมูลที่ได้มารวบรวมเพื่อทำการทดลองหาข้อสรุปว่าพืชแต่ละชนิดที่ชาวบ้านแนะนำมาอะไรบ้างที่ได้ผลตามที่ได้รับการบอกเล่ามา”

นอกจากสอบถามข้อมูลจากคนในชุมชนแล้ว ยังอาศัยความช่างสังเกตสิ่งรอบตัว คิดค้นและรังสรรหยิบวัสดุในธรรมชาติมาค้นหาสีสันด้วยตัวเอง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม

“หนูเคยโดนเปลือกต้นแสมติดเสื้อแล้วเป็นสีแดง พอเอาไปซักก็ไม่ออก ดินโคลนถึงไม่ใช่พันธุ์ไม้แต่เห็นว่ามีมากในบ้านเรา พอเปื้อนเสื้อเวลาซักสียังติดอยู่ หรือใบเตยเอามาต้มน้ำจะออกเป็นสีเขียว เราเห็นว่าสีพวกนี้น่าจะเอามาทำเป็นสีทำผ้ามัดย้อมได้ เลยเอามาทำการทดลองด้วย”

“จากการทดลองพันธุ์ไม้ที่ได้ผลคือต้นแสม ต้นพังกา ขมิ้น มะม่วงหาวมะนาวโห่ อัญชันและดอกดาวเรืองได้ผลแต่ให้สีค่อนข้างอ่อน ส่วนที่ไม่ได้ผลตามคำแนะนำ เช่น ยางของใบกล้วย เลยตัดพืชชนิดนี้ออกไป”

เธอบอกว่าช่วงที่ลงพื้นที่สิ่งที่ทำนอกจากการสอบถามข้อมูลจากคนในชุมชนเรื่องพันธุ์ไม้ให้สีแล้ว นิและสมาชิกในทีมยังใช้แผนที่ชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือปักหมุดสถานที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ของชุมชน เพื่อง่ายต่อการกลับไปตามหาพันธุ์ไม้ให้สีในครั้งต่อไป


ลวดลายที่สรรสร้างจากความตั้งใจเต็มเปี่ยม

หลังทำการทดลองเพื่อสกัดสีจากพันธุ์ไม้ในชุมชนอยู่ระยะหนึ่งจนได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ กิจกรรมต่อไปคือ “การศึกษาลายของผ้ามัดย้อม” กลุ่มเยาวชนสอบถามข้อมูลจากคนในชุมชนเรื่องลายผ้ามัดย้อมไปพร้อมกับการลงพื้นที่ ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่บอกเป็นลักษณะของลายมากกว่าชื่อของลาย เช่น วงกลม วงรี หรือรูปหัวใจ ซึ่งนิบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะการมัดย้อมไม่มีลายที่ตายตัว แต่พวกเขาอยากท้าทายตัวเองด้วยการสร้างสรรค์ลวดลายประจำตัว จึงไม่หยุดเรียนรู้

ในยุคสมัยที่การเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่าย การศึกษาวิดีโอจากยูทูปเกี่ยวกับการสร้างลวดลายผ้ามัดย้อม เป็นเรื่องสนุกและได้ความรู้

“ในยูทูปเขาทำเป็นลายดอกไม้ เลยลองทำดูแต่ดัดแปลงวาดเป็นรูปต้นไม้แล้วพับตามที่วาดไว้ ใช้ด้ายเย็บให้แน่นแล้วเอาไปต้ม ตอนที่แกะมาเป็นลายต้นไม้รู้สึกภูมิใจที่คิดค้นลายได้ด้วยตัวเอง”

แน่นอนว่า “ผ้า” เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ในการทำมัดย้อม

“ผ้าสำหรับย้อมสีเคมีนิยมใช้เป็นผ้าดิบแต่พอมาทดลองกับสีธรรมชาติพบว่าสีที่ได้ออกมาคนละแบบกัน ผ้าบางอย่างไม่สามารถใช้ทำมัดย้อมจากสีธรรมชาติได้ พวกเราทดลองใช้ผ้าทั้งหมด 3 ชนิด คือ ผ้าดิบ ผ้าคอตตอน ผ้ามัสลิน เพื่อทดสอบการติดของสี และพบว่าผ้ามัสลินเหมาะสำหรับการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติที่สุด ส่วนผ้าคอตตอนและผ้าดิบเนื้อผ้าแข็งสี ต้องเอาไขมันออกจากผ้าก่อนจึงจะทำให้สีติดกับเนื้อผ้า” ทุกขั้นตอนของการทำโครงการนิ มักใช้วิธีค้นหาข้อมูล และทำการทดลองด้วยตัวเองก่อนทำสรุปข้อมูลออกมาเป็นแนวทางการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติของกลุ่มเยาวชน


แปรรูปผลิตภัณฑ์

สีจากธรรมชาติรอบชุมชน ลายผ้าที่สร้างเอกลักษณ์ของชุมชน กลายเป็นหัวใจหลักของการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติชุมชนบ้านโคกพยอม กลุ่มเยาวชนนำผ้ามาแปรรูปเป็นสินค้า นิอาสาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในกิจกรรมนี้เพราะชอบตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

แปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง ใช้วิธีไหนในการเย็บ และทำอย่างไรให้สีคงทน?

เป็นทั้งโจทย์และเป้าหมายที่ตั้งขึ้น

พวกเขาพากันไปศึกษานอกพื้นที่กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผ้าบาเต๊ะ ตำบลควนสตอ ตั้งใจเรียนรู้วิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจเพื่อนำไปประยุกต์กับการทำผ้ามัดย้อมของตัวเอง

เสื้อ กางเกง หน้ากากผ้าและกระเป๋าดินสอเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติที่นิและเพื่อนๆ ช่วยการประดิษฐ์ประดอยจนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง

“พวกเราในทีมช่วยกันออกแบบเสื้อผ้า ตามที่ต้องการ จากนั้นส่งต่อให้กลุ่มแม่บ้านตัดเย็บตามแบบที่เราวาดให้ แบบเสื้อเราทำด้านหน้าสั้นกว่าด้านหลังเป็นเสื้อที่พวกเราช่วยกันออกแบบ อาศัยความชอบของแต่ละคนมาผสมกันให้เป็นแบบฉบับเราเอง”

นอกจากสีหลัก ๆ ที่ได้จากการทดลองข้างต้นแล้ว เธอยังเพิ่มสีสันด้วยการใช้ตัวเร่งในการเปลี่ยนสีอย่าง สารส้ม และน้ำปูนใส มาเป็นส่วนผสม ปรากฎการณ์ของสีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะบางครั้งสีที่ได้อาจไม่เป็นตามที่ตั้งใจไว้ แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะยิ่งได้ทดลองยิ่งได้ค้นพบเฉดสีใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น


พี่สอนน้อง...สูตรสำเร็จผ้ามัดย้อม

หลังจบหลักสูตรการทดลองด้วยตัวเองแล้ว นิชวนเด็กๆ ในชุมชนมาทำกิจกรรมทำผ้ามัดย้อมร่วมกัน เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ค้นพบผ่านการเรียนรู้เหมือนการเล่น

“พวกเราจัดกิจกรรมพี่สอนน้อง ให้น้องๆ ลองมองหาต้นไม้ หญ้าที่มีอยู่รอบตัว พร้อมตั้งโจทย์ว่าพืชชนิดไหนบ้างที่ทำให้เกิดสีได้ แล้วให้เขาลองไปหามาทำการพิสูจน์เพื่อหาข้อสรุปจากการทดลอง”

ในวันงานนิรับหน้าที่เป็นพิธีกรคอนอธิบายรายละเอียดของกิจกรรม

“เราพูดหน้าเวทีก่อนจะแจกโจทย์ให้น้องๆ ลองไปหาพืชในละแวกนั้นมาทำการทดลอง เขาค้นพบว่าพืชบางอย่างภายนอกมีสีเขียวแต่ลองเอามาขยี้ดูสีที่ได้กลับไม่ใช่สีเขียวอย่างที่เห็น เด็ก ๆ ก็สนุกกับสิ่งที่ได้ค้นพบ”


ตัวตนที่เล็กลงจากความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น

หลังจบโครงการมาสักระยะ นิมีเวลาทบทวนตัวเอง และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเองพอสมควร นิเล่าว่า สาเหตุหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพราะอยากลองใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคม

“แต่ก่อนหนูเป็นคนที่เอาความคิดเห็นตัวเองเป็นใหญ่มาตลอด ช่วงแรกที่ทำโครงการเวลาคนอื่นพูดก็จะค้านทุกอย่าง แต่พอหลัง ๆ เริ่มกลับมาคิดว่าทุกครั้งที่มีการประชุมภายในทีมเพื่อนรับฟังความคิดเราตลอด เลยมานั่งถามตัวเองว่าเราเองควรฟังความคิดเห็นเพื่อนบ้างไหม หลังจากนั้นจึงเริ่มฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ช่วงแรก ๆ ยอมรับว่าค่อนข้างยากแต่พยายามฝึกตัวเอง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ลองเปิดใจฟังความคิดเห็นจากคนอื่นบ้าง”

เมื่อถามถึงทักษะที่ได้จากการทำโครงการ นิ บอกว่า เธอได้นำความรู้จากทำโครงการไปใช้ร่วมกับการทำโครงงานในห้องเรียน

“หลังจากที่ทำโครงการจบหนูขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง ซึ่งในหลักสูตรการเรียนในห้องเรียนมีวิชาโครงงาน มีความคล้ายกับขั้นตอนการทำโครงการของเรามาก ได้เอาความรู้ประยุกต์ใช้กับโครงงานในชั้นเรียน ส่งผลให้โครงงานของหนูค่อนข้างโดดเด่นกว่าคนอื่น”

สิ่งที่สำเร็จมากกว่าชิ้นงานผ้ามัดย้อมหนึ่งผืน ไม่ใช่แค่เพียงการค้นพบสีย้อมผ้าจากพันธุ์ไม้ในชุมชน หรือผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อมที่จับต้องได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสื่อการเรียนรู้ที่ทำให้นิและเพื่อนๆ ในทีมได้เข้าถึงและสัมผัสคุณค่าของทรัพยากรในชุมชนที่ตนอยู่อาศัย เสอนให้เธอเป็นผู้ฟังมากมากกว่าผู้พูด ทำให้เธอเรียนรู้การเข้าสังคมและค้นพบศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ผ่านการขวนขวาย เรียนรู้และลงมือทำ ที่สำคัญทำให้เธอรักและภูมิใจในตัวเธอเองมากขึ้น

++++++++++


ล้อมกรอบ

“โรงเรียนคลองโต๊ะเหล็ม หรือมูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี” เป็นศูนย์รวมและเป็นแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนแกนนำที่อยู่ท่ามกลางผืนป่าชายเลน ที่เป็นบทพิสูจน์แรงขับเคลื่อนที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องของ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนหมู่ที่ 18 บ้านโคกพยอม ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามาจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้ใหญ่และอาสาสมัครชาวต่างชาติ บนแนวคิดมูลนิธิชุมชนเพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต