ณัฐนันท์ มณีดำ
พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน ศึกษาวัฒนธรรมไทยทรงดำของชุมชนตำบลดอนคา
ประวัติและผลงาน
ตำแหน่ง ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ กองการศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา
โครงการกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของเด็กเยาวชนและคนในชุมชนตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

       นางสาวณัฐนันท์ มณีดำ หรือพี่นุ้ย ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ กองการศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นพี่เลี้ยงโครงการกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของเด็กเยาวชนและคนในชุมชนตำบลดอนคา พี่นุ้ยเป็นคนไทยทรงดำเกิดและเติบโตในชุมชนลาวโซ่งที่อพยพจากเวียดนามเมื่อหลายร้อยปีก่อนมาตั้งถิ่นฐานในตำบลดอนคา คนรุ่นพี่นุ้ยยังพูดภาษาไทยทรงดำได้ หลังเรียนจบเอกธุรกิจอังกฤษ ที่กรุงเทพฯ พี่นุ้ยตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดและสมัครทำงานที่ อบต.ดอนคา ได้รับมอบภารกิจงานเกี่ยวกับงานสภาเด็กและเยาวชนของ อบต.ดอนคา ความเป็นไทยทรงดำคือวัฒนธรรมที่พี่นุ้ยอยากให้เด็กรุ่นหลังมองเห็นว่าเป็นทุนทางสังคมของตัวเองเป็นวิถีที่มีดี จึงเสนอโครงการกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของเด็กเยาวชนและคนในชุมชนตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โดยดึงเอาทีมเด็กและเยาวชนของสภาเด็กและเยาวชนตำบลดอนคามาขับเคลื่อนร่วมกัน ณ ห้วงเวลาที่ผู้รู้สืบทอดพิธีกรรมเหลืออยู่จำนวนน้อย และเด็กเชื้อสายไทยทรงดำรุ่นใหม่พูดภาษาลาวโซ่งไม่ได้แล้ว นายกและปลัด ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา มีฐานคิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้านส่งเสริมการกีฬา ฝึกอบรมกีฬา โครงการพี่สอนน้อง สร้างสนามกีฬา ให้เยาวชนมาใช้เล่นในยามเย็น และส่งเสริมสนับสนุนการสืบทอดวิถีไทยทรงดำ

       บทบาทของพี่นุ้ยในโครงการ เริ่มตั้งแต่คิดค้นวิธีการทำงานใหม่ในประเด็นวัฒนธรรม ค้นหาผู้รู้ปราชญ์ชุมชน พาเด็กและเยาวชนไปเรียนรู้ผ่านกระบวนการประชาคม และเจาะลึกลงเรียนรู้กับปราชญ์ที่บ้าน ช่วยเยาวชนเตรียมการเก็บข้อมูล สร้างคำถาม ฝึกการถามการบันทึกเก็บข้อมูล เช่น เรื่องอาหารและกรรมวิธีปรุงของคนลาวโซ่ง เป็นคนช่วยแปลภาษาลาวโซ่งให้กับน้องคนไทยในทีมที่ไม่ใช่คนไทยทรงดำ เสริมกำลังให้ทีมเยาวชนกล้าลองผิดลองถูกมั่นใจที่จะเรียนรู้ เป็นที่ปรึกษาให้ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน เป็นกาวประสานใจให้กับทีมเยาวชนยามที่ขัดแย้งรุนแรง และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองของเยาวชนที่เข้ามาทำงาน รับออกจากบ้านมาทำงานและส่งกลับบ้านเมื่อเสร็จงาน จนผู้ปกครองไว้วางใจให้เยาวชนทำงาน สร้างบรรยากาศการทำงานที่สนุก มีกิจกรรมบันเทิง เช่น เดินตลาด ทำอาหารทานร่วมกัน เพื่อให้ทีมรู้สึกผ่อนคลายในการทำงานแม้งานนี้จะนับเป็นภาระงานนอกเหนือจากตำแหน่งงานของพี่นุ้ย แต่เป็นงานที่พี่นุ้ยสนใจและผู้บริหารสนับสนุนให้ฟื้นฟูอัตลักษณ์ของคนไทยทรงดำ ความสนใจของตนเองและการสนับสนุนของผู้บริหารจึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการทำงานและทำให้พี่นุ้ยพบข้อเรียนรู้จากโครงการดังนี้

       ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนคือบทบาทหลักของพี่เลี้ยง “พี่เลี้ยงเราไม่จำเป็นต้องบอกน้องทุกอย่าง เราต้องทรมานในการเก็บความรู้ของเรา ต้องทำให้น้องไปเรียนรู้ให้ได้ ให้น้องเรียนรู้เอง เรารู้จากกระบวนการของอาจารย์ธเนศว่าทำให้น้องเรียนรู้เอง ความรู้จะอยู่ในความทรงจำเขาดีกว่าที่เราไปบอก กระบวนการนี้สร้างให้เด็กมีความคิด กล้าแสดงออกทำงานอย่างเป็นระบบ เหมาะกับเด็กที่เริ่มโต ม.ปลาย ถึง มหาวิทยาลัย ถ้าเด็กเล็กเริ่มทำได้ น้องก็ช่วยเรื่องลงทะเบียน เพิ่มกระบวนการให้น้องได้ฝึกคิด”

       ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในโครงการทำให้เห็นถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง คือความสามารถในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการที่เข้าใจบริบทของเยาวชน “การเอาเด็กร้อยพ่อพันแม่มาทำงานด้วยกัน ปัญหาแต่ละคนเยอะ ทะเลาะกันบ้าง พี่เลี้ยงต้องทำความเข้าใจบริบทของแต่ละคน ว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้เด็กทำงานร่วมกัน มีปัญหาน้องไม่ให้ความร่วมมือ หลุดวงโคจร จะทำอย่างไรให้น้องกลับเข้ามาในทีมได้ ซึ่งสอนเราว่าเราเป็นพี่เลี้ยง” ขยายการมีส่วนร่วมในกลุ่มเด็กแว้นท์ ให้เข้ามาช่วยจัดสถานที่ โดยหวังให้ถึงจุดที่กลุ่มนี้จะเข้าร่วมกระบวนการได้อย่างไม่ขัดเขินในอนาคต

       ชุมชนเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการทำงาน เมื่อเกิดปัญหาความร่วมมือของชุมชน จะต้องแก้ไขให้ได้ ทั้งปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับเวลาของคนในชุมชน เพราะถ้าชุมชนไม่ให้ความร่วมมือกิจกรรมทุกอย่างจะผ่านไปไม่ได้

­

ความโดดเด่น

  • มุ่งมั่นสร้างคุณค่าอัตลักษณ์คนไทยทรงดำให้เป็นทุนทางสังคมของเยาวชนและชุมชน
  • เปิดใจเรียนรู้จากปัญหา ใช้ฐานความสัมพันธ์แบบพี่น้องในครอบครัวจัดการความขัดแย้ง เสริมพลังใจทีมทำงาน
  • มีความเพียรพยายามบริหารการเรียนรู้ให้กับเยาวชนแม้จะเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากงานหลัก จนเกิดเป็นทักษะสำคัญการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน