ประวัติและผลงาน

นางสาวสุวรรณยา ยาหยาหมัน (ก๊ะ)

ปัจจุบัน : เจ้าหน้าที่การเงิน บริษัทเดอะเกอร์ริลล่า จำกัด

ความโดดเด่น/ความสามารถพิเศษ : 

1. การบริหารจัดการโครงการ

2. การทำบัญชีและการเงิน

3. การจับประเด็นขึ้นกระดาน

4. การลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน

5. การรวบรวมข้อมูลและสรุปข้อมูล

6. การถอดบทเรียนการเรียนรู้


เรื่อง : “ความกลัว” ที่ยอมจำนนต่อ “ความกล้า” โดยไม่ต้องใช้คาถมวิเศษของ ก๊ะ - สุวรรณยา ยาหยาหมัน


บ้านนาพญา หมู่ที่ 8 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มติดชายฝั่ง มีลำคลองน้ำเค็มและป่าชายเลนทอดตัวยาวออกไปสู่ทะเลอันดามัน และมีเนินสูง (โคก) ทอดตัวในทิศเหนือและทิศใต้ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร โครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมตันหยงกุโบว์ให้กับเยาวชน โดยกลุ่มเยาวชนบ้านนาพญา เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนช่วงปี 2560

ก๊ะ - สุวัลยา ยาหยาหมัน หญิงสาวขี้อายเป็นหนึ่งในแกนนำเยาวชนตอนนั้น แต่ในปีที่สองสถานการณ์พลิกผันทำให้เธอต้องก้าวมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการแบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยวัยเพียง 21 ปี ความยากของการเป็นพี่เลี้ยงสำหรับก๊ะคือ “ความกลัว” กลัวทำไม่ได้ กลัวว่าจะเป็นพี่เลี้ยงได้ไม่ดีพอ แต่เพราะความไว้ใจของน้องๆ ในทีม ทำให้เธอก้าวข้ามความกลัวและพัฒนาตัวเองสู่การเป็นพี่เลี้ยงที่มีความมั่นใจและภูมิใจในตัวเองได้ในที่สุด

การทำโครงการในปีแรก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เยาวชนและคนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ก๊ะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เพราะอยากหาประสบการณ์ให้กับตัวเองหลังเรียนจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอตอบตกลงเข้าร่วมโครงการจากคำชักชวนของญาติ เพราะชื่นชอบแนวคิดที่โครงการเข้ามาสนับสนุนให้เยาวชนในชุมชนได้ทำกิจกรรมในหมู่บ้านตัวเอง

ก๊ะ เล่าว่า แต่เดิมใช้ชีวิตกับการเรียนเป็นหลัก เช้าไปเรียน เย็นทำการบ้าน อ่านหนังสือ มีเวลาว่างให้กับตัวเองหนึ่งชั่วโมงเพื่ออ่านนิยายที่ตัวเองชอบ ก่อนจะนอนและตื่นเช้าไปโรงเรียน ประสบการณ์จากการทำโครงการในครั้งนั้นทำให้ก๊ะพบกับการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ทั้งที่ความตั้งใจของเธอต้องการเพียงแค่ลองเข้ามาทำดู ลองดูแว่าจะเป็นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง

“ปกติไม่ชอบพูดกับผู้ใหญ่เพราะไม่รู้จะชวนคุยแบบไหน กับเพื่อนรุ่นเดียวกันในชุมชนก็แทบไม่สนิท แต่ชอบพูดกับเด็ก ๆ รุ่นน้องมากกว่า เรารู้สึกว่าคุยแล้วไม่ต้องมานั่งเครียด ถ้าคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน เขาชอบถามว่าวันนี้มีการบ้านอะไรบ้าง คุยแล้วเครียดเลยชอบคุยกับรุ่นน้องมากกว่า ถ้าถามถึงคนในชุมชนว่ารู้จักใครบ้างก๊ะแทบไม่รู้จักใครเลย” ก๊ะเล่าย้อน ช่วงที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการในตอนนั้น เธอบอกว่าไม่คาดหวังอะไร

