ชลนิภา ขันสี
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

โครงการสืบสานภูมิปัญญามีดงามบ้านต้นปัน

ชื่อเรื่อง มีดงามบ้านต้นปัน ภูมิปัญญาที่ปลุกความกล้าให้เยาวชนลุกขึ้นมาท้าทายตัวเอง


เพราะมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน ปี 1 มาก่อน แม้เป็นกิจกรรมช่วงท้ายของโครงการแต่ก็ทำให้ เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เห็นกระบวนการทำงานของโครงการ และรู้สึกสนุกเพราะได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่อถูกชวนจากพี่ ๆ อีกครั้งในปีที่สอง เฟิร์น - ชนม์นิภา ขันศรี อายุ 17 ปี จึงไม่ลังเลและยินดีเข้าร่วมโครงการทันที โดยบอกเหตุผลว่า

“อยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยทำ”

เฟิร์น เป็นอดีตเยาว¬ชนแถวสองจากโครงการเยาวชนดีวิถีพุทธ ในโครงการ Active Citizen ลำพูนปีที่ 1 ตอนนี้เลื่อนขั้นมาเป็นเยาวชนแถวหนึ่งของ โครงการสืบสานภูมิปัญญามีดงามบ้านต้นปัน เล่าถึงที่มาของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมเยาวชนแกนนำว่า “ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการในปีนี้เพราะเห็นโอกาสที่จะได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนอีกครั้ง”

เฟิร์นรวมกลุ่มเพื่อนเยาวชนที่เคยร่วมกิจกรรมกันในปีที่ผ่านมา ปีนี้พวกเขาระดมความคิด ตั้งคำถามเชื่อมไปยังพื้นที่ใกล้เคียงสวนพุทธธรรมพื้นที่ทำโครงการเดิมว่ามีชุมชนไหนบ้างที่มีจุดเด่น ในที่สุดจึงตัดสินใจเลือก ชุมชนบ้านต้นปัน เพราะเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการตีมีดในจังหวัดลำพูน และชึ้นชื่อเรื่องการใช้วิธีการดั้งเดิมในการผลิตมีด ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจสืบต่อภูมิปัญญาการตีมีด ทีมงานจึงอยากสืบสานการตีมีดไว้ให้อยู่คู่ชุมชนและยังคงสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนต่อไป

จังหวัดลำพูน มีโรงงานอุตสาหกรรม กระจายอยู่ทุกพื้นที่ในแต่ละอำเภอ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำพูนมากที่สุด รองลงมา คืออำเภอป่าซางและอำเภอแม่ทา บ้านต้นปัน อำเภอเมือง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้วัยรุ่นและวัยกลางคนนิยมออกจากชุมชนไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ไม่ไกลจจากชุมชนเท่าใดนัก ไม่เฉพาะแค่มีดเท่านั้นเดิมทีชุมชนบ้านต้นปันมีชื่อเสียงเรื่องการทำเครื่องมือทางการเกษตร ทั้งประเภท มีด จอบ เสียม ขวาน เคียวเกี่ยวข้าว สิ่ว และกรรไกร เริ่มจากการทำไว้ใช้เองในครัวเรือน และใช้แลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรกับครอบครัวอื่น ๆ แต่ปัจจุบันเหลือชาวบ้านอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือนที่ยังคงประกอบอาชีพตีเหล็กอยู่

“ตอนนี้มีแต่ผู้สูงอายุที่ยังตีมีดอยู่ ลูกหลานยังพอทำได้แต่ไม่สืบสานต่อแล้ว บางคนออกจากชุมชนไปทำงานที่นิคมฯ บางคนย้ายออกไปเรียนต่างจังหวัด เราเป็นเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในชุมชนไม่ได้ออกไปไหน เลยคุยกันว่าจะเข้าไปศึกษาวิธีการตีเหล็ก กระบวนการทำมีด เพื่อให้คนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้กับผู้รู้ในชุมชนที่ยังประกอบอาชีพตีเหล็กอยู่” เฟิร์นบอกเล่าถึงความตั้งใจที่เธอและเพื่อนร่วมทีมวางแผนไว้

