เมทิณี บุญเกิด
แกนนำเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน จ.สงขลา
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

โครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร  จังหวัดสงขลา กลุ่มรักษ์บ้านแหลมสน


          บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อดีตเป็นเมืองที่มีความสำคัญกับจังหวัดสงขลา มีโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ภายในชุมชน แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง คนส่วนใหญ่รวมทั้งเยาวชนในชุมชนไม่รู้ประวัติความเป็นมา ทำให้เยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านแหลมสนซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ สนใจศึกษา ค้นคว้าประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลของพื้นที่นี้ที่สามารถส่งต่อให้คนในพื้นที่ รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาได้ ถ้าไม่ศึกษา ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนสนใจ พวกเขาเกรงว่าที่นี่อาจเป็นเพียงสถานที่ซึ่งถูกทิ้งให้ลืม

          เยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านแหลมสนเกิดจากการรวมตัวของนักเรียนโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ที่เรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีคุณครูสารภี รองสวัสดิ์ คุณครูสอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและ ประวัติศาสตร์เป็นพี่เลี้ยงโครงการ

          กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนถือว่าเป็นช่วงที่ท้าทายในการทำโครงการ เพราะในช่วงแรกนั้นเยาวชนวางแผนไปสัมภาษณ์ผู้รู้และคนในชุมชน ปรากฏว่าได้ข้อมูลไม่ตรงกัน รวมถึงคนในชุมชนส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบประวัติของพื้นที่นี้ เยาวชนจึงปรึกษาพี่เลี้ยงโครงการและปรับแผนเป็นไปค้นคว้าจากหลายช่องทาง คือการสอบถามจากผู้สูงอายุ พระ คุณครู ผู้รู้ในชุมชน ศึกษาค้นคว้าจากพงศาวดารในพิพิธภัณฑ์ จากหนังสือประวัติศาสตร์ จากอินเทอร์เน็ต จากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบเรียบเรียงข้อมูล โดยทำ Timeline ประวัติศาสตร์ ทำแผนที่เดินดิน

         “นักเรียนเล่าว่า เวลาที่ถามชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ในในชุมชน เขาไม่เข้าใจว่า “ทำไมคนแก่เล่าไม่ได้” “เขาไม่เคยเล่าสืบต่อกันมาเหรอครู” ครูจึงบอกไปว่าบางทีคนเก่าแก่จริง ๆ ของชุมชนเราที่รู้อาจไม่อยู่แล้ว อาจจะเป็นคนที่อื่นมาอยู่ที่นี่และไม่รู้เรื่องราวประวัติท้องถิ่นของเราก็ได้ จึงไม่มีคนเฒ่าคนแก่ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน ครูจึงสรุปกับเขาว่าเพราะฉะนั้นนักเรียนนี่ล่ะ จะต้องเป็นคนเรียนรู้เพื่อเล่าต่อให้คนได้รู้ประวัติความเป็นมารากเหง้าของเรา” ครูสารภี เล่าถึงกระบวนการทำงานของเยาวชน

         เมื่อได้ข้อมูลที่เรียบเรียงแล้ว จึงเปิดรับสมัครนักเรียนที่สนใจ 20 คนเพื่อพาลงชุมชนดูโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ พร้อมเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ให้เพื่อนเยาวชน เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้เยาวชนในพื้นที่รู้ประวัติศาสตร์บริเวณบ้านของตนเอง ในวันนั้นทุกคนให้ความสนใจและเป็นแนวร่วมในการศึกษา ค้นคว้าประวัติศาสตร์ชุมชน จนเกิดข้อค้นพบใหม่ ความรู้ใหม่เชิงประวัติศาสตร์ของชุมชน ตัวอย่างเช่น “ความเชื่อ ‘เรื่องศิวลึงค์’ แต่ก่อนชาวบ้านเชื่อว่า พื้นที่บ่อเก๋งมีศิวลึงค์ พื้นที่ตรงนั้นสมัยก่อนเป็นท่าขึ้นเรือมีเสาหินอ่อนตั้งขึ้นเพื่อผูกเรือ ซึ่งรูปร่างของเสาใกล้เคียงกับ ศิวลึงค์ พวกเราไปค้นหาข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์พบว่าเสาต้นนั้นไม่ใช่ศิวลึงค์ แต่เป็นที่ผูกเรือในสมัยนั้น” พวกเขาภูมิใจ ประทับใจในเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ อยากรักษา ถ่ายทอด บันทึกให้คนในชุมชนได้รู้ประวัติศาสตร์

          จากพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ค่อยมีคนใส่ใจดูแล เมื่อเยาวชนสืบค้นจนรู้เรื่องราวทำให้ท้องถิ่นเห็นว่าเรื่องที่เด็ก ๆ ทำ เป็นประโยชน์กับชุมชน จึงเข้ามาบูรณะ ทำความสะอาด พื้นที่มีชีวิตชีวาขึ้น พร้อมกับการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาศึกษาและพบเยาวชนในโครงการฯ เยาวชนก็สามารถเล่าเรื่อง ตอบคำถามได้ ทั้งนี้ในโอกาสต่อไปเยาวชนกลุ่มรักษ์แหลมสนอยากขยายผล พัฒนาตัวเองให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน

         จากการทำงานทำให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การวางแผน ฝึกความอดทน ทักษะการเข้าสังคม เยาวชนหลายคนสะท้อนว่าใจเย็นและมีรายละเอียดในการทำงานมากขึ้น มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้รู้วิธีการหาข้อมูลที่หลากหลาย การทำโครงการฯ ทำให้พวกเขาได้ติดตั้งวิธีการหาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และพวกเขาได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำรายงานในวิชาอื่น ๆ ที่โรงเรียน ในขณะที่คุณครูสารภี (พี่เลี้ยงโครงการฯ) ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนประวัติศาสตร์ให้นักเรียนได้ลงพื้นที่ ค้นคว้า ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุก มีส่วนร่วมขึ้น

        “เวลาที่คุณครูให้งานในวิชาเรียน เรารู้วิธีการหาข้อมูล เพราะเราเคยทำมาแล้ว” มุก เล่าถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากประสบการณ์ช่วงที่ทำโครงการ


ความโดดเด่น

  • เยาวชนกลุ่มรักษ์แหลมสน ศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยการสอบถามจากผู้สูงอายุ พระ คุณครู ผู้รู้ในชุมชน และค้นคว้าจากพงศาวดารในพิพิธภัณฑ์ ศึกษาจากหนังสือประวัติศาสตร์ ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต มาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Timeline และทำแผนที่เดินดิน ส่งผลให้เยาวชนได้ฝึกฝนหลักการคิดเชิงเหตุผล (Critical Thinking)
  • เยาวชนให้ความใส่ใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมีคุณครู (พี่เลี้ยงโครงการ) เอื้ออำนวยการเรียนรู้ และมีชุมชนสนับสนุบเปิดพื้นที่ให้ศึกษา ส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาต่อไป
  • เยาวชนและคนในชุมชนให้ความสนใจ เข้าใจท้องถิ่น ร่วมอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ทางประวัติศาสตร์