ธาวัลย์ ก๋องจันทร์ตา
แกนนำเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จังหวัดน่าน
ประวัติและผลงาน

           โครงการแนวทางการฟื้นฟูผักพื้นบ้านโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านดอนใหม่ เกิดจากการรวมตัวของแกนนำเยาวชนทั้ง 5 คน ที่ตั้งคำถามถึงแหล่งอาหารและพืชพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ค่อยๆ หายไปจากชุมชม หมู่บ้านดอนใหม่ หมู่ 5 มีลักษณะที่ตั้งเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำน้ำมวบไหลผ่าน ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้ขยายพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ป่าที่เคยมีผักและหาอาหาร ก็ลดลงและเริ่มหายไป คนในชุมชนหันมาซื้อผักจากตลาด ซึ่งอาจจะมีสารพิษตกค้าง เพราะเป็นผักที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ กลุ่มเยาวชนเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากศึกษาเพื่อฟื้นฟูผักพื้นบ้านโดยสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

          กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมที่เยาวชนเริ่มทำคือ ช่วงแรกพวกเขาลงไปทำความเข้าใจกับคนในชุมชน แต่มีคำถามสงสัยว่าทำไมเยาวชนถึงทำ เพราะอะไร กลุ่มเยาวชนจึงปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านสนับสนุน ช่วยประชาสัมพันธ์ในวันที่มีประชุมประจำเดือน กระจายข่าวให้ชาวบ้านรับรู้ สนับสนุนในการทำกิจกรรม ทั้งสถานที่ อุปกรณ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน เยาวชนได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาหลักคือคุณยายของเบลล์ เรื่องการขึ้นแปลงผัก พร้อมให้ใช้สถานที่ทำแปลงผักทดลอง สนับสนุนพันธุ์ผักพื้นบ้าน ไปจนถึงช่วยดูแลผัก และมีปราชญ์ชาวบ้านร่วมแนะนำ ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ผักพื้นบ้าน ให้เมล็ดพันธุ์ บอกเล่าความเชื่อเรื่องการปลูกผัก เรื่องการทำความรู้จักดิน มีหมอดิน ให้ความรู้เรื่องปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ส่วนอสม. ช่วยสนับสนุนและร่วมปลูกผักพื้นบ้านที่บ้านของตนเอง และยังมีคนในชุมชนกว่า 70 % ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งการปลูกในแปลงที่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับบ้านของแต่ละคน หรือแม้กระทั่งปลูกในกระถาง

           เยาวชนเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับการทำงาน จากเดิมพวกเขายังมีทักษะการสื่อสารไม่มากนัก การเรียบเรียงสื่อสารยังไม่คมชัดทำให้การสื่อสารกับคนในชุมชนไม่ชัดเจน แต่หลังจาการทำงานพวกเขาเพิ่มพูนทักษะ เรียบเรียงและทำงานอย่างมีระบบ แบ่งงานกันอย่างชัดเจน ที่มีทั้งฝ่ายการเงิน ฝ่ายการจดบันทึก ฝ่ายประสานงาน และช่วยลงมือทำ ทำแปลง ปลูกผัก สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน ถอดบทเรียน ทำงานเอกสารร่วมกัน พลังของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจ ทำงานชุมชนด้วยความรัก มิตรภาพที่ผูกพันทำให้พวกเขารู้จักการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน พวกเขาให้กำลังใจและมองโลกในแง่ดี แม้ระหว่างทางจะมีเพื่อนที่หายไปจากการทำกิจกรรม แต่ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้เยาวชนหยุดทำ พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออกเป็นต้นทุนเดิม จึงกล้าหาญเริ่มต้นทำโครงการฯ เพื่อชุมชน จากที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำโครงการ พวกเขาสะสมประสบการณ์ทั้งทางปฏฺิบัติการและการจัดการเอกสาร การประเมินการปลูกผักให้ตรงฤดูกาลและทำอย่างถูกวิธี กลุ่มเยาวชนรู้สึกภูมิใจในการเรียนรู้เพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นต้นทุนชีวิตที่ดี ที่จะนำไปปรับใช้ในรั้วมหาวิทยาลัย

            อนาคตเยาวชนอยากให้ผักพื้นบ้านเป็นตัวแทนเชื่อมสานสัมพันธ์ในชุมชน เพราะทุกบ้านไม่ได้ปลูกเหมือนกันหมด แต่บ้านใครมีอะไรหรือจะใช้ผักชนิดไหนทำอาหารก็แบ่งปันกันในชุมชน อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และลดสารตกค้างในร่างกายจากการรับประทานผักที่ซื้อมาจากแหล่งที่ไม่รู้ต้นทาง สร้างสุขภาพที่ดีไปด้วยกัน

ความโดดเด่น

  • โครงการฯ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนโดยการสร้างความร่วมมือให้ทุกคนมีส่วนร่วมตามประสบการณ์และความชำนาญของตนเอง
  • เลือกผักพื้นบ้านในการศึกษาและสร้างการมีส่วนร่วมเพราะเป็นอาหารที่อยู่ในวิถีและ 1 ในปัจจัย 4 ที่ทุกบ้านต้องบริโภค จึงได้รับผลตอบรับมากถึง 70 %
  • แกนนำเยาวชนทำงานเป็นทีม รับผิดชอบ และทำงานอย่างมีระบบชัดเจน