ภารดร พงค์สวัสดิ์
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน  ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

ชื่อเรื่อง ภารกิจที่ไม่ใช่ภาระ ของ ‘ภารดร พงค์สวัสดิ์’ Introvert ที่ต้องทะลายโลกส่วนตัวมารับบทเป็นผู้นำทำงานชุมชน


โลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่คนเดียว ขี้รำคาญ เป็น 3 คำที่ ซี - ภารดร พงค์สวัสดิ์ สะท้อนถึงตัวตนของเขา

ขณะที่พูดคุยกับเด็กหนุ่มคนนี้ หลายจังหวะทำให้ได้สะท้อนมองตัวเอง ถึงความรู้สึกนึกคิดที่เรามักมีต่อผู้อื่น

อินโทรเวิร์ต (Introvert) เชื่อว่าหลายคนคงพอคุ้นกับคำนี้อยู่บ้าง มนุษย์อินโทรเวิร์ตเป็นคนที่มีความสุขกับการอยู่คนเดียว ชอบทำอะไรคนเดียว ดูเป็นคนขี้อาย เงียบๆ เพื่อนสนิทมีไม่เยอะ จนหลายคนหรือแม้แต่เจ้าตัวเองอาจเข้าใจผิดว่า เป็นคนต่อต้านสังคม บางคนอาจให้นิยามอินโทรเวิร์ตว่าเป็น “คนมีโลกส่วนตัวสูง” เข้ากับคนอื่นได้ยาก ด้านงานวิจัยบอกว่า มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่รักการเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร เป็นคนที่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ดี เพียงแค่คนกลุ่มนี้สามารถรับสิ่งเร้ารอบข้างได้ดีถึงดีเกินไป จนทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย อ่อนล้าหรือต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ เมื่อต้องเจอผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วย แสง สี เสียงและความวุ่นวาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาขี้อายหรือเกลียดสังคม

ความเป็นอินโทรเวิร์ต ตรงข้ามกับเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) หรือกลุ่มคนที่ชอบเจอผู้คนและชอบสังสรรค์ ซึ่งในงานวิจัยบอกว่าคนกลุ่มนี้ที่ไม่ได้รับสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อมรอบข้างได้รวดเร็วเท่ากลุ่มแรก

ซีเป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำเยาวชนตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล วัย 18 ปี ที่รับหน้าที่เป็นประธาน โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน บทสนทนาของเขาขยายภาพความเป็นอินโทรเวิร์ตที่ตัดสินใจลงมือทำงานเพื่อชุมชนอย่างจริงจัง เขาเข้าใจความต้องการของตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง ช่างวางแผน พูดน้อยฟังเยอะ และเป็นคนละเอียดรอบคอบ ทั้งหมดที่ว่ามาถือเป็นคุณสมบัติด้านบวกของมนุษย์อินโทรเวิร์ตที่หลายคนอาจมองข้ามไป


เปิดประตูจากโลกที่อยู่คนเดียว เพื่อลองทำในสิ่งที่ชอบ

“เมื่อก่อนเป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ทำงานคนเดียว อยู่คนเดียว มีเพื่อนนะครับ แต่ก็ไม่ได้ไปไหนกับเพื่อน รู้สึกว่าทำไมสิ่งที่คนอื่นทำมันขัดใจเราเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้ไปพูดขัดขวางอะไรใคร รู้แค่ว่าขัดใจตัวเองก็เก็บไว้ดีกว่า ไปอยู่คนเดียวดีกว่า ทำงานคนเดียวรวดเร็วสบายดี ไม่ได้ติดขัดอะไร เพื่อนที่โรงเรียนจะมองว่าผมไม่เข้ากับใคร ไม่เอาใคร ในห้องเรียนมี 28 คน ผมมีเพื่อนแค่ 4 คน ในนี้เป็นเพื่อนสนิทจริงๆ แค่ 3 คน” ซี ขยายความ

ซี เล่าต่อว่าได้เข้าร่วมโครงการ Active Citizen กลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล จากคำชักชวนของพี่ชายแท้ๆ อัพดอล พงค์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเยาวชนตำบลเกตรี และเป็นหนึ่งในเยาวชนแกนนำโครงการศึกษาและรวบรวมตำนานและประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรีในปีแรก ครั้งนั้นอัพดอลชวนซีเข้าร่วมอบรมการผลิตสื่อ เขาจึงตบปากรับคำทันทีเพราะเป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจ

“เมื่อสองปีที่แล้ว ผมดูยูทูป เห็นว่าการเป็นยูทูปเบอร์น่าจะรุ่ง ผมสนใจเกี่ยวกับสื่อและอยากถ่ายภาพ อยากสื่อสารผ่านวิดีโอและภาพถ่าย ผมไม่ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรก ช่วงนั้นในโครงการมีจัดอบรม พี่ชายชวนผมเลยมาเข้าร่วม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำคลิปวีดิโออย่างไรให้น่าสนใจ เรื่องมุมภาพมุมกล้อง มีเรื่องการตัดต่อวีดิโอเข้ามาด้วย เลยได้เรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งหมด”

ซีเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนตัวเองอยู่บ้าง แต่เฉพาะในบ้านหมู่ 3 ของตนเอง แต่หลังได้เข้ามาคลุกคลีกับทีมแกนนำเยาวชน จนได้รับรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตำบลเกตรีทั้งตำบล ทำให้เขาเกิดความรู้สึกรัก หวงแหน และเห็นความพิเศษในบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่เขารับรู้ได้มาจากการสืบเสาะและเก็บรวบรวมของรุ่นพี่แกนนำโครงการรุ่นแรก หนึ่งในนั้นก็คือพี่ชายของเขา

ประวัติศาสตร์ชุมชนเกตรีฉบับสภาเยาวชน บันทึกไว้ว่า “บูเกตตรี” หรือ “บูเก็ตบุตรี” เป็นภาษามลายู “บูเกต” แปลว่า “ภูเขา” ส่วน “ตรี” หรือ “ตารี” แปลว่า “ผู้หญิง” รวมแล้วจึงแปลว่า ภูเขาผู้หญิง หรือ เขาพระนาง อธิบายรูปร่างของภูเขาที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิงนอนตะแคงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก นานวันเข้าคำเรียก บูเกตตรี เพี้ยนสั้นลงเหลือแค่ “เกตรี”

“อบรมสื่อวิดีโอเสร็จ พี่ๆ ทีมงานให้การบ้านพวกผมกลับไปทำสื่อในชุมชนที่เกี่ยวกับโครงการ พวกผมก็กลับบ้านไป แล้วประชุมกันก่อน ตอนประชุมกัน ผมเป็นเด็กใหม่ได้เข้าไปด้วย ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโครงการเลย แล้วก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยที่จะนำไปทำสื่อ ก่อนทำสื่อเราต้องรู้ก่อนว่านำเสนอประเด็นอะไร พอผมได้รู้ข้อมูล เห็นพวกพี่ๆ ทำงานกัน เลยสนใจอยากทำโครงการ” ซี อธิบายที่มาที่ไป ก่อนเล่าต่อว่า

“รุ่นพี่จากสภาเยาวชนรับโครงการเข้ามาช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นเป็นช่วงปลายภาคเรียน พี่ๆ เรียนจบมัธยมปลายแล้วไปเรียนต่อ พอเดือนสิงหาคมไม่มีใครในชุมชนแล้ว เหลือพี่ผมคนเดียวที่ไม่ได้ไปเรียนต่างจังหวัด เพราะเรียนอยู่ละแวกบ้าน เป็นเหตุผลที่พี่ชวนผมมาช่วยและนอกจากความชอบเรื่องสื่อแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นเหตุผลทำให้ผมตัดสินใจเข้ามาช่วยพี่หลังจากได้อบรมสื่อแล้ว” ซี กล่าว


“อัลฮัมดุลิลละห์” พันธุ์ข้าวจากพระผู้เป็นเจ้า

หลังโครงการในปีแรกสิ้นสุดลง เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการเดินหน้าโครงการในปีที่สอง เวลานี้เป็นช่วงที่ซีได้ทบทวนตัวเอง จนค้นพบว่าเขาตกหลุมพรางความมีเสน่ห์ของชุมชนตัวเองเข้าอย่างจัง นอกจากนี้ยังหลงใหลการทำงานชุมชนจนรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“วันนั้นนัดทานข้าวเย็นกันที่ศูนย์กลางเครือข่ายเยาวชน พูดคุยกันว่าช่วงนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง จะเริ่มทำโครงการในปีที่สองแล้วนะ มีแผนอะไร อย่างไรไหม” ซี เล่าย้อนความ

