จักรกริช วัจนพันธ์
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สุราษฎร์ธานี
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

“หอยขาวน้อยลงและบางหาดไม่มีหอยขาวเลย”

“การที่ไม่มีหอยขาวส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวบ้านทั้งสี่หาด ทำให้เขาไม่มีรายได้...เมื่อก่อนบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มาก ตอนนี้มีผู้คนในชุมชนมาคราดหอยขาวกันเยอะ พวกเขาเก็บไปทั้งหอยตัวเล็กและตัวใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหอยขาวลดลง”


           นี่เป็นที่มาที่ทำให้นักเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำโครงการการศึกษาเบื้องต้นการจัดการหอยขาวอย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวท่าชนะ เพื่อต้องการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับหอยขาว เพื่อสื่อสาร หาแนวทางในการอนุรักษ์หอยขาว หอยเศรษฐกิจที่เคยสร้างรายได้หลักให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การบูรณาการวิชาชีววิทยาในห้องเรียน ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน ทั้งมุมมองทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สื่อสารสนเทศ ระบบเศรษฐกิจชุมชน ผ่าน "หอยขาว" หอยเศรษฐกิจที่เคยสร้างรายได้หลักให้กับคนในชุมชน โดยมี ครูนุ้ย (นางปรียา วิบูลย์พันธ์) ครูสอนวิชาชีววิทยา (พี่เลี้ยงโครงการ) เริ่มต้นชักชวนโดยตั้งคำถามว่า "อยากทำโครงการอะไรในอำเภอของเราที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน"

           เพื่อให้เกิดแนวทางอนุรักษ์หอยขาว เยาวชนเริ่มจากการประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านว่ามีการทำโครงการนี้ ศึกษาข้อมูลพฤติกรรมการเก็บหอย และเครื่องมือที่ใช้ในการคราดหอยของชาวประมงว่ามีผลต่อการลดลงของหอยขาวหรือไม่ เก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ เพราะคุณภาพน้ำเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหอยขาว ซึ่งศึกษาในบริเวณ 4 หาดของอ่าวท่าชนะ คือ หาดคันธุลี หาดดอนทะเล หาดนางลอย และหาดปลากิว รวมถึงศึกษากายวิภาคของหอยขาว เปรียบเทียบขนาดของหอยขาวตามช่วงฤดู ทำปฏิทินฤดูกาล ศึกษาเรื่องน้ำขึ้น น้ำลง น้ำตาย เมื่อเยาวชนศึกษาพบว่า หอยขาวมีเพศ แต่ไม่สามารถจำแนกเพศผู้เพศเมียจากลักษณะภายนอกได้ ต้องใช้การศึกษาเชิงกายวิภาคในการส่องกล้องจุลทรรศ์จึงจะจำแนกเพศได้ ทำให้ชาวประมงไม่สามารถแยกเพศหอยขาว หากจะรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ให้หอยขาวไม่สูญพันธุ์ ต้องสื่อสารให้ชาวประมงและคนเก็บหอยขาวเก็บหอยที่มีขนาดใหญ่และคืนหอยขนาดเล็กเพื่อให้หอยได้มีเวลาผสมพันธุ์และเติบโตในธรรมชาติ

           เมื่อศึกษาจนได้ข้อมูลแล้ว เยาวชนได้ทำสื่อเป็นสมุดเล่มเล็ก เพื่อการสื่อสารและคืนข้อมูลให้กับชุมชน สร้างการตระหนักรู้และร่วมอนุรักษ์ เยาวชนนำหอยขาวมาเทียบขนาดกันทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ เปรียบเทียบเพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชน ให้เห็นว่าหอยขาวต้องมีขนาดเท่าไรถึงจะเก็บได้ ให้ข้อมูลว่าแบบไหนควรเก็บและไม่ควรเก็บ การคืนข้อมูลบนพื้นฐานการศึกษาโดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ทำให้คนในชุมชนตื่นตัว สนับสนุนการอนุรักษ์หอยขาว โดยการปิดหาดชั่วคราวและเปิดหาดให้คราดหอยเป็นช่วง ๆ ไป และในช่วงเวลาปิดหาดหากมีคนมาลักลอบคราดหอยขาวจะถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย ซึ่งเดิมทีมีกฏนี้อยู่แล้ว แต่ไม่เคร่งครัด กฏกติกานี้กลับมาเข้มข้นและชัดเจนอีกครั้งหลังจากที่เยาวชนได้ศึกษาและสื่อสารกับคนในชุมชน

           การทำโครงการฯ ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ การทำงานร่วมกัน โดยแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างเหมาะสม การวางแผนอย่างมีลำดับขั้นตอน มีโอกาสลงชุมชน ได้พูดคุยและทำความเข้าใจ พัฒนาทักษะการเข้าสังคม กล้าพูด กล้าคุย กล้าตั้งคำถาม เยาวชนที่มีบ้านในโซนภูเขาได้มีโอกาสเห็น เข้าใจ บริบทชุมชนชายทะเล เยาวชนในโซนทะเลได้เข้าใจภาพรวมและตระหนักถึงการอนุรักษ์หอยขาว ซึ่งหอยขาวเป็นตัวบ่งชี้ระบบนิเวศชุมชน การเรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้เยาวชนสนุกกับการเรียนมาก ไม่เครียด เป็นห้องเรียนกว้างที่ทำให้เยาวชนได้ความรู้ พัฒนาทั้งอารมณ์ สังคม และสติปัญญา และสร้างการตระหนักรู้ในการเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน ปูรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อเยาวชนเติบโตขึ้น เขาจะมีต้นแบบในการนำความรู้มาคืนข้อมูลและสร้างชุมชนด้วยความเข้าใจผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม สื่อสารให้เกิดความเข้าใจ ตระหนัก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม

           วันนี้ผู้ใหญ่ในพื้นที่เห็นความสำคัญและหยิบโครงการฯ มาพูดในที่ประชุม ทำให้คนในชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มองเห็นและร่วมกันอนุรักษ์หอยขาว ทำให้หอยขาวกลับคืนสู่สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ระบบนิเวศชายทะเลในหมู่บ้านดีขึ้นด้วย ตอนนี้หนึ่งในชายหาดที่เยาวชนทำโครงการฯ มีแหล่งเรียนรู้ปูม้า ซึ่ง อบต. กำลังศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้เรื่องหอยขาวเพิ่ม พวกเขาภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และบริหารการจัดการหอยขาวอย่างยั่งยืน อยากเห็นพื้นที่อำเภอท่าชนะมีระบบนิเวศสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่ดี มีนักท่องเที่ยว มีการพัฒนาบนฐานเรื่องการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม ทุกคนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ



ความโดดเด่น

  • กระบวนการทำโครงการที่มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหอยขาวอย่างรอบด้าน และนำข้อมูลที่ศึกษานั้นมาสื่อสารสร้างความเข้าใจทั้งกับผู้นำชุมชนและชาวประมงผู้เก็บหอย ทำให้เกิดการจัดการของชุมชนที่ร่วมกันหาแนวทางการอนุรักษ์หอยขาวได้โดยมีเยาวชนเป็นหนึ่งในผู้ผลักดัน
  • โครงการฯ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ โดยบูรณาการการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เกิดมิติของความรู้ที่รอบด้าน ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ อาชีพ ฯลฯ
  • โครงการฯ ทำงานโดยการสร้างความร่วมมือ ที่มีเยาวชนเป็นผู้ปฏิบัติการ ครูที่ปรึกษา (พี่เลี้ยงโครงการ) สนับสนุนต่อยอดความรู้ โรงเรียนเปิดพื้นที่ให้บูรณาการและศึกษานอกห้องเรียน ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นตอบรับและร่วมสร้างแนวทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
  • โครงการฯ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมต่อคนในชุมชน