การขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนของ ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ปี 2
สุทิน ศิรินคร

การขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนของ ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ปี 2


         

การบริหารจัดการเพื่อพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นภายใต้นโยบายของ จักรกฤษณ์ พาณิชย์กิจเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย สุรศักดิ์ สิงห์หาร หรือ ป.เช่ ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก ภายใต้แนวคิด “ชง เชียร์ ช้อน ช่วย เชื่อม” จนเกิดทีมนักถักทอชุมชน รุ่น 1 ที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะนำความรู้ ทักษะและเจตคติเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานแบบบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อสนับสนุนกิจกรรม โครงการและโครงงานเยาวชน เพื่อยกระดับการเรียนรู้และต่อยอดพัฒนาแกนนำเยาวชนในปีที่ 2 อย่างต่อเนื่อง

­

           

การขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานและสนับสนุนงบประมาณด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนของตำบลเมืองแก เมื่อปี 2556ทีมนักถักทอชุมชน ได้แก่ เผด็จ ยั่งยืน (รองปลัดเทศบาลฯ) เนตรทราย ถิ่นถาน (นักบริหารการศึกษา) ชนัญญา ศรีแก้ว (นักพัฒนาชุมชน) และ กิตติ ขุมทอง (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน) ทำหน้าที่ “ประสาน เชื่อมร้อยและถักทอ” โดยเน้นภารกิจหลักที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงของเทศบาลตำบลเมืองแก และได้ผลักดันให้เกิด “กลไกคณะกรรมการด้านพัฒนาเด็กปฐมวัย” ซึ่งเริ่มต้นจากการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยร่วมกับครูผู้ดูแลเด็กเล็กและเครือข่ายแกนนำผู้ปกครอง ณ ศูนย์เด็กเล็กบ้านเมืองแก ด้วยกิจกรรมฐานการเรียนรู้ “กอด กิน เล่น เล่า และแผนงานปี พ.ศ. 2557-2558 ได้ขยายผลไปสู่การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองยาง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองแวง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองตาด และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าวัง พร้อมกับการขยายผลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา-กศน.-อุดมศึกษา และพัฒนาระบบพี่เลี้ยง

­

           

การทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบเริ่มต้นจากนโยบายด้านการบริหารบุคลากรท้องถิ่นของนายกเทศมนตรีตำบลเมืองแก ที่มอบหมายภารกิจให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นลงพื้นที่เพื่อบริการชุมชนและสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาลูกหลานภายในตำบลอย่างใกล้ชิด และในขณะเดียวกันปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก หรือ ป.เช่ ยังคงให้ความสำคัญกับเป้าหมายในการต่อยอดและพัฒนาเด็กเยาวชนในตำบลเมืองแกอย่างต่อเนื่อง จึงร่วมกับทีนนักถักทอชุมชน คณะผู้บริหารและครูของสถานศึกษา ผู้รู้/ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเครือข่ายแกนนำผู้ปกครองและผู้ใหญ่ใจดีประจำหมู่บ้านทั้ง 19 หมู่บ้าน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและปรับระบบโครงสร้างการทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน แบ่งออกเป็น 6 โซน โดยใช้เกณฑ์แบ่งพื้นที่ตามฐานที่ตั้งของสถานศึกษา ได้แก่ โซน 1 โรงเรียนบ้านหนองตาด (รับผิดชอบดูแลเด็กเยาวชน หมู่ 8, 19) โซน 2 โรงเรียนท่าศิลา (รับผิดชอบดูแลเด็กเยาวชน หมู่ 5, 6, 7.17) โซน 3 โรงเรียนหนองยาง (รับผิดชอบดูแลเด็กเยาวชน หมู่ 1, 11, 12, 14, 16) โซน 4 โรงเรียนหนองคูน้อย (รับผิดชอบดูแลเด็กเยาวชนหมู่ 2, 10) โซน 5 โรงเรียนเมืองแก (รับผิดชอบดูแลเด็กเยาวชนหมู่ 3, 4, 15, 18) และโซน 6 โรงเรียนหนองแวง (รับผิดชอบดูแลเด็กเยาวชน หมู่ 9, 13) จึงก่อเกิดกลไกเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวในลักษณะ “โรงเรียนครอบครัวเทศบาลตำบลเมืองแก” 

­

          

เมื่อปรับโครงสร้างการทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบลเมืองแกเรียบร้อยแล้ว การกำหนดนโยบาย แผนงานและการสนับสนุนงบประมาณด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนของเทศบาลตำบลเมืองแกชัดเจนยิ่งขึ้น จึงเริ่มต้นชักชวนเยาวชนเข้าค่ายการเรียนรู้ 3 วัน 2 คืน ของ “โครงการศูนย์การเรียนรู้พัฒนาประสบการณ์ชีวิตเด็กและเยาวชน” โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กและเยาวชนเทศบาลเมืองแก จำนวน 78 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา กศน. และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งเยาวชนที่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ และ 2) เพื่อคัดเลือกเด็กเยาวชนที่สมัครใจทำงานจิตอาสาประจำหมู่บ้านทั้ง 19 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านละ 10-12 คน และพี่เลี้ยงประจำหมู่บ้านละ 2 คน เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนทำโครงงาน และมีพี่เลี้ยงทำหน้าที่เป็น “โคช” และใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ หรือ KM โดยเน้นให้ความสำคัญต่อการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้ก่อน-ระหว่าง-หลังทำกิจกรรม/โครงการ/โครงงาน

­

           

­

ภายหลังเสร็จค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนแล้ว ป.เช่ และทีมนักถักทอชุมชน พี่เลี้ยงประจำหมู่บ้านทั้ง 19 ตำบล ได้เริ่มดำเนินงานตามแผนงานปี 2557 เพื่อเปิดโอกาสและพื้นที่สร้างสรรค์ให้แกนนำเยาวชนของแต่ละหมู่บ้านได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์โดยตรง โดยนำวัฒนธรรมประเพณีของงานบุญแห่เทียนพรรษาและวันแม่แห่งชาติเป็นฐานการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ของแกนนำเยาวชนในแต่ละหมู่บ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมคิด-ร่วมทำ-ร่วมรับผิดชอบและทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชน ที่เน้น “การลงมือทำ” เพื่อสะสมประสบการณ์และสร้างความรู้ด้วยตนเอง และสามารถดึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองได้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่แต่ละโรงเรียน/หมู่บ้านหรือผู้ใหญ่จะคิดออกแบบและจัดงานเอง โดยมีเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมตามปฏิทินชุมชนเท่าที่มีโอกาสเป็นครั้งคราว 

     

    


การถอดบทเรียน (After Action Reviw ; AAR) เป็นเครื่องมือการจัดการความรู้ที่สำคัญที่แกนนำเยาวชนและพี่เลี้ยงโดยใช้ชุดคำถามว่า หลังจากจัดกิจกรรม/ โครงการ/ โครงงานเยาวชนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้บรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ หรือความคาดหวังหรือไม่ อย่างไร ปัญหาอุปสรรคคืออะไร จะแก้ปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นอย่างไร มีอะไรที่ยังต้องปรับปรุงเพื่อให้ดียิ่งขึ้น เป็นการสร้างขุมความรู้และหมุนเกลียวยกระดับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของชุมชนนักปฎิบัติการหรือเครือข่ายพี่เลี้ยงในการประยุกต์ใช้หลักคิดหลักการและเครื่องมือการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของแกนนำเยาวชนและพี่เลี้ยง

            ผลจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับระหว่างผู้บริหาร เจ้าหน้าที่หรือนักถักทอชุมชน ทต.เมืองแก คณะกรรมการกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนของเทศบาลตำบลเมืองแก เครือข่ายผู้นำท้องที่และพี่เลี้ยงทั้ง 6 โซน อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และทีมงาน คุณวราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบัน ยุวโพธิชน และคุณสุทิน ศิรินคร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการต่อยอดและพัฒนาเครือข่ายเยาวชนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก่อให้เกิดการสนับสนุนนโยบายและแผนงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยทั้ง 6 โซน ซึ่งในปี 2558 ทต.เมืองแก เล็งเห็นความสำคัญต่อการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาแกนนำเยาวชนและพี่เลี้ยงเป็นวาระสำคัญ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลเมืองแก” โดยใช้ “โครงงานชุมชน” เป็นฐานการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และผลักดันให้เกิด “กองทุนพัฒนาเยาวชนตำบลเมืองแก” เพื่อสนับสนุนแผนงานและงบประมาณในการจัดทำโครงงานชุมชนของเยาวชน และทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนงานปี 2557-2558 ของทีมนักถักทอชุมชน รุ่น 1 เทศบาลตำบลเมืองแก ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และผลลัพธ์หน้าตาจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความเพียร ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความรัก ความสามัคคีและความสุขที่ทุกคนในชุมชนพร้อมที่จะแบ่งปันและอุทิศตนสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อพัฒนาตน พัฒนาครอบครัวและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