“วันนี้นอกจากกินข้าว นัดมาด้วยเหตุผลอะไรอีก” เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้น

“ผมจะมาประกาศตัว เป็นประธานโครงการปีที่สอง” ซี เสนอตัว ขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ในทีมพร้อมใจปรบมือให้

การประกาศตัวครั้งนี้ ไม่ใช่การมัดมือชก แต่เป็นการขานอาสาและเพื่อรับฟังเสียงตอบรับจากเพื่อนๆ ในทีม

“ตอนทำโครงการปีที่หนึ่ง ผมช่วยพี่ๆ จัดค่ายให้ความรู้เพื่อนๆ น้องๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชื่อค่ายเล่าขานตำนานเกตรี เป็นกิจกรรมที่ได้ทั้งความรู้ ความสนุก และทักษะการทำงานร่วมกัน ทีมงานที่มาร่วมโครงการในปีที่สองเป็นเพื่อนสมัยเด็กจากค่าย ค่ายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากมาทำโครงการบ้าง”

ซี กล่าวต่ออย่างหนักแน่นว่า “ผมคิดมาก่อนแล้วว่าอยากทำโครงการต่อ เพราะในช่วงว่างจากการทำโครงการประมาณหนึ่งเดือน ผมรู้สึกเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป ผมคิดกับตัวเองว่า ถ้าไม่มีโครงการผมคงกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม เลยตัดสินใจประกาศกร้าว แบกรับหน้าที่ไปเลย เหมือนเป็นการกระตุ้นตัวเอง ผมรู้สึกเสียดายถ้าไม่มีใครมาทำต่อ แล้วจะไม่มีโอกาสให้ได้เรียนรู้แบบนี้อีก ผมเลยอาสารับหน้าที่ทำต่อเอง ส่วนพี่ชายผมขยับจากแกนนำไปเป็นที่ปรึกษา เพราะเขามีประสบการณ์ในการทำโครงการมาก่อน เพราะคนอื่นๆ ในทีมยังไม่เคยมีประสบการณ์เลย ผมคิดว่าการส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต้องเป็นแบบนี้ มีรุ่นพี่มาคอยช่วยสนับสนุน”

ประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรีมีตำนานเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในอดีตที่น่าใจ หนึ่งในนั้น คือ เรื่องราวของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชื่อ “อัลฮัม” ในอดีตคนในตำบลเกตรีส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา แต่เมื่อราคาข้าวขึ้นลงผันผวนไปตามราคาในตลาดโลก บ่อยครั้งราคาข้าวตกต่ำ ไม่คุ้มกับแรงกาย เวลาและทุนทรัพย์ที่เสียไป เกษตรกรจึงเปลี่ยนนาไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดอื่น เช่น สวนยางพารา สวนปาล์ม ไร่ข้าวโพด และไร่อ้อย เจ้าของนาบางรายปล่อยพื้นที่นาให้เป็นนาร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เหล่านี้เป็นข้อมูลบางส่วนที่ซีและเพื่อนๆ ค้นพบจากการสำรวจพื้นที่นาในชุมชน

“ตอนแรกพวกผมลงพื้นที่ไปสำรวจว่าในชุมชน ว่าประเด็นปัญหาอะไรบ้างที่สามารถนำมาทำโครงการได้ เราพบพื้นที่นาลดน้อยลง เพราะคนเปลี่ยนพื้นที่ไปทำอย่างอื่น ก่อนนี้พวกผมเห็นอยู่ทุกวันแต่ไม่ได้คิดอะไร แต่เพราะทำโครงการศึกษาและรวบรวมตำนานและประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรี เพื่อเผยแพร่ให้กับเยาวชนและคนในชุมชนในปีที่แล้ว ชื่อพันธุ์ข้าวอัลฮัมปรากฏอยู่ในข้อมูลที่พวกเราศึกษา ทำให้รู้ว่าข้าวอัลฮัมอยู่กับชุมชนเรามานาน แต่เพราะคนในชุมชนปลูกข้าวอัลฮัมน้อยลง ข้าวอัลฮัมจึงค่อยๆ หายไป พวกผมเลยอยากทำโครงการเกี่ยวกับข้าวอัลฮัม เพื่อศึกษาองค์ความรู้ เผยแพร่ถึงคุณลักษณะเฉพาะและคุณประโยชน์ของข้าวอัลฮัมให้คนทั่วไปได้รับรู้ นำข้าวอัลฮัมมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ข้าวอัลฮัมยังคงอยู่กับชุมชน”

