กสิณทิพย์ หมัดโส๊ะ
พี่เลี้ยงเยาวชน Active Citizen โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
พี่เลี้ยง/อาจารย์ที่ปรึกษา ใน เกษตรปลอดสารพิษ
ประวัติและผลงาน
สอนวิชาสังคมศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 หัวหน้างานช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก พี่เลี้ยงโครงการ
โครงการเกษตรปลอดสารพิษเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

­

       คุณครูเหรียม กสิณทิพย์ หมัดโส๊ะ สอนวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง แนะแนว ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 และสอนระดับประถมศึกษา ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา เป็นพี่เลี้ยงโครงการเกษตรปลอดสารพิษเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นปีที่ 2 เข้ามารับบทบาทพี่เลี้ยง ในปีแรกครูเหรียมได้เข้าร่วมการอบรมภายใต้โครงการโรงเรียนพลเมืองเยาวชนต้นปริก โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลปริก, โรงเรียนเทศบาลปริก, สงขลาฟอรั่ม, สยามกัมมาจล, สภาเด็กและเยาวชน, แกนนำเยาวชนในตำบลปริก กิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ แลกเปลี่ยนความคิด มีกระบวนการให้เยาวชนคิดในสิ่งที่อยากทำ จัดกลุ่มตามความสนใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอกัน ครูเหรียมเห็นความตั้งใจของเยาวชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูทำหน้าที่พี่เลี้ยง สนับสนุนกิจกรรมของเยาวชน

       ในปีที่สองครูเหลียมเป็นพี่เลี้ยงให้กับโครงการเกษตรปลอดสารพิษเพื่อแก้ปัญหารายจ่ายโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งต้องศึกษาวิธีการปลูกผักปลอดสารพิษและต้องเพาะปลูกให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับนักเรียนและครูทั้งโรงเรียนกว่า 600 คน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักเรียนแกนนำวัยมัธยมต้น ครูเหรียมจึงทำหน้าที่ช่วยเด็กๆคลี่งาน กระตุ้นด้วยคำถามทำให้เยาวชนเกิดทักษะการคิด วางแผน ก่อนการลงมือปฏิบัติ ตลอดการทำโครงการมีโจทย์ย่อยๆ ให้เด็กฝึกทำงานและแก้ปัญหาเป็นระยะ เช่น สำรวจความต้องการผักของโรงครัว หาความรู้การทำเกษตรปลอดสารพิษ แก้ไขปัญหาหน้าดินและเตรียมพื้นที่เพาะปลูก หากำลังคนและบริหารจัดการแบ่งงานเพื่อปลูกให้เพียงพอ โจทย์การทำงานและปัญหาเหล่านี้จะโผล่มาจากการที่ให้นักเรียนได้พูดคุยประชุม BAR และ AAR จนภายหลังเด็กๆสามารถทำกระบวนการวางแผนนี้ได้เอง ซึ่งครูเหรียมยังคงเฝ้ามองสังเกตพัฒนาการของเด็กๆแต่ละคนอยู่ห่างๆ

       เด็กไม่มีข้อมูลความรู้ก่อน หรือรู้สึกท้อถอยระหว่าง ครูเหรียมได้เข้ามาช่วยให้โครงการสามารถไปต่อได้ เช่น เมื่อเยาวชนพบปัญหาทั้งเรื่องดินแข็งและวัชพืช ก็ชวนคิด ชวนคุย แนะนำให้หาข้อมูลอย่างรอบด้าน พาลงชุมชนเพื่อไปหาความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน และที่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของเทศบาล เพื่อให้เยาวชนนำความรู้มาปรับใช้และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง หัวใจสำคัญของการแก้ไขทุกปัญหาในโครงการที่เยาวชนพบ ครูเหรียมใช้วิธีแนะนำ ให้กำลังใจ นำพาความรู้สึกท้อออกไปจากใจเยาวชนเพราะเมื่อเขามีพลังใจ เขาจะพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไปให้ได้ พี่เลี้ยงจึงทำหน้าที่รับฟัง เปิดโอกาสให้เด็กพูดก่อนเสมอ รอคอยให้เขาหาหนทางและวิธีการมานำเสนอ กระตุ้นให้เขาแสดงความคิดเห็นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ที่แท้จริง สร้างพื้นที่แห่งความไว้วางใจระหว่างกัน ให้เยาวชนรู้สึกว่าคุณครูเหรียมเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นแม่ และที่จะกล้าพูด เมื่อเยาวชนกล้าพูดหลาย ๆ ครั้ง ครูเหรียมพบว่าเขาจะคิดวิธีการแก้ปัญหาออกมาได้

      ครูเหรียมให้ความสำคัญกับการประชุมในการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง รวมทั้งการบันทึกเมื่อลงพื้นที่แต่ละครั้ง ครูเหรียมจะสังเกตเยาวชนเพื่อทำความเข้าใจความคิด พฤติกรรม และติดตามความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนรู้ต่อ การทำหน้าที่พี่เลี้ยงทำให้ครูเหรียมมีมุมมองเชิงบวกต่อนักเรียนเพิ่มขึ้น เห็นความมีน้ำใจ ความเสียสละ ความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำเพื่อพัฒนาชุมชนและโรงเรียนของนักเรียน

       เนื่องจากเยาวชนในโครงการมีกำลังไม่เพียงพอต่อการผลิตที่ต้องการผลผลิตจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่ออาหารกลางวันของโรงเรียน ครูเหรียมแนะนำให้เยาวชนนำเสนอโครงการกับน้อง ๆ พี่ ๆ ในโรงเรียน รวมทั้งเชิญผู้อำนวยการและคณะผู้บริหารคณะกรรมการในชุมชน มารับฟังการนำเสนอโครงการของเยาวชน การนำเสนอได้ผลดีมาก ผู้ใหญ่ยอมรับในสิ่งที่เยาวชนคิดและทำ และยังมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นเป็นสมาชิกอีก 50 คน มาช่วยเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนโครงการ

       บทบาทที่สำคัญของพี่เลี้ยงคือการยกระดับจากสิ่งที่เยาวชนคิดและทำให้เป็นประเด็นร่วม เชื่อมโยงให้ผู้ใหญ่ในชุมชนและผู้บริหารเห็นความตั้งใจของเยาวชน สร้างแนวร่วมในโรงเรียนเพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่สนใจได้มีบทบาทผลิตอาหารปลอดภัยให้โรงเรียน จากโครงการเล็ก ๆ ที่ตั้งใจผลิตวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ ไม่เพียงเด็ก เยาวชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย แต่ยังสร้างเยาวชนจากการลงมือทำ ผ่านการเรียนรู้ที่แท้จริง

­

ความโดดเด่น

  • คุณครูเหรียมเป็นพี่เลี้ยงที่มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ ละเอียด และอำนวยการให้เด็ก เยาวชนพบหนทางแห่งการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
  • คุณครูเหรียมสังเกตเยาวชนเพื่อทำความเข้าใจความคิด พฤติกรรม และติดตามความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนรู้ต่อเป็นรายบุคคล
  • เป็นนักเชื่อมร้อย เชื่อมโยงให้ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้ปกครองตลอดจนชุมชน เห็นผลงานและสนับสนุนงานของเยาวชน ซึ่งเสริมพลังบวกให้เยาวชนรู้สึกมีคุณค่าและภูมิใจในสิ่งที่ทำ