Learning Space ออกแบบพื้นที่ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ฅ.ค้นคว้า

“Learning Space - ออกแบบพื้นที่ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

เมื่อวันที่ 22 – 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา “พื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้จังหวัดศรีสะเกษ (Sandbox Sisaket)” ได้ทดลองสร้าง “พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space)” ขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ โดยคณะวิทยากรจากสถาบันอาศรมศิลป์เป็นผู้นำการจัดกระบวนการเรียนรู้ พาคณะครูจาก 17 โรงเรียนจังหวัดศรีสะเกษ แปลงโฉมห้องเรียนโจทย์ทั้งระดับชั้นอนุบาลและประถมให้มีความยืดหยุ่นเหมาะแก่การเรียนรู้หลากรูปแบบ

นิยามของคำว่า “Learning Space” รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้อธิบายไว้ว่า “คำนี้เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนแปลง จากการที่ผู้เรียนเป็นผู้รับฟังความรู้ สู่การที่ผู้เรียนลุกมาเป็นผู้ปฏิบัติการ บทบาทของครูปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ให้ราบรื่น (Facilitator)

เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมบรรยากาศในการเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อเราปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้สอดรับกับแนวคิดนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning Vision) ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการเรียนรู้จะเกิดผลเร็ว เพราะสภาพแวดล้อมทางกายภาพเป็นสิ่งที่หล่อหลอมพฤติกรรมของผู้คนโดยไม่รู้ตัว เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน อารมณ์ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนไปตามบรรยากาศ”

การจะสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เป็นมิตรกับผู้เรียน (Learning-friendly Environment) จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คณะวิทยากรจากอาศรมศิลป์จึงได้ให้คณะครูและผู้อำนวยการ ผู้เข้าร่วมจาก 17 โรงเรียน แปลงโฉมห้องเรียนโจทย์ทั้งระดับชั้นอนุบาลและประถมในโรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อยให้มีความยืดหยุ่นเหมาะแก่การเรียนรู้หลากรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงทั้งการออกแบบให้เหมาะสมรวมถึงความสะอาดของพื้นที่ ผู้เข้าร่วมทุกท่านจึงได้สวมบทบาทเป็นมัณฑนากรนักออกแบบสถานที่การเรียนรู้ (Learning Space Designer) ปรับโฉมห้องเรียน

กว่าครึ่งวันกับการปรับโฉม ไม่เพียงทำให้ห้องเรียนดูสวยงามและสะอาด แต่ยังแฝงไว้ด้วยมุมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ครูได้คืนความเป็นเจ้าของให้แก่นักเรียน แต่ละห้องถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการในการใช้พื้นที่การเรียนรู้ตามแต่ละช่วงวัย รายละเอียดต่าง ๆ ภายในพื้นที่ถูกให้ความใส่ใจมากขึ้น จึงทำให้ทุกพื้นที่ในห้องมีความหมายต่อการเรียนรู้ เกิดเป็นพื้นที่ว่างให้ผู้เรียนได้คิดออกแบบการเรียนรู้ของพวกเขาเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การได้ “เริ่มลงมือทำ” ยังทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่มีอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ เพียงแค่ออกแบบพื้นที่ใหม่จากสิ่งของที่มีอยู่ก็สามารถทำได้เช่นกัน และไม่ได้ใช้เวลาในการทำมากอย่างที่คิด จึงทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นว่า “Learning Space ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย ขอเพียงแค่การออกแบบเหล่านั้นจะสามารถเอื้ออำนวยการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้มากที่สุด”

“สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามและควรเป็นโจทย์ตั้งต้นในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) คือ การออกแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการเรียนรู้ (Learning Vision) และกระบวนการ (Process)”

จากการลงมือทำ นอกจากผู้เข้าร่วมจะได้ระดมความคิดเพื่อพัฒนาร่วมกันแล้ว รศ.ประภาภัทร นิยม และคณะวิทยากรจากสถาบันอาศรมศิลป์ ยังได้ช่วยโค้ชในการออกแบบและได้ให้คำแนะนำแก่ทุกห้องว่า ส่วนไหนที่พัฒนาได้ดีแล้วและส่วนไหนที่ยังควรปรับปรุง หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการออกแบบ ผู้เข้าร่วมทุกท่านจึงได้กลับมาทบทวนร่วมกับกลุ่มโรงเรียนของตนอีกครั้งว่า จากจุดเริ่มต้นการเดินเข้าไปเยือนแต่ละห้อง ได้เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรจากการจัดการห้องเรียน และมีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำที่โรงเรียนอย่างไรบ้าง

เพื่อให้ความคิดไม่หยุดที่ความคิด ทุกโรงเรียนจึงได้เขียนแผนการปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นสิ่งที่สามารถลงมือทำได้ทันที ระบุถึงทั้งเป้าหมาย ขั้นตอน และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยมี รศ.ประภาภัทร นิยม ช่วยให้คำแนะนำ

จากกิจกรรม “ผอ. สมศักดิ์ ประสาร” โรงเรียนบ้านปะทาย ได้สะท้อนว่า โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูและผู้อำนวยการที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ 17 โรงเรียน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ “พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space)” อย่างเป็นรูปธรรมว่าเป็นอย่างไร และได้เกิดแรงบันดาลใจในการจะดำเนินงานต่อในโรงเรียนของตน