ข้าวอัลฮัม มีที่มาจากคำว่า “อัลฮัมดุลิลละห์” ภาษาอาหรับ ที่แปลว่า ขอบคุณอัลลอฮฺหรือขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า จึงมีความเชื่อว่าข้าวอัลฮัมเป็นพันธุ์ข้าวที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เป็นผลผลิต ตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของชาวนา ข้าวชนิดนี้จึงเป็นที่นิยมปลูกกันมาในอดีต จนมีคำกล่าวขานติดปากว่า “กินมัน อิ่มนาน ทำงานทน” ทั้งนี้เป็นเพราะข้าวอัลฮัมมี อมิโลส (amylose) หรือ สารประกอบเชิงซ้อนที่เกิดจากการรวมตัวของกลูโคส ซึ่งก็คือ คาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง มากกว่าข้าวชนิดอื่น แต่ปัจจุบันมีข้าวสายพันธุ์อื่นเข้ามาแทนที่ บวกกับความผันผวนของราคาข้าวที่ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีรายได้มากกว่า


ใส่ใจ เข้าใจ เข้าถึงและเปิดกว้าง

ขั้นตอนการทำงานของซีและเพื่อนๆ เริ่มต้นจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลปัญหาชุมชนเพื่อเขียนโครงการ หลังจากตกลงทำโครงการข้าวอัลฮัมต่อในปีที่สองแล้ว พวกเขาเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับข้าวอัลฮัมทางอินเทอร์เน็ต และลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชนที่มีความรู้เฉพาะเรื่องข้าว ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลโภชนาการ ประวัติความเป็นมา ลักษณะเมล็ดข้าว ก่อนนำข้อมูลมาคัดกรองแล้วบันทึกไว้

“โครงการพวกผมใช้กระบวนการ 3R คือ Research Review Reconceptual - Research คือการ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ เอกสาร แล้วก็ลองถามว่าใครพอมีเอกสารเกี่ยวกับข้าวหรือเกี่ยวกับนาในบ้าน นึกไปที่เกษตรอำเภอก็ไปกัน แล้วกระบวนการ Review คือค้นคว้าหาข้อมูลที่อยู่ในตัวบุคคลหรืออยู่ในพื้นที่ เลยได้ลงไปสัมภาษณ์คนทำนา ปราชญ์ชาวบ้าน ลงไปสำรวจพื้นที่เอง และไปศึกษาดูงานครับ ส่วน Reconceptual คือการสรุปรวบยอด นำข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน แล้วสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลเท็จข้อมูลไหนเป็นข้อมูลจริงให้กับชุมชน”

นอกจากนี้ยังแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 กิจกรรมย่อย ได้แก่ นานอกนา - การศึกษาวงจรชีวิตข้าว ด้วยการปลูกข้าวนอกฤดูกาลในกระถาง แล้วจดบันทึกการเติบโตของข้าวแต่ละระยะ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น การนำข้าวมาบดละเอียดเป็นแป้งสำหรับใช้ทำขนมรังต่อ หรือ ขนมดอกจอก การทำแผนที่นาออนไลน์ อัพเดทข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่นาของชุมชน เพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวชี้วัดโครงการว่าคนในชุมชนหันมาปลูกข้าวอัลฮัมเพิ่มขึ้นหรือไม่ในระยะยาว และ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ความรู้และข่าวสารโครงการผ่านทางเพจ “เด็กขี้สงสัย” จนกระทั่งเมื่อถึงฤดูกาลทำนา พวกเขาก็ได้ลงมือทำนาด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในแปลงนาร้างของพี่เลี้ยงประจำโครงการ

“ผมเป็นประธานทำทุกอย่างเลยครับ อยู่ในทุกงาน ทุกที่ที่มีงานจะมีผมด้วย คอยสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้สมาชิกทั้งหมด พวกเราแบ่งงานกันทำตามความสนใจ ในขั้นแรกกำหนด 5 ตำแหน่งแกนนำโครงการหลักไว้ก่อน มีประธาน รองประธาน เลขาฯ เหรัญญิก และประสานงาน หรือประชาสัมพันธ์ แต่ละคนสมัครใจอยากเรียนรู้ตำแหน่งไหน อยากลองทำงานในตำแหน่งไหน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้เท่า ๆ กัน ใครอยากเรียนรู้อะไร ให้มาทำ

แล้วจะมีคณะทำงานมาช่วยอีก ผมใช้หลักการว่าถ้าคุณอยากทำงานนี้ก็ทำ ถ้าคุณอยากเปลี่ยนก็บอก จะได้มองหาคนอื่นที่อยากเรียนรู้ในหน้าที่ของคุณ เข้ามาทำแทน แต่ในทุกหน้าที่จะมีหัวหน้าหลักรับผิดชอบงานอยู่ เพื่อจัดการงาน ถ้างานนี้คนนี้ไม่มีอะไรทำก็ต้องจัดสรรแบ่งงานให้ทำ เช่น เขาอาจมีหน้าที่งานอย่างอื่น แต่ครั้งนั้นไม่มีงานตามหน้าที่ของเขา เขาอาจถูกแจกงานให้ทำหน้าที่ถ่ายรูป ซึ่งเขาก็จะรู้ตัวเองว่าต้องถ่ายรูปนะ”

ซี เล่าว่า ทักษะและความรู้ที่ได้จากการอบรมสื่อ มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานของกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะสตอรี่บอร์ดที่เป็นเครื่องมือสำคัญซึ่งช่วยให้สมาชิกในทีมเห็นภาพการทำงานร่วมกันได้อย่างชัดเจน

“หลักในการทำวิดีโอ มีเรื่องการวางสตอรีบอร์ด เป็นการวางแผนเล็ก ๆ ก่อนลงไปถ่ายทำ ถ้าจะทำเนื้อหาให้น่าสนใจ เราต้องเขียนสตอรีบอร์ดให้ดีมาก่อน พอเราเขียนมาดีจะเป็นแนวทางให้ถ่ายทำได้ดี ถ้าไม่เขียนสตอรีบอร์ด เราจะไม่รู้ว่าเรื่องเส้นเรื่องเป็นแบบไหน

เวลาทำงานผมเขียนสตอรีบอร์ดนำเสนอกลุ่มไปก่อนว่าเรื่องราวเป็นแบบนี้ ทุกคนสนใจไหม ถ้าไม่สนใจก็เปลี่ยนสตอรีบอร์ดใหม่ สตอรีบอร์ดจะทำให้เห็นภาพว่าจะถ่ายทำอย่างไร ตรงไหนบ้างถ่ายพื้นที่ตรงนี้ให้หมดไปเลย เราจะไม่เสียเวลาไปถ่ายตรงนั้นทีตรงนี้ที”

“พวกเราร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ทำให้เข้ากันได้ดี เข้าอกเข้าใจกัน ไม่มีทะเลาะกัน เวลาผมขอความช่วยเหลือหรือขอร้อง เพื่อนๆ จะเข้ามาช่วย เพราะรู้ว่าผมก็มีหลายงาน ผมเองก็เหนื่อย คนอื่นๆ ก็เหนื่อย เพราะฉะนั้นต้องช่วยกัน” ซี กล่าว

นอกจากการเรียนรู้และลงมือทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ในทีมแล้ว ซีบอกว่าเขาเปิดรับการเรียนรู้ ด้วยการขยายภาชนะรองรับความรู้ ไม่ทำตัวเหมือนน้ำเต็มแก้ว

“เนื่องจากผมเป็นประธานและสนิทกับทุกคน ผมรู้และเข้าใจทุกคนมากขึ้น ผมคิดว่าตัวเองมีมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้น จากที่เป็นคนไม่เปิดใจ แต่พอมาทำโครงการ ผมเปิดใจให้กับทุกอย่าง พอเปิดใจก็จะเข้าใจอะไรได้มากขึ้น สิ่งที่ผมอยากสะท้อนตัวเองก็คือเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ก่อนหน้านี้สองปี ผมไม่ได้สนใจคนอื่น ๆ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงทำแบบนี้ พอผมได้ขึ้นมาเป็นประธาน เวลาเพื่อนพูดอะไร ผมฟัง เพราะหน้าที่เราต้องฟังคนอื่น การฟังทำให้ผมเข้าใจเพื่อนมากขึ้น จากคนที่น้ำไม่มี ก็มีเต็มแก้ว และยังเปิดรับอยู่ ตอนนี้น่าจะเป็นถังใบใหญ่แล้ว” ซี กล่าว

Active Citizen คือ พลเมืองของชุมชน สังคมและโลก ที่เรียนรู้ความต่างและเข้าใจความหลากหลายทางสังคม กระบวนการเรียนรู้จากการทำโครงการบ่มเพาะการเรียนรู้จากการลงมือทำ เป็นกระจกสะท้อนพลังและศักยภาพในตนเอง ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้างได้

“พอเราอยู่คนเดียว เรารับอะไรมาก็แบกทุกอย่างไว้คนเดียว ไปเจออะไรมาขัดใจในสิ่งนี้ เก็บไว้คนเดียว เวลามันมีกระจกสะท้อนแค่ใบเดียว มันจะเป็นมุมมองเราแค่มุมมองเดียว ตอนทำโครงการปีแรก ผมได้ไปเจอผู้รู้ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำนานชุมชนซึ่งมีอายุมากแล้ว ผมไปเจอก็รู้สึกดีเหมือนมันดูดพลังลบออกจากตัวผมไปทั้งหมดเลย มีแต่พลังบวก เวลาเขาพูด เขาก็ดีใจที่ได้เล่าให้เราฟัง เราก็ดีใจที่เขาเล่าให้ฟัง คือมันเป็นการแบ่งปันกัน แล้วผมก็ชอบในตรงนั้น ชอบการแบ่งปัน”

“สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดจากการทำโครงการ คือ ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงฤดูกาลทำนาในพื้นที่ ทำให้พวกผมได้ทำนากันจริง ๆ บนผืนนาร้างของพี่เลี้ยง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ผมประทับใจเพราะเป็นการทำนาครั้งแรกในชีวิตของพวกเราทั้งกลุ่ม ทั้งสิบคนเลย

ผมไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากโครงการเป็นทักษะหรือเปล่า แต่โครงการสร้างจิตสำนึกให้ผม อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ผมมีโลกส่วนตัวสูง แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อสังคมเลยสักอย่าง พอได้มาศึกษาค้นคว้าตำนานและประวัติศาสตร์ชุมชนทำให้รู้พื้นฐานตำบลเกตรี รู้ว่าบ้านเรามีที่มาที่ไปอย่างไร พอได้รู้เรื่องข้าวอัลฮัมก็เห็นคุณค่าของข้าว ทำให้เรารักและหวงแหนบ้านเกิด อยากช่วยเหลือชุมชนให้ดีขึ้น” ซี กล่าวอย่างมุ่งมั่น

บทบาทประธานโครงการของซี การรู้เท่าทันตัวเอง และความเข้าใจผู้อื่น ทำให้การทำงานเป็นทีมดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็งและราบรื่น ทะลายข้อกังวลใจของความเป็นอินโทรเวิร์ตออกไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่สุงสิงกับใคร ทำตัวแปลกแยก หรือการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำมากเกินไป ทุกวันนี้เขาจึงมีความสุขที่ได้ดึงศักยภาพในตัวเองออกมาทำประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนและสังคม

“ผมได้พัฒนาตัวเองเพราะโครงการนี้ ผมมีความฝันอยากเป็นผู้ให้โอกาสเหมือนที่ผมได้รับโอกาส ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผมคิดว่าการให้เป็นเรื่องที่ผมอยากทำ” ซี กล่าว

+++++++++++++