ณัฐชยาน์ ชูช่วง
พี่เลี้ยงเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน สิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิง
ประวัติและผลงาน

พี่เลี้ยงเด่น โครงการสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิง

ชื่อเรื่อง ‘ณัฐชยา ชูช่วง’ ว่าด้วยเรื่องจิตวิทยาสู่การเป็นพี่เลี้ยงที่เข้าใจทุกสภาวะของเยาวชน



บ้านปูนชั้นเดียว ด้านข้างต่อด้วยกระเบื้องหลังคากระเบื้องถูกใช้เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมของน้อง ๆ เยาวชนจาก โครงการสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิง ในชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล กลุ่มเยาวชนนั่งล้อมวงสาละวนกับการทำงานประดิษฐ์จากเศษขยะที่พวกเขาเดินเก็บจากชายหาด จนเป็นภาพคุ้นชินของชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก

ณัฐชยา ชูช่วง หรือ “จ๊ะดา” ที่รู้จักกันดีในหมู่เด็ก ๆ เป็นพี่เลี้ยงโครงการและเป็นเจ้าของบ้าน พื้นที่ที่เด็กๆ มาทำกิจกรรม งานสร้างสรรค์ งานประดิษฐ์วัสดุจากของเหลือใช้ในชุมชน มีจุดเริ่มต้นที่บ้านหลังนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งของบ้านอยู่กลางหมู่บ้าน ทำให้สมาชิกในทีมเดินทางไปมาได้สะดวก นอกจากเป็นเจ้าของบ้านที่ใจดีเปิดพื้นที่ให้น้องใช้ลานบ้านเป็นศูนย์รวมแล้ว จ๊ะดายังทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ให้คำปรึกษาเด็กๆ เกี่ยวกับการทำโครงการ ประกอบกับลูกของเธอเป็นหนึ่งในทีมงานหลัก การเลือกใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่ในการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล มากกว่าเป็นภาระ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ดาเคยเป็นหนึ่งในทีมงานโครงงานฐานวิจัย โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก จากคำชักชวนจากผู้อำนวยการโรงเรียน ด้วยเห็นว่าดาเป็นคนในพื้นที่ สามารถดูแลและอยู่กับชุมชน ส่วนตัวเธอเองมองว่างานนี้เป็นงานที่น่าสนใจ จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานโครงงานฐานวิจัย ทำหน้าที่กระตุ้นคำถามนักเรียนในชั้นเรียน

“ตอนนั้นรู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วม เหมือนเราทำประโยชน์ได้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่ได้มีบทบาทในหมู่บ้าน เคยเป็นแค่จิตอาสาเข้าไปร่วมกิจกรรม พอเข้าไปในโรงเรียน เราก็ได้ดูแลลูกในการทำกิจกรรมด้วย ชวนให้เขาอยู่ในลู่ทางที่ดี อีกมุมหนึ่งเราอยากพัฒนาเด็กที่เรียนอ่อนหรือว่าอยู่ในสังคมที่เสี่ยงต่อภัยสังคมหลายๆ อย่าง อยากให้เขาเป็นคนคิดเป็นทำเป็น ผ่านการทำงานของเราที่เข้าไปช่วยพัฒนาด้านความคิดให้กับเขา” พี่ดาบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งตัดสินใจเข้าร่วมเป็นทีมงานนักวิจัยกับทางโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก

“มะไปเป็นพี่เลี้ยงให้หน่อยได้ไหม”คำพูดของลูกชาย ที่เอ่ยขึ้นอย่างจริงจัง ทำให้ดาตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเป็นพี่เลี้ยงโครงการสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิง ที่เกิดขึ้นภายใต้ “โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล” ดาบอกว่าเหตุผลหลัก ๆ มองว่าการเป็นพี่เลี้ยงจะทำให้เธอและลูกสนิทกันมากขึ้น อย่างน้อย ๆ เธอจะได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับลูกในทุกกิจกรรม ประกอบกับเคยเห็นการทำงานของลูกมาก่อน หลังจากเข้าร่วมโครงการในปีแรก และด้วยเป็นคนเปิดรับโอกาสอยู่แล้ว เธอจึงไม่ปฏิเสธ

ก่อนจะไปถึงบทบาทการเป็นแม่ที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการของดา เธอสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกของเธอหลังจากได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีแรกว่า เปลี่ยนจากคนที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่ยอมพูด ไม่กล้านำเสนอในที่ชุมชน กลับกลายเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา และกล้าแสดงออก นี่เป็นผลลัพธ์ที่ทำให้ดาเชื่อและอยากช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนสามารถในพื้นที่ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น

“ผู้ปกครองอย่างพี่สามารถขยับมาเป็นพี่เลี้ยงได้ไหม” ดาเอ่ยถาม พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล เมื่อปลายสายตอบว่าได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นพี่เลี้ยงโครงการของดาอย่างเป็นทางการ


++จิตวิญญาณของแม่...ที่ถูกส่งต่อ++

“เด็ก ๆ ทุกคนเหมือนลูกหลานของเรา อยากให้เขามีพื้นที่ได้ทำกิจกรรม เราเลยหยิบยื่นพื้นที่ให้เขา ให้ความสำคัญกับทุกคนไม่ใช่แค่ลูกเรา เพราะลูกเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ หน้าที่พี่เลี้ยงเหมือนเป็นทั้งแม่ ทั้งญาติ และเป็นทั้งเพื่อนให้กับเด็ก ๆ มาอยู่ที่นี่อยากให้เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ที่ได้อยู่กับเรา ไม่ต้องกลัวอะไร ไม่ได้คิดว่าพอเป็นพี่เลี้ยงแล้วจะต้องทำตัวออกห่างจากเด็ก ๆ แต่ยิ่งต้องใกล้ชิด สนิทให้เขารู้สึกว่าอยู่กับเราแล้วกล้าปรึกษาในทุกเรื่องราวทั้งในโครงการและในชีวิตประจำวันของเขา” ดา กล่าวถึงหลักคิดในการทำงานของเธอ

จิตวิญญาณของความเป็นแม่ผสมรวมกับความเป็นพี่เลี้ยง หรืออาจจะนำมาผสมเป็นคำว่า “แม่(พี่)เลี้ยง” ที่คอยดูแลน้องในโครงการเช่นเดียวกับลูกของตนเอง เพราะเคยทำงานเกี่ยวกับเด็กมาก่อน ดาพอจะเข้าใจถึงความต้องการของเด็กในช่วงอายุนี้อยู่พอสมควร

“ยิ่งเราเป็นพี่เลี้ยงเราต้องทำตัวสนิทกับเขาให้มาก ฟังเขาให้มากกว่าที่เคยฟังมา เปิดใจรับฟังในทุก ๆ เรื่อง เพื่อให้เขากล้าเข้ามาปรึกษาเราอีกในครั้งต่อไป โดยไม่ต้องกลัวว่าเราจะดุหรือต่อว่า” ดา กล่าว

แม้มีความตั้งใจแน่วแน่ แต่ดายอมรับว่า ในช่วงแรกรู้สึกกดดันอยู่พอสมควร กดดันทั้งตัวเองเพราะต้องเป็นทั้งแม่และพี่เลี้ยงในเวลาเดียวกัน แอบคิดในใจว่าลูกจะไม่เชื่อ ไม่ทำตามเพราะความเป็นแม่ ขณะที่ แดน - นราธิป ชูช่วง ลูกชายของดา ปีนี้ขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ในโครงการ ยิ่งทำให้ดาหวั่นใจว่าถึงการทำงานของแกนนำเยาวชนภายในกลุ่ม และบทบาทความเป็นผู้นำของลูก จนเธอต้องงัดความรู้ด้านจิตวิทยาที่สนใจมาปรับใช้ วางใจให้เย็นและเลือกทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกและแกนนำเยาวชนคนอื่นๆ แบบรายบุคคล ไม่เหมารวม


++ จิตวิทยา...บูรณาการสู่การเป็นพี่เลี้ยงที่เข้าใจทุกสภาวะของเยาวชน++

การจัดการวิธีคิด (mindset) การแก้ปัญหาความทุกข์ สัจธรรมในชีวิตประจำวัน การรักตัวเอง และการเป็นผู้ให้ คือคลาสเรียนที่ดาเลือกเรียน เพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิตหลังต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวที่หนักหนาในชีวิตส่วนตัว การพัฒนาตัวเองทำให้ดาค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัว จากคนอารมณ์ร้อน กลายเป็นคนที่นิ่งขึ้น และรับฟังคนอื่นมากขึ้น จนทำให้เธอผ่านวิกฤติและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชีวิตส่วนตัวได้

การเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนสถานการณ์จริงที่ตนสามารถหยิบจับสิ่งที่ได้เรียนเรียนรู้จากการเข้าอบรมจิตวิทยามาปรับใช้ แบบชนิดที่เรียกว่าเปปิดตำราไม่ทัน

“เราเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองเพื่อให้เข้าใจคนรอบข้าง เข้าใจตัวเอง รู้จักการแก้ปัญหา รู้สึกว่ามีความสุขในชีวิตมากขึ้น พบว่าที่จริงแล้วเด็กเขามีโลกของเขาเอง ผู้ใหญ่ไม่สามารถไปกำหนดชีวิตได้แค่ทำหน้าที่เป็นเพื่อน เป็นพี่ หรือเป็นแม่ที่คอยรับฟังคำปรึกษาได้แค่นั้น” ดา สะท้อนประสบการณ์

บทเรียนแห่งศาสตร์การพัฒนาตัวเอง ทำให้ดาเลือกที่จะไม่คาดหวังกับสิ่งที่เด็กทำ แต่ใช้ความเข้าใจในธรรมชาติของช่วงอายุ เข้ามาพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะความคาดหวังของผู้ใหญ่มักทำให้เด็กรู้สึกกดดัน ยิ่งกดดันยิ่งทำให้เด็กไม่สนุกกับสิ่งทำ ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการปล่อยให้เด็กคิด ให้ได้ลองทำในสิ่งที่เขาอยากทำ โดยมีผู้ใหญ่ช่วยสนับสนุนให้เขาสนุกกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มากกว่าการยัดเหยียดหยิบใส่มือให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ


++พี่เลี้ยงสายซัพพอร์ต สนับสนุน ส่งเสริม++

พี่เลี้ยงในอุดมคติของใครหลายคน อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละคนที่ได้รับบทบาท เช่นเดียวกับพี่ดา พี่เลี้ยงสายซัพพอร์ตที่คอยสนับสนุนส่งเสริมน้องในทุก ๆ เรื่องที่เด็กอยากทำ ขอแค่บอกมาพี่ดาพร้อมจะยื่นมือเขาไปช่วยในทันที แค่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น้อง ๆ ประชุมกันแล้วคิดว่าจะสามารถทำให้โครงการของตัวเองไปต่อได้

“อะไรที่เขาทำไม่ได้ ก็ให้บอกไม่ต้องกลัว ให้เขาถามเราได้เสมอ ทุกอย่างที่เขาสงสัย” ดา ขยายความสไตล์การเป็นพี่เลี้ยงของตัวเอง แล้วย้ำว่า “น้องๆ ในช่วงวัยนี้ ต้องการคนคอยรับฟัง และสนับสนุนให้เขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองคิด แต่เรามีเงื่อนไขในการซัพพอร์ตแต่ละอย่างว่า สิ่งที่ต้องการนั้นจะต้องสมเหตุสมผล สำหรับการทำโครงการขอแค่ให้เรื่องที่เขาหยิบมาคุยกับตนเป็นเรื่องที่ผ่านการพูดคุยและประชุมกันมาแล้ว เราสนับสนุนเต็มที่ แต่ก่อนที่จะช่วยเขาในแต่ละกิจกรรม เขาต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า จะทำแบบไหน ต้องเตรียมอะไรบ้าง ถ้าจะซื้อของต้องซื้อเยอะขนาดไหน เอาไปทำอะไร” เป็นการตั้งคำถามกระตุ้นให้กลุ่มเยาวชนได้คิดทบทวนถึงสิ่งที่กำลังวางแผนเพื่อลงมือทำ

การตั้งคำถามส่วนใหญ่เน้นการตั้ง คำถามชวนคิด เป็นชุดคำถามที่มีเป้าหมาย คำถามของพี่เลี้ยงแค่กระตุ้นให้เด็กๆ ได้คิดด้วยตัวเขาเอง โดยไม่จำเป็นต้องชี้ทางให้เห็นว่าต้องทำแบบนี้ แบบนั้น ตามคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ ทั้งนี้ บทเรียนที่ได้จากการทำโครงการ ทำให้ดาเรียนรู้ว่า คำถามชวนคิดนั้นควรเป็นคำถามที่เหมาะกับวัยของเด็กและไม่ควรซับซ้อนจนเกินไป หรือแม้แต่พ่อแม่เองก็สามารถใช้วิธีการตั้งคำถามชวนคิด แทนการดุหรือด่าว่า เมื่อลูกทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจ หรือเกิดข้อผิดพลาด

“ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจเรื่องการตั้งคำถามหรือใช้คำพูดที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก จะช่วยส่งเสริมให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีอยู่แล้ว หรือเป็นการตั้งคำถามให้ได้ลองกลับไปทบทวนสิ่งที่ทำด้วยตัวเองได้ โดยที่เราไม่ต้องพูดตัดสินเขา วิธีการนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก ๆ”

ผลลัพธ์ที่ได้จากการลองใช้ทฤษฎีการตั้งคำถามชวนคิด รวมทั้งความเป็นพี่เลี้ยงสายซัพพอร์ตที่คอยสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนแกนนำทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ดาเป็นพี่เลี้ยงโครงการที่เด็กๆ กล้าเดินเข้ามาขอคำปรึกษา โดยปราศจากความหวาดกลัวและความวิตกกังวล


++โลกใบใหม่...ของเยาวชนและพี่เลี้ยง+

โครงการสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะจากหาดกาสิงของเยาวชนในชุมชนบ่อเจ็ดลูก มีเป้าหมายเพื่อต้องการลดปัญหาขยะจากชายหาดและสร้างคุณค่าให้กับขยะที่ไร้ค่า เด็กๆ ช่วยกันคนละไม้คนละมือสร้างโลกที่พวกเขาใฝ่ฝัน ดาทำหน้าคอยประคับประคองโลกใบนี้ไม่ให้บิดเพี้ยน ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างโลกเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยให้โลกสมบูรณ์คือการสร้างคนให้มีความคิด ดา บอกว่า การให้ความรู้ ฝึกทักษะ และพัฒนาความคิดเป็นเหมือนการให้เครื่องมือทำมาหากิน เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เธอเชื่อมั่นว่าหากเด็กได้รับการพัฒนาตั้งแต่เด็กๆ ให้เป็นคนที่มีความคิดเปี่ยมล้นด้วยพลังบวก พวกเขาจะสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ และสร้างสังคมในแบบที่อยากให้เป็นได้อย่างสร้างสรรค์

“บางครั้งเวลาเราดูน้องๆ ประชุมวางแผนการทำกิจกรรมของเขา แบ่งบทบาทหน้าที่กันเอง เรามีหน้าที่แค่คอยดูเขาทำกิจกรรมอยู่ห่าง ๆ บางครั้งยังคิดว่าเด็ก ๆ เป็นพี่เลี้ยงให้กับเราได้เหมือนกัน ในเรื่องของการจัดการในทีม เราถือว่าเป็นประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้และรู้จักน้องๆ มากขึ้น”

นอกจากการสร้างและส่งเสริมศักยภาพของเด็กแล้ว หัวใจหลักอีกอย่างหนึ่งของโครงการ คือ การพัฒนาพี่เลี้ยงให้เติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กและเยาวชน

“โครงการนี้ช่วยให้เรารับฟังคนอื่นมากขึ้น และเข้าใจคนอื่น การเปิดใจรับฟัง เสมือนการเข้าไปอยู่ในชีวิตของคน ๆ นั้น รับฟังอย่างมีสติ ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับการฟังค่อนข้างมาก เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเด็ก ไม่ว่างานหรือกิจกรรมใดก็ตามไม่สามารถเดินได้

เราเองก็ต้องฝึกตัวเอง พี่เลี้ยงมีหน้าที่ปล่อยให้เขามีอิสระในการคิด การพูด ซึ่งการทำโครงการในปีนี้เหมือนช่วยให้ได้พัฒนาตัวเองไปด้วย เหมือนกับสร้างเราไปพร้อมกับเด็ก

บางครั้งเราตัดสินเด็กจากประสบการณ์ของเราเอง ความจริงแล้ว ทุกคนมีความคิดและประการณ์ของเขาเอง ไม่สามารถตัดสินใครจากความคิดหรือจากประสบการณ์เราได้เลย เพราะการเลี้ยงดูแต่ละคนไม่เหมือนกันต้องเข้าใจถึงว่าทุกคนเขาผ่านอะไรมาบ้าง ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร

ดาหยิบยกเหตุการณ์ที่ทำให้เธอเห็นความสำคัญของการรับฟังว่า

“ช่วงที่น้องแดนและเพื่อน ๆ ต้องส่งรายงาน ในความเป็นแม่เราบ่นแดนว่าทำไมไม่เตรียมตัวอะไรเลย จะรายงานอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงวันที่แดนต้องนำเสนองานจริง แดนสามารถรายงานได้อย่างดี จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นบทเรียนให้เราฟังเยอะขึ้น อย่าไปตัดสินใจเพียงเพราะยังไม่เห็นในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่” นี่เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้ “แม่” กลายเป็น “พี่เลี้ยง” ที่เป็นที่ปรึกษาสมาชิกในทีม ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องภายในโครงการไปโดยปริยาย แต่ก็เป็นบทบาทที่สร้างความอิ่มใจให้กับแม่คนหนึ่ง ที่เข้ามาเป็นทีมเดียวกับลูก และพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน จนเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี

++++++++++++