ธนภัทร ใจทัน
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมี  บ้านห้วยโป่งสามัคคี  หมู่ 11 ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน

ชื่อเรื่อง ลีโอ - ธนภัทร ใจทัน ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่


เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ในทุกๆ วัน

ทุกครั้งที่เอาอาหารเข้าปาก มีกี่ครั้งที่เรารู้ต้นทางอาหารเหล่านั้น

รู้ต้นทางอาหาร หมายความว่า รู้ว่าเนื้อสัตว์ที่ทาน ผักผลไม้ที่หั่นวางอยู่ตรงหน้า เลี้ยงหรือปลูกอยู่ที่ไหน ออร์แกนิกไม่มีสารเคมี หรืออยู่แค่ในระดับปลอดภัย ไร้สาร

หาก “ไม่รู้” ผลตรวจเลือดและตรวจสุขภาพอาจบอกอะไรบ้างอย่างได้

บ้านห้วยโป่งสามัคคี หมู่ 11 ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนหนึ่งที่พบผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สาเหตุหนึ่งมีที่มาจากอาหาร ข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ตืน เมื่อเดือนมกราคม 2560 จำนวน 150 ครัวเรือน จากทั้งหมด 401 ครัวเรือน พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 89 ราย โรคเบาหวาน 98 ราย โรคมะเร็ง 2 ราย กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคความดันและเบาหวาน 320 ราย และมีสารพิษหรือสารเคมีในเลือด 250 ราย และจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน โดยคณะกรรมการหมู่บ้านห้วยโป่งสามัคคี และกลุ่มอาสาสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) พบว่าทั้ง 150 ครัวเรือน ใช้สารเคมีกับพืชที่ปลูกทั้งไว้กินเองและไว้ขาย ไม่ว่าจะเป็นข้าว หอมแดง กระเทียม ข้าวโพด ลำไย และผักชนิดต่างๆ

สถิติที่ปรากฏทำให้กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยโป่งสามัคคี ที่เคยทำ “โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมืองบ้านห้วยโป่งสามัคคี” ร่วมกับผู้สูงอายุที่เป็นผู้รู้ด้านการเล่นดนตรีพื้นเมืองในชุมชน ลุกขึ้นมาทำ “โครงการปลูกผักปลอดภัย ไร้สารเคมี” ต่อในปีที่สอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการปลุกสานึก


สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน”

“โครงการนี้มีผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายเนื่องมาจากโครงการปีที่แล้ว ผู้รู้ที่เล่นดนตรีพื้นเมืองได้มีอยู่ไม่กี่คน พวกเราเล็งเห็นว่าร่างกายเขาไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร สาเหตุก็มาจากการกินผักที่มีสารเคมี พวกเราเห็นว่าในชุมชนมีคนที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายหลายคน เลยคิดทำโครงการนี้เผื่อว่าถ้าเราปลูกผักไร้สารเคมีให้คนในชุมชมได้บริโภค ผู้รู้ที่เล่นดนตรีพื้นเมืองจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นด้วย” ลีโอ - ธนภัทร ใจทัน รองประธานโครงการ กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการ


เพื่อนทำให้ออกมาจาก comfort zone

เป้าหมายของโครงการปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมี คือ การสร้างทางเลือกให้คนในชุมชนเข้าถึงพืชผักออร์แกนิกซึ่งส่งผลต่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว ช่วยสร้างการเรียนรู้ทักษะชีวิตให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้การปลูกผัก และกระตุ้นความสนใจให้คนในชุมชนหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น

ลีโอ กล่าวว่า เขาเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ชอบเข้าสังคม แต่ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมืองฯ ตั้งแต่ปีแรก เพราะถูกพ่อบังคับ ทำไปทำมารู้สึกสนุกเพราะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ดีกว่าอยู่บ้านเล่นเกมคนเดียว

