มูลนิธิเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน
จัดตั้ง: 8 ต.ค. 2558
ข้อมูลองค์กร

­

ประวัติความเป็นมา

หลายทศวรรษที่ผ่านมา บทเรียนและประสบการณ์การทำงานพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในเมืองและชนบท ได้พัฒนาความรู้ ประสบการณ์ที่เกิดจากการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้าน ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน บนฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม การสร้างการมีส่วนร่วมของหญิงชายในการพัฒนารวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชนใน ระดับนโยบาย การประสานพันธมิตรในการพัฒนา การเชื่อมร้อยกลุ่มองค์กรประชาชนเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา บทเรียนในการทำงานเหล่านั้นได้สั่งสมและยกระดับไปสู่ความรู้ใหม่ และกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา
กระบวนทัศน์และทิศทางการพัฒนากระแสหลักใน ปัจจุบันทำให้ศักยภาพของชุมชนในการพึ่งตนเองลดน้อยลง เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนขยายเพิ่มมากขึ้น ด้วยแนวคิดการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อความทันสมัย และเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน ละเลยความสำคัญของคน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรวมศูนย์อำนาจในการพัฒนาเป็นการพัฒนาที่ทำให้คนระดับล่างทั้งหญิง และชายขาดโอกาส และการมีส่วนร่วมในการรับรู้และตัดสินใจทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม ไม่ยอมรับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาตนเอง แนวคิดในการพัฒนาดังกล่าว ได้นำพาให้ประเทศก้าวเข้าสู่วิกฤตของการพัฒนา การแย่งชิงทรัพยากร และความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน โดยเฉพาะภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงในหลายมิติ หลายระดับ ด้วยอิทธิพลความรู้ เทคโนโลยี และการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาในยุคโลกาภิวัฒน์ที่นำไปสู่การ เปลี่ยนแปลงทางความคิด ภูมิปัญญา และ ค่านิยมของสังคมไทยอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของประเทศในระยะยาว

­

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่เน้นความเป็นองค์รวม และบูรณาการ ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตของคนในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ ความสมดุลของฐานทรัพยากรธรรมชาติ อันนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการพัฒนาที่สร้างเสริมดุลยภาพของสังคม ด้วยการพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนกลุ่มต่างๆทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆในสังคมในการกำหนด และตัดสินใจในการพัฒนาทั้งในท้องถิ่นและระดับนโยบาย การให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งการประสานความร่วมมือขององค์กรทางสังคม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆของชุมชนและสังคมไทยโดยรวม
แนวคิด และบทเรียนดังกล่าวข้างต้นเป็นที่มาของการก่อกำเนิดมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ ยั่งยืน ที่ต้องการให้การพัฒนาที่ยั่งยืนได้รับการขยายผล และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนการทำงานและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและ องค์กรประชาชน กลุ่มท้องถิ่นต่างๆในการเผยแพร่แนวคิดและสร้างบทเรียนการทำงาน พัฒนาองค์ความรู้ และยกระดับภูมิปัญญาในการพัฒนา รวมทั้งสนับสนุนการประสานความร่วมมือกับกลุ่มคนต่างๆในสังคม เพื่อให้ผลประโยชน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนตกอยู่กับประชาชนระดับล่างโดยเฉพาะ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม และสนับสนุนความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนและสังคมอันจะนำไปสู่ความเข้ม แข็งและความอยู่รอดของสังคมไทยโดยรวม

­

วิสัยทัศน์

โลกประกอบด้วยสรรพสิ่งที่เป็น องค์รวม การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมส่งผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ บทบาทหน้าที่ที่อยู่รวมกันของมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องเป็นองค์ รวมที่เกื้อกูลกัน การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่เป็นองค์รวมและบูรณาการ ที่มีความหลากหลายและมีปฏิสัมพันธ์กัน ระบบผลิตและการบริโภคจักต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างปัญหามลพิษและปัญหาการใช้มากเกินดุลยภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องยึดหลักการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมนุษย์จักต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน และพึ่งพากันทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และหลักมนุษยธรรม ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตของคนในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความสมดุลของฐานทรัพยากรธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการสร้างความสมดุลของสังคมด้วยการพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนของหญิงและชายในการกำหนดและร่วมกันดำเนิน กิจกรรมการพัฒนาทั้งในท้องถิ่นและระดับนโยบาย การพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดขึ้นได้เมื่อมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วน ร่วมของประชาชนบนพื้นฐานของแนวคิดว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ และไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ซึ่งจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นระบบและครอบคลุมถึงปัจจัยทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียมประเพณี และปัจจัยทางด้านเทคนิควิชาการ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติอย่างยั่งยืนเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ใน ปริมาณจำกัด และมีความสามารถในการรองรับข้อจำกัดจึงต้องศึกษาความเหมาะสมในการใช้ ประโยชน์และการจัดการที่สร้างความสมดุล และมีวิธีการแบบมีส่วนร่วมซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนทราบถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อย่างโปร่งใส มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และร่วมกันจัดทำแผนงานเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงที่ประชาชนประสบ ตอบสนองความต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง


นอกเหนือจากนี้ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่เกิดจาก ข้อมูลที่ถูกต้อง มีการประสานหรือรวมแนวความคิดใหม่ มีการติดตามประเมินผล และมีความยืดหยุ่น ตลอดจนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง บนความเสมอภาคซึ่งเป็นการมองสถานการณ์อย่างเป็นองค์รวม ทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจโดยรวมถึงความเท่าเทียมกันในระหว่างภูมิภาคและท้องถิ่น และสุดท้าย การคาดการในอนาคต การวางแผนต้องมีเป้าหมายระยะยาวในอนาคต มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีข้อตกลงและเห็นชอบจากทุกฝ่ายอย่างชัดเจน


มูลนิธิ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2543 ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนการสร้างรูปธรรมองค์กรชุมชนใน พื้นที่อนุรักษ์ ให้ความสำคัญกับการเชื่อมร้อยเครือข่ายองค์กรชุมชน และสนับสนุนให้มีการรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นที่จะธำรงวัฒนธรรม ระบบการจัดการของตนเอง สิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อความอยู่รอดของชุมชนเอง ภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการจัดการทรัพยากร ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทผู้หญิงให้เป็นผู้นำโดยเน้นความเท่าเทียมกันในสิทธิ เสรีภาพของทั้งหญิงและชาย เพื่อให้ผู้หญิงมีศักยภาพและโอกาสแสดงออก มีความคิดริเริ่มและความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง และร่วมกับผู้อื่นในสังคมพัฒนาองค์ความรู้เพื่อยกระดับบทบาทในการตัดสินใจ และร่วมวางแผนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน

­

พันธกิจ

  • ส่งเสริมการศึกษา และเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชน กลุ่ม หรือเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
  • เสริมสร้างและขยายการประสานงาน ประสานเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชน ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
  • เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดความตระหนักและร่วมกันแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ระดับปฏิบัติถึงระดับนโยบายของประเทศ
  • เสริมสร้างความเข้าใจอันดีและก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคีอื่นๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยกับองค์กรต่างประเทศ
  • เพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความเป็นกลางและไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการ เมืองหรือพรรคการเมืองใด

ติดต่อองค์กร
มูลนิธิเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน
ที่อยู่: 86 ซอยลาดพร้าว110 (สนธิวัฒนา 2), ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทรศัพท์: 02-9353560-2
โทรสาร: 02-9352721