ครั้งแรกของก๊ะกับการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เมื่อถึงเวลาต้องเสนอความคิดเธอเลือกที่จะเงียบ เลือกที่จะรอฟังความคิดเห็นจากเพื่อนมากกว่า

แต่การทำงานในโครงการได้ปลดล็อคความกลัวของตัวเองออกไป

“ตอนนั้นเป็นกิจกรรมลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านนาพญา เพื่อน ๆ แบ่งทีมกัน 3 กลุ่มเพื่อลงพื้นที่ ทีมก๊ะมีก๊ะและเพื่อนอีก 2 คนแต่ละคนไม่มีใครกล้าพูดเลย นาทีนั้นก๊ะคิดแค่ว่าถ้าเราไม่พูดและไม่ถาม เราจะไม่ได้ข้อมูลกลับไปให้เพื่อน ก๊ะเลยตัดสินใจถามผู้รู้ในสิ่งที่เราอยากรู้ พอเรายิ่งถามในสิ่งที่อยากรู้ เหมือนเราได้ปลดล็อคตัวเอง ถ้าไม่มีกิจกรรมนี้ก๊ะคงไม่มีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่แบบนั้นแน่นอน” ก๊ะเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภูมิใจในตัวเอง หลังจากนั้นจึงมีความกล้า ที่จะถามในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ และแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตัวเองมากขึ้น

ก๊ะค้นพบว่าการทำงานเป็นทีมที่ดี แต่ละคนควรช่วยกันเสนอความคิดของตัวเองออกมา ไม่ใช่แค่คนหนึ่งแสดงความคิดเห็นแล้วคนอื่นทำตาม เพราะทุกคนต้องลงมือทำด้วยกัน แบ่งหน้าที่กันทำ งานจึงจะสำเร็จได้


พี่เลี้ยงจำเป็น…

“ทำหรือไม่ทำโครงการต่อในปีที่สอง?” เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวของก๊ะในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

แต่เธอเลือกไปต่อ แม้มีเขวไปด้วยเหตุผลเรื่องการเรียน ก๊ะ เล่าว่า ช่วงเริ่มโครงการในปีที่สอง เป็นช่วงที่ก๊ะตัดสินใจสอบชิงทุนการศึกษาสามจังหวัดภาคใต้หลังจากพักการเรียนมาหนึ่งปีเต็ม หากต้องทำโครงการไปด้วยเรียนไปด้วยคงมีเวลาว่างไม่มากพอ แต่ก๊ะตัดสินใจทำต่อเพราะมองเห็นสิ่งที่ได้จากการทำโครงการที่คุ้มค่าสำหรับตัวเธอ

“เพราะอยากหาประสบการณ์ตรงนี้มากกว่า ส่วนทุนได้ไม่ได้เอาไว้ก่อน แต่ตอนนั้นเราอยากเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเองก่อนเลยตัดสินใจทำโครงการต่อในปีที่สอง ส่วนเรื่องการเรียนเราค่อยมาแบ่งเวลาอีกที” ก๊ะบอกเหตุผลที่เธอตัดสินใจทำโครงการต่อในปีที่สอง

เพราะสมาชิกในทีมจากปีที่หนึ่งเหลือเพียงสองคน คือ ก๊ะและไหม พวกเขาจึงต้องหาสมาชิกเพิ่ม

“เห็นน้องผู้ชายกลุ่มหนึ่งนั่งเล่นกันที่ศาลาในหมู่บ้านเป็นประจำ กว่าจะกลับบ้านประมาณสองสามทุ่ม เลยอยากชวนกลุ่มนี้ให้มาทำกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการเล่นเกม”

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน ในช่วงต้นโครงการก๊ะยังรับหน้าที่เป็นเลขา ทำหน้าที่จดบันทึกการประชุมเหมือนที่เคยทำในโครงการปีที่หนึ่ง ที่ประชุมตกลงสานต่อโครงการจากปีแรก แต่หลังรวมกลุ่มกันได้ประมาณสองเดือน สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น

พี่เลี้ยงโครงการของพวกเขาหยุดทำหน้าที่!!

เมื่อทีมถูกลอยเคว้งอยู่กลางทาง ช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นก๊ะเกือบเลือกยุติการทำโครงการเช่นกัน แต่ความตั้งใจของน้องๆ เด็กผู้ชายในทีมทำให้ก๊ะเปลี่ยนใจ

“เราถามน้องๆ ว่าไม่ทำได้ไหม เพราะไม่มีพี่เลี้ยงแล้ว คืนเงินให้โครงการไปเลย แต่น้อง ๆ บอกว่าแล้วทำไมก๊ะไม่เป็นพี่เลี้ยงเองเลยละ”

ก๊ะ ยอมรับว่าหนักใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้นพอสมควร

“เด็กจะนับถือหรือเปล่า?”

“จะทำให้น้องในทีมยอมรับเราได้จริงหรือ?”

“จะให้คำปรึกษาได้ไหม?”

“อายุแค่ 21 จะเป็นพี่เลี้ยงจริง ๆ หรือเปล่า?”

เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนทำให้เธอยังไม่กล้าให้คำตอบในทันที

“รู้จักกันมาตั้งนานแล้วไม่ไว้ใจได้อย่างไร”

ก๊ะใช้เวลาในการตัดสินใจอยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ถึงยอมตกลงเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องในทีม คำพูดที่ได้ยินจากน้องในทีมคือกำลังใจให้ก๊ะตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากแกนนำเยาวชนขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการในที่สุด โดยสร้างเงื่อนไขในการทำงานครั้งนี้ว่า หลังจากนี้น้องๆ จะทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการด้วยตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ เลือกประธานโครงการใหม่ คิดโครงการใหม่ และแบ่งหน้าการทำงานใหม่ทั้งหมด

“ตอนนั้นน้องๆ ตามง้อเราอยู่พอสมควรพูดใส่หูทุกวันว่าเป็นให้หน่อย น้องอยากทำ น้องเขามีความหวังว่าเขาจะทำ เราเลยคิดว่าเราเป็นพี่เลี้ยงให้ก็ได้ เพราะเห็นความตั้งใจของเขาจริง ๆ เลยตัดสินใจตอบตกลง”


จากประวัติศาสตร์ชุมชนสู่การสืบสานภูมิปัญญาชุมชน

จากเดิมที่คิดสานต่อโครงการในปีที่หนึ่งเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านนาพญา สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้ก๊ะเปิดโอกาสให้น้องในทีมเป็นคนตัดสินใจและคิดวางแผนโครงการใหม่ ก๊ะพาน้องๆ เด็กผู้ชายในทีม 9 คนล้อมวงช่วยกันระดมความคิด ภายใต้หัวข้อสิ่งที่อยากทำผ่านการมองหาทุนที่มีในชุมชนบ้านนาพญา จนได้ข้อสรุป โครงการสืบสานภูมิปัญญาจักสานเตยหนามสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ของกลุ่มเยาวชน บ้านนาพญา ม.8 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล

“หลังจากนี้คือโครงการของน้องๆ ที่เขาต้องเป็นคนลงมือทำเอง ก๊ะเลยให้เขาเป็นคนตัดสินใจว่าอยากทำเกี่ยวกับเรื่องอะไรในชุมชนของตัวเอง ตอนแรกที่เขาเลือกการจักสานจากหนามเตย ยอมรับว่าตัวก๊ะเองไม่ได้สนใจเรื่องเตยหนามมาก่อน ทั้ง ๆ ที่แม่เราเองก็เคยทำ น้องบอกว่าชุมชนของเรามีเตยหนามเยอะ ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าก็เยอะของมันอยู่แล้วก็ให้มันอยู่แบบนั้นไป แต่พอได้ฟังเหตุผลของเขาว่าที่อยากทำเพราะจะได้ช่วยคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนให้เขามีรายได้จากการทำจักสาน ทำให้ฉุกคิดได้ว่าเรามองข้ามเรื่องนี้ไป”

เมื่อเปลี่ยนบทบาทก๊ะเริ่มจัดสรรเวลาของตัวเองเป็นลำดับแรก ทุกเย็นหลังเลิกเรียนเธอจัดการทำธุระของตัวเองให้เสร็จก่อนเวลานัดประชุมร่วมกับน้องๆ ในขณะเดียวกันเธอก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของน้องสมาชิกในทีมด้วยเพราะเป็นเด็กผู้ชาย ที่ชอบเล่นเกม และเล่นกีฬา ก๊ะจึงให้น้อง ๆ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างเต็มที่