เฟิร์นบอกว่าปีนี้เธอมีบทบาทเป็นฝ่ายบัญชี เพราะเพื่อนเห็นว่ามักเข้าร่วมกิจกรรมคณิตศาสตร์ในโรงเรียนอยู่ประจำ แต่เมื่อได้ลองทำแล้วงานบัญชีกลับยากกว่าที่คิดเพราะเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน และไม่เหมือนกับการแข่งขันคณิตศาสตร์ตามเวทีต่างๆ หรือแม้แต่จากประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับสภาเด็กและเยาวชนของโรงเรียน ส่วนใหญ่แล้วเป็นกิจกรรมการอบรมเกี่ยวกับเพศ การคอรัปชั่นต้านทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องวิชาการ แต่โครงการนี้ตอบโจทย์ความชอบของตัวเองที่เปิดโอกาสให้ได้ออกไปทำงานและทำกิจกรรมกับชุมชนภายนอก

กิจกรรมแรกที่ทำคือการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างเยาวชนและคนในชุมชน เฟิร์นบอกว่า

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่เยาวชนหันมาสนใจเรื่องของการตีมีดในชุมชนของตนเอง แต่ยังมีผู้ใหญ่บางคนยังไม่ค่อยมั่นใจในตัวพวกเราเท่าไหร่ แต่ก็เข้าใจเพราะเรายังเด็กอยู่ ถามว่าท้อไหม ไม่ได้ท้อ พวกเราเลือกที่จะพิสูจน์ให้เห็นมากกว่าว่าพวกเรามาทำโครงการให้เขาจริง ๆ”

พวกเขาไม่ได้มองว่าความไม่เชื่อมั่นของผู้ใหญ่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการทำโครงการ แต่ กลับมองว่าจากนี้ไปการกระทำคือบทพิสูจน์ให้คนในชุมชนเปลี่ยนความคิดและหันมาเชื่อมั่นว่าพลังของเด็กและเยาวชนอย่างพวกเขาที่มีความตั้งใจจริง สามารถเข้ามาอนุรักษ์การตีมีด ภูมิปัญญาแห่งบ้านต้นปันได้


ไม่ลองไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น ไม่ทำไม่เป็น

แม้ในวันเปิดโครงการยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นจากคนในชุมชนได้เต็มร้อย แต่ก็ถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี เฟิร์นเล่าบรรยากาศในวันนั้นให้ฟังว่า

“ก่อนวันงานพวกเราแบ่งหน้าที่กันให้หัวหน้าโครงการเป็นคนพูดแนะนำโครงการ ส่วนเฟิร์นวันนั้นยืนอยู่ข้างหลังและคอยเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนที่หัวหน้าโครงการพูดตกหล่น” ถึงแม้ทำหน้าที่แค่คอยเสริมข้อมูล แต่ก็ทำให้รู้สึกประหม่าอยู่ไม่น้อย เพราะนั่นเป็นการพูดต่อที่ชุมชนต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก ครั้งแรกของเธอ

หลังชี้แจงทำความเข้าใจกับคนในชุมชน เฟิร์นและทีมงานประชุมกันอีกครั้งเพื่อเตรียมเนื้อหาในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ในครั้งนี้เฟิร์นรับหน้าที่เป็นคนสอบถามผู้รู้เกี่ยวกับประวัติและข้อมูลเกี่ยวกับการตีมีด

คนที่ตีมีดในชุมชนยังเหลือกี่คน?

การซื้อขายมีดในปัจจุบันนำไปขายที่ไหน มีพ่อค้าคนกลางหรือไม่?

เป็นตัวอย่างคำถามที่ออกจากปากของเธอเอง เฟิร์นบอกว่าความเป็นกันเองของผู้รู้ ปลุกความกล้าที่ซ่อนอยู่ในตัวเธอ

“พวกเราอาศัยลงพื้นที่กลุ่มตีเหล็กบ้านต้นปันเป็นหลัก เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับมีด เพราะเป็นที่ ๆ ชาวบ้านรวมตัวกัน แต่พอไปถึงจริง ๆ มีคุณลุงแนะนำให้เราไปบ้านหลังอื่น ๆ ด้วย ทำให้ได้รู้ว่านอกจากกลุ่มตีมีดแล้วยังมีชาวบ้านหลังอื่นที่ยังตีเหล็กอยู่ วันนั้นได้ข้อมูลมาประมาณ 7 เตา และเก็บข้อมูลได้ตามที่วางแผนไว้”

มีดของบ้านต้นปันโดดเด่นเพราะเป็นกรรมวิธีการตีมีดแบบดั้งเดิม ค่อยๆ ตีเหล็กที่ร้อนให้กลายเป็นมีดที่มีความคมและทนทาน รวมไปถึงการทำด้ามมีดที่ต้องค่อยๆ เหลาด้ามให้พอเหมาะจับได้ถนัดมือ จากนั้นนำไปฝนยางคั่ง ทุกขั้นตอนที่กล่าวมาทำจากมือล้วน ๆ เรียกได้ว่าเป็นงานคราฟต์ที่ไม่ผ่านเครื่องจักรเลยแม้แต่น้อย ราคาต่อด้าม ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 120-200 บาท ซึ่งเฟิร์นมองว่าค่อนข้างถูกหากเทียบกับขั้นตอนการทำมีดแต่ละเล่มที่ต้องอาศัยความละเอียดและความเชี่ยวชาญ

นอกจากการเก็บข้อมูลทั่วไปแล้ว กลุ่มแกนนำเยาวชนยังลงพื้นที่เก็บข้อมูลเจาะลึกไปถึงขั้นตอนการทำมีด อุปกรณ์การตีมีดและลายมีด โดยครั้งหลังพวกเขาจดบันทึกและถ่ายรูปอุปกรณ์การตีดมีดไว้เป็นตัวอย่างและเลือกใช้ “แผนที่ชุมชน” เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้การศึกษาชุมชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของทำเลที่ตั้งและทิศทาง เหตุเพราะกลุ่มแกนนำเยาวชนไม่ใช่คนในชุมชน พวกเขาจึงอยากศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนบ้านต้นปันให้มากที่สุด

เฟิร์นอธิบายถึงประโยชน์ของการทำแผนที่ชุมชนบ้านต้นปันว่าทำให้รู้จักชุมชนบ้านต้นปันมากขึ้น

“แผนที่ชุมชนที่ทำเป็นของชุมชนบ้านต้นปันทั้งหมู่บ้าน เลือกทำสัญลักษณ์ไว้สำหรับบ้านที่ยังมีการตีเหล็กอยู่ ซึ่งการทำแผนที่ชุมชนช่วยให้รู้ว่าบริเวณไหนของหมู่บ้านมีการตีเหล็กมากที่สุด และทำให้รู้สาเหตุด้วยว่าบ้านที่เลิกตีเหล็ก เลิกทำกันไปเพราะอะไร เราพบว่าบ้านที่ไม่ได้ตีเหล็กบางโซน คนละแวกนั้นออกไปทำงานนิคมหรือไปทำงานต่างจังหวัด ทำให้มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่”


ความกล้าที่ท้าทาย

ตุ๊บ ตุ๊บ!! เสียงตีมีดดังเป็นจังหวะ ลุงฆะ ครูภูมิปัญญาด้านการตีมีด สาธิตวิธีการตีมีดให้เฟิร์นและเพื่อนๆ ในทีมได้ดู แม้ลงพื้นที่มาแล้วสองครั้ง แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้ลงมือทำจริง ๆ สักครั้ง มาครั้งนี้จึงตั้งใจมาเรียนรู้ขั้นตอนการตีมีดอย่างละเอียดว่า กว่าจะได้มีดด้ามหนึ่งออกมามีวิธีการประกอบร่างอย่างไรบ้าง นอกจากทีมแกนนำเยาวชนแล้ว ครั้งนี้พวกเขาชวนเพื่อนในโครงการ Active Citizen จากพื้นที่อื่นมาด้วย รวมแล้วประมาณ 15 คน แต่ละคนต่างตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ขั้นการตอนตีเหล็กค่อนข้างยาก มีดหนึ่งด้ามเผาไฟจนจนร้อนและเป็นสีแดงจ้า มีความอ่อนในระดับที่

สามารถนำมาดัดได้ หลังจากนั้นนำมาตีด้วยค้อนซึ่งมีน้ำหนักมาก เด็กๆ ตีเหล็กได้ไม่ถึงสิบครั้ง ไฟสีแดงๆ บนมีดก็หายไปทำให้เหล็กตียากขึ้น ต้องนำไปเผาไฟใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าแต่ละขั้นตอนนั้นหนักและเหนื่อยมากกว่าจะได้มีดออกมาหนึ่งเล่ม เป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญอยู่ไม่น้อย

ตลอดระยะเวลาที่เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาร่วมกับชุมชน เฟิร์นสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน

“ชาวบ้านเคยมองว่าเด็กอย่างพวกเราจะเข้ามาทำโครงการจริงหรือเปล่า เริ่มมองเราเปลี่ยนไปเพราะพวกเราเข้าชุมชนบ่อยมาก บางคนเข้ามาแวะเวียนถามไถ่ให้ข้อมูลกับเราก็มี” เธอบอกต่อว่าสิ่งหนึ่งที่ภูมิใจจากการทำโครงการนี้ คือการได้เข้าร่วมนิทรรศการผ้าทอกับสถาบันวิจัยหริภุญชัยที่กลุ่มตีเหล็กบ้านต้นปันมีโอกาสเข้าร่วมงานเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้กลุ่มแกนนำเยาวชนได้ถือโอกาสทดสอบความรู้ที่ได้จากลุงฆะ ในวันนั้นเฟิร์นกับเพื่อนๆ ช่วยลุงขายมีดที่นำมาจากบ้านต้นปันได้จำนวนไม่น้อยและยังช่วยให้ข้อมูลเรื่องมีดกับผู้เข้าร่วมงานที่สนใจอีกด้วย

“ชอบที่ได้เจอผู้คน พูดคุยกับผู้ใหญ่ได้ จากเดิมไม่กล้าพูดเลย วันนั้นเราได้อธิบายสิ่งที่ได้เรียนมา ภูมิใจที่ตัวเองมีความรู้เรื่องการตีมีดในระดับหนึ่ง” เฟิร์นสะท้อนความรู้สึก

จากเด็กหญิงขี้อายในวันเริ่มโครงการจนถึงวันนี้เฟิร์นประเมินความเปลี่ยนแปลงของตัวเองแล้วบอกว่า ตัวเองเปลี่ยนไปมาก จากคนที่ไม่พูดเลย ยิ่งถ้าต้องอยู่ในเวทีกลางที่มีเพื่อนๆ จากพื้นที่อื่น เธอแทบไม่เอ่ยบอกพูดจากับใคร สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ปิดกั้นการพบปะกันของผู้คน เป็นจุดเปลี่ยนให้เฟิร์นได้เริ่มติดต่อสอบถามความเคลื่อนไหวกับเพื่อนๆ ต่างโครงการผ่านแอพพิเคชั่นไลน์ จนเกิดความสนิทกัน อยากเจอกัน และอยากทำกิจกรรมร่วมกัน นั่นทำให้เฟิร์นกล้าพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น


ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด

เมื่อถึงวันปิดโครงการเฟิร์นขยับหน้าที่ขึ้นมาเป็นผู้พูดร่วมกับหัวหน้าโครงการ อธิบายขั้นตอนการทำโครงการตั้งแต่ต้นจนจบโให้คนในชุมชนฟัง กลุ่มเยาวชนนำมีดผลงานของทีมงานมานำเสนอให้คนในชุมชนได้ดูด้วย

“เราไปเรียนรู้การตีมีดจากพื้นที่ชุมชนบ้านต้นปันมา และเลือกมาคืนข้อมูลชุมชนของตัวเองเพราะว่าเขาไม่รู้เกี่ยวกับการตีมีดมาก่อน เราเลยเลือกที่จะมาเล่าขั้นตอนการทำมีดให้คนในชุมชนฟัง ผลตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ดีเพราะว่าเราเป็นเด็กในหมู่บ้าน มีบางท่านไม่เคยเห็นเราทำอะไรแบบนี้ก็มีแซวบ้าง ว่าไม่คิดว่าจะพูดเก่งแบบนี้ ไม่รู้ว่าทำอะไรแบบนี้ด้วย” เฟิร์นเล่าสิ่งที่ตนเองประทับใจในวันคืนข้อมูลให้ฟังด้วยรอยยิ้ม

ในวันงานมหกรรมเยาวชนจังหวัดลำพูนซึ่งเป็นงานใหญ่ที่รวมแกนนำเยาวชนจากหลายๆ

พื้นที่ในจังหวัดลำพูนมาไว้ด้วยกัน จากเด็กหญิงที่ไม่กล้าพูด เฟิร์นรับหน้าที่เป็นพิธีกร เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทุกวันนี้เธอกล้าแสดงออกมากขึ้น ไม่เฉพาะการพูดบนเวทีเท่านั้น เธอยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของโครงการ Active Citizen การรับหน้าที่เป็นเลขาของโครงการทำให้เธอเข้าหาและคนถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น ทั้งเพื่อนร่วมโครงการและพี่เลี้ยงจากสถาบันหริภุญชัย ดังนั้น เมื่อต้องประสานกับคนที่ไม่สนิทกันมาก่อนจึงรู้สึกไม่เขินอายซึ่งต่างจากช่วงแรกที่เพิ่งเข้าโครงการอย่างสิ้นเชิง

“ตื่นเต้นมากค่ะ หลับเที่ยงคืน ฝึกซ้อม ฝึกพูดอยู่อย่างนั้น หยิบอะไรได้ก็เอามาเป็นไมโครโฟนหมดเลย พอถึงวันจริงก็มีติดขัดบ้าง เพราะว่าเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่เขินเพราะว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว เฟิร์นเป็นพิธีกรคู่กับเพื่อนเวลาติดขัดก็จะช่วยกันเสริมกันขึ้นมาค่ะ” เฟิร์นเล่าบรรยากาศในวันงานมหกรรมให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ


ปัญหาคือการเรียนรู้

เหมือนทุกอย่างจะราบรื่นแต่เมื่อถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางเฟิร์นก็ยอมรับว่าทีมงานของเธอมีปัญหาเรื่องเวลาที่ไม่ตรงกัน ทำให้ภาระช่วงท้ายที่ต้องทำรายงานสรุปโครงการตกมาอยู่ที่เธอคนเดียว จากคนที่ไม่เคยทำงานด้านวิชาการมาก่อน แต่เมื่อต้องทำเฟิร์นก็ฮึดสู้และตั้งใจทำจนสุดความสามารถ ตรงไหนยากจะอาศัยถามทีมโคชจากสถาบันหริภุญชัยเพื่อขอคำปรึกษา เธอยอมรับว่ามีท้อบ้าง วันไหนท้อมาก ๆ เธอวางทุกอย่างลง แล้วไปทำกิจกรรมอย่างอื่นก่อน ไม่ได้ทิ้งเพียงแค่ขอเวลาพัก

“ตอนที่รู้สึกเหนื่อย เราก็พัก หยุดก่อน ไปหาอย่างอื่นทำก่อน ฝึกให้เราพยายามตั้งสติ ก่อน แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ แบ่งงานทำทีละนิด”

เฟิร์นยอมรับว่าถ้าเป็นก่อนหน้านี้เจอปัญหาแบบนี้เธออาจไม่ทำโครงการต่อแล้ว แต่กระบวนการทำงานตลอดเส้นทางที่ผ่านมาฝึกให้มีความรับผิดชอบกับงานมากขึ้น โครงการนี้สอนให้เธอตั้งสติทุกครั้งเวลาเจอปัญหา ผลของการทำงานหลายๆ อย่างด้วยตัวเองทำให้ค้นพบว่าศักยภาพว่า เธอสามารถจัดการได้

“ถ้าเป็นแต่ก่อนได้ยินชื่ออะไรที่คิดว่าทำไม่ได้จะปฏิเสธทันที แต่ตอนนี้เลือกลองทำดูก่อน พอได้ลองทำก็ไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด” เฟิร์นเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของตัวเองก่อนเข้าร่วมโครงการและหลังโครงการให้ฟัง

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วเฟิร์นยังนำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเธอเองด้วย

“ตัวเองทำงานเป็นลำดับมากขึ้น การใช้คำพูดก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนมีคนมาถามข้อมูลเราเรื่องมีดเราตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้พอได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนเขาถามอะไรมาเราก็ตอบได้”

เมื่อถามว่าอยากพัฒนาตัวเองด้านไหนอีก เฟิร์น ตอบทันทีว่า เธอมีความชอบเรื่องสื่อเทคโนโลยีอยู่แล้ว

เป็นทุนเดิม ยิ่งได้มีโอกาสอบรมสื่อ เรียนรู้การตัดต่อวิโอเพื่อนำเสนอในครงการ ได้ลองทำ Photo Brander

(แอฟพลิเคชันสำหรับแต่งภาพ) ยิ่งสนุก

วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง อยากทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนก็จริง แต่ในหลายๆ ครั้ง พวกเขาก็มี “ความกลัว” บางอย่างที่ยากจะเอาชนะ การได้เอาชนะความกลัวที่มีอยู่ในใจทำให้เด็กวัยนี้รู้สึกภูมิใจในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม และมีแรงก้าวต่อเพื่อทำเป้าหมายต่อไปให้สำเร็จ เช่นเดียวกับเฟิร์นที่สามารถเอาชนะใจตัวเองได้ จากคนขี้อาย ไม่กล้าพูด แต่มาวันนี้เพราะกระบวนการทำงานของโครงการค่อยๆ หล่อหลอมความกล้าจนกลายเป็นเฟิร์นคนใหม่ ที่มีความมั่นใจในตัวเอง...

++++++++++++++