“พ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมรู้จักคนในชุมชนพอสมควรแต่ก็เคยเข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมอะไรกับชุมชน ทีแรกพ่อบังคับให้มาร่วมโครงการ ไปเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่มีการเลือกสภาเยาวชนในหมู่บ้าน แล้วก็โดนเลือกเป็นรองประธาน หลังจากนั้นก็เลยได้มาเข้าร่วม”

“ช่วงแรก ๆ มีความรู้สึกว่าอยากทำโครงการให้จบๆ ไปแต่พอทำ ๆ ไปได้เกินครึ่งทาง รู้สึกว่ามันสนุกดีเพราะได้อยู่กับเพื่อน ปกติอยู่บ้าน ไม่ค่อยได้เจอเพื่อน ปีที่สองอยากทำต่อก็เพราะว่ามันยังสนุกอยู่ แล้วผมก็ย้ายโรงเรียน มาห่างไกลกับเพื่อน เวลาทำโครงการผมจะได้ไปหาเพื่อน ง่าย ๆ คือผมอยากเจอเพื่อน”

ลีโอ กล่าวว่า เขาเห็นตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ปีแรก พัฒนาตัวเองให้มีความคิดเชิงบวกและไม่มีอคติกับผู้อื่น

“รู้สึกว่าตัวเองแอคทีฟขึ้น ออกมาเข้าสังคมมากขึ้นจากที่ชอบอยู่แต่ในบ้าน เมื่อก่อนผมมีความคิดอคติกับหลาย ๆ อย่าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องนิสัยของคนหรือพฤติกรรมสักอย่างของเพื่อน หลังจากทำงานด้วยกันสักพัก ผมเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจว่าเขาก็ทำไปอย่างนั้น เขาไม่ได้คิด ผมก็เลยมองเขาในแง่บวกมากขึ้น”


เจอปัญหา หาทางออก หากไม่ยอมแพ้ก็มีวันเติบโต

โครงการปลูกผักฯ เดาได้ไม่ยากว่างานหลักของกลุ่มเยาวชน คือ การปลูกผักและการดูแลผัก จนได้ผลผลิต แล้วนำผลผลิตเหล่านั้นไปแจกจ่ายให้ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย และนำไปวางขายในตลาด ลีโอ บอกว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการปลูกและการดูแลผักไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อทำโครงการในหน้าแล้ง

“ก่อนหน้านี้บ้านห้วยโป่งมีกลุ่มผู้ใหญ่ทำโครงการปลูกผักปลอดภัยอยู่แล้ว มีพื้นที่ศูนย์เรียนรู้อยู่ หลังจบโครงการเขาก็ปล่อยร้าง พวกผมเลยมาทำต่อ”

จากการสำรวจพื้นที่ทำโครงการ ดูเหมือนศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีความพร้อมสำหรับการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำบาดาลที่มีอยู่แล้ว แท็งก์เก็บน้ำบนพื้นที่สูง และที่ดินซึ่งกว้างขวางพอสำหรับทำแปลงปลูกผักให้พอกินและพอวางจำหน่าย

“ปลูกผักเริ่มต้นขั้นตอนที่เหนื่อยที่สุด คือ ผมต้องมาทำแปลงผัก ต้องใช้แรงกาย ไปพรวนดิน แล้วเอาปุ๋ยหมักที่ชุมชนหมักไว้อยู่แล้วมาใส่ แล้วพรวนอีกรอบหนึ่ง รดน้ำเสร็จแล้วค่อยลงเมล็ดแล้ว ช่วงนั้นทำกันเป็นช่วงแล้ง น้ำน้อย มีแมลง ผมก็ต้องดูแลผักเป็นพิเศษ”

“พวกเราเลือกผักที่ออกง่าย ดูแลง่าย ส่วนใหญ่เป็นผักที่กินอยู่บ่อยและทำง่าย ๆ ในครัวเรือน เช่น กะเพรา ผักกาด ผักบุ้ง พริก ผักชี รวมถึงเพาะเห็ดเพราะมีโรงเพาะเห็ดเดิมอยู่แล้ว แบ่งเวรกันไปรดน้ำเช้าเย็น"

ดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหา แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

ยามหน้าแล้ง บ่อน้ำบาดาลไม่มีน้ำ แท็งก์น้ำแห้งใช้การไม่ได้เพราะถูกทิ้งตากแดดลมฝนมานานไม่ได้รับการซ่อมบำรุง ปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด

“ไปได้สักพักหนึ่ง ผักเริ่มเหี่ยวแล้วก็ตายไป พวกผมเลยไปขอให้พ่อแม่ของนัท (ณัฐพล ต่อกันประธานโครงการ) มาช่วย มารีโนเวตแปลง ขยายพื้นที่ออกไปอีกนิดหน่อย แม่นัทมาขุดบ่อปลาดุกแล้วก็เลี้ยงกบ พื้นที่โล่งอีกนิดหนึ่งก็เลี้ยงไก่ พวกเราเพาะเห็ดไว้ ผ่านไปได้สักพักมันก็ไม่เวิร์ก รื้อเห็ดออกไปเพาะใหม่ เปลี่ยนเป็นที่ปลูกบวบ ฟักทอง ไม้เลื้อย แล้วต่อวาล์วน้ำจากที่อื่นมารดผัก พอดีเข้าหน้าฝนก็กอบกู้สถานการณ์ขึ้นมาได้”

“ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าท้ออะไร เพราะผมก็ดูแลอยู่ ส่วนใหญ่อยู่แทบทั้งวันเลย มารดน้ำตอนเช้า แล้วก็ไปพักนิดหน่อย ตอนบ่าย ๆ ก็กลับมาอยู่เฝ้าที่นั่น โครงการปีนี้ต่างจากปีแรก คนละแบบเลย ปีแรกเรื่องดนตรี มันสนุกที่ผมได้เล่น ได้เล่นอยู่กับเพื่อน แล้วก็ได้หัด แต่ครั้งนี้ก็สนุกอีกแบบหนึ่ง ผมได้ลงมือทำแปลงผักของผมขึ้นมาเอง แล้วผมก็ได้ดูแลมันเอง” ลีโอ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ


เก็บเกี่ยวความสำเร็จเล็กๆ ระหว่างทาง (Small win)

จากพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองในปีแรก ลีโอได้นำทัศนคติเชิงบวกมาปรับใช้กับการทำโครงการปีที่สอง โดยเฉพาะช่วงที่สมาชิกในทีมห่างหายไม่เข้ามาช่วยทำโครงการ เหลือเพียงเขากับนัทและครอบครัวที่เข้ามาช่วยกันดูแลแปลงผัก

“มันเป็นช่วงที่เริ่มล็อกดาวน์จากโควิด -19 คนหนึ่งก็ไปอยู่ต่างจังหวัด กลับมาไม่ได้ อีกคนก็ไปอยู่ต่างจังหวัดเหมือนกันแต่ไปแค่เชียงใหม่ ส่วนอีกสองคนติดงานสวนที่บ้าน เขาก็เลยไม่ค่อยว่างมา ผมรู้สึกว่ามันหนักเกินไปที่เรา เพราะบางคนก็ไม่ค่อยได้ช่วยทำกันอยู่แค่ไม่กี่คน ผมบอกผ่านประธานโครงการ ให้ประธานพูดน่าจะดีที่สุด อธิบายให้เพื่อนเข้าใจว่ารายได้จากการขายผักเมื่อหารแบ่งกันพวกเขาจะได้น้อยกว่าเพราะไม่ได้เข้ามาช่วย ถ้าผมพูดเองก็กลัวว่ามันจะแรงเกินไป

“ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะโควิด-19 ด้วย อย่างเพื่อนที่ไปต่างจังหวัด ถ้าไม่มีโควิด-19 เขาก็กลับมาได้เร็ว มาช่วยงานได้ต่อ เขาต้องไปติดอยู่ตรงนั้นเป็นเดือน ๆ กว่าจะกลับมาก็ต้องมากักตัวอีก มันนาน แต่พอเขากลับมาก็ได้มาช่วยกันช่วงท้ายๆ”

ผักอินทรีย์โดยกลุ่มเยาวชนได้รับความสนใจจากคนในชุมชน ลีโอ เล่าว่า มีผู้ใหญ่ในชุมชนแวะเวียนเข้ามาถามไถ่และชื่นชม บ้างเข้ามาขอซื้อผักถึงในแปลง ส่วนผักที่เก็บไปขายก็ขายดีจนหมดทุกครั้ง

“เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เห็นว่าหารายได้ได้เยอะขึ้น ผมคิดว่าถ้าปลูกผักได้ที่บ้าน ก็นำไปขายที่ตลาดชุมชนได้ ตลาดในชุมชนก็จะมีผักเยอะขึ้น ผักบางอย่างไม่คิดว่าจะปลูกได้ที่บ้านเรา ก็ปลูกได้ เช่น กระเจี๊ยบเขียว ปกติที่ตลาดแถวบ้านไม่มีใครขายเลย ตลาดที่อื่นมีมาขาย อร่อยดี ผมชอบกินผักลวกกับน้ำพริก”

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากการทำโครงการในปีที่สอง นอกจากได้ลงมือปลูกผักด้วยน้ำพักน้ำแรงแล้ว ลีโอ บอกว่า เขามีความกล้าแสดงออกและมั่นใจ เห็นได้จากการที่สามารถควบคุมความตื่นเต้นของตัวเองได้เมื่อต้องออกไปยืนพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก

“การเพาะเห็ดยากกว่าการปลูกผักธรรมดาเยอะมาก ๆ ผมไม่เคยทำมาก่อนเลย เวลาเพาะเห็ดมันต้องดูแลเป็นพิเศษมากกว่าผัก ความชื้นมากเกินไปก็ไม่ได้ อบอ้าวเกินไปก็ไม่ได้ เห็ดจะขึ้นเป็นราดำ แล้วขายไม่ได้”

“ตอนนำเสนอปิดโครงการปีแรก ผมตื่นเต้นมาก ตื่นเต้นจนขาสั่น แต่ในปีนี้หลาย ๆ เวที ผมไม่ได้ตื่นเต้นขนาดนั้นแล้ว ผมรู้สึกว่าผมพูดได้ ตื่นเต้นก็ทำใจให้สงบ ผมพยายามเรียบเรียงสิ่งที่จะพูดออกมา แล้วพูดออกไปช้า ๆ เนิบ ๆ มันช่วยให้หายตื่นเต้นได้นิดหน่อย มองคนที่ผมจะนำเสนอหรือคนที่เขาจะถามเรา ไม่ได้มองในมุมที่เขามากดดันเรา มองว่าเขามาให้กำลังใจเราดีกว่า ทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น” ลีโอ กล่าวถึงเรื่องราวที่ได้เรียนรู้

ลีโอ บอกว่า หากเป็นไปได้เขาอยากพัฒนาตัวเองไปจนถึงขั้นเป็นพิธีกรที่มีความกล้าและมีความเชี่ยวชาญการพูดบนเวทีใหญ่ๆ

“ก่อนทำโครงการผมก็กล้าแสดงออก แต่ไม่ได้มากเหมือนหลังจากผมเริ่มทำโครงการ ตอนนี้ ผมสามารถไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มันต้องใช้ความกล้าได้มากขึ้น”

จากเด็กหนุ่มที่ชอบเก็บตัวอยู่บ้าน ปัจจุบันพื้นที่ปลอดภัยของลีโอขยับขยายกว้างขึ้น เขาสนุกกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความสุขที่ได้พบปะและพูดคุยกับผู้คน

“ผมอยากพัฒนาตัวเองเรื่องการเข้าสังคมมากกว่านี้อีกนิดหนึ่ง มันติดตรงที่ผมไม่รู้จะเริ่มบทสททนากับคนอื่นอย่างไรดี เลยอยากพัฒนาตรงนี้ให้ดียิ่งขึ้น” ลีโอ กล่าวทิ้งท้าย

//////////////////////