“ช่วงแรกที่นัดน้องมาประชุมเขาติดเล่นเกมกัน แต่ได้รับคำแนะนำจากบังเชษฐ์ว่าเราต้องลองให้เวลากับเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบก่อน ส่วนตัวเราเองก็ต้องทำความรู้จักนิสัยของเด็กในทีมให้มากขึ้นด้วย หากนัดประชุมหนึ่งทุ่ม เรารู้แล้วว่าน้องจะมาประมาณสองทุ่ม ประมาณทุ่มครึ่งเราเตรียมขนม เตรียมน้ำให้เขาก่อน ให้เวลาเขาเล่นเกมถึงสองทุ่มครึ่งประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วเก็บโทรศัพท์ จึงเริ่มประชุม น้องเขายอมรับในเงื่อนไขของเรา เพราะเราให้เวลาให้เขาได้สนุกก่อน ก่อนที่จะให้เขามาใช้ความคิด” ก๊ะเล่าเทคนิคการเป็นพี่เลี้ยงมือใหม่ของเธอให้ฟัง

เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรสำหรับการเป็นพี่เลี้ยงมือใหม่ของก๊ะ ในการผันตัวจากเยาวชนในโครงการมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ แต่ความจริงแล้วเธอบอกว่าในช่วงแรกค่อนข้างยากสำหรับเธอพอสมควร ที่ต้องฝืนตัวเองให้นั่งเงียบ ห้ามตัวเองไม่ให้แสดงความคิดเห็นก่อนน้องในทีม ช่วงแรกที่ประชุมเธอมักเป็นคนพูดนำน้องก่อนเสมอ เธอยอมรับว่าค่อนข้างใช้ความพยายามอย่างมากที่ต้องเป็นคนดูอยู่ห่าง ๆ ต้องฝึกให้เป็นคนใจเย็น อดทนรอ จากเดิมที่เคยเป็นคนทนดูอะไรช้า ๆ ไม่ได้ ก็ต้องฝึกฝืนตัวเองเพื่อให้น้องในทีมได้ทำอย่างอิสระ

“ตอนแรกที่ก้าวมาเป็นพี่เลี้ยงใหม่ ๆ แอบคิดในใจว่าเราทำไม่ได้แน่ ๆ เพราะว่าเราเป็นคนที่ลงมือทำมาโดยตลอด มาให้นั่งดูเฉยๆ ทำหน้าที่แค่นั่งถามน้องอย่างเดียวแค่นึกเราก็ทำไม่ได้แล้ว แต่ไหมคอยให้กำลังใจและเตือน บอกว่าเราทำได้ จนตอนนี้เรานิ่งขึ้นเยอะ เปิดพื้นที่ให้น้องได้แสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ เรามีหน้าที่รับฟัง และคอยเสริมในส่วนที่ยังขาดเท่านั้น”


เปลี่ยนจากลอง...มาเป็นรัก

อีกหนึ่งบทบาทที่ยากพอ ๆ กับการเป็นพี่เลี้ยงของก๊ะ คือการได้รับความไว้วางใจจากพี่ ๆ ในเครือข่ายจังหวัดสตูลให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการแกนนำเยาวชนจังหวัดสตูล ฝ่ายบัญชี

“บัญชีที่แปลว่าทำได้ทุกอย่าง” ก๊ะพูดติดตลก

เธอบอกว่าในเมื่อพี่ ๆ ในโครงการเชื่อมั่นในตัวเธอและมอบหน้าที่นี้ให้รับผิดชอบ เธอเองก็ต้องเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้

“ สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเลยคือการเป็นโน๊ตเทคเกอร์หรือคนจดบันทึก ตอนนั้นก๊ะกลัวว่าจะทำไม่ได้ เพราะเราต้องอยู่กับตัวเองให้มากเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องที่คนอื่นพูด แล้วเขียนออกมา ต้องตั้งใจฟังให้เยอะ แล้วจับประเด็นใจความสำคัญ เราเข้าใจแล้วคนอ่านก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่เราเขียนสรุปด้วย พอได้ทำบ่อยๆ ค้นพบว่าตัวเองทำได้ ทำให้ก๊ะชอบเขียนมากขึ้น อยากยืนอยู่ตรงนั้น เรารักงานการเป็นโน๊ตเทคเกอร์ไปแล้ว จากที่เคยคิดแค่อยากลองทำดูแต่ตอนนี้กลายเป็นหลงรักชอบ ทุกวันนี้เวลามีกิจกรรมจะยืนเฝ้าบอร์ดตลอด”

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวก๊ะแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือความคิด ก่อนเข้าร่วมโครงการคิดแค่ว่ามีหน้าที่เรียนหนังสือ และต้องเรียนหนังสือให้เก่งเพื่อให้แม่ภูมิใจ แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการความคิดของเธอเปลี่ยนไป ก๊ะ สรุปว้า่า การเรียนหนังสือในห้องเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตจริง มนุษย์ทุกคนต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ดังนั้นการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานสำเร็จ

“ก๊ะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากโครงการนี้ แต่ก็ไม่ทิ้งการเรียนเพราะว่าแม่อยากให้เราเรียน สิ่งหนึ่งที่รักในการโครงการนี้คือทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น สิ่งที่ก๊ะทำคือการเรียนรู้ทั้งหมด โครงการนี้ทำให้คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเรียนแค่ในห้องเรียนก็ได้ เลยไม่รู้สึกเสียดายช่วงเวลาที่พักการเรียนไป เพราะสิ่งที่ได้คือประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน”

นอกจากนี้ก๊ะนำสิ่งที่ตัวเองได้จากโครงการนี้ไปปรับใช้กับการเรียนในห้องเรียนด้วย

“จากเดิมที่ไม่กล้าถามครูในห้องเรียน เพราะเป็นคนขี้อาย ปัจจุบันเรากล้าถามในสิ่งที่ไม่รู้ กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ไม่ว่าถูกผิดเราเข้าใจอย่างไรก็ตอบไปก่อน อันไหนผิดครูจะอธิบายให้เราเข้าใจถูก ช่วงที่เข้าไปเรียนใหม่ ๆ ไม่กล้าพูดกับเพื่อน อยู่คนเดียว แต่พอทำโครงการนี้สอนให้เรารู้ว่าเราอยู่คนเดียวไม่ได้เราต้องคุยกับเพื่อน เลยช่วยให้เรามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมากขึ้น”

สำหรับก๊ะการเรียนรู้ไม่มีวันหมดอายุ ก๊ะอยากพัฒนาทักษะการเป็นพี่เลี้ยง อยากเป็นที่ปรึกษาที่ดีกว่านี้ เธอบอกว่าบางครั้งเธอยังให้คำปรึกษากับน้องในทีมได้ไม่เต็มที่ และมีอีกหลายเรื่องที่เธอต้องเรียนรู้ เธอบอกว่าพี่เลี้ยงในฝันที่อยากเป็น คือ ต้องมีความรอบรู้ เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องได้ และต้องหมั่นคอยตั้งคำถามที่ลึก ตรงประเด็นเพื่อดึงความคิดของน้อง ๆ ออกมา

ปัจจุบันเด็กหญิงขี้อายกลายมาเป็นพี่เลี้ยงมือใหม่ที่พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง เธอเลือกเปิดใจและลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาตลอด ทุกอย่างล้วนสร้างประสบการณ์ให้กับเธอ ก๊ะบอกว่าผลของการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการสร้างความกล้าที่ช่วยทะลายความกลัว ทำให้เธอกลายเป็นคนกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นพี่เลี้ยงที่ได้รับความไว้ใจจากน้องในทีม ที่จัดว่าอายุน้อยที่สุดในโครงการ แต่ถ้าถามเรื่องของหัวใจที่มีต่อการเป็นพี่เลี้ยง สิ่งที่ก๊ะสะท้อนในวันนี้คือเครื่องการันตีว่าเธอมีสัญชาตญาณความเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม.