คุณประทีป เมืองงาม
ครู
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

ประกายความคิดในวันเริ่มต้น
 

ครู ประทีปเลือกที่จะสอนวิชาการงานอาชีพ ด้วยเหตุผลความชอบส่วนตัว กอปรกับความถนัดซึ่งเป็นต้นทุนชีวิตที่พ่อแม่ และครอบครัวมอบให้ “จากการที่ผมเป็นลูกชาวนาที่ต้องต่อสู้ด้วยตนเอง ทำให้ผมได้เปรียบคนอื่น มีทักษะชีวิตมากกว่า พึ่งพาตัวเองได้ทุกเรื่อง ฉะนั้นการเลือกที่จะเรียนเกษตร จึงอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว บางคนบอกว่าผมคิดผิดที่เลือกเรียนและสอนวิชานี้ เพราะทำให้เราหารายได้พิเศษไม่ได้ แต่ผมกลับมองว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้”


สำหรับ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสอดแทรกในวิชาการงานอาชีพนั้น ครูประทีปบอกว่า รู้จักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันที่ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ เดินเข้ามาที่โรงเรียนพร้อมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วชักชวนให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ นับตั้งแต่นาทีแรกที่ได้ฟัง ครูประทีปก็เริ่มมีใจอยากทำ และเข้าใจว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการหาอยู่หากิน การพึ่งพาตนเอง และคิดว่าที่ผ่านมาตนได้ทำอยู่บ้าง เช่น การสร้างงานสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับนักเรียนในรูปแบบของบริษัทจำลอง ผลิตสินค้าขาย จนได้รับรางวัลครูเกษตรดีเด่นด้านการทำบริษัทจำลองมาแล้ว


ลังจากนั้นครูประทีปก็ทำ ไปเรียนรู้ไป กว่าจะเข้าใจถ่องแท้ว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ก็ต้องใช้เวลาไป 1 ปีกับการทำความเข้าใจ โดยค้นคว้าหาความรู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการไปอบรม การเป็นวิทยากร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ถ้ามองย้อนกลับไป แล้วถามว่าผมได้เรียนรู้จากอะไร ผมได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติส่วนหนึ่ง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ส่วนหนึ่ง และการย้ำเตือนจากการอบรมสัมมนา ที่สำคัญคือการฟังจากผู้รู้ ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก โดยเฉพาะจาก ดร.ปรียานุชที่พูดว่า “การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานความเป็นจริง”ท่าน พูดแค่นี้ก็ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า ความเป็นจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความเป็นจริงเรื่องเงินในกระเป๋าของเราก็ไม่เท่ากัน นี่คือแนวคิดที่ได้รับ โชคดีที่ผมพอมีความรู้เก่าอยู่บ้าง เมื่อได้รับความรู้ใหม่ๆ มาจึงทำให้ต่อยอดความคิดได้ง่ายขึ้น”


การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

  • สอนคนมากกว่าสอนหนังสือ

  • เรียนรู้จากปัญหาและชีวิตจริง

  • ให้ลงมือปฏิบัติก่อน แล้วจึงนำวิเคราะห์ตามหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ

การ สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาการงานอาชีพ คือนำไปใช้กับขั้นตอนการวางแผนการสอน การปฏิบัติ และการประเมินผล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “การสร้างกระบวนการคิด การแก้ปัญหา” เพื่อให้ผู้เรียนพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

“ผม สอนให้เด็กปลูกผัก โดยไม่สอนว่าปลูกอย่างไร แต่ให้เด็กไปปลูกก่อน แล้วทำรายงานมาส่ง ให้ค้นคว้าหาองค์ความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ ตามความเหมาะสมและความถนัดของนักเรียน ส่วนการปฏิบัตินักเรียนจะเป็นผู้ลงมือทำเอง ผลที่เกิดขึ้นจะงอกงามหรือไม่ ทุกคนจะได้ชื่นชมผลงานในวันที่นักเรียนเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงครัว โดยมีพืชผักและเงินเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียนคือ ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงและการได้ค้นคว้าหาความรู้ก่อนลงมือปฏิบัติ ด้วยตัวเอง”


ครู ประทีปให้นักเรียนทำงานเองโดยไม่ต้องสอนด้วยความจงใจ  เพราะต้องการให้นักเรียนเผชิญกับปัญหาโดยตรง ด้วยความคิดเห็นที่ว่า "สุดท้ายแล้วปัญหาจะย้อนกลับมาสอนเรา"  อย่างไรก็ตาม ครูประทีปยังคงเนื้อหาตามหลักสูตรที่สำคัญไว้ไม่ให้ตกหล่น “นักเรียนจะต้องเรียนเนื้อหาทฤษฎีและไม่จำเป็นต้องมาพิสูจน์ทุกเรื่องอะไร ที่ครูสามารถเด็ดยอดให้แล้วนักเรียนสามารถนำไปต่อยอด ก็ต้องสอนไปตามเนื้อหา ตามหลักสูตร”


การ สอนวิชาการงานอาชีพ ไม่ได้สอนให้นักเรียนทำเค้ก ไม่ต้องการสอนให้นักเรียนปลูกผักบุ้ง การแปรรูป หรือสอนให้ผู้เรียนเลี้ยงสัตว์ได้ แต่พยายามสอน “ให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้” ผ่านกระบวนการคิด กระบวนการแสวงหาความรู้ โดยเชื่อว่าเมื่อผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ได้เอง คิดเป็น วิเคราะห์เป็น เมื่อจบการศึกษาออกไป หรือไม่ว่าจะทำงานใดๆ ก็จะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ดีกว่าการเรียนแบบท่องจำ หรือจำไปปฏิบัติโดยไม่ประยุกต์ใช้ความรู้ให้เหมาะสม ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่า ผู้เรียนจะได้ความรู้ไม่ครบถ้วน และไม่ต้องกังวลว่าจะสอนตามบทเรียนทันหรือไม่ เพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ ประยุกต์ความรู้ใช้ได้เอง โดยบางครั้งครูไม่ต้องสอน


“คน ส่วนใหญ่ชอบทำตามกัน เห็นคนอื่นเลี้ยงกุ้งกุลาดำแล้วรวย ก็อยากเลี้ยงบ้าง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เพียงพอ ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายในชีวิต ดังนั้น ก่อนลงมือปฏิบัติจึงต้องรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเองก่อน ในชีวิตจริงสิ่งที่เรียนจากตำราใช้ได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น บางเรื่องไม่เคยเรียนมาด้วยซ้ำ แต่เราต้องมาแสวงหาความรู้จากข้างนอก จากเพื่อน จากแหล่งความรู้ใกล้ตัว ผมอยากเห็นนักเรียนเป็นคนอย่างนี้มากกว่านักเรียนที่สอบได้คะแนนดี ผมอยากให้นักเรียนพร้อมเสมอที่จะแสวงหาความรู้ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ว่าจะการเรียนหรือการทำงาน เพราะคนที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่คนที่เรียนเก่ง แต่เป็นคนที่แก้ปัญหาเก่ง และถ้าเรียนเก่งและแก้ปัญหาเก่งด้วย ก็สามารถเติบโตได้รวดเร็วในทุกเรื่อง ทั้งการเรียนและการทำงาน กล้าเผชิญ และมีทักษะในการแก้ปัญหา เพราะในชีวิตจริงไม่มีใครตัดสินใจแทนได้ แม้ว่าจะมีพ่อแม่ หรือเพื่อนเป็นที่ปรึกษา แต่ที่สุดแล้วคนที่จะตัดสินใจคือตัวของเราเอง”


ครู ประทีปเล่าถึง ความต่างระหว่างการสอนแบบเดิม โดยไม่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกว่า แต่เดิมการสอนวิชาการงานอาชีพจะเน้นที่ผลผลิต เลี้ยงไก่ก็ต้องได้ขาย ได้กำไร หรือถ้าเลี้ยงไก่แล้วไก่ตายจำนวนมาก ทำให้ขาดทุนหรือเท่าทุน ก็จะให้คุณค่าว่าขาดทุน นั่นคือการสอนที่มุ่งเป้าเพื่อผลผลิต หรือชิ้นงาน แต่หลังจากนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ครูประทีปจึงเปลี่ยนเป้าหมายของการสอนใหม่ ด้วยการเน้นให้ผู้เรียน “มีหลักคิด” …“บางเรื่องทำแล้วขาดทุนในแง่ของตัวเงินหรือผลผลิต แต่เราได้กำไรที่ประเมินค่าไม่ได้ นั่นคือ “องค์ความรู้”


ครู ประทีปเล่าว่า จากที่เคยพานักเรียนเลี้ยงไก่นับร้อยตัว ได้กำไรหลายพันบาท เฉลี่ยแบ่งให้นักเรียนได้หลายคน นั่นคือความสุขที่ทำให้เด็กนักเรียนมีรายได้ แต่ความสุขเช่นนี้กลับทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนตกหล่นหายไป เช่น ในอดีตเมื่อนักเรียนไม่มีเวลามารดน้ำผัก เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนกลับบ้าน ครูประทีป ต้องมารดน้ำเอง หรือหากมีเพลี้ยลงแปลงผัก ก็ต้องเอายาฆ่าแมลงมาฉีดเอง ด้วยความกลัวว่านักเรียนจะได้รับสารพิษ แต่เมื่อนำหลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แม้ผักจะเสียหายไปบ้าง เพลี้ยลงไปบ้าง ก็ปล่อยให้เป็นไป เพื่อให้ผลของการกระทำของผู้เรียนออกมาให้ชัดเจนที่สุด แล้วจึงนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาสอน ผู้เรียนว่า ปัญหาเกิดจากอะไร พร้อมหาวิธีแก้ไขร่วมกัน ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรไม่ให้เพลี้ยกัดกินต้นพืช หรือมีวิธีการใดบ้างที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง
 

แต่ เดิมในการสอนวิชาการงานอาชีพ โดยเฉพาะบทเรียนที่นักเรียนต้องลงไปศึกษาและปฏิบัติจริงในแปลงเกษตร นักเรียนทุกคนจะต้องลงแปลงเกษตรโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่เมื่อครูประทีปนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกในการเรียนการสอน ด้วยการให้ผู้เรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตจริงพบว่า นักเรียนมีความคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น “เดี๋ยวนี้ถ้ามีคาบเรียนที่ต้องลงแปลงผักตอนเที่ยง นักเรียนจะบอกว่าขอไปทำตอนเย็นได้ไหม เพราะช่วงเที่ยงแดดร้อนมาก และยังต้องเตรียมตัวเรียนวิชาต่อไป ซึ่งหากลงแปลงเกษตรตอนเที่ยง จะทำให้เหนื่อยมาก ส่งผลให้การเรียนในคาบต่อไปไม่มีประสิทธิภาพ เพราะร่างกายอ่อนเพลีย”
 

“สิ่ง ที่ผมสอนนักเรียนทุกวันนี้เป็นเพียงสื่อที่ปูทางการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียน ให้มีหลักคิด ตามตัวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ผู้เรียนที่จบการศึกษาออกไปจะต้องมีหลักคิดในการศึกษา ต่อและการใช้ชีวิต ซึ่งหากนักเรียนมีหลักคิดจะต้องสามารถแสวงหาความรู้เรื่องได้จากหลายทาง และต้องสามารถเชื่อมโยงความรู้จากหลายๆ วิชาเข้ามาใช้เป็นความรู้ในการทำเรื่องอื่นๆ ได้”
 

ส่วน การได้มาซึ่งคะแนนในวิชาการงานอาชีพนั้น ครูประทีปจะประเมินจากกระบวนการทำงาน การวางแผนการทำงาน และการลงมือปฏิบัติจริง เช่น การสอนงานไม้เรื่องการทำเก้าอี้ ครูประทีปจะให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนปฏิบัติ ซึ่งตรงกับเงื่อนไขความรู้ที่จะต้องมีก่อนการลงมือปฏิบัติ หรือการให้นักเรียนออกแบบการทำงานก่อน แต่เกณฑ์ในการให้คะแนนไม่ได้อยู่ที่ความสวยงาม หากแต่อยู่ที่ความพยายามและพัฒนาการของผู้เรียนเป็นสำคัญ