เวทีการเรียนรู้ครั้งที่ 7 บทบาทของผู้บริหารท้องถิ่น ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
สุทิน ศิรินคร

 เวทีเรียนรู้ครั้งที่ 7 บทบาทของผู้บริหารท้องถิ่น ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

: การสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนการทำงานของนักถักทอชุมชน


­

         การสร้างแรงบันดาลใจให้นักถักทอชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นลุกขึ้นมาเป็น “เจ้าภาพงาน” จึงเป็นบทบาทที่สำคัญของผู้บริหารท้องถิ่น ดั่งเช่น นายจักรกฤษณ์ พาณิชย์กิจเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแก และนายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีนโยบายให้ “เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลต่อ 1 หมู่บ้าน” ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” และเน้นย้ำว่า “ให้เชื่อในการลงมือทำ...ทำเพื่อชุมชน หากเมื่อใดมีการทำงานแล้วเกิดความผิดพลาดขอให้ชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหา ให้กำลังกำลังใจ ไม่ซ้ำเติม ผิดหวังบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่อย่าทิ้งโอกาสเรียนรู้จากการทำงาน โดยให้เริ่มทำงานจากจุดเล็ก ๆ เอาตัวเองไปสู่ชุมชน ต้องเข้าไปเชื่อมเพื่อให้ได้ใจชุมชน” เพราะปัญหาของการทำงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเดิมมัก “ขาดวิธีการทำ ขาดเครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสม ขาดความเชื่อมั่น ขาดความสามารถในงาน ติดการสั่งการและไม่เข้าชุมชน” จึงจำเป็นต้องมีนโยบายและวางโครงสร้างการทำงานเพื่อสนับสนุนงานของนักถักทอชุมชน และเมื่อใจชุมชนเปิดรับการทำงานของท้องถิ่น การสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกับชุมชน ด้วยการทำความเข้าใจ การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพูดคุยแบบเปิดอก จึงมี คุณค่าความหมายของการสร้างคนและสร้างทีมเพื่อทำงานร่วมกันทั้งในองค์กรและชุมชน การสร้างประโยชน์ร่วม โดยไม่เอาเงินเป็นตัวนำ ใช้กิจกรรมย่อยในชุมชนเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย นักถักทอชุมชนและเจ้าหน้าที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อรองรับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง”

         การทำงานของท้องถิ่นต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ เมื่อมีปัญหาของชุมชนเกิดขึ้นต้องรับฟังและนำเอาปัญหาของชุมชนมาเป็นตัวตั้ง เพื่อมองหาเป้าหมายร่วมและมองภาพรวมให้เห็นทั้งระบบ การใช้เวทีประชาคมเพื่อดึงการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้รับทราบสถานการณ์ปัญหาต่างๆ เช่น ดึงการมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการโรงเรียนหรือสถานศึกษาเข้ามาให้รับรู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาในมุมอื่น ๆ ในการสร้างผลงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความศรัทธา การเปิดใจเพื่อพัฒนาตนเอง สร้างความเชี่ยวชาญ ไม่ตั้งกำแพงการเรียนรู้ แม้แต่ตัวนักถักทอชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเองต้องเรียนรู้ “วิธีการทำงานกับนักการเมืองท้องถิ่น” ต้องรับผิดชอบต่อเหน้าที่ ขยันไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกโดยมี “สภากาแฟ” เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สามารถพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับผู้นำชุมชน มีการประชุมประจำสัปดาห์เพื่อสรุปงาน ปัญหาและวางแผนงาน โดยประยุกต์ใช้หลักการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM)ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยและสื่อสารในองค์กรได้อย่างทั่วถึง” ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือและเทคนิคการประชุมอย่างมีส่วนร่วมที่สำคัญและเป็นหัวข้อการเรียนรู้หนึ่งของการอบรมเชิงปฏิบัติการของนักถักทอชุมชนทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 ที่สามารถนำไปปฏิบัติงานและเรียนรู้บนฐานงานจริงได้อย่างเหมาะสม

­

   สุรศักดิ์  สิงห์หาร หรือ ป.เช่

­

          แนวคิดการทำงานของนักถักทอชุมชนหรือเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเมืองแก เน้นสร้างทีมงานเพื่อบริหารเวลา ป.เช่ ย้ำว่า “อย่าสร้างแต่งานให้สร้างคนทำงานด้วย” ต้องฝึกทักษะการทำงานอย่างมีส่วนร่วม “ร่วมคิด-ร่วมทำ-ร่วมรับผิดชอบ-ร่วมสร้างผลประโยชน์” และหากมีการทำงานกับพื้นที่หรือชุมชนที่มีผู้นำชุมชนและกิจกรรมพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่เขาคิดว่าเดิมเข้มแข็งอยู่แล้วนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทำความเข้าใจว่า เมื่อเขามาร่วมกิจกรรมกับท้องถิ่นแล้ว เขาและชุมชนจะได้รับประโยชน์ร่วมอย่างไร ดังนั้น หากเราไปชวนใครมาทำงาน เราต้องให้เขามองเห็นประโยชน์ของงานที่จะทำให้ได้ เป้าหมายในการทำงานร่วมกันจึงต้องชัดเจน และเมื่อนักถักทอชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นลงมือทำอะไรแล้วต้องรายงานผลให้ผู้บริหารท้องถิ่นรับทราบอย่างต่อเนื่อง หากเราไม่สามารถสื่อสารได้ชัดเจน อาจขอความร่วมมือหรือดึงภาคีความร่วมมือในพื้นที่ เช่น กรรมการ หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา ฯลฯ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันได้ เพราะคนไทยเชื่อระบบ ผู้อาวุโส  และสิ่งสำคัญ "เราต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนางานและสร้างผลงาน ผ่านประสบการณ์จริงจากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (Learning by doing) เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นและผู้อื่นยอมรับในศักยภาพของนักถักทอชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น” เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวตำบลเมืองแกอย่างต่อเนื่อง"